สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน หรือ พอช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาโดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งและองค์กรชุมชนเป็นแกนหลัก ดังนั้นหน่วยขับเคลื่อนสำคัญอย่างยิ่งที่อยู่ภายใต้กลุ่มองค์กรชุมชนต่าง ๆ ในพื้นที่คือ แกนนำชุมชน ซี่งพบว่าในหลายพื้นที่มีผลงานรูปธรรมความสำเร็จเกิดขึ้นจากปัจจัยที่ว่ามีแกนนำชุมชนที่เก่ง ดี และมีความสามารถ เรียกได้ว่าแกนนำเหล่านั้นเป็น “คนมีคุณภาพ” และในพื้นที่ “ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล” ก็เช่นกันมีผลงานรูปธรรมการพัฒนาไม่ว่าจะเป็น ด้านเศรษฐกิจและทุนชุมชนที่มีกลุ่มผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ สร้างงาน สร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน ด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัย ด้านความมั่นคงทางอาหาร การขับเคลื่อนกองทุนสวัสดิการชุมชน กลุ่มออมทรัพย์ ธนาคารต้นไม้ ท่องเที่ยวชุมชน ธนาคารขยะ ฯลฯ โดยมีการจัดทำระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ ให้สามารถวิเคราะห์และนำข้อมูลต่าง ๆ ในแต่ละโครงการ กิจกรรม มาบริหารจัดการอย่างบูรณาการร่วมกันในชุมชน บนพื้นฐานที่คนในชุมชนเรียกว่าระบบประชาธิปไตยยกกำลังสอง ผ่านการสร้างเครื่องมือนโยบายสาธารณะอย่างมีส่วนร่วม เปิดโอกาสให้คนในชุมชนทุกคนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมเป็นผู้นำตามโอกาสและความเหมาะสม ให้คนตำบลนาทอนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขภายใต้ “ชันชีนาทอน” หรือธรรมนูญวิถีชุมชนตำบลนาทอน
โดยเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2566 ที่ผ่านมา ทีมงานสำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร ร่วมกับ ทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานภาคใต้ ได้ร่วมกระบวนการถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลเข้มแข็ง ประจำปี 2566 ในมิติของ “คนมีคุณภาพ” ซึ่งครั้งนี้ได้เข้ามาศึกษาแกนนำในพื้นที่ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล โดยได้รับความร่วมมือจาก รศ.ดร.สุภาวดี ขุนทองจันทร์ จากวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้ามาเป็นผู้ดำเนินการในกระบวนการถอดองค์ความรู้ “คนมีคุณภาพ” ของแกนนำในพื้นที่ตำบลนาทอนว่ามีหลักคิด กระบวนการ เครื่องมือและภาคีเพื่อนร่วมทางพัฒนาในรูปแบบใด
การขับเคลื่อนการพัฒนาของแกนนำหรือ “คนมีคุณภาพ” ของตำบลนาทอนอาศัยกลไก 5 เสาหลักร่วม ได้แก่ 1) ท้องที่ 2) ท้องถิ่น 3) องค์กรศาสนา 4) ภาคประชาชนและประชาสังคม และ 5) ภาคเอกชน เข้ามาร่วมทำงานกันอย่างบูรณาการ รวมถึงการใช้ “สภาองค์กรชุมชน” ทำงานร่วมกับ “สภาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ทำงานบนแผนงานเดียวกัน (One Plan) ที่จะพัฒนาพื้นที่ โดยมีการแบ่งบทบาทหน้าที่แกนนำในการทำงานอย่างชัดเจน และบริหารงบประมาณที่ได้รับสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ อย่างมีคุณค่าให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อคุณภาพชีวิตคนในตำบลนาทอน
เรื่องราวการพัฒนาของ “คนมีคุณภาพ” ในตำบลนาทอนยังมีอีกมากมาย โดยเฉพาะปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้ตำบลนาทอนมีแกนนำที่ดี แก่งและมีความสามารถ สร้างการมีส่วนร่วมกับทุกฝ่ายในชุมชนได้อย่างไรนั้น ผลการศึกษาดังกล่าวจะได้ถูกนำเสนอร่วมกับพื้นที่ศึกษาอื่น ๆ ภายใต้การดำเนินงานศึกษาและถอดองค์ความรู้การพัฒนาตำบลเข้มแข็ง ประจำปี 2566 (จำนวน 10 พื้นที่) ซึ่งจะได้นำเสนอผลการศึกษาและเผยแพร่สู่สาธารณะในช่วงเดือน ก.ค.-ส.ค.2566 นี้ต่อไป…….นี่คืออีกหนี่งเรื่องราวดี ๆ ที่ พอช.มุ่งสร้างชุมชนเข้มแข็ง
สำนักพัฒนานวัตกรรมชุมชนจัดการความรู้และสื่อสาร