ขบวนองค์กรชุมชน 17 จังหวัดภาคเหนือ จัดทำแผนพัฒนาเชิงพื้นที่

ขบวนองค์กรชุมชน 17 จังหวัดภาคเหนือ จัดทำแผนพัฒนาเชิงพื้นที่

พิษณุโลก : ระหว่างวันที่ 4 – 5 เมษายน 2566 สำนักงานภาคเหนือ ร่วมกับสำนักประสานเครือข่ายสภาองค์กรชุมชน สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(องค์การมหาชน) จัดเวทีพัฒนาศักยภาพการจัดทำแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยมีขบวนองค์กรชุมชนจาก 17 จังหวัด เข้าร่วมเพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจ ถึงกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาและบูรณาการแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดทิศทาง รวมถึงบทบาทของขบวนองค์กรชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนา ประสาน เชื่อมโยง ผลักดัน บูรณาการแผนพัฒนาทุกระดับ ตลอดจนพัฒนากลไกการทำงาน และแผนปฏิบัติการของชุมชนในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดการผนึกกำลังในการหนุนเสริมการทำงานในพื้นที่ และได้รับเกียรติจากผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และหน่วยงานภาคีให้ทั้งความรู้ ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะเพื่อให้ขบวนองค์กรชุมชนได้แนวทางและผลักดันแผนภาคประชาชนสู่การเชื่อมโยงแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด มีผู้เข้าร่วมกว่า 100 คน ณ โรงแรมเดอะพาร์ค อ.เมือง จ.พิษณุโลก

1564283
นายวิชัย  นะสุวรรณโน  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.)

          นายวิชัย  นะสุวรรณโน  รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) กล่าวว่า พอช. ดำเนินการมา 23 ปี เป้าหมายสำคัญในการตั้ง พอช. เพื่อให้เป็นกลไกและเครื่องมือในการส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ให้ชุมชนเป็นแกนหลัก มีบทบาท ในการสร้างความเข้มแข็งภายในของตนเอง คนในพื้นที่เป็นแกนหลักในการพัฒนา โดยให้ภาคีข้างนอกเป็นพลังหนุนพลังภายใน หากดำเนินการได้จะสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้ ที่จะลดความเหลื่อมล้ำ ลดช่องว่างให้เกิดขึ้น

“การจัดเวทีในครั้งนี้ถือเป็นการพัฒนาความรู้ สร้างความเข้าใจถึงกระบวนการจัดทำแผนพัฒนาประเทศ และการบูรณาการแผนพัฒนาชุมชนท้องถิ่นกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เชื่อว่าหลายจังหวัดมีแผนการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น บางจังหวัดมีการยื่นข้อเสนอและแผนพัฒนาให้กับผู้ว่าราชการจังหวัด สิ่งสำคัญคือเราจะต้องมีแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ และรู้ช่องทางในการเชื่อมโยงแผนนั้นกับภาคีที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการกำหนดทิศทาง สถานะ และบทบาทของขบวนองค์กรชุมชนในการจัดทำแผนพัฒนา มีการประสาน เชื่อมโยง ผลักดัน บูรณาการ แผนพัฒนาทุกระดับ ตลอดจนพัฒนากลไกการทำงาน และแผนปฏิบัติการของชุมชนในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาระดับจังหวัด เพื่อให้เกิดการผนึกกำลังในการหนุนเสริมการทำงานในพื้นที่ในการแก้ไขปัญหาและตรงความต้องการ”

อย่างไรก็ตามในปี 2566 นี้ มีแนวทางสำคัญในการปฏิรูปขบวนองค์กรชุมชน และ พอช. คือ เน้นกระบวนการทำงานของขบวนองค์กรชุมชน ที่เชื่อมโยงกับหน่วยงาน ประชาสังคม รัฐ และภาคีพัฒนา มีเป้าหมายคือ การสร้างความเข้มแข็งการพัฒนาของตำบลให้ครอบคลุมทั้งระดับจังหวัด และเชื่อมโยงกันเป็นกลุ่มจังหวัด ให้ขบวนองค์กรชุมชนเป็นแกนหลักในการทำงาน และการบริหารจัดการของ พอช.ในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นเกิดความเข้มแข็ง มีการเชื่อมโยงกันระหว่างชุมชนทุกระดับ และภาคพัฒนาที่เกี่ยวข้อง

1564285

          นางอัญชลี จรัสสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคเหนือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้กล่าวถึงพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 : โอกาสการเชื่อมโยงแผนภาคประชาชนว่า พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา 19 สิงหาคม 2565 มีผลบังคับใช้ 20 สิงหาคม 2565มีเป้าหมายให้เกิดการทำงานแบบบูรณาการ มีการประสานความร่วมมือกันมากขึ้น มีการจัดหมวดในการกำกับ บริหารจัดการ การกำหนดบทบาท และการกำกับและติดตาม

“โอกาสการเชื่อมโยงแผนภาคประชาชน 1. กำหนดให้มีการบูรณาการทุกภาคส่วนในพื้นที่ ทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคเอกชน เพื่อจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัด ให้เป็นไปด้วยความเหมาะสมและสอดคล้องกับศักยภาพ ปัญหา และความต้องการของประชาชนในพื้นที่ 2. องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) และคณะกรรมการบริหารงานกลุ่มจังหวัดบูรณาการ (ก.บ.ก.) มีผู้แทนภาคประชาสังคมเป็นกรรมการ โดยกำหนดคุณสมบัติว่า จะต้องมีฐานะเป็นผู้นำชุมชนหรือสมาชิกสภาองค์กรชุมชนตามกฎหมายว่าด้วยสภาองค์กรชุมชนหรือองค์กรภาคประชาสังคมอื่นตามที่กำหนด 3. กระบวนการจัดทำแผนของจังหวัด และกลุ่มจังหวัด กำหนดให้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เพื่อให้ทราบถึงความเห็น ความต้องการและศักยภาพของประชาชนในจังหวัดและกลุ่มจังหวัดที่ครอบคลุมทุกมิติ โดยให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เยาวชน กลุ่มเปราะบาง และภาคีการพัฒนาอื่นที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีส่วนร่วมในการประชุมปรึกษาหารือร่วมกันเพื่อปรับปรุงแผน 4. ให้หน่วยงานวิสาหกิจเพื่อสังคม ภาคประชาสังคม หรือ ภาคธุรกิจเอกชน เป็นผู้ปกครอง ดูแล บำรุงรักษาและใช้ประโยชน์จากสิ่งปลูกสร้าง หรือระบบต่างๆ จากโครงการตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ให้เป็นไปตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยข้อเสนอของ ก.น.บ. โดยคำนึงถึงประโยชน์ที่ทางราชการจะได้รับ”

1564287

ด้านนายสมัญญา  รัตนนนท์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ สำนักงานจังหวัดพิษณุโลก ได้นำเสนอการจัดทำยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนงานในพื้นที่อำเภอนำร่อง จังหวัดพิษณุโลกว่า งบประมาณในแต่ละจังหวัดมีหลายช่องทาง เช่น งบกลุ่มจังหวัด งบจังหวัด งบกลางกรณีเร่งด่วนฉุกเฉิน งบเร่งด่วนของกระทรวงมหาดไทย งบภัยแล้ง และอุทกภัย งบกลางรองนายกรัฐมนตรีที่จัดสรรให้โดยเฉลี่ย จังหวัดละ 10 ล้าน งบตามภารกิจงาน(function) ที่หน่วยงานต่างๆ เสนอของบประมาณไปตามหน่วยงานของตน ซึ่งพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 ให้ความสำคัญกับแผนจังหวัดมากขึ้น ซึ่งงบตามภารกิจงาน(function)  งบองค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร ต้องเข้าแผนพัฒนาจังหวัด ต้องมาอยู่ในร่มเดียวกัน หน่วยงานต่างๆ เช่น แขวง โยธาฯ ชลประทาน ต้องเข้าแผนจังหวัดก่อน แต่มีความไม่รู้ในเรื่องเหล่านี้ทำให้ต้องมีการขอเพิ่มแผน ปรับแผน ผู้ที่มาเป็น ก.บ.จ. ถือว่าเป็นโอกาสเพราะจะทำให้เห็นภาพรวมว่างบไปลงตรงไหนบ้าง มีงบโครงการไหนมาลงอีก เช่น ของสำนักทรัพยากรน้ำ โยธาฯ ชลประทาน  ทำให้มีช่องทางที่ผลักดันได้

“จังหวัดพิษณุโลกกำลังอยู่ในกระบวนการสรรหา ก.บ.จ. ชุดใหม่ เนื่องจาก พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2552 หมดสภาพ จึงต้องสรรหาใหม่ตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการบริหารงานเชิงพื้นที่แบบบูรณาการ พ.ศ. 2565 โดยการกำหนดเงื่อนไข คุณสมบัติ เช่น ถ้าเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่สามารถสมัครได้เนื่องจากได้รับเงินเดือน หรือการไม่มีชื่อในสำเนาทะเบียนบ้านในจังหวัดนั้นๆ  ไม่สามารถสมัครได้ ผู้แทนภาคประชาสังคมที่ได้รับการคัดเลือกในระดับจังหวัด 1 ก.บ.จ. ตั้งภาคประชาสังคมได้ไม่เกิน 12 คน และไม่ได้กำหนดว่าต้องมาจากไหน เท่าไหร่ แต่ต้องสรรหาจากภาคประชาสังคมก่อน และมีในส่วนของการเฉลี่ยให้ด้านอื่นๆ เช่น ด้านทรัพยากรธรรมชาติ สภาวัฒนธรรมจังหวัด ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ว่าราชการจังหวัด มีคณะกรรมการสรรหาและคัดเลือก มีรองผู้ว่าเป็นประธาน ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น ได้ข้อมูลจาก พมจ. กลั่นกรองคุณสมบัติเบื้องต้น”

1564286

          รองศาสตราจารย์ ดร.พีรธร บุณยรัตพันธุ์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร นำเสนอเกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัด และกลุ่มจังหวัด ระบุว่า แผนพัฒนาจังหวัดเน้นการขับเคลื่อนที่สอดคล้องกับศักยภาพของจังหวัด ที่ต้องมองถึงความโด่นเด่น ความต้องการที่เป็นปัญหาของพื้นที่ เป็นสิ่งที่ต้องแก้ ไม่แก้อยู่ไม่ได้ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระดับต่างๆ จังหวัดหนึ่งจังหวัดเป็นฐานของการเติบโตของประเทศ ความเชื่อมโยงในเชิงยุทธศาสตร์จึงต้องมี ภายใต้แผนแม่บท  23 แผน ตอบโจทย์ BCG ,การพัฒนาที่ยั่งยืน, S-Curve และจะต้องมีการจัดแผนการพัฒนาจังหวัด 20 ปี พร้อมทั้งการทำแผน 5 ปี จะมีการนำโครงการประมาณ 60 % มาเป็นแผน งบประมาณจังหวัด การเข้าไปอยู่ในการยกร่าง ใส่โครงการภาคประชาชนลงไปตั้งแต่วันนี้ โครงการเหล่านี้จะมีโอกาสได้รับงบประมาณ โดยให้ความสำคัญกับเป้าหมายและแนวทางการพัฒนาภาค เน้นบูรณาการแผนของส่วนราชการที่ดำเนินการในพื้นที่ ทั้งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่สอดคล้องเชื่อมโยงกันนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ลดความเหลื่อมล้ำ และก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน รวมทั้งให้ความสำคัญกับนโยบายการพัฒนาเชิงพื้นที่ อาทิ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ

ในขณะที่แผนกลุ่มจังหวัด เน้นการขับเคลื่อน การเติมเต็ม มองไปในอนาคตว่ากลุ่มจะเดินไปทางไหนด้วยกัน อาทิเช่น ด้านการท่องเที่ยว การทำแผนกลุ่มจังหวัดอาจจะมีความน่าสนใจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ดีกว่า เพิ่มขีดความสามารถ ไม่ได้เน้นการแก้ปัญหา เช่น อุตรดิตถ์ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก เกิดระเบียงเศรษฐกิจ ที่เชื่อมลาวกับเมียนมาร์ ผ่านจังหวัดเหล่านี้ เกิดการทะยานไปข้างหน้า สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ เน้นเมกกะโปรเจค โครงการ 5,000,000 บาทขึ้นไป เกิดการเคลื่อนตัวไปด้วยกัน เช่น การทำเขตอุตสาหกรรมการพัฒนาเขตเศรษฐกิจฐานชีวภาพ Bio Economy Hub ซึ่งการจัดวางระดับของแผน การเขียนแผนต้องย้อนกลับไปให้ได้ว่าเชื่อมโยงและสามารถรู้ว่าแผนอยู่ระดับไหนบ้าง แผนชาติ แผนแม่บท แผนระดับกระทรวง เป็นต้น

“วันนี้เราจะต้องมุ่งเน้นการทำงานแบบเครือข่ายร่วมกันทุกภาคส่วน ทั้งส่วนราชการ (ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น) ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และชุมชน เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสมกับโอกาสและศักยภาพของภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด มีระบบการติดตามและประเมินผล มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ชัดเจน รวมถึงมีการวิเคราะห์และแสดงเหตุผลประกอบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำแผนในระยะต่อไป ควรมีการเสนอแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ในช่วงปีแรกของแผน 5 ปี สำหรับการทบทวนหรือปรับปรุงแผนพัฒนาจังหวัดและแผนพัฒนากลุ่มจังหวัด ไม่ต้องปรับปรุงแผนทุกปีหากไม่มีเหตุการณ์หรือสถานการณ์ที่มีผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา โดยให้ดำเนินการเฉพาะเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์อย่างมีนัยสำคัญที่มีผลต่อการบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงหรือกรณีที่มีการปรับเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดระยะ 20 ปีหรือวัตถุประสงค์และทิศทางการพัฒนาในอนาคตของกลุ่มจังหวัด”

1564291

บทบาทภาคประชาชนกับการจัดทำแผนพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยมีขบวนองค์กรชุมชน

          นายพลากร  วงค์กองแก้ว  คณะกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ระบุว่า การจัดเวทีครั้งนี้ถือว่าเป็นการปรับขบวนใหม่ของภาคประชาชน ซึ่งเป็นทิศทางในการการเปิดพื้นที่ในระดับจังหวัด เป็นการเปิดตัวของขบวนองค์กรชุมชนในระดับจังหวัด ขบวนองค์กรชุมชนที่เป็นเป็นตัวแทนเข้าไปมีส่วนวมในคณะ ก.บ.จ. ถือเป็นพื้นที่ที่มีทั้งความเสี่ยงและโอกาส และจะเป็นอีกบทพิสูจน์ของภาคประชาชนกับหน่วยงานระดับจังหวัด ซึ่งเราจะต้องมีความชัดเจน ไม่มีปัญหาเรื่องคอรัปชั่น สิ่งที่จะต้องตระหนักคือ ประการแรก เป็นส่วนหนึ่งของขบวนการตัวแทนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในระดับจังหวัด เราจะเป็นตัวแทนของความเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร เช่น มีระบบข้อมูล มีการจัดขบวนกันใหม่ ประการที่สอง ยุทธศาสตร์จังหวัดเปลี่ยนแปลง วันนี้มียุทธศาสตร์จังหวัด 20 ปี ซึ่งภาคประชาชนเองจะต้องมีวิสัยทัศน์ระยะยาว มีแผนพัฒนาของภาคประชาชน ในพื้นที่ ระยะ 20 ปี โดยจะต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลตามบริบทของพื้นที่ของแต่ละจังหวัด ซึ่งต้องมองถึงโอกาสหรือจุดเด่น รวมถึงประเด็นปัญหาที่ต้องดึงขึ้นมาเพื่อแก้ไขให้เกิดความเปลี่ยนแปลง เชื่อมั่นว่าหากเราทำได้ เราสามารถคุยได้ทุกจังหวัด ประการสุดท้าย การประสานงาน เชื่อมโยงกับประชาสังคมในพื้นที่ ซึ่ง พอช. จะต้องมีการออกแบบบทบาทและการตั้งภารกิจของกลุ่มงานยุทธศาสตร์ในการสนับสนุนภาคประชาชนไปจัดทำแผนพัฒนาระดับจังหวัดต่อไป

1564288

ดร.วรภพ  วงศ์รอด คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ราชภัฎนครสวรรค์ ระบุเพิ่มเติมว่า กลไกการขับเคลื่อนที่ให้เราไปร่วมเป็นโอกาส อย่างไรก็ตามพี่น้องทุกจังหวัด จะต้องตั้งหลักดีๆ ซึ่งเชื่อว่าพี่น้องขบวนองค์กรชุมชน 17 จังหวัดภาคเหนือ ได้เปรียบเพราะได้เข้าสู่กระบวนการรับรู้ และสร้างความเข้าใจในการจัดทำแผน เพื่อเสียบต่อ และเชื่อมโยง ซึ่งในพื้นที่ 77 จังหวัดเอง เขาก็ยังงงๆ ว่าจะไปต่อเชื่อมกับภาคประชาชนกับภาคประชาสังคมอย่างไร และพี่น้องเราถูกคัดเลือกไปนั่ง ก.บ.จ. และ ก.บ.ก. ซึ่งจะต้องมีปากเสียงได้ มีมองมุมกว้างได้ เพราะเป็นเหมือนตรายางบางอย่าง หากไปแล้วไม่สามารถที่จะเสนอหรือขยับตนเองไม่ได้ ก็ไม่เป็นผล กลไกภาคประชาสังคมเองก็ต้องเตรียมคนของเราด้วย เพราะตอนนี้เวลานั้นจำกัดมาก และอีกส่วนหนึ่งคือ เราจะกำหนดแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี รวมถึงแผนปีนั้นอย่างไร รวมไปถึงการเชื่อมโยงกับมิติงานพัฒนาที่มากขึ้น การพัฒนาคุณภาพชีวิตขบวนเรายังไม่สามารถมองถึงกลุ่มเป้าหมายที่ครอบคลุม เพราะเวลาไปอยู่ในระดับจังหวัดกลุ่มเป้าหมายจะมากขึ้น รวมถึงบทเรียนและการมองถึง กม. ที่จะต้องมีการโฟกัสและบทบาทในการหนุนเสริม ซึ่งยุทธศาสตร์ภาคประชาชนจะทำและปรับเปลี่ยนอย่างไร ที่จะใส่ในยุทธศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่อยู่อาศัย ที่ดิน คุณภาพชีวิต ความยากจน มองว่าควรเอาฐานยุทธศาสตร์ที่พี่น้องขับเคลื่อนไปเสนอก่อนเพราะเรามองได้ทะลุ แล้วจึงไปขยายฐานคิดกับกลไกในระดับจังหวัดต่อไป

อย่างไรก็ตามจากเวทีดังกล่าวได้นำไปสู่การวางทิศทางหรือจังหวะก้าวต่อไปไม่ว่าจะเป็นการประสานสำนักงานจังหวัด (อย่างเร่งด่วน) การคัดกรองคุณสมบัติ การเสนอรายชื่อกับสำนักงานจังหวัด การติดตามรายชื่อ เพื่อเสนอสัดส่วนใน ก.บ.ก./ก.บ.จ. ภายในวันที่ 20 เม.ย. นี้ ซึ่งความท้าทายที่ขบวนองค์กรชุมชน พร้อมทั้งพี่เลี้ยงภาคีพัฒนาจะต้องขับเคลื่อนร่วมกันคือ 1) ต้องร่วมกระบวนการทำแผนพัฒนาจังหวัด 20 ปี (พ.ศ.2566-2585)/เริ่มปี 2568 2) ต้องหาช่องทางการเข้าถึงกรอบงบประมาณในการทำแผนพัฒนาจังหวัด ประมาณ 120 ล้านบาทต่อปี(20%) 3) ต้องมีการจัดเก็บข้อมูล(ทุกเรื่อง) และเวทีสาธารณะเพื่อจัดทำแผนพัฒนาของจังหวัด(กฎหมายรองรับ) 4) ต้องวิเคราะห์แผน 3 ระดับ (ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บท แผนพัฒนาจังหวัด) 5) ต้องชวนภาคีภาควิชาการ ทำยุทธศาสตร์ แผน และโครงการ 6) ต้องสร้างเครือข่ายการทำงานระดับจังหวัด 7) ต้องทำกระบวนการรับรู้ร่วมกัน 8) ต้องกำหนดตัวตนของสภาองค์กรชุมชนและขบวนองค์กรชุมชน ซึ่งจะต้องมีการถอดบทเรียนและกำหนดทิศทางร่วมกันต่อไป

1564290
1564284

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ