เปิดม่านละครเวทีครั้งแรกของเด็กสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา

เปิดม่านละครเวทีครั้งแรกของเด็กสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา

ละครเวทีในความคิดของใครหลายๆ คนคงจะเป็นการแสดงสดต่อหน้าผู้ชมและเน้นจุดเด่นไปที่องค์ประกอบของนักแสดงที่กำลังเฉิดฉายอยู่บนเวทีเพียงอย่างเดียว แต่สำหรับเรา “เด็กสื่อใหม่แห่งมหาวิทยาลัยพะเยา” เราไม่คิดหยุดอยู่ที่จุดนั้นเพียงจุดเดียวแน่นอนเพราะ ละครเวทีของเราจะพาคุณผู้ชมทุกท่านไปเห็นถึงเบื้องหลังที่ถือเป็นอีกหนึ่งหัวใจหลักของการแสดงเลยก็ว่าได้ นั่นก็คือ ฝ่ายเสียง ที่จะเป็นตัวเชื่อมความรู้สึกระหว่างการแสดงและผู้ชมทั้งฮอลล์ให้ประสานกลมเกลียวเป็นหนึ่งเดียวกัน ซึ่งครั้งแรกของเราจะธรรมดาได้อย่างไร มาจัดหนักจัดเต็มไปกับละครเวทีที่สดทั้งการแสดง การพากย์เสียง และการสร้างเสียงประกอบ(Foley) ที่ไม่เคยมีใครนำเสนอเบื้องหลังของพวกเขามาก่อน คุณจะได้รับชมผ่านละครเวทีของเราเด็กสื่อใหม่NMC มหาวิทยาลัยพะเยา

วางแผนลงมือทำครั้งแรก

เราขอเกริ่นก่อนว่า ก่อนที่จะมาเป็นละครเวทีสุดอลังให้ได้ชมกันนั้น ละครของเราเคยเป็นละครวิทยุมาก่อน ซึ่งมีชื่อเรื่องว่า ชมรมไข(Who?) ตอนเดอะฉำฉา เป็นเรื่องราวของเหล่าเด็กนักเรียน 5 คน ที่กำลังตกอยู่ในวิกฤตจะถูกยุบชมรม แต่แล้วความบังเอิญหรือโชคชะตากำหนดนำพาให้เด็กๆได้ไปพบเข้ากับความลับอันดำมืดของผู้อำนวยการโรงเรียนที่ดูเหมือนกำลังเก็บซ่อนความลับบางอย่างเกี่ยวกับการตายปริศนาของอดีตนักเรียนโรงเรียนนี้เอาไว้

ละครวิทยุเรื่อง ชมรมไข(Who?) ตอนเดอะฉำฉา

ซึ่งในการทำละครเวทีครั้งนี้ เราเอาบทละครวิทยุข้างต้นมาทำการเพิ่มเนื้อเรื่องเข้าไปและปรับเปลี่ยนรูปแบบบทให้เหมาะสมกับละครเวทีมากขึ้น สำหรับเราถือว่าค่อนข้างยากอยู่พอสมควรเพราะด้วยความไม่เคยมีประสบการณ์หรือลงมือทำละครเวทีมาก่อน ทำให้ต้องศึกษาละครเวทีจากหลายๆ ที่และนำเอาปรับใช้กับของเรา

แต่ในความยากนี้เราก็ได้รับความช่วยเหลือจากอาจารย์ประจำวิชาหรืออาจารย์ไนย ผู้มากประสบการณ์และเคยอยู่ในวงการการทำละครเวทีมาก่อน ซึ่งอาจารย์ก็ได้มีการชี้แนะเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องฉากการแสดงที่ได้เสนอให้มีการทำกราฟฟิกฉากป่าฉำฉาเพื่อความสมจริง เรื่องเสียงแนะนำว่าควรเพิ่มเสียงอะไรเข้าไป เสียงประกอบแต่ละฉากดีหรือไม่ รวมไปถึงเรื่องการแสดงของนักแสดงว่าควรเล่นใหญ่หรือแอคติ้งเข้าถึงอารมณ์มากน้อยแค่ไหน บอกเลยว่าอย่างเข้มจัดเต็มทุกหยด

แล้วด้วยความที่ว่าละครเวทีของเรามีการเน้นเรื่องเสียงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยหลักในการแสดง เราจึงต้องเอาบทละครมาแตกเป็นบทเสียงสำหรับ ฝ่ายสร้างเสียงประกอบ(Foley) อีกรอบหนึ่ง ซึ่งในการแตกบทเสียงนั้นเราต้องวิเคราะห์จากหลายๆอย่างที่อยู่ในซีน ว่าฉากเป็นแบบไหน สถานที่ใด อยู่ในช่วงเวลาเท่าไหร่ นักแสดงกำลังทำอะไรแล้วในซีนนั้นอารมณ์เป็นอย่างไร

อย่างเช่น ฉากป่าฉำฉา ที่นักเรียนทั้ง 5 คนเข้าไปหาเบาะแสในป่าตอนเวลาช่วงเย็น และพบกับผู้อำนวยการที่อยู่ในป่านั้นเหมือนกัน เราก็จะวิเคราะห์บทนี้ออกมาว่า เราจะใช้เสียงAmbient ป่าที่ออกแนวลึกลับต้องใช้เสียงนกที่เป็นกาและเสียงจิ้งหรีดที่ดูเหมือนตอนเย็นเกือบหัวค่ำ เสียงเพลงประกอบเป็นแนวระทึกกับมีความน่าสงสัยเล็กน้อย ส่วนเสียงFoley จะมีเสียงเดินบนหญ้าและใบไม้แห้ง เราที่ได้รับหน้าที่ในการวิเคราะห์เสียงประกอบคือตายไปเลยเพราะเราต้องคอยคิดตลอดว่าในซีนๆ หนึ่งต้องมีเสียงอะไรบ้าง ยังไม่พอแค่นั้นเรื่องเพลงประกอบที่ต้องเข้าอารมณ์ในฉากอีก ฝ่ายเสียงนี่สำคัญสุดๆ ไปเลยในการแสดง

ครั้งแรกกับการทำเพลง

แน่นอนว่าละครเวทีนั้นจะขาดเรื่องเพลงไปไม่ได้เลย ละครเวทีจะสนุกก็ต้องมีเพลงร้องประกอบฉากไปด้วย ซึ่งในการทำเพลงนี้เราได้รับความช่วยเหลือจาก พี่ตี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเสียงประจำสาขาสื่อใหม่ของเรา โดยเรามีเพลงที่ต้องทำทั้งหมด 5 เพลงด้วยกันนั่นคือ เพลงตอนเปิดIntro บรรยาย เพลงเปิดตัวนักแสดง เพลงสัมภาษณ์ เพลงหลักฐาน และเพลงสุดท้ายที่อย่างนำเสนอสุดๆ คือ เพลงอดีตที่อยากจะแก้ไข แค่ได้ยินก็เลิศแล้วใช่ไหมหล่ะ แต่ตอนทำนั้นไม่เลิศเลย บอกเลยว่าเหนื่อยมากกก เราใช้เวลาอุดอู้หมกตัวอยู่ในสตูกับการทำเพลงทั้งหมด 1 เดือนเต็มด้วยกัน เรียกได้ว่าแทบไม่ได้เห็นเดือนเห็นตะวันกันเลย

ในการลงมือเริ่มทำเพลงนั้นเราจะหา reference เพื่อเป็นต้นแบบในเพลงเราก่อนเราจะได้ไม่ออกนอกลู่นอกทางคิดไปไกลและเป็นการกำหนดธีมเพลงของเราด้วย ซึ่งเพลงของเรามีต้นฉบับมาจากเพลงประกอบของดิสนีย์ เราเลือกมาเพราะว่ามันมีการทำนองและมีการร้องที่ค่อนข้างคล้ายกับละครเวทีอยู่พอสมควร และแม้แต่เพลงประกอบจากหนังหรือซีรีย์เกาหลีเรานั้นก็ไม่พลาดที่จะยกมาเป็นตัวอย่างเหมือนกัน  

เราขอสารภาพตรงนี้เลยว่า ความรู้ด้านดนตรีหรือการทำเพลงของเราคือ เป็นศูนย์ ตอนที่เริ่มทำกันแรกๆ คือตายเหมือนกันงมใช้โปรแกรมกันตาลายไปหมด จนพี่ตี้ต้องเข้ามาช่วยเป็นผู้ประพันธ์บทเพลงให้แก่เรา โดยในการทำเพลงเราใช้โปรแกรม Cubase ซึ่งเป็นโปรแกรมที่เราคุ้นเคยและเรียนการใช้มาแล้ว ในส่วนของเครื่องดนตรีเราใช้เพียงแค่เปียโนและกีต้าร์เท่านั้น เพราะในโปรแกรมเราสามารถลงไฟล์เสียงของเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ เสริมแล้วเปลี่ยนเสียงเปียโนเป็นเครื่องดนตรีนั้นๆ ได้ โดยที่ไม่ต้องไปไล่หาเครื่องเป่าใหญ่ๆหรือกลองมาตั้งไว้ในห้องเลย โปรแกรมเดี๋ยวนี้มันเอื้อเกิน  

แล้วในเมื่อเราไม่ค่อยมีความรู้ในเรื่องดนตรีมาก เราก็จะยกส่วนของทำนองและเมโลดี้เพลงให้พี่ตี้ช่วยจัดการพร้อมกับ เติ้ลฝ่ายเทคนิคเสียงของเรา ส่วนเราและผู้ร่วมกระบวนการอีกคนนั้นก็คือ กุ๊กกิ๊กหรือโปรดิวเซอร์คนเก่ง จะเป็นฝ่ายที่คอยดูว่าเพลงมันเข้ากับอารมณ์ในฉากนั้นหรือเปล่า ควรจะปรับหรือเพิ่มเครื่องดนตรีไหนเข้าไป และเข้ากับรูปการณ์แสดงที่เราต้องการหรือไม่ แล้วเราก็ยังทำหน้าที่แต่งเนื้อเพลงด้วย อย่างเก่งเลย

ซึ่งในการแต่งเนื้อเพลงเราก็จะนำเอาสถานการณ์ในฉากมาแต่ง มันก็สนุกไปอีกแบบนะแต่ก็ต้องคอยระวังว่าคำหรือประโยคที่เราจะเอามาใช้ว่ามันเข้ากับคีย์ของเพลงไหม ในการแต่งเพลงก็ได้ทำแนะนำมาจากพี่ตี้เหมือนกันว่าในเพลงนั้นเราต้องการจะสื่ออะไร กำหนดมาเลย อย่างเช่นเพลงอดีตที่อยากจะแก้ไขที่ค่อนข้างยากในการแต่งเพราะเราไม่รู้ว่าเราต้องสื่อประมาณแนวไหน รู้แค่ว่ามันต้องเศร้ากินใจ พี่ตี้เลยเสนอว่าจะสื่อถึง คนเป็น(พร)ที่ต้องการจะพูดหรือถามถึงความรู้สึกตัวเองกับคนที่ตายไปแล้ว(สมร) ทำให้เราได้แนวทางเป็นไอเดียในการคิดต่อยอดออกไป จนพวกเรามีแนวคิดที่อยากจะทำเพลงนี้ให้จบเลยทำเป็นMV ลง Youtube เลย

เริ่มซ้อมด้วยกันครั้งแรก

หลักจากที่แต่ละฝ่ายจัดการตระเตรียมหน้าที่ของตัวเองเรียบร้อยแล้วก็มาถึงเวลาที่ต้องเริ่มซ้อมร่วมกัน ซึ่งในการทำละครเวทีของเรานั้นไม่ได้มีแค่ฝ่ายเราอย่างเดียว แต่ยังมี ฝ่ายProduction ที่ดำเนินการโดยรุ่นพี่ปี 3 ที่พี่เขาได้รับหน้าที่ สตรีมมิ่งละครเวทีผ่านทางเพจเฟสบุ๊ก สาขาวิชาการสื่อสารสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยพะเยา New Media Communication-NMC UP แน่นอนว่าต่างฝ่ายต่างไม่ได้ซ้อมด้วยกันจึงบังเกิดความวุ่นวายขึ้น

เริ่มจากฝ่ายเราที่รับหน้าที่ในเรื่องของรูปโชว์การแสดงละครเวที เพียงแค่ฝ่ายเราเท่านั้นก็มีหลายเรื่องน่าปวดหัวไปหมด ทั้งเรื่องของฝ่ายเสียงประกอบFoley ที่ต้องคอยประสานงานกับนักแสดงเพื่อที่ต้องทำเสียงให้ตรงกับการกระทำต่างๆ บนเวที เรื่องของบลอคกิ้งเวทีที่ต้องคอยเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ นักแสดงที่ยังเล่นไม่ใหญ่พอ แต่ที่น่าเป็นห่วงนั้นก็คือ ฝ่ายนักพากย์ที่ค่อนข้างพากย์เสียงอารมณ์ไม่ไปตามนักแสดง อารมณ์ไม่ถึงจนกลายเป็นโมโนโทนและมีการพูดติดขัดอยู่บ่อยครั้ง จนเมนเทอร์ใหญ่ของเรา อาจารย์แนน ต้องลงมาคุมเข้มและเสนอชี้แนะแบบตัวต่อตัวเลยทีเดียว ทำให้นักพากย์เริ่มมีการสวมบทบาทเป็นตัวละครนั้นๆ มากขึ้น ซึ่งปัญหาเหล่านี้พวกเราก็สามารถรอดพ้นไปได้เพราะได้อาจารย์หลายๆท่านในสาขาสื่อใหม่คอยแนะนำและสอนให้

ส่วนหน้าที่ของเราในการแสดงนั้นเราอยู่ฝ่ายคุมเสียง คอยเปิดเพลงและเสียงประกอบที่ต้องใช้ในการแสดง ซึ่งก็เป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับเราอีกแล้วเพราะเราได้ลองลงมือทำกับเครื่องมือและได้ใช้ออกงานครั้งแรกเลย ในหน้าที่นี้เราต้องมีสติและสมาธิมากๆ อย่าหลุดหรือวอกแวกไปไหนต้องคอยจดจ่อกับการแสดงอยู่ตลอดเวลาว่าซีนไหนถึงตรงไหน เราต้องเปิดเพลงตรงไหนบ้าง แล้วบางซีนไม่ได้เปิดแค่เสียงเดียวแต่ต้องเปิด 2-3 เสียงไปพร้อมกัน บอกเลยว่ามือพันสุดๆ และที่สำคัญต้องคอยดูแลความดัง-เบาของเสียงให้สม่ำเสมอกัน ไม่โดดถึงต่ำเกินไปต้องเท่ากันทุกซีนเพื่อความสมูทของอารมณ์ในการแสดง

พอถึงเวลาที่ต้องไปซ้อมกับฝ่ายProduction ก็มีหลายๆ อย่างที่ต้องเปลี่ยนไม่ตรงกับที่เราวางแผนไว้ ทั้งบลอคกิ้งที่ต้องเปลี่ยนตามกล้องเพราะกล้องไม่สามารถจับได้หมด การประสานงานเรื่องไฟที่ใช้ในฉาก แต่การได้ทำงานร่วมกันก็ถือเป็นอีกประสบการณ์ที่ดีที่เราจะได้ศึกษาจากพี่และได้ปรึกษาเรื่องการเรียนต่างๆ ได้เห็นถึงเบื้องหลังของฝ่ายProduction ที่มีการทำหลายๆ อย่างเป็นองค์กรเป็นทีมคอยช่วยเหลือกัน ซึ่งเราว่ามันก็ไม่ได้แย่นะ

สิ้นสุดการรอคอยกับการเปิดม่านวันจริง

เวลาผ่านไปเร็วเหมือนโกหก ในที่สุดก็มาถึงวันแสดงจริงที่เรารอคอยกันไม่อยากจะเชื่อเลยว่ามันมาถึงแล้ว ทุกคนตื่นเต้นกันมาก นักแสดงแต่งหน้าทำผมจัดเต็มเตรียมเฉิดฉายบนเวที พี่ๆฝ่ายProduction รีบมาเตรียมตัวจัดอุปกรณ์ในการถ่ายทอดสดให้เรียบร้อยก่อนเริ่ม ส่วนเราก็มีหน้าที่มาเตรียมเรื่องเสียงให้เรียบร้อย เช็คไมค์ เช็คเพลง เช็คลำโพง เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด เตรียมทุกอย่างเรียบร้อยก็มีหน้าที่แค่รอเวลาถ่ายทอดสดอย่างเดียว รอไปก็ตื่นเต้นไป ทำอะไรไม่ถูกเลย

พอถึงตาทีมไข(Who?) ของเราขึ้นแสดงก็ตื่นเต้นเข้าไปอีก ถึงเวลาผู้คุมเสียงต้องทำหน้าที่แล้วเราจำได้ว่ามือสั่นไปหมดเพราะกลัวว่าจะเปิดเพลงผิดเหมือนตอนซ้อมที่มักจะเปิดเพลงพลาดบ้างบางจุด จนได้ เติ้ล คนทำหน้าที่คุมเสียงอีกคนคอยให้กำลังใจอยู่ข้างๆ ก็ทำให้เราใจเย็นขึ้น พี่ๆปีสามเริ่มนับถอยเข้าสตรีมมิ่งแล้ว เวลานี้เนี่ยแหละที่เราแอบกลั้นหายใจและสูดหายใจเข้าลึกๆเพื่อตั้งสมาธิกับตัวเอง

การแสดงเริ่มรันคิวไปทีละซีนๆ เราคอยเปิดเพลงและคุมเสียงตาม เพื่อนๆทำหน้าที่ของตัวเองได้อย่างดีเยี่ยมไม่มีติดขัด ไม่มีข้อผิดพลาดระหว่างการแสดง ในที่สุดทุกอย่างก็จบลงด้วยความปลื้มปิติและดีใจที่ภาพรวมของละครเวทีเป็นไปตามที่เราได้ซ้อมกันมา บอกเลยว่าเราต้องพยายามฮึบกลั้นน้ำตาไว้ไม่ให้ไหลออกมาและเดินหน้าเก็บของอุปกรณ์ต่อเพื่อนำไปคืนที่ห้องสตู ถือว่าเป็นตอนจบที่ดีใจและปวดตัวเมื่อยหลังไปตามๆ กัน

ละครเวทีในครั้งนี้ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรหลายๆ อย่างที่ช่วยให้เราเติบโตไปอีกขั้นหนึ่ง ได้ท้าทายตัวเองในสิ่งที่เราไม่เคยทำมาก่อน ถึงแม้ว่ามันจะเหนื่อยแต่ก็คุ้มที่ได้ลงมือทำและพยายามตั้งใจให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด ด้วยความพยายามของเพื่อนๆ ที่ตั้งใจไม่ย่อท้อต่อสู้มาพร้อมกัน พี่ๆปีสามที่ช่วยให้ผลงานชิ้นนี้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นไปอีก อาจารย์ทุกๆ ท่านที่คอยเป็นแรงสนับสนุนและคอยช่วยเหลือให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษาในทุกเรื่อง ทำให้เราสามารถผ่านพ้นไปได้

“ขอเพียงเรามีความพยายาม ก็สามารถฝ่าฟันมันไปได้”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ