ภายใต้บรรยากาศที่สุ่มเสี่ยง ไร้หลักประกันของชาวชุมชนโคกยาว อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ จากความพยายามในการผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินเดิม ด้วยสารพัดวิธี ในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา… กระทั่งวันที่ 16 เมษายน 2559 เด่น คำแหล้ แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน และเป็นประธานโฉนดชุมชนโคกยาว ได้เข้าเก็บหาของป่าตามวิถีปกติ นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ไม่มีผู้ใดได้พบเห็น เด่น คำแหล้ แม้แต่ร่องรอยก็ไม่ปรากฏ พ่อเด่น หายไปไหน!
รายงานโดย: เครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน
เด่น คำแหล้ เกิดเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2494 ณ บ้านท่าสี ต.หนองแสง อ.กุมภวาปี จ.อุดรธานี (ปัจจุบันขึ้น อ.หนองแสง จ.อุดรธานี) เป็นบุตรของนายที และนางติ๋ม คำแหล้ มีพี่น้องร่วมกันทั้งสิ้น 4 คน เป็นชาย 1 คน และหญิง 3 คน ต่อมาครอบครัวได้อพยพมาที่บ้านวังหินซา ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู ในปี พ.ศ.2509
เด่น คำแหล้ เข้าศึกษาในระดับประถมศึกษาที่ 4 ที่โรงเรียนบ้านวังหินซา ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา จ.อุดรธานี (ในขณะนั้น) จากนั้นได้อุปสมบทอยู่ระยะหนึ่ง ต้องสึกออกมาทำงานช่วยเหลือครอบครัว โดยไปเป็นลูกจ้างดำนาอยู่ที่สุวรรณคูหา ได้ข้าวปีละ 50 กระบุง เป็นค่าตอบแทน
นอกจากนี้ เด่น คำแหล้ ยังหารายได้เสริมด้วยการชกมวย โดยมีสถิติชนะเป็นส่วนใหญ่ ไม่เคยได้รับความพ่ายแพ้แม้แต่ครั้งเดียว
จากลูกชาวนามาเป็นสหาย
ในปี พ.ศ.2514 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ได้เข้ามาเคลื่อนไหวในเขตพื้นที่ ต.ดงมะไฟ อ.สุวรรณคูหา ในขณะที่ เด่น คำแหล้ ยังรับจ้างดำนา และชกมวยเพื่อหารายได้เลี้ยงครอบครัว ได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมกับสหายของพรรคฯ เช่น การจัดการศึกษาทางการเมือง เป็นต้น กระทั่งเป็นที่เพ่งเล็งของฝ่ายรัฐ และเดินทางเข้าร่วมต่อสู้กับ พคท. ในปี พ.ศ.2516 เป็นต้นมา โดยเคลื่อนไหวในพื้นที่เขตงาน ภูซาง ภายใต้ชื่อจัดตั้ง “สหายดาว อีปุ่ม”
ช่วงปี พ.ศ.2518 – 2520 สหายดาว อีปุ่ม ถูกพรรคส่งไปเรียนโรงเรียนการเมืองการทหารที่ลาว และเวียดนาม เพื่อยกระดับทั้งทางความคิดทฤษฐีทางการเมืองและการทหาร จากนั้นจึงกลับมาเคลื่อนไหวในเขตงานภูซางอีกครั้ง
หลังกลับจากเวียดนามและลาวคืนสู่ภูซาง ศูนย์การนำของพรรคในเขตภูซางได้ส่งสหายดาวและคณะมาบุกเบิกเคลื่อนไหวในเขต 196 แถบ อ.คอนสาร อ.เกษตรสมบูรณ์ อ.ภูเขียว อ.หนองบัวแดง และ อ.บ้านเขว้า โดยตั้งชื่อเขต 196 เพื่อเป็นการให้เกียรติกับนักศึกษาที่เข้ามาทำการเคลื่อนไหวชาวนาในพื้นที่ดังกล่าว กระทั่งมีการจัดตั้ง สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.) ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517
ปี 2525 เด่น คำแหล้ ได้ออกจากป่าและเริ่มต้นชีวิตเกษตรกรอีกครั้ง ที่บ้านทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ โดยได้แต่งงานกับนางสุภาพ คำแหล้ และปลูกข้าวโพด ถั่วแดงในพื้นที่โคกยาว ซึ่งเป็นที่ดินของพ่อตา
การต่อสู้รอบใหม่ ภายใต้ชีวิตเกษตรกร
ชีวิตเกษตรกรของเด่นและสุภาพ คำแหล้ ดำเนินมาอย่างปกติเพียง 3 ปี โดยในปี พ.ศ.2528 รัฐได้เข้าดำเนินโครงการ “หมู่บ้านรักษ์ป่า ประชารักษ์สัตว์” ซึ่งได้ทำการอพยพขับไล่ชาวบ้านในพื้นที่โคกยาวออกจากที่ทำกิน โดยอ้างว่าจะจัดสรรที่ดินรองรับ จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ทำการปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส
ส่วนพื้นที่รองรับเป็นที่ดินที่มีการถือครองทำประโยชน์ของชาวบ้านทุ่งลุยลายอยู่แล้ว ทำให้ไม่สามารถเข้าทำกินได้ และเข้าไปทำกินในที่ดินเดิมก็ไม่ได้ เนื่องจากระยะแรกมีกำลังทหารพรานและเจ้าหน้าที่ป่าไม้ควบคุมอยู่
ในช่วงนั้น เด่น คำแหล้ และชาวบ้านผู้เดือดร้อน ได้เรียกร้องขอความเป็นธรรมเพื่อขอเข้าทำกินในพื้นที่ดินเดิม ซึ่งมีเพียงนายสุเทพ โรจน์ทองคำ ผู้ใหญ่บ้านในขณะนั้น ที่สามารถเข้าทำประโยชน์ในที่ดินเดิม ส่วนนายเด่น คำแหล้ และนายสนาม จุลนันท์ ได้รับอนุญาตให้เข้าเลี้ยงสัตว์ได้
ช่วงปี พ.ศ.2539 – 2542 นายเด่น คำแหล้ ได้เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิที่ดินทำกินกับชาวบ้านทุ่งลุยลาย อีกครั้ง โดยมีการชุมนุมที่หน้าที่ว่าการอำเภอคอนสาร กระทั่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการถือครองที่ดินป่าไม้ระดับอำเภอ เพื่อตรวจสอบการถือครองพื้นที่ในเขตตำบลทุ่งลุยลาย
ปฎิรูปที่ดินเพื่อคนจน สร้างสังคมที่เป็นธรรม
ภายหลังการแก้ไขปัญหาไม่มีข้อยุติ ชาวบ้านยังไม่สามารถเข้าทำประโยชน์ในพื้นที่โคกยาวได้ เด่น คำแหล้ และสมาชิกผู้เดือดร้อนได้เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับชาวบ้านที่มีปัญหาที่ดินและทรัพยากรในพื้นที่ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ในนามเครือข่ายองค์กรชาวบ้านอนุรักษ์ลุ่มน้ำเซิน (คอซ.) และเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ตามลำดับ
ด้วยข้อเสนอให้ “ยกเลิกสวนป่า แล้วนำที่ดินมาจัดสรรให้กับประชาชนผู้เดือดร้อน”
ในปี พ.ศ.2552 เด่น คำแหล้ และชาวบ้านเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เข้าร่วมเคลื่อนไหวกับผู้เดือดร้อนทั่วประเทศ ในนามเครือข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) โดยได้ผลักดันข้อเสนอเชิงนโยบายการจัดการที่ดินโดยชุมชน ในรูปแบบ “โฉนดชุมชน” และการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่
กระทั่งรัฐบาลสมัยนั้นได้ออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ.2553 ในวันที่ 7 มิถุนายน 2553
ในปี พ.ศ.2554 เครือข่ายประชาชนได้รวมตัวกัน ในนามขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้ชุมนุมติดตามปัญหาที่ลานพระบรมรูปทรงม้า กระทั่งมีมติคณะรัฐมนตรีรับทราบแนวทางการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนฯ และเป็นที่มาของการเข้าพื้นที่โคกยาว ในเวลาต่อมา
วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ตำรวจ ฝ่ายปกครอง สนธิกำลังเข้าควบคุมตัวชาวบ้านโคกยาว จำนวนทั้งสิ้น 10 คน และแจ้งข้อหาบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม โดยแยกฟ้องเป็น 4 คดี เด่นและสุภาพ คำแหล้ ตกเป็นจำเลย ในคดีดังกล่าวด้วย
ในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) ได้ชุมนุมที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง เพื่อติดตามปัญหา กระทั่งมีข้อตกลงผ่อนผันการทำประโยชน์ที่ดินที่อยู่ระหว่างแก้ไขปัญหาร่วมกัน
ช่วงเวลาดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ในคดีนายเด่น คำแหล้ และพวกรวม 5 คน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 4 (เด่น และสุภาพ) พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 6 เดือน และศาลไม่อนุญาตฎีกา จำเลยทั้งสองต้องถูกคุมขังจำนวนทั้งสิ้น 12 วัน ทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล ซึ่งศาลอนุญาตในเวลาต่อมา และสามารถประกันตัวผู้ต้องหาได้ในที่สุด
ปี พ.ศ.2557 รัฐบาลได้ดำเนินแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้การที่บุกรุกที่ดินของรัฐ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ในประเทศให้ได้ร้อยละ 40 โดยมีมาตรการสำคัญ คือ “ทวงคืนผืนป่า”
วันที่ 25 สิงหาคม 2557 เจ้าหน้าที่ได้นำป้ายประกาศ จ.ชัยภูมิ มาปิดที่ชุมชนโคกยาวและบ้านเรือนทุกหลังคาเรือนให้ออกจากพื้นที่ภายใน 15 วัน หากพ้นกำหนดจะดำเนินการตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ต่อมาชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้เคลื่อนไหวเรียกร้อง กระทั่งมีการชะลอการดำเนินการดังกล่าว
วันที่ 26 มกราคม 2558 มีหนังสือสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 8 (นครราชสีมา) สั่งให้เด่นและสุภาพ คำแหล้ พร้อมด้วยบริวารออกจากป่าสงวนแห่งชาติภูซำผักหนาม โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 25(1) (2) (3) แห่ง พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.2507 ซึ่งนายเด่น คำแหล้ ได้อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งต่อมามีหนังสือถึงเด่น คำแหล้ เรื่อง ไม่เห็นด้วยกับคำอุทธรณ์คำสั่งบังคับ ดังกล่าว
คืนวันที่หายไป
ภายใต้บรรยากาศที่สุ่มเสี่ยง ไร้หลักประกันของชาวชุมชนโคกยาว จากความพยายามในการผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ทำกินเดิม ด้วยสารพัดวิธี ในช่วง 30 ปี ที่ผ่านมา…
วันที่ 16 เมษายน 2559 เด่น คำแหล้ ได้เข้าเก็บหาของป่าตามวิถีปกติ นับจากวันนั้นเป็นต้นมา ไม่มีผู้ใดได้พบเห็น เด่น คำแหล้ แม้แต่ร่องรอยก็ไม่ปรากฏ
“พ่อเด่น หายไปไหน!!!”
งานครบรอบ 2 เดือน การหายตัวไปของนายเด่น คำแหล้ แกนนำนักต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกิน และเป็นประธานโฉนดชุมชนโคกยาว จัดขึ้นเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.59 ที่ชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร โดยมีชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคอีสาน และชาวบ้านทุ่งลุยลาย รวมทั้งผู้นำท้องถิ่น ร่วมจัดงาน
ผู้มาร่วมงานประกอบไปด้วยเครือข่ายภาคประชาชนต่างๆ และองค์กรที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน อาทิ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม คณะกรรมการนิติศาสตร์สากล และสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ เป็นต้น
นอกจากนี้ ทางด้านสื่อมวลชนก็ต่างให้ความสนใจเข้าร่วมงานเพื่อเผยแพร่เรื่องราวที่เกิดขึ้น เช่น ข่าว 3 มิติ สปริงนิวส์ ศูนย์ข่าวภาคอีสานเนชั่นทีวี ไทยพีบีเอส ช่อง 7 สี และ ทีมข่าวจากสถานีโทรทัศน์ NHK WORLD ของประเทศญี่ปุ่น
ส่วนภายในงานครบ 2 เดือน การหายตัวไปของนายเด่น คำแหล้ กิจกรรมช่วงเช้าร่วมทำบุญตักบาตร ถวายภัตราหารแด่พระภิกษุ ต่อด้วยพิธีบายศรีสู่ขวัญร่วมผูกข้อต่อแขนให้ซึ่งกันและกัน
กระทั่งประมาณ 10.00 น. ร่วมวงเวทีเสวนา “การถูกบังคับให้สูญหายและกระบวนการยุติธรรม” จากนั้นได้กล่าวถึงประวัติการต่อสู้ของพ่อเด่น และยืนไว้อาลัย ร่วมร้องเพลงความรักแห่งอุดมการณ์ และร่วมกันปลูกป่า และแจกต้นไม้ชื่อต้นแสงดาวแห่งศรัทธา เพื่อให้ต้นไม้นั้นแทนสัญลักษณ์ของพ่อเด่น ให้กับผู้มาร่วมงาน