ส่องแนวทาง “ผังเมือง” รับมือวิกฤตรถติด น้ำท่วม ในเขต กทม.

ส่องแนวทาง “ผังเมือง” รับมือวิกฤตรถติด น้ำท่วม ในเขต กทม.

ส่องแนวทางรับวิกฤต รถติด น้ำท่วม ในห้วงเวลาที่ กทม.ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงผังเมืองครั้งที่ 4 รอง ผอ.ผังเมืองเผยแผนรับมือรถติดโดยวางจุดขยายเส้นทางถนน พร้อมวางจุดท่อระบายน้ำเพิ่มเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำท่วมเมือง

ดัชนีการจราจร TomTom Traffic Index ในปี 2020 ระบุว่ากรุงเทพมหานคร  มีการจราจรที่ติดขัดติดระดับท็อป 10 ของโลก โดยระดับความแออัดของจราจรอยู่ที่ 44% โดยคนกรุงเทพฯ ต้องเสียเวลาบนท้องถนนปีละประมาณ 7 วัน 11 ชั่วโมง และช่วงเวลาที่รถติดที่สุด คือ เย็นวันศุกร์ เวลา 18:00-19:00 น. ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านคมนาคมของประเทศ แล้วยังเชื่อมโยงถึงปัญหาด้านเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ส่วนปัญหาน้ำท่วม ปัจจุบันกรุงเทพมหานครกลายเป็นเมืองแออัดและมีการขยายพื้นที่ทางเศษฐกิจ ค่อนข้างมาก จนทำให้พื้นที่ซับน้ำเปลี่ยนไป และน้ำท่วมขังบ่อยและมากขึ้น ซึ่งเป็นผลของการพัฒนาเมืองที่อาจลืมนึกถึงข้อจำกัดด้านภัยพิบัติน้ำ แม้ปัจจุบัน กทม.จะพยายามทำเต็มที่ทั้งกำจัดขยะ ขุดลอก อุโมงค์ระบายน้ำ แต่ก็ยังมีหลายปัญหาที่ยังแก้ไม่ได้ และหลายปัจจัย ที่ยากจะรับมือ

สอดคล้องกับกิจกรรมที่ชวนคนกรุงเทพฯ 30 คน จาก 50 เขตของ กทม. มารวมมองวิกฤตเมือง ส่วนหนึ่งของการเสวนาฟังเสียงประเทศไทย : กรุงเทพฯ เมืองพลวัต ปรับเพื่อรับมือวิกฤต เมื่อวันพฤหัสบดี ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา รถติด และน้ำท่วมบ่อย คือปัญหาสำคัญของคนที่ดำเนินชีวิตในเมือง

ส่วนประชาชนในพื้นที่นั้น ๆ ทำอะไรแล้วบ้างเพื่อรับมือภัยพิบัติของเมือง สรุปได้ว่า บางพื้นที่มีการจัดตั้งคณะทำงานเครือข่ายองค์กรชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหานั้น ๆ เมื่อเกิดปัญหาจะแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า หากเป็นจราจรต้องเลือกเวลาออกจากบ้าน ส่วนประเด็น ข้อเสนอเพื่อฝ่าวิกฤต ที่ภาคประชาชนเสนอมา คือ อยากให้ กทม. ปรับเปลี่ยนผังเมือง พร้อมรณรงค์ให้คนใช้ขนส่งสาธารณะมากกว่ารถส่วนตัว

ปนิธิ ศิริเขต ประชาชนเขตพญาไท กทม. ระบุว่า ที่เขตพญาไทเจอวิกฤตที่น่าเป็นห่วง คือ เรื่องการจราจร น้ำท่วมขัง และอาชญากรรมในบริเวณชุมชนแออัด แต่ยังไม่ได้รับการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม เสนอว่าควรมีการจัดโซนนิ่งให้ดี มีการจัดกฎจราจรและมีการส้รางถนนเล็กเชื่อมไปทุกจุดเพื่อช่วยระบายรถ แต่มันก็ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้กฎหมาย และทุกส่วนต้องร่วมมือกัน 

“ในการแก้ไขปัญหารถติด จะโฟกัสแค่พญาไทไม่ได้ มันต้องพูดถึงระดับ กทม. และในเชิงการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องการจราจร เรื่องการดูแลชุมชนแออัด การระบายรถ การจัดการทางเท้า เรื่องการมีส่วนร่วมของเอกชน มันต้องร่วมมือกันหลายหน่วยงานมันจึงจะไปด้วยกันได้ทั้งระบบ” ปนิธิ กล่าว

มยุรี จูฮุ้ง ประชาชนเขตจตุจักร กทม. ระบุว่า ครอบครัวอาศัยอยู่ในพื้นที่ลาดพร้าวมา 5 ปี พบปัญหาการจราจรติดขัดทุกวันและเกิดเป็นเวลาประจำในช่วงเช้าและช่วงเย็น ถึงแม้มีรถไฟฟ้าเข้ามาแล้ว แต่การเดินทางเพื่อไปใช้ไปรถไฟฟ้ายังต้องนั่งขนส่งสาธารณะหรือแท็กซี่เข้ามาอีกต่ออยู่ดี เพราะถนนบริเวณบ้านยังไกลจากตัวบีทีเอสมาก

นอกจากนั้นยังมีเรื่องน้ำท่วมขังเมื่อเกิดฝนตก ทุกวันนี้ต้องวางแผนการเดินทางล่วงหน้าโดยเผื่อเวลาเป็นชั่วโมง แนวทางแก้ไขคืออยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาขุดลอกท่อและเร่งแก้ไขอย่างเป็นระบบ 

ทั้งนี้ แนวทางการรับมือกับปัญหาเรื้อรังอย่างน้ำท่วม รถติด กทม.ยังอยู่ระหว่างปรับปรุงผังเมืองครั้งที่ 4 รอง กทม. เตรียมแผนรับมือรถติดโดยวางจุดขยายเส้นทางถนน พร้อมวางจุดท่อระบายน้ำเพิ่มเพื่อรับมือสถานการณ์น้ำท่วมเมือง

นิลศิริ รองผู้อำนวยการ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพฯ

ชูขวัญ นิลศิริ รองผู้อำนวยการ สำนักการวางผังและพัฒนาเมือง กรุงเทพฯ กล่าวว่า ขณะนี้กรุงเทพฯ กำลังอยู่ระหว่างปรับปรุงผังเมืองครั้งที่ 4 แล้วในกระบวนการที่จัดทำ สำหรับแก้วิกฤตเรื่องรถติด มีการออกแบบผังคมนาคมและการขนส่งให้มีจำนวนถนน 159 สาย ที่กำหนดไว้เป็นสายรอง 7 ประเภท ตั้งแต่ขนาดเขตทาง 12 เมตร จนถึงกว้างสุด 60 เมตร

ดังนั้น จะเป็นการแก้ปัญหาในระบบโครงข่ายคมนาคมในอนาคตอยู่แล้วในเรื่องของปัญหารถติด โดยไปเน้นในส่วนของถนนสายรอง ขนาดเขตทาง 12 เมตร กับขนาดเขตทาง 16 เมตร ซึ่งจะเป็นถนนสายรองที่อยู่ในเส้นทางเชื่อมโยงกับระบบรถไฟฟ้าหรือขนส่งสาธารณะ ให้สามารถเป็นเส้นทางที่เชื่อมพื้นที่เส้นทางตาบอด สามารถเดินทางเข้ามายังถนนใหญ่ได้สะดวกขึ้น ทำให้คนเริ่มหันมาใช้ขนส่งสาธารณะ แล้วปัญหาจราจรติดขัดจะเบาบางลง 


ชูขวัญ ระบุเพิ่มเติมว่า การเข้าไปแก้ไขเรื่องการจราจร ปัญหาที่ผ่านมาแล้วพบคือ การสร้างถนนแต่ละเส้นใช้งบประมาณค่อนข้างเยอะ และต้องไปเวนคืนที่ดินชุมชน บางเส้นทางมีตัวอาคารหรือบ้านที่ต้องไปเวนคืนและรื้อย้าย ดังนั้น การสร้างถนนของกรุงเทพมหานครที่ผ่านมาพบว่า ในปีหนึ่งจะสร้างถนนเสร็จได้จำนวนไม่กี่เส้นทาง แล้วก็จะโดนคัดค้านจากประชาชนในส่วนที่ต้องผ่านหมู่บ้าน ผ่านชุมชน ดังนั้น นี่เป็นข้อท้าทายในการดำเนินการแก้ปัญหา ดังนั้น ในระยะหลัง กรุงเทพฯ จึงพยายามตัดการสร้างถนนสายใหญ่ ๆ ลง แล้วทำถนนที่มีขนาดเล็ก โดยมีขนาดเขตทาง 12 และ 16 เมตร โดยใช้ถนนเดิมที่มีแต่สร้างขยายถนนออกมาให้กว้างขึ้น 

ในส่วน เรื่องปัญหาน้ำท่วม ชูขวัญ กล่าวว่า ในแผนการปรับปรุงผังเมืองครั้งที่ 4 จะมีผังแสดงผังน้ำ โดยมีการกำหนดคูคลองที่จะใช้เพื่อการระบายน้ำว่าคลองสายหลักจะต้องมีการขุดลอกคลอง พร้อมกำหนดว่าคลองไหนต้องขยายคลองเพื่อการระบายน้ำ รวมทั้งมีการกำหนดคูคลองใหม่ที่จะนำน้ำไปลงทะเล และมียังมีการกำหนดอุโมงค์ระบายน้ำเพื่อใช้ในการผลักดันน้ำไปสู่แม่น้ำเจ้าพระยา

ทั้งนี้บีบีซีไทยได้ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบัน กทม. ได้ดำเนินการสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดใหญ่ไปแล้ว 4 แห่ง ความยาวรวม 19.37 กิโลเมตร และมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำรวม 192 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ประกอบด้วย โครงการก่อสร้างระบบผันน้ำเปรมประชากร โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำบึงมักกะสัน โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองแสนแสบและคลองลาดพร้าว และโครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้คลองบางซื่อจากคลองลาดพร้าว เพื่อระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยา

และสำนักข่าวอิศราให้ระบุว่า ปัจจุบัน กทม.ใช้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ตามกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556

โดยที่ผ่านมา สำนักผังเมืองได้ประเมินผลการใช้บังคับกฎกระทรวงให้ใช้บังคับผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2556 แล้ว พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญหลายประการ จึงเป็นที่มาของวางและจัดทำผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (ปรับปรุงครั้งที่ 4) เพื่อให้มีผังเมืองรวมที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน

สำหรับความคืบหน้าการจัดทำผังเมืองรวม กทม.ครั้งที่ 4 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการแก้ไขเพิ่มเติมให้ครบถ้วนตามขั้นตอนใน พ.ร.บ.การผังเมือง 2562 หลังก่อนหน้านี้การร่างผังเมืองรวมดำเนินการตามกฎหมายฉบับเดิมคือ พ.ร.บ.การผังเมือง 2518 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) 2558 โดยขั้นตอนที่เพิ่มขึ้นมาคือ 1. แผนผังที่แสดงแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ 2. แผนผังแสดงผังน้ำ รวมถึงต้องดำเนินการปิดประกาศและประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอีกครั้ง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 9 โดยคาดหมายว่า ผังเมืองที่ดำเนินการนี้ จะประกาศใช้ในปี 2567 โดยปัจจุบัน กทม. ใช้ผังเมืองที่ประกาศใช้เมื่อปี 2556 

000

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ