“มีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมดูแลป่า ปลูกป่า ดูแลสิ่งแวดล้อมของชุมชน ซึ่งเป็นข้อมูลสำหรับเตรียมรองรับโฉนดชุมชน ที่เราอยากยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวบ้านให้ดีขึ้น”
อรอุมา โชคเกื้อ
อรอุมา โชคเกื้อ ชาวบ้านชุมชนพานหินโพธิ์ทอง ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต เล่าถึงการทำหน้าที่จัดกิจกรรมส่งเสริม และอนุรักษ์ทรัพยากรสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ที่ทำต่อเนื่องกันมานับตั้งแต่การก่อตั้งของชุมชน และเป็น 1 ใน 9 กฎระเบียบที่อยู่อาศัยของชุมชนที่จัดขึ้นเพื่อเตรียมยื่นเสนอให้กับคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. ในการแก้ไขปัญหาที่สาธารณะประโยชน์และที่ดินเอกชนปล่อยทิ้งร้าง ร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่สำรวจและรับฟังความคิดเห็นการแก้ไขปัญหาที่ดิน เพื่อกำหนดแนวเขตและประกาศพื้นที่โฉนดชุมชน
ย้อนกลับไปเมื่อปลายปี 2547 จากเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิ ทำให้เกิดการก่อตัวเป็นชุมชนแออัดขนาดเล็กหลายพื้นที่ตั้งอยู่ในที่ดินของรัฐ และเอกชน มีการขับไล่จนนำไปสู่การร้องเรียนเพื่อขอความยุติธรรม และมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแก้ไขปัญหาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ปัญหาที่ดินของชุมชนบางส่วนคลี่คลายลง แต่ขณะเดียวกันชาวบ้านอีก 17 ชุมชน ที่ยังประสบปัญหาที่อยู่อาศัยรวมตัว “เครือข่ายสิทธิคนจนพัฒนาภูเก็ต” เพื่อแก้ไขปัญหาของตนเอง
การเตรียมข้อมูลตามแนวทางประกาศ “โฉนดชุมชน”
“หลังจากชุมชนได้รับอนุญาตใช้พื้นที่ตามแนวทางคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ที่ทางชุมชนได้รับผ่านโครงการบ้านมั่นคงแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณแนวทางโดยสมบูรณ์แบบ จากที่กระทรวงทรัพยากรส่งมอบพื้นที่ในการใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ทางเราเตรียมพร้อมตามแนวทางมาตรา10 (4) โฉนดชุมชน ซึ่งชาวบ้านได้ใช้พื้นที่ได้ยั่งยืน และถาวร และอีกอย่างที่เราต้องการมากที่สุด คือ บ้านเลขที่ถาวร ซึ่งการได้มาเราสามารถนำไปต่อยอดแนวทางการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้” สุภาพ บู่ทอง ประธานชุมชนร่วมใจพัฒนา กล่าว
คณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. เป็นหน่วยงานที่จัดขึ้นเพื่อกําหนดนโยบายและแผนการบริหารจัดการ ที่ดินและทรัพยากรดินของประเทศ โดยทำหน้าที่สํารวจตรวจสอบและจัดทําข้อมูล ผู้ยากไร้ที่ไม่มีที่ดินทํากินและที่อยู่อาศัย รวมทั้งจัดทําแผนและกําหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติการคัดเลือกบุคคลเข้าอยู่อาศัยทํากินในที่ดินของรัฐ ซึ่งกำลังดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ยื่นขอโฉนดชุมชนจำนวน 486 ชุมชน ทั่วประเทศ โดยคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติอยู่ระหว่างวางแผนลงพื้นที่ครั้งที่ 2 เพื่อพิจารณาร่างระเบียบและหลักเกณฑ์โฉนดชุมชน ตามมาตรา 10 (4) แห่งพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ พ.ศ.2562
“เพื่อเตรียมรองรับคณะกรรมการนโยบายแก้ปัญหาที่ดิน การกำหนดแนวเขตและประกาศพื้นที่โฉนดชุมชน เราอยากให้มีออมทรัพย์ สวัสดิการ พื้นที่พร้อมหมดทุกอย่างแล้วเพื่อให้ชาวบ้านอยู่ดี กินดี ไม่ต้องให้หน่วยงานรัฐต้องมาขับไล่ ให้ชาวบ้านอยู่เป็นสุข เราอยากได้โฉนดชุมชนมานานแล้วและนี่เป็นโอกาสที่ดี” สุภาพ บู่ทอง ประธานชุมชนปลากะตัดพัฒนา กล่าว
ด้านสินชัย รู้เพราะจีน เครือข่ายประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ P-Move ทำหน้าที่ติดตามประเด็นความเดือดร้อนภาคประชาชนกับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ความมั่นคงที่อยู่อาศัยในการทำกิน และสิทธิที่ดิน รวบรวมปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ เช่น ที่ดินป่าชายเลน ที่ดินอุทยาน ที่ดินมหาดไทย ที่ดินป่าไม้ ที่ดินสปก. มาเป็นฐานข้อมูล เพื่อยื่นเสนอเป็นนโยบายแก้ปัญหาให้กับพี่น้องในชุมชน ซึ่งยื่นให้กับรัฐบาลในรูปแบบโฉนดชุมชน เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนมีสิทธิในการดูแลจัดการตนเอง
“แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินของเครือข่าย ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ. ต้องใช้แนวทางภาพรวมในเชิงนโยบาย ให้สมาชิกP-Move ทั่วประเทศ ที่เสนอโครงการโฉนดชุมชนให้ทางจังหวัดและกระทรวงมหาดไทยขอคืนพื้นที่ ในการออกหนังสือสมาชิกชุมชนของพีมูฟทั่วประเทศที่ขอโฉนดชุมชนก่อน แล้วนำเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ เพื่อเสนอมติครม.ในการรองรับท้องถิ่นด้วย”
สินชัย
“เลขที่บ้านถาวร น้ำประปา ผมเคยนำเสนอมามาก บางทีหน่วยงานบอกว่ายังอยู่ในขั้นตอนดำเนินร่าง แต่พอทางกระทรวงหาดไทย กรมที่ดิน เดินทางมาแจ้งในพื้นที่ ผมคิดว่าไม่นาน เราคงจะได้บ้าน น้ำประปา และไฟฟ้าแบบถาวร”
ธีระชัย ไถนาเพรียว
โดยคณะอนุกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ หรือ คทช. กำหนดแนวทางการยกระดับโฉนดชุมชน นำร่องพื้นที่ในการจัด “มหกรรมโฉนดชุมชน” ณ จังหวัดภูเก็ต เพื่อร่วมออกแบบการแก้ไขปัญหาที่ดิน ที่อยู่อาศัยของชุมชน ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566