อยู่ดีมีแฮง : นิเวศน์ ภูมูล ช่างซ่อมหัวใจเกินร้อย

อยู่ดีมีแฮง : นิเวศน์ ภูมูล ช่างซ่อมหัวใจเกินร้อย

“ศักด์ศรีคนเรามันเท่ากัน ความคิดเท่ากัน แต่ชิ้นส่วนร่างกายอาจจะไม่เท่ากัน จิตใจคนเรามันเท่ากันก็มีสิทธิ์จะทำได้เหมือนกัน ขอให้มีใจสู้ มีฝันที่อยากจะทำ เราต้องทำได้”

วันนี้อยู่ดีมีแฮงจะพาทุกท่านเดินทางมาที่ตำบลบัวลาย อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา ชวนมาทำความรู้จักพ่อนิเวศน์  ภูมูล ช่างซ่อมเครื่องไฟฟ้าประจำชุมชน แม้ร่างกายของพ่อจะไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หัวใจของพ่อเกินร้อยไม่มีลดน้อยถอยลง เติบโตมากับการแสวงหาความรู้ และทักษะอาชีพด้วยตนเอง

เมื่อความป่วยเป็นจุดเปลี่ยนของชีวิต

ตั้งแต่เด็กพอเริ่มเดินได้ ก็เป็นไข้ เมื่อก่อนเขาเรียกว่าไข้สันหลังอักเสบ หรือโรคโปลิโอ แล้วไปฉีดยา กลายเป็นว่าแขนขาลีบ ทำอาหาร ซักเสื้อผ้า ช่วยเหลือตัวเองทุกอย่างได้หมด ยกเว้นงานหนักๆ ทำไม่ได้ ก็รู้สึกภูมิใจที่ช่วยเหลือตัวเองได้” พ่อนิเวศน์ กล่าวเริ่มจุดเปลี่ยนของชีวิต

อาการป่วยไข้ เป็นเรื่องที่พ่อนิเวศน์ไม่สามารถควบคุมให้เกิดในชีวิตของตนเองได้ แม้ร่างกายจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็พยายามใช้ชีวิตมาอย่างคนปกติ เข้าสู่วัยเรียน ช่วงวัยรุ่น ยังคงหาโอกาสให้กับตนเอง แสวงหาความสนใจในวัย แล้วนำไปสู่การเลือกเรียนในสิ่งชอบ

เมื่อพรสวรรค์ ไม่สู้พรแสวง

หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในชุมชน พ่อนิเวศน์ได้เข้าเรียนต่อ กศน. ก่อนที่พ่อ และแม่จะแนะนำให้ไปเรียนฝึกอาชีพอยู่ที่โรงเรียนฝึกอาชีพคนพิการ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น จนนำมาสู่การเป็นช่างซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าในปัจจุบัน

“ตั้งแต่เป็นเด็กชอบเล่นชอบรื้อ อย่างเช่นพ่อแม่พาไปที่นาด้วยก็ไปซ่อมรื้อวิทยุจนเสีย คือชอบงานซ่อมมาตั้งแต่เป็นเด็ก เมื่อก่อนจะมีศูนย์ของกรมประชาสงเคราะห์จัดขึ้นอยู่ที่ขอนแก่น พอพ่อแม่ทราบข่าวว่ามีการเปิดรับสอนคนพิการก็เลยส่งไปเรียน เรียนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาและก็ได้เก็บประสบการณ์การซ่อมมาเรื่อยๆ นอกจากนี้ก็ซื้อหนังสือมาศึกษาเพิ่มเติม เพราะตำราใหม่ๆ ก็ออกมาเรื่อย ๆ แล้วเราสนใจก็มาศึกษาเพิ่มเติมเอาเอง”

“มันก็มีใจรัก แต่จะมีพรแสวงมากกว่าพรสวรรค์  ใจก็รักอยู่นิดหน่อย แต่การแสวงหาจะเยอะกว่า เป็นคนชอบอ่านหนังสือ เวลาไปไหนไกล ๆ รอรถที่ บขส. ก็เอาหนังสือมาอ่านเล่นรอ ได้ตำรับตำรามาอ่านรอรถ ระหว่างไปทำอย่างอื่นต่อ แต่ก่อนไปเป็นนักดนตรีสมัยก่อน ไปเป็นนักดนตรีตามวงหมอลำซิ่ง 10 กว่าปีเลยนะ” พ่อนิเวศน์ กล่าว ขณะมือกำลังหมุนไขควงเพื่อขันน็อตออกจากพัดลม

เครื่องใช้ไฟฟ้า อะไรก็ซ่อมได้

เริ่มต้นจากการซ่อมวิทยุทรานซิสเตอร์ แล้วขยับมาเป็นทีวี เทปคาสเซ็ท จากเทปคาสเซ็ท ก็พัฒนามาเป็นเครื่องเล่น CD, DVD  รวมทั้งซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่นๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย โดยติดตามข้อมูลผ่านตำรา หนังสือ และจากสื่อออนไลน์หลากหลายช่องทาง

“ก็มีทีวี มีพัดลม เตารีด หม้อหุงข้าว และอื่นๆ อีกหลายอย่าง เมื่อวันก่อนทีวี 1 เครื่องก็ตั้งอยู่ตรงนี้ ตัวนั้นหลอดแบล็คไลท์เสีย จอแบน สมัยก่อนจะมีทรานซิสเตอร์ เอาไว้ฟังนิยายฟังข่าว เมื่อ 30 ปีที่แล้ว แต่ก่อนมีแค่นั้น ผ่านมาตามยุคตามสมัยเราก็ติดตามมาตลอด อ่านหนังสือในตำรา และก็ดูในยูทูปด้วย อันไหนที่เราไม่รู้ก็ค้นหาในกูเกิลด้วย” พ่อนิเวศน์ ผู้ศึกษาหาความรู้อย่างไม่หยุดนิ่งตามยุคสมัย

ความภูมิจากการสร้างรายได้ด้วยตนเอง

“อาชีพช่างซ่อมไม่มีความแน่นอน แต่ก็ได้เรื่อยๆ พอได้ใช้สอย มันท้อถอยไม่ได้อ่อนแอไม่ได้ พอทำอะไรได้เราก็ต้องทำ เมื่อก่อนก็เคยปีนไปบนหลังคาบ้าน เพื่อขึ้นไปซ่อม เมื่อครั้งเป็นหนุ่ม”

ถึงแม้ชีวิตของพ่อนิเวศน์ไม่แน่นอน แต่ก็ได้ทำงานหาเงินเพื่อช่วยเหลือครอบครัว และได้ทำงานอยู่ที่บ้านของตนเอง พอเหนื่อยล้าก็จะเดินไปให้อาหารกบหลังบ้าน  ปลูกพืชผักใส่ปุ๋ยเพื่อเป็นการผ่อนคลาย  ซึ่งในการซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าก็จะมีทั้งคนที่นำมาซ่อมที่บ้าน และออกไปซ่อมนอกสถานที่ ก็จะนำเครื่องมือบางส่วนใส่กล่อง และใช้รถไฟฟ้าเป็นพาหนะในการเดินทาง

“อยากให้ต่อสู้เพราะคิดว่าเราก็สามารถทำอะไรได้หลายอย่างเหมือนกัน เราอาจจะสูญเสียความสามารถบางส่วนไป แต่ก็มีหลายส่วนที่เรายังมีอยู่ เราอาจจะยังไม่ค้นพบก็ได้ บางอย่างก็อาจจะยากกว่าจะทำเป็น เราก็ต้องใช้ความมานะพยายามอย่างมาก กว่าจะได้แต่ละอย่าง แต่ขอให้สู้อย่าท้อถอย” พ่อนิเวศน์ กล่าวด้วยน้ำเสียงหนักแน่น และแววตาที่มีความมุ่งมั่น

คนเราแม้จะเลือกเกิดไม่ได้ แต่ก็สามารถเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการได้ เพียงแค่มีความพยายามที่มากพอ และกำลังใจสำคัญของคนในครอบครัว  ร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ อาจเป็นบททดสอบหนึ่งของชีวิต แต่หากมีจิตใจที่แข็งแกร่งก็จะสามารถก้าวผ่านอุปสรรคที่ยากยิ่งไปได้

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ