ส่วนหนึ่ง… เวทีเสวนา “กระบวนการยุติธรรมสำหรับคนจน” กองทุนผ้าป่าช่วยเหลือชาวบ้านทุ่งป่าคา

ส่วนหนึ่ง… เวทีเสวนา “กระบวนการยุติธรรมสำหรับคนจน” กองทุนผ้าป่าช่วยเหลือชาวบ้านทุ่งป่าคา

เครือข่ายภาคประชาสังคม องค์กรภาคีต่างๆ ร่วมจัดผ้าป่าหลังจากเกิดเหตุการณ์ชาวบ้านทุ่งป่าคา หมู่ที่ 8 ตำบลแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ถูกจับกุมดำเนินคดี กรณีการสร้างที่อยู่อาศัยในเขตป่าอนุรักษ์ โดยกระบวนการดำเนินการทางกฎหมายนั้นขาดข้อมูลที่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมแก่ผู้ถูกจับกุม ในที่สุดศาลจังหวัดแม่สะเรียงตัดสินให้จำคุกตามกระทงความผิดจำนวน 29 คน ที่เรือนจำแม่สะเรียง 

ในช่วงเช้ามีการร่วมตัวกันที่เครือข่ายกลุ่มเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) มีผู้ร่วมเดินทางประมาณ 50-60 คน เคลื่อนขบวนไปยังวัดแม่ลาหลวง อำเภอแม่ลาน้อย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อมาในช่วงเวลาประมาณ 15.00 น. มีเสวนา เรื่อง “กระบวนการยุติธรรมสำหรับคนจน” เพื่อแลกเปลี่ยน พูดคุยถึงกระบวนการยุติธรรมที่มีต่อคนชายขอบกับการจัดการทรัพยากรในสังคมไทย

นายศรแก้ว ประจักษ์เมธี นายก อบต. แม่ลาหลวง กล่าวว่า ประเด็นคดีนี้ โดยส่วนตัวยังไม่เคยเห็นคดีแบบนี้มาก่อนที่มีวางกำลังเข้าจับไม้ใครมีไม้ก็จับหมด แม้จะเป็นเพียงไม้ที่ซ่อมแซมไม้ท่อนสองท่อน เกิดความอนาถใจโดยเฉพาะกับคนชนเผ่า สะท้อนให้เห็นว่าต้องมีการดำเนินการถึงขั้นนี้เลยหรือย่างไร หากจะใช้หลักนิติศาสตร์เพียงอย่างเดียวผิดกฏหมายคือจับ ตนว่าคุกนี้คงไม่พออยู่ ซึ่งในความเป็นจริงต้องเอาหลักรัฐศาสตร์เข้าจับด้วยเพื่อจะได้เรียนรู้ว่าเราจะอยู่กันอย่างไร ให้ทั้งกฏหมายศักดิ์สิทธิ์และเคารพกฏหมาย ถ้าจะถามว่าผิดไหมคือผิดในมุมมองของกฏหมายในเขตป่าอนุรักษ์แค่เราเข้าไปหายใจในป่าก็ผิดแล้ว แค่เราไปสะดุดหินก็ผิดเพราะกฏหมายบอกไว้ว่าห้ามแตะต้องอะไรในป่า โดยเห็นว่ารัฐควรมีการแยกแยะประเด็นส่วนไหนที่ชาวบ้านมีไว้ค้า ส่วนไหนที่มีไว้ซ่อมแซมบ้านก็ต้องเข้าใจในวิถีชนเผ่า ซี่งก็ต้องเห็นใจพี่น้องชาวบ้านโดยเฉพาะผู้นำครอบครัวยี่สิบกว่าคนที่โดนจับ ลูกกำลังเรียน ลำพังแม่บ้านเองก็ไม่มีปัญญาจะไปทำไร่ ทำสวน บ้างคนลูกก็ไม่ได้เรียนก็มีหลายคน

บาทหลวงวินัย บุญลือ คณะเยซูอิต สวนเจ็ดริน กล่าวว่า สังเกตว่าจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่ป่าส่วนใหญ่และถูกประกาศให้อยู่เขตอนุรักษาพันธ์ุสัตว์ป่า เขตป่าสงวน เขตที่ไม่ใช่คนอยู่ตลอดเวลา ทำไมมีแต่เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่า แล้วเขตรักษาพันธ์ุคนหายไปไหน มันเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมสำหรับเราเสมอมา กฎหมายที่ออกมาละเมิดความเป็นคน ความเป็นชีวิต ให้ออกจากป่า ให้ออกจากชีวิต เป็นกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ไม่เคยมีกฎหมายอะไรที่ออกมาที่จะให้เราสามารถอยู่รวมกันอย่างเป็นธรรม  เราไม่ได้อพยพมาจากไหนแต่เราอยู่มาก่อนคนไทย คนลัวะ สิ่งที่คนปกาเกอะญอ จะต้องเล่าต่อไปให้ลูกหลาน ตั้งแต่ตองอูไล่มาจนถึงลาว คนปกาเกอะญออยู่บริเวณริมสองฝั่งแม่น้ำอยู่ตลอดเวลา แต่ว่าคนไทยแบ่งคนที่ไม่พูดภาษาไทยว่าเป็นคนพม่ามาอยู่อาศัย สิ่งหนึ่งที่เราต้องยืนยันว่านี้คือแผ่นดินของเรา ที่ดินของเรา เคยมีน้องนักศึกษาคนหนึ่งที่เชียงใหม่ มีนามสกุลยาวๆ พงพนาไพร กึกก้องคีรี พอไปขอพันธ์ุไม้จากเจ้าหน้าที่ป่าไม้ทักเรื่องนามสกุลว่ายาวแบบนี้ตั้งใหม่แสดงว่าไม่ใช่คนไทยใช่ไหม เท่านี้ก็ทำให้สูญเสียความเป็นคนไป

เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ จากสถาบันสิทธิและสันติศึกษา กล่าวว่า สำหรับเวทีนี้ตนอยากมีส่วนร่วมในการรักษาศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเป็นปกาเกอะญอโดยเฉพาะชาวทุ่งป่าคา 40 ปี ที่ทำงานทั้งในและนอกภาครัฐเกี่ยวกับเรื่องที่ดิน ป่าไม้และทรัพยากร ชัดเจนว่าเรื่องสิทธิของประชาชน ในการครอบครอง การจัดการป่านั้น ชุมชนของกลุ่มชาติพันธ์ุในชนบทนั้นไม่ได้ดีขึ้นเลย โดยสรุปคือหนึ่งการรวมอำนาจมาที่ศูนย์กลางของรัฐมีการจัดวางโครงสร้างที่ซับซ้อนและเข้มแข็ง จนอยากที่จะไปแตะต้อง สอง วัฒนธรรมของชุมชน คนที่อยู่กับป่าส่วนใหญ่เป็นคนเรียบง่าย ประนีประนอมยอมรับสภาพต่างๆ แม้จะไม่ได้รับความเป็นธรรมและความยุติธรรม วิธีสู้ของพี่น้องปกาเกอะญอก็มีหลากหลาย ยังดำรงอยู่ซึ่งวิถีไร่หมุนเวียน ยังดำรงวิถีชีวิตการรักษาป่า รักษาน้ำนี้คือการต่อสู้อย่างหนึ่ง สำหรับตนคิดว่าเรื่องของสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไม่ได้มาฟรีต้องต่อสู้ถึงจะได้มา ไม่มีสิทธิใดๆที่ได้มาโดยไม่ต่อสู้

24 พฤษภาคม 57 ตั้งแต่ที่ชาวบ้านโดนจับ สามสิบปีก่อนหน้านี้ชาวบ้านยังคงทำมาหากินมีวิถีชีวิตและดำเนินมาแบบนี้ แต่ไม่โดนจับ ก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่รัฐได้เข้ามาทำโครงการหมู่บ้านป่าไม้แผนใหม่ตาม มติ 30 มิ.ย. 41 ก็มีการกั้นเขตที่ดินป่าไม้ ป่าใช้สอย ป่าอนุรักษ์ ที่ทำกิน ที่อยู่อาศัย เดินไปดูทุกบ้านทุกที่เป็นที่ป่าไม้ บ้าน ที่อยู่อาศัย เป็นชุมชนที่ถูกสร้างขึ้นด้วยไม้ซึ่งไม่แปลกเพราะที่นี้เป็นถิ่นของไม้สัก แต่กลับกลายเป็นพบบ้านไม้สักที่กรุงเทพหรือเนเธอร์แลนด์กลับมีความชอบธรรม

ตามหลักสิทธิมนุษยชนเขาคุ้มครองมากโดยเฉพาะประเด็นที่เป็นสิทธิสากล คุ้มครองวิถีชีวิตและสิทธิของชนเผ่าในการปกป้องและดูแลรักษาใช้ประโยชน์และเป็นเจ้าของในการใช้ทรัพยากร ซึ่งรวมทั้งที่ดิน  แหล่งน้ำป่าไม้ พันธ์พืช พันธ์สัตว์ทั้งหลาย ที่พัก ที่อยู่อาศัย ที่ครอบครอง เป็นเจ้าของและใช้ประโยชน์มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ซึ่งกรณีทุ่งป่าคาหลังจากคุยกับผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกในชุมชน กลุ่มผู้หญิง กลุ่มแม่บ้าน มีข้อสรุปในเบื้องต้น วิถีชีวิตที่ใช้ไม้ไผ่สร้างบ้าน แต่ภายหลังถูกคุกคามหลังจากที่มีการประกาศเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่าและไม่ใช่เฉพาะหมู่บ้านที่ทุ่งป่าคาแต่เกิดทุกทีที่มีการประกาศเขตรักษาพันธ์สัตว์ป่ารวมทั้งวงการสงฆ์ด้วย กรมอุทยานแห่งชาติประกาศอพยพ ไล่รื้อสำนักสงฆ์ในเขตป่าออกหลังจากนั้นก็มีการรื้อกุฏิ สิ่งก่อสร้างเล็กๆ น้อยๆ ออก แล้วเปลี่ยนมาสร้างเป็นอาคารปูน  สร้างตึกและยังมีการก่อสร้างตั้งแต่สองชั้น จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นสิ่งก่อสร้างไม่ควรเป็นสำนักสงฆ์ในเขตป่าขึ้นมา นี้คือการบริหารจัดการทรัพยากรที่ผิดพลาดไม่เข้าใจธรรมวินัยของศาสนาแต่ใช่หลักเศรษฐกิจมาเป็นตัวตั้ง ใช้หลักถาวรวัตถุมาเป็นตัวตั้ง จึงทำให้ชาวบ้านจำนวนหนึ่งคิดว่าถ้าเราอยู่กระต๊อบก็อาจจะถูกรื้อเมื่อไหร่ก็ได้ ก็ควรทำให้มันถาวร แต่นี้ก็ไมใช้เหตุผลเดียวแต่เป็นเพราะแรงงานที่ไม่เหมือนเดิมทำให้กลายเป็นบ้านที่มีความถาวรและมีการเปลี่ยนแปลงมา 20-30 ปีแล้ว ได้เงินมาก็ซื้อไม้สะสมแผ่นสองแผ่น บ้านหลังหนึ่งกว่าจะสร้างเสร็จต้องใช้เวลาเป็นสิบปี เริ่มจากทำเป็นโครงสร้างก่อนแล้วค่อยมุงหลังคาก็มี บางทีทำเสาไปแล้วหลังคายังเป็นตองตึงอยู่ก็มี

ถามว่าที่ทุ่งป่าคามีการขายไม้นั้นมี แต่เป็นลักษณะของการสะสมไม้ จากการขายแรงงาน ทำไร่ทำสวน ลักษณะเป็นรูปแบบของการแบ่งปันมากกว่าการขายไม้ในรูปแบบของเชิงพาณิชย์ แต่จากการลงพื้นที่ของตนในการลงพื้นที่ทุ่งป่าคาพอจะสรุปได้ว่าชาวบ้านทุ่งป่าคาไม่ได้มีพฤติกรรมในการค้าไม้ แต่แปลกใจว่าไม้ที่ออกจากสาละวิน ออกจากขุนยวม แม่สะเรียงหรืออกจากจังหวัดแม่ฮ่องสอนทั้งหมด ต้องผ่านด่านมากมายแต่ชาวบ้านกลับถูกเป็นแพะ ซึ่งอาจจะเป็นการกลบเกลื่นเรื่องคอร์รัปชั่น

  

 

ในช่วงค่ำมีการฉายสารคดีเรื่องราวของคดีทุ่งป่าคาก่อนได้รับการตัดสินในชั้นศาลอุธรณ์ มีการพูดคุยแลกเปลี่ยให้กำลังใจระหว่างกันของชาวบ้านและคณะกองผ้าป่าสามัคคี สำหรับยอดเงินรับบริจาคทั้งหมด 141,985.25 บาท หักค่าใช้จ่าย 27,000 บาท แบ่งเป็นยอดเงินกองกลาง 30,000 บาท สำหรับขับเคลื่อนเยียวยาหมู่บ้านอื่นๆ  ที่ได้รับผลกระทบต่อไป สรุปยอดเงินที่เหลือมอบให้หมู่บ้านทุ่งป่าคา เป็นจำนวน 84,985.25 บาท ซึ่งจะมีการเปิดบัญชีกลางของหมู่บ้านต่อไป 

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ