ตลาดชุมชนหนองใหญ่ เดิมทีวางขายอยู่ริมถนนทางหลวงสุรินทร์-ช่องจอม ด้านหน้าปากทางเข้าบ้านหนองใหญ่ ต.หนองใหญ่ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ติดกับลุ่มน้ำห้วยเสนง เมื่อยามฤดูน้ำหลากชาวบ้านจะนำปลาสด ๆ ขึ้นมาวางขายข้างทางกันอย่างคึกคัก ที่ตรงนี้จึงเป็นจุดเริ่มของ “ตลาดปลาตำบลหนองใหญ่” ผู้คนที่ผ่านไปผ่านมาเป็นประจำจะทราบกันดีและต้องจอดเลือกซื้อเลือกหากลับบ้านทุกครั้ง ภายหลังการเลือกตั้งท้องถิ่น ได้มีการจัดระเบียบตลาดด้วยการทำตลาดแห่งใหม่ให้ชาวบ้านที่ขายอยู่ริมทางแต่เดิมไปเช่าแผงขายล็อคล่ะ 2,000 บาทต่อปี และห้ามจำหน่ายที่เดิมอีกต่อไป แม่ค้าบางรายมีข้อจำกัดด้านจัดหาวัตถุดิบไปจำหน่ายได้ต่อเนื่องทุกวัน จึงยากต่อการเช่าแผง ดังนั้นตลาดแห่งนี้จึงไม่ได้รับความสนใจเท่าใดนัก เมื่อเจอภาวะวิกฤตเรื่องสถานที่จำหน่ายและราคาข้าวตกต่ำ จึงจุดประกายความคิดให้คุณชัยวัฒน์ บุญญัติ ผู้นำชุมชนบ้านหนองใหญ่ลุกขึ้นมาสร้างตลาดชุมชนบนที่ดินของตนเอง ซึ่งอยู่ริมทางหลวงหมายเลข214 (สุรินทร์-ช่องจอม) เพราะภรรยาเป็นคนชอบขายของและเป็นหนึ่งของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการย้ายตลาดในครั้งนี้ และหวังว่าตลาดแห่งนี้เป็นจุดกระจายสินค้าของชุมชนได้อีกทางหนึ่ง โดยการใช้งบประมาณส่วนตัวสร้างเพิงอาคารรองรับแม่ค้าได้จำนวน 10 ราย และชักชวนแม่ค้ารายอื่น ๆ มาจำหน่ายใน “ตลาดชาวนา” อีกด้วย ซึ่งได้เปิดตลาดอย่างอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2561ที่ผ่านมา
“ส่วนใหญ่คนที่มาขายก็เป็นชาวนา เสร็จจากนาก็นำควายมาผูกทุ่งนาด้านหลังแล้วก็มานั่งขายด้วย ขาย ๆ ก็ไปให้น้ำวัวควาย ถ้าชาวนารู้จักคิด รู้จักพลิกแพลงก็มีอะไรให้ทำอีกหลายอย่างที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ จึงเป็นที่มาของชื่อตลาดชาวนา” คุณชัยวัฒน์ บุญญัติ กล่าว
ส่วนการบริหารจัดการตลาด คุณชัยวัฒน์ และคุณอรสิน บุญญัติ สองสามีภรรยาทำหน้าที่ดูแลเป็นหลัก อยู่กันแบบครอบครัวไม่มีระเบียบกฎเกณฑ์เหมือนตลาดทั่วไป ปัจจุบันตลาดแห่งนี้มีจำนวนแม่ค้า 7 ราย คือ จากบ้านหนองใหญ่ 3 ราย บ้านกระวัน ต.หนองใหญ่ อ.ปราสาท 1 ราย /บ้านถนนชัย ต.กันตวจระมวล อ.ปราสาท 1 ราย /บ้านสระทอง ต.แนงมุด อ.กาบเชิง 1 ราย และเจ้าของตลาด 1 ราย มาขายต่อเนื่องทุกวัน จำนวน 3 ราย ให้มาขายฟรีโดยไม่มีการจัดเก็บค่าตลาด สินค้าส่วนใหญ่ได้จากการผลิตเองตามฤดูกาลหรือรับจากคนในชุมชนมาจำหน่าย เช่น ข้าวสาร หน่อไม้ มะพร้าว กบยัดไส้ ปลาแดดเดียว ปลาปิ้ง ปลาสดและพันธุ์ไม้ต่างๆ ในแต่ละฤดูกาลชาวบ้านมีรายได้จากการขายปลาค่อนข้างสูง โดยเฉพาะฤดูกาลน้ำหลากตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป มีรายได้ประมาณรายละ 500-1,000 บาทต่อวัน ซึ่งปลาแต่ละประเภทมีราคาแตกต่างกัน เช่น ปลาหลด ราคา 200 บาท/กิโลกรัม ปลากด 150 บาท ปลาแขยง 150 บาท ปลาช่อน 120 บาท ปลาเนื้ออ่อน 150 บาท ปลาขาว 50 บาท คุณชัยวัฒน์บอกว่า “ที่มีปลาเยอะขนาดนี้เพราะว่าเราไม่ให้ขุดลอกในลุ่มน้ำห้วยเสนง ป่าริมน้ำจะมีโพรงตามธรรมชาติให้ปลาได้หลบซ่อนเพื่อวางไข่ ทำให้เรามีรายได้เช่นทุกวันนี้”
หลังจากย้ายมาขายที่ตลาดชาวนา หากชาวบ้านหาได้ปลาได้เยอะก็นำมาฝากขายที่นี่ด้วย นอกจากขายปลาและผลิตภัณฑ์แปรรูปอื่น ๆ แล้ว รายได้หลักอีกส่วนหนึ่ง คือการขายพันธุ์ไม้ยืนต้นและพืชอาหาร เช่น ขิง ข่า มะพร้าว มะม่วง หมากเตี๊ย น้อยหน่า แค มะนาว ฯลฯ
“ขายดีมากที่สุด คือ พวกพันธุ์ไม้ยืนต้นหรือพืชอาหารต่างๆ บางวันรายได้จากการขายเฉพาะต้นไม้และพันธุ์พืชประมาณ 6,000-7,000 บาททีเดียว หากรวมสินค้าอื่นด้วยบางวันมียอดรวมจากการขายสูงสุดประมาณ 10,000 บาท หรือต่ำสุด 500-700 บาท” คุณอรสิน บุญญัติ กล่าว ป้าบุญล้อม ชายแก้ว แม่ค้าจากตำบลกันตรวจระมวลที่มาขายต่อเนื่องประจำ เล่าว่า “อยู่กับตาสองคน ต้องตื่นตั้งแต่ตีสี่เพื่อทำแก๊บบ๊อบ (กบยัดไส้) ทุกวัน ส่วนตาก็จัดการเรือกสวนไร่นาและดูแลวัวควายไม่ค่อยมีเวลามาช่วยเตรียมของขายหรอก บ่ายแก่ ๆป้าต้องกลับไปเตรียมของเพื่อมาขายต่อในวันพรุ่งนี้ สินค้าบางชนิดเราก็ต้องรับซื้อจากชุมชนมาขาย เช่น ไก่บ้าน มะพร้าว กล้วย บางทีซื้อมาหวีละ 10-15 บาท เอามาปิ้งขาย 5 ลูก 20 บาท ถามว่าอยู่ได้มั้ย ก็อยู่ได้น่ะ ดีกว่าอยู่เฉย ๆ สถานที่ก็ให้มาขายฟรียังไม่มีการเก็บค่าตลาด บางวันขายได้สูงสุดถึง 1,300 บาท หรืออย่างไม่ได้เลยก็ประมาณ 300-500 บาท”
สำหรับทิศทางการพัฒนาตลาดในอนาคต คุณชัยวัฒน์บอกว่ามีแผนจะทำห้องน้ำเพิ่มเพื่ออำนวยความสะดวกทั้งแม่ค้าและผู้ที่แวะมาจับจ่ายซื้อสินค้า ทำป้ายตลาดชาวนาขนาดใหญ่ติดด้านหน้าให้เห็นได้ชัดเจน หรือหากแม่ค้ามาขายเยอะขึ้นก็จะเดินระบบน้ำให้เพิ่มเติมอีกด้วย การเปลี่ยนวิกฤตจากการไม่มีที่ขายของและราคาข้าวตกต่ำให้เป็นโอกาสด้วยการทำตลาดชุมชน และพัฒนาจากสิ่งที่รักในอาชีพเกษตร รักการขายของ จนสามารถสร้างฐานเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับครอบครัวและคนในชุมชน หากคำนวณรายได้เฉลี่ยของแม่ค้าที่มาขายต่อเนื่องทุกวันทั้ง 3 ราย ประมาณ 500 บาทต่อวันต่อราย สามารถสร้างรายได้ถึง 45,000 บาทต่อเดือน พร้อมกับการทำงานอนุรักษ์ ฟื้นฟู ดูแลเฝ้าระวังลุ่มน้ำห้วยเสนงตอนกลางให้คงไว้ซึ่งฐานทรัพยากรที่ชุมชนสามารถพึ่งพิงในการดำรงชีวิตและส่งต่อให้ลูกหลานต่อไปในอนาคต หากพี่น้องท่านใดสนใจเข้าไปขายที่ตลาดชาวนา
สามารถติดต่อได้ที่ นางอรสิน บุญญัติ 139 ม. 7 ต.หนองใหญ่ อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ เบอร์โทรศัพท์ 095-2814963
เรียบเรียงโดย นิรุตณ์ บัวพา/ณัฐกานต์ สิทธิสังข์