ว่าด้วยการขยายโอกาสป.6-ม.3 และมุมมองการศึกษาของครูสายัญ โพธิ์สุวรรณ์
โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่ง เป็นโรงเรียนชายแดนที่อยู่ติดแม่น้ำสาละวินกั้นเขตแผ่นดินพม่า-ไทย โรงเรียนตั้งอยู่ในเขตอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นโรงเรียนขนาดกลางที่ปัจจุบันมีจำนวนนักเรียน 145 คน
แม้จะเป็นพื้นที่ชายแดนซึ่งมีสถานการณ์สู้รบมาอย่างยาวนาน แต่หมู่บ้านแห่งนี้ก็มีประวัติศาสตร์ชุมชนมากว่าร้อยปี ทั้งยังมีอาคารสถานีตำรวจเก่าแก่เป็นหลักฐาน (จนผู้มาเยือนจากภายนอกหลายคนใคร่พบเห็นให้เป็นที่ประจักษ์)
กระนั้น แม้ชุมชนจะเป็นที่รู้จักกันดีของคนในอำเภอแม่สะเรียง แต่พื้นที่ห่างไกลอย่างท่าตาฝั่งก็มีเส้นทางการเดินทางที่ค่อนข้างยากลำบาก เพราะมีระยะทางห่างไกลจากตัวอำเภอพอสมควร (64 กิโลเมตร ซึ่งเป็นเส้นทางคดเคี้ยว ลัดเลาะไปตามไหล่เขา) ไม่ว่าจะเดินทางด้วยทางเรือหรือทางรถซึ่งเป็นถนนลูกรัง ก็จะใช้เวลาราว 2-3 ชั่วโมง ถ้าเป็นหน้าฝน ดินผิวถนนถูกน้ำหลากกัดเซาะ สัญจรไม่ได้ หรือบางครั้งมีน้ำป่าไหลหลาก บ้านท่าตาฝั่งก็จะถูกตัดขาดจากโลกภายนอกทันที (เพราะที่ท่าตาฝั่งไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ แต่ปัจจุบันได้มีเอกชนนำสัญญาณ wifi มาเปิดให้เช่าซื้อสัญญาณ ซึ่งพอจะทำให้ติดต่อสื่อสารได้ แต่บางครั้งสัญญาณก็ไม่เสถียรนัก)
ดังนั้น นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ ผอ.โรงเรียนท่าตาฝั่ง สายัญ โพธิ์สุวรรณ์ และชาวบ้านท่าตาฝั่ง ได้ร่วมมือกันผลักดันให้โรงเรียนบ้านท่าตาฝั่งเปิดการเรียนการสอนถึงระดับชั้น ม.3 (จากเดิมที่มีสอนเพียงระดับชั้น ป.6 และเด็กๆ ต้องออกจากบ้านในวัย 12-14 ปีเพื่อไปเรียนต่อในตัวอำเภอแม่สะเรียง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องไปใช้ชีวิตลำพังในหอพัก ไม่ว่าจะเป็นการเช่าหอพักเอง หรือมีองค์กรอุปถัมภ์ มีเพียงน้อยรายที่จะได้อยู่กับญาติๆ ที่มีผู้ใหญ่คอยดูแล) โดยได้เริ่มดำเนินการด้านเอกสารมาตั้งแต่ปี 2563 และเมื่อเดือนกันยายน 2565 ทางชาวบ้านก็ได้รับข่าวดีว่า ทางจังหวัดได้ผ่านการอนุมัติให้ทำการเปิดสอนถึงชั้น ม.3 ได้ แต่ต้องรอการรับรองจากกระทรวงอีกขั้นตอนหนึ่ง ซึ่งคาดว่าน่าจะผ่าน และถ้าหากผ่าน เปิดเทอมเดือนพฤษภาคมปี 2566 นี้ เด็กๆ ที่เรียนจบป.6 ก็จะได้เรียนระดับชั้น ม.1 ต่อโดยไม่ต้องออกจากชุมชนไปเรียนในเมืองอีกแล้ว
เรามีโอกาสสนทนา พูดคุยกับ ผอ.สายัญ โพธิ์สุวรรณ์ ว่าด้วยทัศนะทางการศึกษาในแง่มุมต่างๆ และได้นำมาถ่ายทอด ณ ที่นี้
Q : อะไรคือสิ่งที่ทำให้ครูกับชาวบ้านผลักดันให้โรงเรียนเปิดสอนถึงชั้น ม.3
A : ก่อนอื่นผมขอบอกแบบนี้ก่อนว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องของผมคนเดียว ผมไม่ได้ผลักดันคนเดียวมีหลายคนหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องและโดยเฉพาะชุมชน ชาวบ้าน
ในทัศนะของผม คำว่า “โรงเรียน” มันมีองค์ประกอบที่เปรียบเสมือนก้อนเส้าทางการศึกษาอยู่ 3 ก้อนด้วยกัน คือ หนึ่ง ในเรื่องของคุณภาพ ว่าทำอย่างไรถึงจะดีขึ้น ทั้งการเรียน ทั้งคุณภาพชีวิต ทั้งอะไรหลายอย่าง สอง คือ ให้มีโอกาสเข้าถึง (เรื่องของโอกาส) แต่สองอย่างนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมี สาม คือเรื่องของการมีส่วนร่วม ซึ่งก็คือชุมชน ภาคีเครือข่ายทุกส่วนที่เขาอยากช่วย
สามเรื่องนี้แหละที่จะทำให้เราตั้งหม้อข้าวหม้อแกงทางการศึกษาได้
ที่นี่มีความต้องการของการเรียนระดับ ม.ต้นมานานแล้วครับ เพียงแต่ยังไม่มีใครเป็นเจ้าภาพหลักที่จะผลักดัน เพราะเด็กๆ ที่นี่ลำบากมาก การเดินทางยากลำบาก และการไปเรียนในเมืองต้องใช้เงินจำนวนมาก อย่างน้อยๆ ถ้าคิดแบบใช้จ่ายประหยัดสุดปีละ 3 หมื่นบาท ถ้าครอบครัวไหนมีลูกอายุไล่เลี่ยกันไปเรียนพร้อมกัน นั่นเท่ากับ 6 หมื่นบาท สำหรับพี่น้องบนดอย เงินหกหมื่นบาทสูงมากนะครับ แล้วไหนจะสภาพจิตใจของเด็กๆในวัยที่เขายังไม่พร้อม แต่จำเป็นต้องไปแล้ว สำหรับผม ผมอยากเห็นเด็กอยู่กับชุมชนให้มากที่สุด อยากให้พวกเขาได้ใช้ชีวิตในชุมชม ซึมซับวิถีชีวิต ความอบอุ่นของครอบครัว ของชุมชนให้มากที่สุด เพราะเดี๋ยวโตมาพวกเขาก็จะต้องออกไปเรียนรู้เองอยู่แล้ว แต่ถ้าเด็กได้ซึมซับรากเหง้า วันหนึ่งพวกเขาแข็งแรงดีแล้วพวกเขาจะกลับมา ผมอยากเห็นคนหนุ่มสาวกลับบ้าน
Q : ดูเหมือนครูจะไม่ได้คิดเพียงแค่ว่าหน้าที่ของการเป็นครูคือการสอนแล้วก็จบ แต่เหมือนคิดถึงบริบทหลายอย่างประกอบกัน อย่างการทำสะพานแขวน ชาวบ้านเล่าว่าครูระดมความร่วมมือหลายฝ่ายมาช่วยกันทำสะพานแทนของเดิมที่ขาดไปกับน้ำป่า ?
A : ในหลวงร.9 เคยตรัสว่าหน้าที่ของคนเรามีสองอย่าง คือ หนึ่ง หน้าที่การงานตามที่เราเป็นและอีกหน้าที่หนึ่งนั้นคือหน้าที่ความเป็นมนุษย์ ที่นี่ถ้าเอาหน้าที่ความเป็นมนุษย์มาจับ เราจะรู้ว่ามีอะไรหลายอย่างที่เราควรทำ หากว่าเราทำได้ — เมื่อกี้ที่เราผ่าน (ขับรถผ่าน) คือทหารนะครับที่กำลังตัดหญ้าอยู่ พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) มายืมเครื่องตัดหญ้าที่โรงเรียนเมื่อเช้า ทุกคนกำลังทำหน้าที่ของมนุษย์ที่มันใหญ่มาก ที่จะช่วยอุ้มชูโลกเราผมถือว่าผมทำหน้าที่ของมนุษย์คนหนึ่ง
Q : ถ้าอย่างนั้นโรงเรียนบ้านท่าตาฝั่งควรมีหลักสูตรการเรียนการสอนหรือรูปแบบการประเมินเป็นของตัวเองไหม เพราะบริบทชุมชนต่างออกจากในเมือง เด็กๆ มีทักษะอื่นที่ดีที่ไม่ได้นำมาประเมิน
A : จริงๆ ในหลักสูตรที่มีอยู่มันมีทางเลือกอยู่นะครับ คือทางเลือกในทางหลักมันมีอยู่ เราอาจต้องปรับให้เข้าช่องทาง แต่ในอนาคตถ้ามีการปรับปรุงให้ดีกว่า ก็คงดีกว่า
เกี่ยวกับการประเมินผลการศึกษา นพ. ประเวศ วะสี พูดไว้ดีนะครับ ว่าควรเอาชีวิตเป็นตัวตั้ง ถ้ากิจกรรมการเรียนการสอนมุ่งไปตอบตรงนั้น การวัดและประเมินผลก็ควรมุ่งตอบตรงนั้นเช่นกัน เด็กท่าตาฝั่งก็ควรตอบบริบทของท่าตาฝั่งได้ เด็กที่อยู่ในตัวเมืองเขาก็ควรตอบบริบทของเมืองของเขาได้เช่นกัน มันจึงเป็นหน้าที่ของคนที่แปรสาร คือ คนที่นำไปใช้ ซึ่งก็คือคนเป็นครูนี่เอง ว่าจะเข้าใจแก่นตรงนั้นแค่ไหน อย่างที่นี่เรามีแก่นของเราว่า ถ้าเขาเข้ามาให้เขามีความพร้อม ให้เขาสามารถอ่านออกเขียนได้ เพื่อจะได้เป็นเครื่องมือเปิดประตูไปสู่อื่นๆ อีก แล้วเราก็มาเติมทักษะ ป.4-5-6 ให้กับเขา ให้เขาสามารถทำมาหากินต่างๆ ได้ จริงๆ ในตัวของเขามีดี และมีมานานแล้ว พวกเขาเป็นนานแล้ว หน้าที่ของเรา เรามาดูว่าเราจะเสริมอะไรเข้าไปอีกได้ โดยเอาชีวิตของเขาเป็นตัวยืน เด็กแต่ละคนเก่งไม่เท่ากัน เราจะต้องมองหาศักยภาพของเด็ก และที่สำคัญ เราต้องสร้างความมั่นใจให้เขา ให้เขารู้สึกทัดเทียมคนอื่น ไม่ใช่รู้สึกด้อยกว่าเด็กคนอื่นๆ
Q : เป้าหมายของการศึกษาของครูที่มีต่อชุมชนแห่งนี้เป็นอย่างไร
A : ผมฝันไว้มากเลยครับ เราตั้ง School Concept โรงเรียนว่า อยากให้เยาวชนเป็นผู้ประกอบการชุมชน แม้คำนี้จะตลาด ใครๆ ก็ใช้ แต่เราก็ฝัน อยากให้เป็นในมุมของพวกเรา เราอยากให้เป็นผู้ประกอบการชุมชน อย่างที่หนึ่งคืออยู่กับที่นี่ได้ ทำมาหากินกับที่นี่ได้ สร้างแบรนด์ของที่นี่ได้ ดูแลรักษาชุมชนของเขาได้ นี่คือเป้าของเรา แต่ถ้าเด็กเขามีศักยภาพอยากกระโดดออกไปจากที่นี่ได้ เราก็อยากให้ไป ทุกคนมีอิสระ ความเป็นจริง จบป.6-ม.3 หมดหน้าที่เราแต่จริงๆ เราก็ยังติดตาม คอยเฝ้าฟังว่าเป็นยังไงบ้าง อย่างน้องส้ม (ลาหมึทอ ดั่งแดนวิมาน) เขาเป็นตัวแทนของเด็กที่นี่ที่เรียนจบแล้วกลับมาชุมชน โดยความเป็นจริงด้วยความสามารถของเขา เขาไปทำงานทำเงินอะไรได้อีกเยอะ แต่เขาก็เลือกกลับมาที่นี่
Q : ทำไมความเป็นครูไม่จบเพียงแค่เด็กเรียนจบป.6 หรือ ม.3 แล้วจบหน้าที่เรา ทำไมครูสนใจที่จะมองปัญหารอบๆ ของชุมชนด้วย
A : ตัวผมเองเป็นผลผลิตของการศึกษาที่ออกจากชุมชน ปีหนึ่งได้ออกบ้านเพียงแค่ครั้งสองครั้งเอง ก็ถามตัวเองบ่อยๆ เราเรียนจบจากที่บ้าน แต่ทำไมเราไม่ได้กลับไปทำงานที่บ้านของเรา ผมก็ถามตัวเอง ระบบการเรียนการสอนทุกวันนี้ก็เหมือนกันครับ การศึกษาพาเด็กๆ ออกจากบ้าน ออกจากหมู่บ้านหมดเลย บางคนกลับบ้านไม่ได้ด้วย เพราะตัวหมู่บ้าน ตัวชุมชน ตัวสังคมเอง ก็ไม่รองรับ ว่าไง จบมาตั้งสูง มาทำอะไรที่นี่ล่ะ เงินเดือนเท่าไรแล้ว เพื่อนเธอไปได้ไกลแล้ว ทำไมต้องมาต้วมเตี้ยมป้วนเปี้ยนแถวนี้ นี่เป็นมุมที่เราถูกทำมาตั้งนานแล้ว ในทัศนะของผม ถ้าเป็นไปได้ เรียนจบแล้วก็อยากให้มาทำงานที่บ้าน สร้างและดูแลครอบครัว ดูแลชุมชน ดูแลสังคมแทนพวกเราในวันที่ผู้ใหญ่อย่างพวกเราไม่อยู่บนโลกนี้แล้ว และเด็กๆ ก็ส่งไม้ต่อให้ให้คนรุ่นต่อไปได้ แต่โจทย์ก็คือ จะทำอย่างไรถึงจะเป็นเช่นนั้นได้ มันมีเครื่องบินละ แต่จะทำอย่างไรให้ที่นี่มีรันเวย์สำหรับเครื่องลงจอดได้ มันจึงเป็นหน้าที่ของโรงเรียนของชุมชน จึงเป็นเหตุที่ว่าเราควรที่จะมาเริ่มต้นที่โรงเรียนและหมู่บ้าน
ผมอยากให้มุมแบบนี้มันเกิดขึ้น ถ้าทุกที่ทุกแห่งทุกคนกลับมาดูแลบ้านดูแลเมืองของตัวเอง นี่เป็นความหวังเล็กๆ ที่ทำให้ผมอยากให้ที่นี่เปิดม.3 ได้ขยายโอกาสให้เด็กๆ ได้เรียนที่นี่ ในบ้าน ในชุมชน ได้อยู่ร่วมกับทุกคนในชุมชน
Q : ในมุมมองของครูบ้านท่าตาฝั่งมีอะไรดี
A : จริงๆ ที่นี่มีต้นทุนเยอะมาก พวกเขารักษาไว้ดีมาก เช่น ป่าไม้รอบๆ ทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ ดูสิครับ ข้างๆ ป่า มีลำธาร น้ำกำลังไหล ป่าดีมาก ดินดีมาก น้ำดีมาก อากาศดีมาก ยกเว้นหน้าร้อนอาจจะร้อนนิดหนึ่งตามฤดูกาล ของดีแบบนี้ถ้าบรรพบุรุษไม่รักษาไว้ให้ดีวันนี้คงไม่เป็นแบบนี้ และถ้าคนรุ่นนี้ไม่รักษาไว้ให้ดี คนรุ่นต่อไปก็อาจไม่ได้เห็น แล้วเราจะทำอย่างไร ให้คนในชุมชนได้ตระหนักร่วมกันว่าเรามีของดีอยู่และสื่อออกไปให้คนภายนอกเห็น
เมือก่อนเราอาจจะเรียนเพื่อเอาวุฒิ 9 ปีก็ได้แล้ว ตามสูตร 2 4 6 8 สองคือ สองหน้ากระดาษ (หน้า-หลัง) สี่คือ สี่มุมห้อง หกคือ หกคาบ(ชั่วโมงเรียน) และ แปดคือ แปดสาระการเรียนรู้ แต่วันนี้วันไม่ใช่แบบนั้นอีกแล้ว วันนี้มันเป็นการศึกษาเพื่อดูแลบ้านเมือง ดูแลโลกใบนี้ร่วมกัน ในมุมแบบนี้ผมคิดว่าจะทำให้โลกเราอายุยืน แต่นี่ไม่ใช่หน้าที่ของครูฝ่ายเดียว เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน
Q : แล้วเป้าหมายทางการศึกษาสูงสุดของครูคืออะไร
A : เป้าหมายการศึกษาของผมมี 2 ระดับ ระดับแรกคือให้เขาทำมาหาเลี้ยงชีพได้ อยู่ในสังคมได้ มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี ดูแลช่วยเหลือสังคมได้ตามเหตุตามปัจจัยได้ มันเป็นคุณสมบัติที่ทุกคนควรจะมีในการดูแลตัวเองและหล่อเลี้ยงผู้อื่น ดูแลชุมชน สังคม ดูแลโลกของเรา อันนี้ระดับแรก ลูกศิษย์ทุกคนผมอยากให้เป็นแบบนี้ แต่ในระดับสองนั้น ตัวผมเองก็ยังเข้าไม่ถึง แต่ผมก็อยากให้ลูกศิษย์เข้าถึงซึ่งมันยิ่งใหญ่มากคือ การเป็นอิสระจากทุกอย่าง อันนี้คือขั้นสูง คือมีความรู้รับผิดชอบเป็นพื้นฐานเบื้องต้นจากนั้นให้เป็นอิสระ เข้าใจสัจธรรมจนใช้ชีวิตได้อย่างปลอดโปร่ง เบาสบาย อันนี้เป็นขั้นสูงที่ผมเองยังทำไม่ได้ (หัวเราะ)