สะเอียบ ขึ้นป้ายประกาศไม่ให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน
ที่ผลักดัน เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) หรือ เขื่อนแก่งเสือเต้น
บ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ///// วันนี้ (16 กันยายน 2558) ชาวบ้านตำบลสะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ จาก 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านดอนชัยหมู่ 1 , บ้านดอนชัยสักทอง หมู่ 9 , บ้านดอนแก้ว หมู่ 6 , และบ้านแม่เต้น หมู่ 5 กว่าร้อยคน ได้ประชุมปรึกษาหารือกันที่วัดดอนชัย ต.สะเอียบ เพื่อติดตามสถานการณ์การผลักดันเขื่อนของหน่วยงานต่างๆ และในวันนี้ได้มีการขึ้นป้ายประกาศ ไม่ให้ความร่วมมือใดๆ ทั้งสิ้น กับหน่วยงานที่สนับสนุนและผลักดันเขื่อนดังกล่าว
จากการที่ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ นายศักดิ์ สมบุญโต ได้มีการจัดประชุมหน่วยงานราชการ เพื่อผลักดันโครงการเขื่อนยมบน-เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) ซึ่งคือเขื่อนแก่งเสือเต้นที่แบ่งออกเป็น 2 ตอน โดยได้มีการประชุมหน่วยราชการมาถึง 5 ครั้ง ซึ่งในครั้งที่ 5 ได้เชิญรองผู้ว่าราชการจังหวัดอุตรดิตถ์ มาให้ประสบการณ์และบทเรียนในการเข้าถึงชาวบ้านและชุมชนผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนผาจุก จ.อุตรดิตถ์ ที่สามารถอพยพชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากเขื่อนผาจุกออกจากพื้นที่ได้สำเร็จ เพื่อเป็นแนวทางในการทำงานของจังหวัดแพร่ เพื่อเข้าถึงชาวบ้านและชุมชนที่ได้รับผลกระทบต่อไป อันเป็นเหตุทำให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ต.สะเอียบไม่พอใจเป็นอย่างยิ่ง
ในวันนี้ ชาวบ้าน ต.สะเอียบ จึงได้มีการขึ้นป้ายประกาศไม่ให้ความร่วมมือใดๆ ทั้งสิ้น กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนและผลักดันเขื่อนดังกล่าว ทั้งนี้คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ ได้ชี้แจงให้ชาวบ้านได้รับรู้สถานการณ์ และชี้แจงถึงมาตรการตอบโต้ที่ชาวบ้านได้ร่วมกันเสนอและดำเนินการมา อาทิ การยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ยกเลิกเขื่อนดังกล่าว พร้อมเสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหา 14 แนวทางในการแก้ไขปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม การยื่นหนังสือถึงคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิของชาวบ้านและชุมชน โดยทางคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนจะได้เรียกผู้ว่าราชการจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงในวันที่ 29 กันยายน 2558 นี้ ที่ สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรุงเพทฯ
นายพิษณุ สร้อยเงิน คระกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน กล่าวว่า “การที่หน่วยงานต่างๆ ยังผลักดันเขื่อนยมบน-ยมล่างหรือเขื่อนแก่งเสือเต้น อยู่นั้น ได้สร้างความกังวลใจให้กับชาวบ้านเป็นอย่างมาก คนเฒ่าคนแก่ กินไม่ได้ นอนไม่หลับ ก่อให้เกิดโรคเครียดตามมา เราจึงขอให้หน่วยงานต่างๆ ได้ยุติดารผลักดันโครงการเขื่อนเหล่านี้เสีย เพราะยังมีแนวทางอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหาน้ำแล้งน้ำท่วมลุ่มน้ำยมที่ภาคประชาชนเสนอถึง 14 แนวทาง โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนเหล่านี้ และยังสามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าการสร้างเขื่อนเหล่านี้เสียด้วยซ้ำ เราจึงขอให้นายกมีมติคณะรัฐมนตรี ยกเลิกเขื่อนเหล่านี้เพื่อความสงบสุขของชาวบ้านและชุมชน และเร่งใช้แนวทาง 14 แนวทางในการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งลุ่มน้ำยม เพื่อความผาสุกของพี่น้องประชาชนลุ่มน้ำยมทั้งลุ่มน้ำต่อไป” นายพิษณุ กล่าว
ด้านนายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน กล่าวว่า “ชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้านได้มีมติไม่ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่สนับสนุนและผลักดันเขื่อน เราจะมีมาตรการตอบโต้กับทุกคนทุกหน่วยงานที่สนับสนุนและผลักดันเขื่อนเหล่านี้ เรายืนยันที่จะคัดค้านเขื่อนยมบน-ยมล่าง หรือเขื่อนแม่น้ำยม รวมทั้งคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น จนถึงที่สุด ล่าสุดเราได้ยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และทางคณะกรรมการสิทธิ์ได้เรียกชาวบ้านและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปชี้แจงที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 29 กันยายน นี้” นายสมมิ่ง กล่าว
ท้ายสุด ชาวบ้านได้มีมติมอบหมายให้ตัวแทนชาวบ้านในนามคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ได้ดำเนินการยื่นหนังสือเรียกร้องต่อหน่วยงานต่างๆ อาทิ ผู้ตรวจการแผ่นดิน , กรมบัญชีกลาง , ศูนย์ดำรงธรรม , กรมการปกครอง , กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น จากนั้น คณะกรรมการฯได้ทำการมอบป้ายประกาศฯ ให้กับตัวแทนชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน เพื่อนำไปติดยังหน้าหมู่บ้านของตนเองต่อไป
author
เคยเขียนข่าว สารคดี เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พลเมืองเหนือ เคยรายงานข่าววิทยุ สำนักข่าวไทย อสมท. ตอนนี้เป็นทำงานอยู่สำนักเครือข่ายสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอส
ทำข่าว ข้อมูล ประสานเครือข่าย ฝีกอบรม สร้างพื้นที่สื่อสารสาธารณะ