สวทน. เปิดโครงการ Talent Mobility Clearing House แหล่งรวมนักวิจัย
การจับคู่แนวใหม่ เพื่อพัฒนายกระดับ SMEsไทยแบบยั่งยืน
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.)ได้ดำเนินการ “โครงการส่งเสริมและสนับสนุนบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการจัดการ จากภาครัฐและสถาบันอุดมศึกษา ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในภาคการผลิตและบริการ” ( Talent Mobility) โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อการพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคอุตสาหกรรมเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต โดยเน้นหนักไปที่ บริษัทSMEsไทยที่ต้องการความช่วยหลือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมอยู่เป็นจำนวนมาก
สวทน. เป็นหน่วยงานหลักในการเชื่อมโยงและสร้างเครือข่ายจากสถาบันวิจัยของรัฐ และสถาบันการศึกษา นำทัพนักวิจัยไทยเข้าไปทำงานจริงในสถานประกอบการ โดยจัดตั้ง “ศูนย์อำนวยความสะดวก Talent Mobility หรือ TM Clearing House” โดยทางศูนย์ จะรับแจ้งความต้องการสนับสนุนด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือความต้องการนักวิจัย เชี่ยวชาญ จากนั้นศูนย์จะทำการวิเคราะห์ปัญหาความต้องการของ SMEs จนถึงการประสานงานจับคู่บุคลาการ ผู้เชี่ยวชาญเข้าไปปฏิบัติงาน ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต การลดต้นทุน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ ในสถานประกอบการ โดยยังถือว่าบุคลากรเหล่านั้นยังปฏิบัติงานในภาครัฐ และผลงานการปฏิบัติงานในสถานประกอบการ ยังถูกนำมาประเมินผลงานได้ อีกทั้งยังเป็นการต่อยอดการพัฒนาการศึกษาวิจัยในสถาบันการศึกษา เพิ่มแหล่งเรียนรู้การปฏิบัติงานจริงแก่นักศึกษาอีกด้วย
เมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา สวทน. ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับสถาบันการศึกษาชั้นนำ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยมหิดล ในการขับเคลื่อนโครงการ Talent Mobility ถือเป็นก้าวแรกความสำเร็จในการจัดทำแหล่งรวมนักวิจัยระดับมันสมองของไทย และเพิ่มความสามารถในการจับคู่ของศูนย์ TM Clearing House ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ความคืบหน้าในขณะนี้ มีบริษัท SMEs หลายแห่ง แจ้งความประสงค์ในการขอรับการสนับสนุนมายังศูนย์อำนวยความสะดวก TM Clearing House และ สวทน. เพื่อขอให้จับคู่บุคลากร ผู้เชี่ยชาญ ตามความต้องการของบริษัท เช่น บริษัทที่ทำธุรกิจทางด้านอัญมณี สนใจ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ในสาขาความเชี่ยวชาญการวิเคราะห์วัสดุ โดยการเพิ่มมูลค่าพลอยด้วยลำแสงไอออน หรือ บริษัทผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ สนใจอาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ในสาขาความเชี่ยวชาญด้านไรฝุ่น และบริษัทธุรกิจทางเครื่องสำอาง สนใจอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีธัญบุรี ในสาขาความเชี่ยวชาญด้านสมุนไพร เป็นต้น
ยังมีหลายหน่วงานภายใต้สังกัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และหน่วยงานภาครัฐ ที่ร่วมมือกับ สวทน. ในการขับเคลื่อน โครงการ Talent Mobility เพื่อสนับสนุนการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมให้แก่ SMEs ได้แก่ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี (iTAP) สถาบันวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมเพื่ออุตสาหกรรม (สวน.) ที่พร้อมให้การสนับสนุนการพัฒนา SMEs ไทย
โครงการ Talent Mobility จับคู่นักวิจัย เพื่อ SMEsไทย ดังกล่าว เป็นหนึ่งในรูปธรรมของการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดย สวทน. เป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่จัดทำแนวทางในการปฏิรูป โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อพานำประเทศไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว หลุดออกจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง เพิ่มการลงทุนด้านการวิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้ได้ในระดับ ร้อยละ1 ของ GDP และให้ภาครัฐสนับสนุนเอกชนในการทำวิจัยพัฒนา นำนวัตกรรมด้านวิทยาศสตร์และเทคโนโลยีภายในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตอบโจทย์การพัฒนา SMEs ไทยได้อย่างยั่งยืน
author
นานาสาระ
Contact me : fyoung2557@gmail.com