เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หมู่เฮา เจ้า ข้อย จงเตรียมพร้อม

เพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย หมู่เฮา เจ้า ข้อย จงเตรียมพร้อม

“โลกรวน” ดูเหมือนจะเป็นคำนิยามสภาพภูมิอากาศของโลกที่กำลังเผชิญในนาทีนี้ ทั้ง ฝนตก น้ำท่วม แล้ง ร้อน ลมหนาวไม่มาตามเวลา นับเป็นรูปธรรมความปั่นป่วนที่มีความถี่และรุนแรงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงฤดูกาลที่ผ่านมา

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และศูนย์สนับสนุนวิชาการเพื่อการจัดการเครือข่ายพื้นที่ภาคตะวันออกฉียงเหนือ ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการทำความเข้าใจแนวทางการสนับสนุนวิชาการสู่การปรับตัวของชุมชนท้องถิ่นพื้นที่ภาคตะวันนออกเฉียงเหนือ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกว่า 53 ตำบล เพื่อรับมือกับ “ความแปรปรวน” ความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  เมื่อวันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

เว็บไซต์  ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) การเปลี่ยนแปลงลักษณะอากาศเฉลี่ย (average weather) ในพื้นที่หนึ่ง ลักษณะอากาศเฉลี่ย หมายความรวมถึง ลักษณะทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับอากาศ เช่น อุณหภูมิ ฝน ลม เป็นต้น (ในความหมายตามกรอบของอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ FCCC (Framework Convention on Climate Change) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อันเป็นผลทางตรง หรือทางอ้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ ที่ทำให้องค์ประกอบของบรรยากาศเปลี่ยนแปลงไป นอกเหนือจากความผันแปรตามธรรมชาติ แต่ความหมายที่ใช้ในคณะกรรมการระหว่างรัฐบาล ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ IPCC (Intergovernmental Panel on Climate Change) การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ว่าจะเนื่องมาจาก ความผันแปรตามธรรมชาติ หรือกิจกรรมของมนุษย์ ซึ่งส่งผลต่อทั้งสุขภาพ ที่อยู่อาศัย ความปลอดภัย การทำงาน รวมถึงการเพาะปลูก

“เรามองเห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำคัญในเรื่องของการหนุนเสริม การสนับสนุน หรือการกำหนดแผน หรือนโยบาย หรือการวางแผนให้กับประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ จะไปในทิศทางไหน ส่วนเกษตรกรเองก็มีความสำคัญในแง่ของผู้ปฏิบัติหรือผู้ที่เผชิญกับความแปรปรวนจึงจำเป็นต้องปรับตัวภายใต้ฐานองค์ความรู้”

ดร.จตุพร เทียรมา หัวหน้าโครงการวิจัยฯ อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ ม.มหาสารคาม ย้ำถึงความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับบทบาทในการเตรียมพร้อมรับมือสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงในระดับชุมชน พร้อมฉายภาพรวมถึงสถานการณ์โลกรวนและกระบวนการเสริมสร้างศักยภาพทางวิชาการเพื่อปรับตัวของชุมชนท้องถิ่นโดยให้ความหมายคือความแปรปรวนของ “ลม ฟ้า อากาศ” อันมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้ง คลื่นความร้อน  ภัยแล้ง ฝนตกหนัก อุทกภัยและระดับน้ำทะเลสูงขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่การเพาะปลูก, ผลิตภาพการเลี้ยงสัตว์,ปัญหาสัตว์และแมลงรบกวนเชื้อโรค และไฟป่า, มาตรการด้านการค้าและการลงทุน, อุปทานน้ำเพื่อการเกษตร และผลิตต่อไร่ ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลต่อ ความมั่นคงทางอาหาร, สถานะความเป็นอยู่ของเกษตรกร และรายรับจากการส่งออกของประเทศ 

ยังอธิบายถึงการปรับตัวเพื่อรับกับสถานการณ์เปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ หรือโลกรวน จะเต็มใจเปลี่ยนหรือไม่เต็มใจยังไงก็ต้องปรับ  ถ้าเราต้องการปรับตัวแปลว่าเราไม่อยากเผชิญกับสิ่งไม่พึงประสงค์ แล้วจะปรับยังไง คือปรับแล้วให้อยู่รอดไปวัน ๆ หรืออยู่รอดอย่างมีสุขภาวะ (กายเป็นสุข ใจเป็นสุข สังคมเป็นสุข)

ดร.จตุพร กล่าวว่า ความสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่จะช่วยหาแนวทางและปรับตัวเมื่อภาวะโลกรวนเริ่มส่งผลต่อเกษตรกร พร้อมมองว่าสถานการณ์โลกรวนหรือการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศทำให้ฤดูกาลการตกของฝน การเกิดภัยแล้งและการเกิดน้ำท่วม รวมถึงวาตภัยหรือลมพายุที่มันเกิดขึ้นบ่อยเรื่อย ๆ ไปกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ผู้คนในระดับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

“เห็นชัดเลยว่าอย่างปีนี้ที่ภาคอีสานก็น้ำท่วมนาและไร่ก็เสียหายไปหรือแม้แต่ ณ เวลานี้เอง ที่เกษตรกรกำลังตากข้าวกันอยู่ฝนก็ตกลงมาท่วมข้าวที่ตากไว้แห้งแล้ว ก็ต้องย้ายไปหาที่ตากใหม่ผลผลิตก็เสียหายไป หากว่าเกี่ยวข้าวแล้วเอาไปขายราคาก็จะตกต่ำ ซึ่งมันไม่ใช่สภาวการณ์ปกติแน่นอน มันก็ค่อนข้างชัดเจน การจะไปแก้ปัญหาไม่ให้เกิดปัญหานี้มันคงทำได้ยาก ใครคนใดคนหนึ่งทำคงไม่ได้ หรือท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งทำก็ไม่ได้ สิ่งที่เราพอจะทำได้ เป็นเรื่องของการเรียนรู้ทั้งระบบโดยการปรับตัวคือต้องทำให้เกิดความเข้าใจฐานทรัพยากรของชุมชน สร้างเป็นองค์ความรู้ เรื่องของทรัพยากรดิน น้ำ พืชพรรณ รวมถึงทรัพยากรทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต ซึ่งการส่วนใหญ่เป็นภาคการเกษตร”

“พอเราเข้าใจฐานทรัพยากรของชุมชนก็มาค้นหารูปแบบหรือวิธีการจัดการที่สอดคล้องกับท้องถิ่น มีทั้งภูมิปัญญา เทคโนโลยีสมัยใหม่ แล้วก็เอาไปใช้ในการจัดการทรัพยากรในท้องถิ่นหรือที่เราเรียกว่าปรับตัวก็ได้ เพราะว่าเราไม่สามารถใช้ทรัพยากรเหมือนเดิมอีกแล้วด้วยความที่มันเปลี่ยนไปด้วยความที่มันเกิดความแปรปรวน และเกิดความร้อนสูงขึ้น”

ดร.จตุพร เทียรมา ยังย้ำถึงความสำคัญของหน่วยงานในพื้นที่ที่จะร่วมกันรับมือหรือการปรับตัวกับโลกรวนโดย อาจารย์มองว่าเราต้องรับมือจากฐานความเข้าใจ สร้างชุดองค์ความรู้ขึ้นมาให้สอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นแล้วก็สร้างนวัตกรรมขึ้นมาใหม่ใช้วิธีการใหม่ในพื้นที่โดยผ่านองค์ความรู้  

“ถามว่าทำไมต้องเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพราะเรามองว่าน่าจะเป็นชุดบริหารที่อยู่ใกล้ชิดกับประชาชนเกษตรกรมากที่สุด แล้วก็เข้าใจปัญหาร่วมกันกับเกษตรกร ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะมีส่วนในการกำหนดแผนหรือนโยบายที่จะไปหนุนเสริมเกษตรกรหรือประชาชนในท้องถิ่นในเรื่องของการจัดการทรัพยากรหรือการใช้ทรัพยากรให้สอดคล้องกับบริบทภายใต้สถานการณ์ความแปรปรวนของโลกที่เรากำลังเผชิญอยู่”

ดังนั้นเราเลยมองเห็นว่าองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นสำคัญในเรื่องของการหนุนเสริม การสนับสนุน หรือการกำหนดแผน หรือนโยบาย หรือการวางแผนให้กับประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ จะไปในทิศทางไหน ส่วนเกษตรกรเองก็มีความสำคัญในแง่ของผู้ปฏิบัติหรือผู้ที่เผชิญกับความแปรปรวนจึงจำเป็นต้องปรับตัวภายใต้ฐานองค์ความรู้ ก็ดูเหมือนว่าตัวภาคเกษตรกร ประชาชนและฝ่ายปฏิบัติยู่ในท้องถิ่นนั้นก็จะเป็นคนที่หนุนเสริม ถ้าสองส่วนนี้มองในทิศทางเดียวกันเข้าใจปัญหาแบบเดียวกันผมคิดว่ามันน่าจะนำไปสู่การสร้างสุขภาวะที่ดีของชุมชนท้องถิ่นได้

จากการประชุม “การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศของสหประชาชาติ” ซึ่งมีภาคีเกือบทั่วโลกไปร่วมเวทีประชุมครั้งที่ 27 หรือ COP27 มีการเปิดประเด็นขึ้นมาว่า การพัฒนาที่ยั่งยืน ที่เรากำหนดมาเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว ในบางประเทศบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาทุกตัวชี้วัดเลย แต่พอไปเจอสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศหรือโลกร้อนถึงกับไปไม่เป็น อยู่ดี ๆ ก็เจอพายุเข้า การฟื้นฟูหรือการที่จะกลับไปมีสภาวะเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมแบบเดิม ๆ มันทำไม่ได้เลยมันทำได้ยากมาก

ต่อไปภายหน้าในเรื่องของการพัฒนาในระดับประเทศหรือในระดับโลก ควรจะต้องวางทิศทางและเป้าหมายกันใหม่ อาจจะต้องมองไปที่เป็นเรื่องของการพัฒนาในแบบที่ปรับตัวกับสภาพภูมิอากาศ ซึ่งต่อไปผมคิดว่าน่าจะเริ่ม มีการพูดถึงกันหนาหูมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วก็สร้างเกณฑ์ชี้วัดขึ้นมาเพราะว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนถึงจะยั่งยืนแต่มันไม่ตอบโจทย์เรื่องของการปรับตัวซึ่งก็ถือว่ามันก็ไม่ยั่งยืนอยู่ดี อันนี้เป็นแนวทางของระเบียบโลกที่ผมคิดว่าน่าจะต้องไปทางทิศทางนี้” ดร.จตุพร เทียรมา กล่าว

เมื่อสภาพภูมิอากาศเปลี่ยน เราก็ต้องปรับ ดร.จตุพร เทียรมา ทิ้งท้ายถึงปัจจัยการเกิดก๊าซเรือนกระจกที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน และพูดถึงแนวโน้นของมาตรการกีดกันหรือการเพิ่มราคาคาร์บอนในผลผลิตก่อนข้ามพรมแดน

“มาตรการกีดกันที่เราเรียกว่าการเพิ่มราคาคาร์บอนในผลผลิตหรือสินค้านั้น มาตรการนี้ยังไม่ลงมาถึงพืชเกษตรเพียงแต่ว่ามันมีวี่แววว่าจะลงมา คือตอนนี้มันมีพวกอุตสาหกรรมหนักพวกอุตสาหกรรมเหล็กและอุตสาหกรรมผลิตปุ๋ย มีอยู่ 4-5 รายการที่จะถูกเพิ่มราคาเข้าไปที่เรียกว่าราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน แต่ในอนาคตถ้ามันขยายตัวออกมาถึงภาคการเกษตร ปัญหาคือตอนนี้สังคมโลกได้ตระหนักแล้วว่าปัญหาการเกิดโลกร้อนมันมาจากตัวคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าหรือก๊าซกระจก เพราะฉะนั้นการที่จะไปแก้ไขมันนอกจากที่จะต้องไปปรับตัวเพื่ออยู่กับมันให้ได้แล้วมันยังจะต้องมีมาตรการหรือวิธีการยังไงที่จะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหล่านี้มันลดลงด้วยเราต้องทำสองอย่างนี้ควบคู่กัน ปรับตัวก็ต้องปรับตัวส่วนการลดการปล่อยก็ต้องก็ต้องทำควบคู่กัน มาตรการในการกีดกันทางการค้าถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อ จริง ๆ ไม่อยากจะกีดกันแต่อยากจะสร้างแรงจูงใจมากกว่าให้การผลิตสินค้าอะไรก็ตามให้ตระหนักและให้ความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมันจึงออกมาเป็นแบบนั้น

ถึงแม้ว่าตอนนี้ในภาคเกษตรหรือในการขายข้าวยังไม่ออกมาตรการ แต่มันมีแนวโน้มว่าในอนาคตอาจจะมีการกีดกันเกิดขึ้น เพราะว่าในภาคการเกษตรของไทย เราพบว่าข้าวเป็นการผลิตอันอันดับหนึ่งที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด รองลงมาก็เป็นปศุสัตว์ แล้วบังเอิญข้าวเราก็ส่งออกเป็นอันดับหนึ่งของโลกด้วย เราเลยต้องพึงระวังเอาไว้แล้วก็ตระหนักเอาไว้ว่า ถ้ารูปแบบการผลิตยังเป็นเหมือนเดิมมันก็คือเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเยอะ อาจจะต้องไปเจอมาตรการนี้ขึ้นมาแล้วเราขายสินค้าไม่ได้หรือราคาข้าวมันแพงเกินกว่าที่ใครจะซื้อบริโภคได้ สุดท้ายข้าวก็ขายไม่ออก มันก็เป็นการบีบบังคับให้เราต้องมาปรับตัวในการผลิตต้องผลิตยังไงให้การผลิตมันไม่สร้างปัญหามลพิษหรือก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้น มันเหมือนเป็นการปรับตัวซ้อนปรับตัวเองอีกที

ตอนนี้คำตอบหนึ่งที่เขาต้นพบสำหรับการปลูกข้าวแล้วลดก๊าซเรือนกระจกได้คือการปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้งก็คือปล่อยน้ำเข้าระยะนึงแล้วก็เอาน้ำออกจากนาระยะหนึ่งเพื่อให้มันแห้งให้อากาศมันลงไปในดินได้ หลังจากนั้นพอแห้งระดับหนึ่งแล้วก็เอาน้ำใส่เข้าไป มันกลายเป็นภาพที่จะนำไปสู่การแก้หรือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงได้

โลกร้อน โลกรวน โลกปั่นป่วน ดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป เมื่อคุณนึกขึ้นได้ว่า ตอนนี้เข้าสู่ปลายปีต้นเดือนธันวาคมที่ควรจะมีลมหนาวมาปะทะร่างกายบ้างแล้ว แต่เสื้อกันหนาวยังอยู่ในตู้เสื้อผ้าเช่นเดิมเหมือนตลอดปีที่ผ่านมา เพิ่มเติมกลับมีฝนตกหนักในพื้นที่เหนือ อีสาน กลาง แต่ไม่นับใต้ในพื้นที่ฝนแปดแดดสี่ ซึ่งอาจจะกระทบชาวนาที่ตากข้าวเอาไว้ ที่ต้องทำใจขายข้าวที่มีความชื้นสูงและได้ราคาที่ถูกลง พืชผักบางชนิดที่คิดว่าจะได้กินช่วงหน้าหนาวก็อาจจะต้องรอยาวออกไปก่อน เมล็ดกาแฟบนดอยอาจไม่ได้ผลผลิตเท่าที่ควร “หมู่เฮา เจ้า ข้อย” นิ่งเฉยไม่ได้อีกแล้ว จงเตรียมพร้อม จงเตรียมพร้อม จงเตรียมพร้อม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ