วิกฤตประมงจากสายตาแพปลา ในฐานะคนกลางน้ำของห่วงโซ่ธุรกิจอาหารทะเล

วิกฤตประมงจากสายตาแพปลา ในฐานะคนกลางน้ำของห่วงโซ่ธุรกิจอาหารทะเล

นับตั้งแต่สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 วันที่ 17 ธันวาคม 2563 ที่ตลาดกลางกุ้ง จังหวัดสมุทรสาคร พบผู้ติดเชื้อรายแรก หลังจากนั้นทางการจังหวัดสมุทรสาครได้ลงพื้นที่ตรวจเชื้อเชิงรุก พบว่ามีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 516 ราย ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ และมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งมียอดสะสมนับหมื่นราย

คำสั่งปิดทุกพื้นที่ทำให้อุตสาหกรรมประมงทั้งหมดภายในจังหวัดต้องหยุดชะงัก ทั้งเรือประมง แพปลา โรงน้ำแข็ง และโรงงานอุตสาหกรรมทุกประเภท รวมถึงคนพื้นที่อื่นที่ต้องเข้ามาค้าขาย และส่งออกก็ได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า

เมื่อเวลาผ่านไป สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง อุตสาหกรรมทั่วประเทศมีการกลับมาเดินหน้าต่ออีกครั้ง แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ใช่กับอุตสาหกรรมประมงพาณิชย์

ผู้เขียนได้มีโอกาสพูดคุยกับเจ้าของแพปลาในจังหวัดสมุทรสาคร ผู้ประกอบการประมงในพื้นที่ที่โลดแล่นอยู่ในวงการธุรกิจประมงพาณิชย์กว่า 20 ปี กำลังจะเล่าถึงปัญหาที่ผู้ประกอบการทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมประมงพาณิชย์กำลังเผชิญหน้าอยู่ในช่วงเวลานี้

ก่อนอื่นเลยนะ…แพปลาคืออะไร?

แพปลาเป็นพ่อค้าคนกลาง คือมีหน้าที่เป็นพื้นที่กลางในการรับสินค้ามาจากเรือประมงและขายไปให้กับพ่อค้าแม่ค้าทั้งรายใหญ่รายย่อย ไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ทั้งแปรรูป จนถึงทำอาหารกระป๋อง รวมทั้งยังมีสินค้าจากเรือประมงที่มาจากหลายที่และใช้เครื่องมือการจับที่ต่างกัน ทำให้มีสินค้ามากมายหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็น ปลาเศรฐกิจ ปลาโรงงาน กุ้ง หอย หมึก ปู หลากหลายชนิด

หนึ่งใน 50 แพปลาตลาดทะเลไทยบอกเล่า

แพปลาเป็น 1 ในระบบห่วงโซ่ธุรกิจประมงที่อยู่กลางน้ำ ที่รับมาจากต้นน้ำ และส่งไปยังปลายน้ำ แต่ถึงแม้แพปลาจะอยู่กลางน้ำ แต่ก็เจอปัญหาวิกฤตประมงตอนนี้เหมือนกัน ในฐานะที่เป็นคนกลางของห่วงโซ่ธุรกิจประมงที่จะเห็นการไหลมาของสินค้าจากต้นน้ำและสินค้าที่ไหลไปจากปลายน้ำ

การทำงานของแพปลา ที่ตลาดทะเลไทย

แล้วตอนนี้สถานการณ์ของประมงไทยเป็นอย่างไรบ้าง?

ปีนี้ประมงไทยวิกฤตมาก

เจ้าของแพปลา เล่าด้วยสีหน้ากังวล
ปลาหางแข็ง จากเรืออวนดำ ในน่านน้ำอ่าวไทย

ตอนนี้สถานการณ์ประมงไทยไม่สู้ดี เพราะมีปัญหามากมายที่ประมงไทยต้องเผชิญ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจถดถอย คลื่นลมมรสุมส่งผลให้สัตว์น้ำหาย ระบบนิเวศเสื่อมโทรมอันเนื่องมาจากการจับสัตว์น้ำแบบผิดวิธี ทั้งราคาน้ำที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้เรือประมงมากมายต้องจอด

เรือประมงเป็นต้นทางสำคัญสำหรับห่วงโซ่อุตสาหกรรมประมง สิ่งที่เรือประมงกำลังเผชิญหน้าอยู่ขณะนี้ ปัญหามากมายที่กำลังท้าทายเรือประมง ทำให้เรือต้องจอด เพราะเจ้าของเรือสู้ไม่ไหว ไม่ว่าจะราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจากตอนช่วงโควิดระบาด 10 บาท/ลิตร ปัจจุบัน 36 บาท/ลิตร รายได้เท่าเดิมแต่รายจ่ายกลับเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ขาดทุนเป็นหลักแสน ทำให้ต้องตัดสินใจจอดเรือ 

เรือประมงใหญ่ จอดตายที่ท่าเทียบเรือสาธารณะวัดบางหญ้าแพรก จังหวัดสมุทรสาคร

การจอดเรือ ก็เต็มไปด้วยปัญหาที่ตามมามากมาย ทั้งค่าเช่าท่าเทียบเรือ ค่าคนเฝ้าเรือ ค่าบำรุงซ่อมแซมเรือ ค่าจ้างคนงาน พอจอดเรือคนงานก็จะหนีหายไปหมดเพราะไม่มีรายได้และไม่งานให้ทำ พอจะกลับมาออกเรืออีกครั้งคนงานก็แทบไม่เหลือแล้ว เพราะเหตุนี้ เรือประมงที่ยังไม่จอด ไม่ใช่ว่าไม่เจอปัญหา แต่แค่ยังยื้อเรือและคนงานไว้ 

กฎหมาย IUU Fishing เป็นอีก 1 ปัญหาที่พื้นที่เผชิญมาร่วม 8 ปีแล้ว ก่อนที่จะมี IUU เข้ามาก็ไม่เคยมีการตรวจใบอนุญาตออกเรือ พอใบหมดอายุก็ไม่ได้ต่อเพราะไม่เคยต้องใช้แล้วอยู่มาวันนึง เรือเราก็กลายเป็นเรือผิดกฎหมายสะงั้น โดยไม่มีการแจ้งอะไรก่อนหน้าเลย ทำให้ต้องขายเรือประเทศเพื่อนบ้าน ขายแบบขาดทุนก็ต้องขาย เพราะกลายเป็นเรือผิดกฎหมายในชั่วข้ามคืน 

กฎหมาย IUU Fishing คืออะไร

กฎหมาย IUU Fishing หรือ (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) คือ Illegal fishing เป็นกรณีทำการประมงในเขตน่านน้ำของประเทศต่าง ๆ โดยไม่ได้รับอนุญาต หรือ โดยฝ่าฝืนต่อระเบียบและกฎหมายที่กำหนดขึ้น หรือฝ่าฝืนพันธกรณีระหว่างประเทศด้านการประมง รวมทั้งพันธกรณีตามความตกลงร่วมมือทางประมงในภูมิภาคด้วย Unreported fishing เป็นกรณีทำการประมงแล้วไม่ได้รายงาน หรือรายงานอย่างไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ที่กำหนดไว้ ต่อหน่วยงานที่ดูแลการประมงแห่งชาติ หรือองค์กรบริหารจัดการการประมงในภูมิภาคแล้วแต่กรณี และ Unregulated fishing เป็นกรณีทำประมงในเขตพื้นที่ต่าง ๆ โดยเรือไม่ปรากฏสัญชาติ หรือเรือที่ไม่ติดธงของประเทศ เป็นการฝ่าฝืนต่อมาตรการที่กำหนดขึ้น รวมถึงการทำประมงในบริเวณสงวนที่มีการกำหนดมาตรการอนุรักษ์ไว้ 
ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2558 ที่ไทยโดนใบเหลืองจากคณะกรรมาธิการยุโรปให้ใบเหลืองกับธุรกิจประมงไทยเพื่อตักเตือน เนื่องจากธุรกิจประมงไทยเข้าข่ายการทำผิด IUU Fishing ทุกประเด็น กล่าวคือ ไทยมีการจับสัตว์ทะเลในน่านน้ำประเทศอื่น ไม่มีการรายงานจำนวนสัตว์ทะเลที่จับได้หรือรายงานข้อมูลเท็จ ใช้เรือที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนทำประมง รวมทั้งใช้เครื่องมือจับสัตว์ทะเลที่ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นอวนรุน อวนลาก ที่แต่ละครั้งจะสามารถจับสัตว์ทะเลได้เป็นจำนวนมากและหลายขนาด โดยสัตว์ทะเลที่ยังไม่ได้ขนาดก็ถูกจับขึ้นมาด้วย โดยไทยต้องเร่งดำเนินการแก้ไขการดำเนินงานให้ถูกต้องตามระเบียบของ IUU Fishing ก็จะได้รับ ‘ใบเขียว’ แต่หากไทยยังคงละเลยเพิกเฉยไม่ใส่ใจในการดำเนินการเพื่อแก้ไข ก็จะได้รับ ‘ใบแดง’ นั่นหมายความว่าไทยจะถูกคว่ำบาตรสินค้าประมงจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ

ที่ผ่านมาประมงไทยยอมรับและปรับตัวตามกฎหมายของภาครัฐมาตลอด แต่สถานการณ์ประมงก็ไม่ดีขึ้น การเข้ามาของกฎหมาย IUU Fishing ร่วม 8 ปีกว่า แต่สถานการณ์กลับแย่ลง สัตว์น้ำหายากกว่าเดิม การออกจับปลาก็ยากกว่าเดิม โทษทางกฎหมายก็รุนแรงมาก

เรือประมงใหญ่อวนดำ เข้าเทียบท่าสะพานปลาวัดป้อม จังหวัดสมุทรสาคร

แล้วแพปลาได้รับผลกระทบอะไรบ้าง?

ปกติแล้วจะมีเรือที่เข้ามาส่งสัตว์น้ำให้ที่แพกว่า 200 ลำ ปัจจุบัน เหลือไม่ถึง 60 ลำ

เจ้าของแพปลา

อันที่จริงไม่ใช่แค่แพปลาที่ได้รับผลกระทบจากเรือจอด แต่มันล้มทั้งห่วงโซ่อุตสาหกรรมประมง ตั้งแต่เรือประมง คนงาน ผู้ประกอบการ โรงน้ำแข็ง โรงปลาไก่ แพปลา พ่อค้าแม่ค้า ขายปลีก-ขายส่ง ไปจนถึงอุตสาหกรรมต่อเนื่องทั้งหมด แม้แต่แม่ค้าร้านอาหารตามสั่งในตลาดทะเลไทยยังได้รับผลกระทบด้วยเพราะตลาดซบ ไม่มีคนงานมากินข้าว

ตลาดทะเลไทยที่มีแต่ตะกร้าใส่ปลา แต่ไม่มีปลา

การทำงานของแพปลาต้องอาศัยความชำนาญและชั่วโมงบินที่สูงระดับนึง เพราะตั้งแต่การรับซื้อสินค้าจากเรือแต่ละลำต้องรู้ก่อนว่าสินค้าไหนจากเรือประเภทไหนจะขายได้ ในราคาเท่าไหร่ ในปริมาณเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอต่อการขาย หรือแม้แต่จะมีเรือเข้ามากี่วันต่อลำ จะมีสินค้าอะไรบ้างแล้วต้องขายให้ลูกค้าคนไหน ไปจนถึงความชำนาญของคนงานในการคัดแยกสินค้าตามเกรด และขนาด เพื่อแลกมากับมูลค่าของสินค้าที่จะคุ้มค่าที่สุดทั้งคนซื้อและคนขาย

ระบบห่วงโซ่ธุรกิจประมง จังหวัดสมุทรสาคร

รับมือกับสิ่งที่เกิดอย่างไร แล้วคิดว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรต่อ? 

“อยู่ไปวัน ๆ”

เจ้าของแพปลา กล่าวด้วยสีหน้าสิ้นหวัง

ได้แต่คิดว่าเดี๋ยวสถานการณ์มันคงจะดีขึ้นไม่ช้าก็เร็ว ไม่ได้คาดคิดไว้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับอนาคตประมงไทยบ้าง อาจจะเป็นไปได้ว่าถ้าสถานการณ์ยังแย่ลงแบบนี้เรื่อย ๆ อุตสาหกรรมนี้อาจจะหายไป

ปัญหาประมงที่กำลังเผชิญอยู่ตอนนี้เริ่มแรกต้องไปแก้ที่ข้อกฎหมายที่บีบรัดชาวประมงจนหายใจไม่ออก ตายไปไม่รู้กี่รายแล้ว ยิ่งนานวันเข้าก็ยิ่งอยู่กันไม่ไหว โดยเฉพาะอาชีพไต๋เรือที่ต้องใช้ความชำนาญในการเป็นไต๋และต้องสะสมประสบการณ์บวกกับชั่วโมงบินที่สูงมาก ไม่แปลกใจที่ตอนนี้ไต๋เรือมีแต่อายุราว 50-60 กันทั้งนั้น ส่วนมากอยู่ในแวดวงอาชีพนี้กันมาตั้งแต่เด็ก ๆ สะสมประสบการณ์มาเรื่อย ๆ บางคนสายป่านยาวก็ยังอยู่ต่อได้ บางคนสายป่านสั้นก็ต้องจอดเรือทิ้ง

เจ้าของแพปลา

อนาคตธุรกิจประมงไทยจะเดินหน้าไปต่อทางไหน อาชีพนี้จะมีอนาคตอีกมั้ย หรือจะหายไปตามกาลเวลา อุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยจะยังมีอยู่มั้ย อาหารทะเลที่มีคุณภาพของไทยยิ่งน้อยลงไปเรื่อย ๆ หรือในอนาคตเราต้องกินแต่สินค้าทะเลนำเข้าเท่านั้น ปัญหาทั้งหมดที่เกิดขึ้นกับธุรกิจประมงไทยผลกระทบที่ส่งผลต่อเนื่องตั้งแต่ต้นน้ำมาจนถึงกระเพาะอาหารของเรา

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ