ลงพื้นที่สำรวจวันที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2565
“น้ำท่วมมาประมาณอาทิตย์นึงแล้ว ตอนแรกก็กั้นกระสอบทรายกันแต่ว่าเอาไม่อยู่เลยย้ายออกกันหมด การไฟฟ้าก็มาตัดไฟเพราะน้ำขึ้นเร็วมาก”
นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
“ตอนนี้น้ำท่วมขังระดับสูงมาก เดินทางไม่ได้ แล้วก็หน่วยงานที่เป็นของหอพักภาคเอกชนเองหรือของภาครัฐไม่มีเครื่องมือช่วยเหลือ แล้วก็ความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ เนื่องจากมีของสัมภาระที่ต้องคอยดูแล ดังนั้นเด็กหลายคนเลยรู้สึกกังวลกับทรัพย์สิน รวมถึงปัญหาขยะที่น้ำมันขังหลายวันก็เริ่มเน่าเสีย แล้วจะมีปัญหาเรื่องโรคหลาย ๆ อย่างตามมา”
อาจารย์คณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เสียงของนิสิตและอาจารย์ จากมหาวิทยาลัยมหาสารคามเล่าถึงสถานการณ์น้ำท่วมถึงปัญหาและความต้องการของชุมชน ทางสื่อพลเมืองไทยพีบีเอส จึงลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศน้ำท่วมตำบลท่าขอนยาง อ.กันทรวิชัย หมู่ 3 เป็นบริเวณที่มีหอพักนิสิตอยู่ค่อนข้างเยอะและใกล้กับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม
เมื่อนั่งรถยนต์มาจนถึงหน้าปากซอย จะเห็นว่าน้ำท่วมขังอยู่และเห็นกลุ่มอาจารย์จากสมาคมศิษย์เก่าคณะการบัญชี มหาวิทยาลัยมหาสารคามทั้งหมด 5 คน นั่งรถกระบะมาพร้อมถุงยังชีพ กำลังจะเข้าไปในซอยเอาของไปให้นิสิตที่อยู่ข้างหลังหอพักชื่อว่า เมธาแกรนด์ โดยนั่งเรือท้องแบนของเทศบาลเข้าไปข้างใน
ในระหว่างทางมีคุณลุงร่างผอม แต่แข็งแรงเป็นคนเข็นเรือให้ตลอดทาง ชี้ถึงจุดที่น้ำท่วมให้ดูและบอกว่า น้ำท่วมขังมากว่าสัปดาห์แล้ว เริ่มมีกลิ่นเหม็นเพราะขยะที่ลอยตามน้ำ ส่วนความลึกของน้ำมีบางช่วงอยู่ระดับเอว จนพอถึงกลางซอยน้ำสูงระดับหน้าอก ความลำบากคือถ้าไม่มีเรือก็จะออกไปข้างนอกไม่ได้ หรือถ้าจำเป็นต้องยอมเดินลุยน้ำออกมา (ข้างนอกร้านขายของเริ่มเปิดกันมากขึ้นแล้ว) เริ่มมีการตัดไฟฟ้าแต่น้ำยังใช้ได้อยู่
หลังจากเจอนิสิตเรียบร้อย กลุ่มอาจารย์ได้พูดคุยกันถึงปัญหาที่เกิดขึ้น และความกังวลเป็นห่วงการเป็นอยู่ของนิสิตอาจารย์ ศรีรุ่งรัตน์ สุดสมบูรณ์ จากคณะการบัญชีและการจัดการ มหาวิทยาลัยมหาสารคามกล่าวว่า
เป็นปีแรกที่เจอ เคยเจอน้ำท่วมที่ได้รับจากนิสิตมีบ้างแต่ที่หนักขนาดนี้ยังไม่เคยเจอ นี่เป็นครั้งแรกตั้งแต่อยู่มากว่า 20 ปี ตอนนี้ทางคณะมีการสำรวจว่ายังใครที่ยังไม่ได้อพยพออกมา หรือใครที่ต้องการความช่วยเหลือ ก็จะเป็นการสำรวจออนไลน์ พอมีฐานข้อมูลอย่างเมื่อวานเราก็รู้ว่ายังมีนิสิตที่ไม่ได้ออกจากหอพัก ประมาณ 100 กว่าคน ทางคณะก็ตั้งครัวเอาอาหารออกมาแจกจ่าย รวมถึงวันนี้ก็เอาอาหารแห้งมาแจกจ่ายเด็กๆ ค่ะ
“ปัญหาหนัก ๆ ตอนนี้น้ำท่วมขังระดับสูงมาก เดินทางไม่ได้ แล้วก็หน่วยงานที่เป็นของหอพักภาคเอกชนเองหรือของภาครัฐไม่มีเครื่องมือช่วยเหลือ เช่น เรือที่จะใช้ลำเลียงผู้ประสบภัยออกข้างนอก แล้วก็ความเป็นอยู่ของเด็ก ๆ เนื่องจากมีของสัมภาระที่ต้องคอยดูแล ดังนั้นเด็กหลายคนเลยรู้สึกห่วงกับทรัพย์สิน รวมถึงปัญหาขยะที่น้ำมันขังหลายวันก็เริ่มเน่าเสีย แล้วจะมีปัญหาเรื่องโรคหลาย ๆ อย่างตามมา อันนี้ก็น่าเป็นห่วงค่ะ ต้องติดตาม สามารถแก้ไขปัญหาให้ได้เฉพาะช่วงนี้ก่อน ทีนี้แผนระยะยาวต้องเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายปกครองที่ต้องช่วยกันแก้ไข”
อาจารย์ขยายความต่อว่า สำหรับคนที่ติดค้างอยู่จะเป็นเรื่องอาหาร กับเรื่องอพยพไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สิน รถหรือสิ่งของอันนี้ในส่วนของการเป็นอยู่อาศัย ส่วนต่อมาคือสิ่งที่เด็กกังวลคือ เรื่องของการประกาศ กำหนดการต่าง ๆ เพราะมันอยู่ในช่วงของสอบไฟนอลประจำภาคเรียน ตรงนี้เด็กจะมีความกังวลใจว่าจะสามารถปฏิบัติตามแผนได้หรือเปล่า ดังนั้นมันต้องแยกประเด็นว่าเด็กกำลังเรียกร้องอะไรระหว่าง 1.การเรียนของตัวเอง กับ 2.ที่พักอาศัย มันมีปัญหาหลายอย่างที่เด็กเรากำลังเผชิญค่ะ
จากคำบอกของอาจารย์ ทำให้เห็นว่าปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นนั้นมีหลายด้าน ทั้งสภาพแวดล้อม หรือปัญหาขยะจากบ้านเรือนที่ต้องจัดการ การระบายน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่ โจทย์หลังจากนี้ที่ชุมชนต้องเจอต่อคือเรื่องการฟื้นฟูชุมชนให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมมากที่สุด และร่วมวางแผนรับมือกับภัยที่จะเกิดขึ้นในครั้งหน้า
นอกจากนี้ สื่อพลเมืองร่วมรายงาน ผลกระทบและความเสียหายจากน้ำชีเข้าท่วมที่บ้านขอนยาง จ.มหาสารคาม เพื่อนำข้อมูลไปออกแบบแผนการรับมือและช่วยเหลือที่ตรงตามความต้องการของชุมชนผ่าน C-Site Special
จากการสำรวจพื้นที่ชุมชนท่าขอนยาง จ. มหาสารคาม จะเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่เผชิญสถานการณ์น้ำท่วมและรับมืออยู่แล้วในทุกๆ ปี แต่ในปีนี้หนักกว่าปีไหนๆ เพราะน้ำเข้ามาถึงย่านเศรษฐกิจของชุมชนและบริเวณสถานศึกษา น้ำที่ขังมาเป็นเวลานานเริ่มส่งผลกระทบทั้งด้านรายได้และการอยู่อาศัยของชุมชน
ในตอนนี้มีการช่วยเหลือและเข้ามาดูแลในหลายส่วน ทั้งจากเทศบาล องค์กร จิตอาสาหรือคณะต่างๆ ของมหาวิทยาลัยที่คอยสำรวจความต้องการของนิสิต นำถุงยังชีพเข้าไปให้และถึงแม้บางบริเวณอย่างเส้นถนนหลักน้ำจะเริ่มลดลงแล้ว แต่มองเข้าไปในซอยของชุมชนหรือหอพักนิสิตน้ำยังคงท่วมขังและรอการระบาย ดังนั้นแล้ว หากมีการจัดการหรือการสำรวจพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น จะทำให้การช่วยเหลือสามารถเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่ และถอดบทเรียนมาเป็นแผนรับมือของชุมชนได้ในอนาคต