เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 24 ก.ย. 2557 มีการแจ้งข้อมูลจากชาวบ้านว่าพบวาฬขนาดใหญ่เกยตื้นบริเวณเกาะนุ้ย หมู่ที่ 2 บ้านทับเหนือ ต.กำพวน อ.สุขสำราญ จ.ระนอง นักวิชาการประมง สัตวแพทย์กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลอันดามัน และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน พร้อมด้วยหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นจึงได้เข้าไปพิสูจน์ซากวาฬขนาดใหญ่ดังกล่าว
นายดลก้อเส็ม ผดุงชาติ อายุ 59 ปี สมาชิก อบต.นาคา และเป็นอาสาสมัครทรัพยากรทางทะเล เปิดเผยว่า เมื่อ 3 วันก่อนตนได้รับแจ้งจากชาวเรือในพื้นที่ว่าพบซากสัตว์น้ำขนาดใหญ่ ลักษณะเหมือนวาฬ ความยาวราว 10 เมตร ตนจึงได้ลงไปที่เกาะนุ้ย ซึ่งนั่งเรือหางยาวออกจากฝั่งไปเพียง 5 นาทีเท่านั้น โดยซากที่พบนั้นเป็นวาฬ ท่อนล่างมีลักษณะเน่าเปื่อยเป็นส่วนใหญ่ ส่วนท่อนบนยังมีเนื้อติดอยู่เป็นส่วนมาก ซึ่งคาดว่าน่าจะติดมากับเรืออวนลากคู่ แล้วมาเกยตื้นตายอยู่ที่เกาะนุ้ยสัก 10 วันที่ผ่านมา แต่ที่ยังไม่มีชาวบ้านพบก็เนื่องจากว่าในห้วงเวลาดังกล่าวมีมรสมและคลื่นลมแรง จึงไม่มีชาวเรือนำเรือออกจากฝั่ง กระทั่งเพิ่งนำเรือออกได้เมื่อ 3-4 วันที่ผ่านมา จึงพบเป็นซากที่เน่าเปื่อยแล้ว ตนจึงได้นำเรื่องแจ้งไปยังกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้มาตรวจสอบ
เจ้าหน้าที่สถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเลตะวันตก กล่าวว่า วาฬที่พบนี้ลักษณะเป็นวาฬที่อยู่ในกลุ่ม วาฬบาลีน ซึ่งเป็นวาฬกลุ่มที่มีซี่กรอง แต่ไม่มีฟัน สำหรับชนิดของวาฬนั้นยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจน เนื่องจากสภาพโครงสร้างภายนอกเปื่อยยุ่ย จึงต้องทำการผ่าเพื่อตรวจพิสูจน์ลักษณะของหัวกะโหลก โดยให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ระบุหรือจำแนกชนิด ซึ่งหากยังไม่สามารถจำแนกชนิดได้ ก็ต้องทำการส่งตัวอย่างเนื้อเยื่อไปทำการพิสูจน์ดีเอ็นเอต่อไป ซึ่งวาฬที่ทางสถาบันพบว่ามีการมาเกยตื้นในแถบอันดามันบ่อย ๆ นั้นจะมีอยู่ 2 ชนิดคือ วาฬบรูด้า และ โอมูร่า
เจ้าหน้าที่คนเดิมยังกล่าวต่อว่า วาฬที่มาเกยตื้นที่เกาะแห่งนี้ มีความยาว 9.50 เมตร น้ำหนักตัวในขณะนี้ประมาณ 2 ตัน หากยังไม่เน่าเปื่อยอาจมีน้ำหนักถึง 3-6 ตัน คาดว่าเป็นวาฬที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ ส่วนการที่เข้ามาเกยตี้นนั้น อาจจะเป็นไปได้ว่าถูกกระแสน้ำซัดเข้ามา และเมื่อน้ำลงจึงถูกนำพัดพามาติดที่เกาะนุ้ยบริเวณแห่งนี้ หรืออาจจะเป็นการติดมากับเครื่องมือประมงก็เป็นได้ ซึ่งจากบาดแผลที่ปรากฏก็ยังบอกไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร เนื่องจากมีลักษณะที่เน่าเปื่อยเป็นส่วนใหญ่แล้ว
หลังจากที่ทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้ทำการใช้เรือลากซากวาฬไปที่สถานีวิจัยเพื่อการพัฒนาชายฝั่งอันดามัน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เนื่องจากไม่สามารถทำการผ่าเนื้อเพื่อเปิดดูกะโหลกได้ เพราะติดขัดในการทำงานจากการขึ้นลงของน้ำทะล เมื่อทำการผ่าเพื่อดูกะโหลกและซี่โครงชิ้นแรกได้แล้ว ผู้เชี่ยวชาญจึงจะสามารถระบุประเภทของวาฬได้ แต่หากยังระบุไม่ได้ก็ต้องทำการส่งชิ้นเนื้อไปเพื่อทำการตรวจดีเอ็นเอต่อไป
ภาพ/ข่าว – นายโอ๋ พรชัย