ช่วงมรสุมปี 2537 พายุได้ซัดเรือ Genar-II สัญชาติปานามา เข้ามาเกยตื้นบริเวณชายหาดชลาทัศน์ จังหวัดสงขลา คนสงขลาหลายคนรู้จักเรือลำนี้เเละเรียกง่ายๆติดปากกันว่า “เรือปานามา” การเกยตื้นของเรือปานามา นำมาซึ่งบทเรียนการเปลี่ยนเเปลงชายฝั่งที่สังคมควรเรียนรู้จากบทเรียนนี้เป็นอย่างยิ่ง
การเกยตื้นของเรือ เรือจีน่าร์-2 (Genar-II) ด้านเหนือของชุมชนเก้าเส้ง ชายหาดชลาทัศน์ ไม่นานหลังจากการเกยตื้นเรือลำดังกล่าวได้ทำให้ชายหาดเปลี่ยนเเปลงไป เนื่องจากลำเรือได้ขวางกั้นการเคลื่อนตัวของตะกอนทรายชายฝั่ง ทำให้เกิดการทับถมของตะกอนทรายชายฝั่งด้านทิศใต้ จำนวนมหาศาล เเละเกิดการกัดเซาะชายฝั่งในด้านเหนือของเรือจีน่าร์-2 (Genar-II)
ชายหาดชลาทัศน์ นั้นมีทิศทางการเคลื่อนที่ของตะกอนทรายสุทธิ์ คือ เคลื่อนที่จากทิศใต้ไปยังทิศเหนือ เมื่อเรือจีน่าร์-2 (Genar-II) มาเกยตื้น ซึ่งมีลักษณะตั้งฉากกับเเผ่นดิน ทำให้เรือนั้นเป็นเสมือนรอดักทราย ซึ่งทำให้ตะกอนทรายที่เคลื่อนตัวตามเเนวชายฝั่งนั้นถูกขวางกั้น เเละทำให้เกิดการทับถมของตะกอนทรายจำนวนมหาศาลบริเวณด้านใต้ของเรือจีน่าร์-2 (Genar-II)
หลักฐานจากภาพถ่ายในปี พ.ศ.2538 หลังจากที่เกิดเหตุเรือปานามาได้เกยตื้น ประจักษ์ชัดว่าหาดทรายทางด้านเหนือของซากเรือถูกกัดเซาะอย่างฉับพลัน เเละเกิดการทับทบตะกอนด้านทิศใต้
หลังจากนั้นไม่นานหน่วยงานได้รื้อถอนซากเรือ จีน่าร์-2 (Genar-II) ออกจากชายหาด ทำให้ชายฝั่งได้คืนสภาพกลับมาสู่สภาพปกติ ไม่ปรากฏการกัดเซาะชายฝั่งเเละการทับถมของตะกอนทราย ดังภาพถ่ายทางอากาศในปี 2544
ปรากฏการณ์การเกยตื้นของเรือ จีน่าร์-2 (Genar-II) ได้ให้บทเรียนสำคัญของการเปลี่ยนเเปลงชายฝั่ง อันเกิดขึ้นจากการขัดขวางกระบวนการทางธรรมชาติของหาดทราย เรือ จีน่าร์-2 (Genar-II) ทำตัวเหมือน รอดักทราย หรือ คันดักทราย ทำให้ตะกอนทรายชายฝั่งนั้นทับถมด้านหนึ่งเเเละเกิดการกัดเซาะชายฝั่งด้านหนึ่ง เมื่อรื้อถอนออกชายฝั่งก็กลับคืนสภาพปกติดังเดิม การเกยตื้นของเรือปานามา เป็นบทเรียนสำคัญที่อธิบายการเปลี่ยนเเปลงชายฝั่งทะเลได้ดีที่สุดบทเรียนหนึ่ง