เดชา คำเบ้าเมือง เขียน
มิ่งขวัญ ถือเหมาะ ภาพ
ยาสูบมีแหล่งกำเนิดที่ตอนกลางของทวีปอเมริกา เมื่อประมาณ 2,000 ปีมาแล้ว กระทั่งปลายพุทธศตวรรษที่ 22 แพร่หลายไปยังทวีปยุโรป เอเชีย และแอฟริกา ซึ่งมีหลักฐานแสดงว่ามนุษย์ในสมัยโบราณรู้จักการปลูกยาสูบเพื่อนำไปซอยและมวนสูบ สำหรับประเทศแรกที่เริ่มปลูกยาสูบในเอเชีย คือ ประเทศฟิลิปปินส์ จากนั้นจึงแพร่หลายไปยังประเทศอินเดีย ประเทศจีน และประเทศอินโดนีเซีย ตามลำดับ
ต้นยาสูบ เป็นประเภทพืชไร่ ซึ่งมีความสำคัญทางเศรษฐกิจที่มีการปลูกกันอย่างแพร่หลายกว่า 120 ประเทศทั่วโลก เนื่องจากเป็นพืชที่สามารถเติบโตได้ดีภายใต้สภาพอากาศและสภาพดินที่หลากหลาย สำหรับประเทศไทย
นับเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีมูลค่าการส่งออกและสร้างรายได้ให้กับประเทศหลายล้านบาท พันธุ์ยาสูบ มี 4 สายพันธุ์ คือ พันธุ์เวอร์จิเนีย (Virginia Tobacco) จะมีลักษณะรสอ่อน พันธุ์เบอร์เลย์ (Burley Tabacco) จะมีลักษณะรสฉุน พันธุ์เตอร์กิซ (Turkish Tobacco) จะมีลักษณะรสกลาง และพันธุ์พื้นเมือง (Nicotiana Tabacam)
การปลูกยาสูบในเชิงพาณิชย์ของประเทศไทยนั้นเริ่มประมาณ ปีพ.ศ. 2482 รัฐบาลไทยในสมัยนั้น มีนโยบายที่จะให้รัฐเป็นผู้ดําเนินการอุตสาหกรรมผลิตยาสูบเองทั้งหมด ภายใต้การควบคุมดูแลของ “โรงงานยาสูบ กรมสรรพสามิต” ระหว่างดำเนินกิจการถึงช่วงปีพ.ศ. 2485-2488 ได้เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนใบยาสูบอย่างหนัก จนต้องหยุดการดําเนินกิจการชั่วคราว จนกระทั่งในช่วงปีพ.ศ. 2490-2493 กิจการยาสูบเริ่มดําเนินกิจการ และขยายการผลิตบุหรี่อีกครั้ง ส่งผลให้โรงงานยาสูบต้องเร่งการส่งเสริมการปลูกยาสูบซึ่งเป็น วัตถุดิบที่สําคัญในการผลิตบุหรี่ ดังนั้น ในช่วงปีพ.ศ. 2490 โรงงานยาสูบจึงได้มีการเปิดสถานียาสูบหรือโรงบ่มใบยา และขยายพื้นที่การปลูกใบยาสูบในจังหวัดของภาคอีสานและภาคเหนือขึ้น
สำหรับพื้นที่ปลูกใบยาสูบในภาคอีสาน ทางโรงงานยาสูบได้มีการสํารวจถึงความเหมาะสมและเลือกพื้นที่ของ จังหวัดหนองคาย นครพนม และร้อยเอ็ด เนื่องจากมีทรัพยากรดิน และน้ำที่อุดมสมบูรณ์ สภาพแวดล้อมเหมาะสม เช่น อยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำโขง และมีเกาะดินตะกอนกลางแม่น้ำโขง เป็นบริเวณที่ดินมีความอุดมสมบูรณ์ โดยน้ำโขงจะพัดพาเอาดินใหม่มาทับถมทุกปี จึงเหมาะที่จะปลูกยาสูบพันธุ์เวอร์จิเนีย และพันธุ์เบอร์เล่ย์ นอกจากนี้ชาวบ้านในแถบนี้มีความชํานาญในการปลูกยาสูบพันธุ์พื้นเมืองอยู่แล้วจึงทําให้ง่ายต่อการส่งเสริมการปลูก
จากข้อมูลสำนักงานเกษตรจังหวัดหนองคาย ระบุว่า ยาสูบเป็นพืชเศรษฐกิจติดอันดับ 1 ใน 5 ที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตร (รองจาก ข้าวเหนียวนาปี ยางพารา ข้าวจ้าวนาปี และพริก ตามลำดับ) ซึ่งสร้างมูลค่าได้มากกว่า 230 ล้านบาทต่อรอบฤดูกาลผลิต โดยให้ผลผลิตรวมต่อไร่ 300-400 กิโลกรัม ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกยาสูบ จำนวน 9,437ไร่ 8 ตารางวา และจำนวนเกษตรกร 1,537 ราย ส่วนพันธุ์ยาสูบที่ปลูกมี 2 สายพันธุ์ คือ เวอร์จิเนีย และเบอร์เลย์
สีไพร-สนม โหตะรัตน์ สองสามีภรรยา ชาวบ้านเดื่อ ตำบลบ้านเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย อดีตเคยแรมรอนไกลจากบ้านเกิดเมืองนอนนานนับ 10 ปี เพื่อไปขายแรงงานเป็นลูกจ้างในฟาร์มไก่ของบริษัทเจ้าสัว มหาเศรษฐีรวยติดอันดับโลก ที่จังหวัดชลบุรี ก่อนจะกลับมาทำอาชีพปลูกใบยาสูบที่สืบทอดมาแต่รุ่นพ่อแม่
“เกิดมาก็เห็นชาวบ้านที่นี่ปลูกกันแล้ว พ่อแม่พาทำมาตั้งแต่อายุ 15 ปี จนยายเสียชีวิตไปหลายปี เมื่อก่อนก็ปลูกยาสูบ และสืบทอดกันมา เพราะมันสร้างรายได้ดี ถ้าเราคิดออกมาก็ได้ 400 กิโลกรัม ตีราคากิโลกรัมละ 110 บาท ถ้า 1,000 กิโลกรัม ก็เป็นเงินกว่า 100,000 บาทแล้ว” สนม โหตะรัตน์ ผู้เป็นภรรยาเล่าให้พวกเราฟัง
โดยชาวบ้านจะเริ่มปลูกในเดือนตุลาคม และเก็บใบยาช่วงมกราคม-มีนาคม เมื่อเก็บยามาแล้วต้องเอามาบ่ม 3 วัน ให้ใบเหลืองก่อนนำเข้าเครื่องซอยให้เป็นเส้นฝอยๆ แล้วเอาไปตาก 1 แดด เสร็จแล้วจึงเอาบรรจุใส่ถุงเตรียมขาย ซึ่งสามารถเก็บไว้ได้นานเป็นปี
“ขั้นตอน คือว่าเราจะเด็ดอย่างที่เห็น เด็ดห่อแล้วเอามาบ่มไว้ ประมาณ 3 วัน เอาใบตองคลุมไว้ไม่ให้โดนแดด ถ้าโดนแดดแล้วมันจะห่าม เหมือนโดนลวก แล้วใบมันจะไม่สวย จะออกสีดำๆ พอได้เวลา 3 วัน เราก็เอาออกมาแล้วเอามาหั่น พอเสร็จขั้นตอนหั่นแล้วก็เอาไปตาก ตากแล้วต้องกลับด้าน คือช่วงบ่ายต้องไปกลับอีกด้านขึ้นมา พอตอนเย็นก็เก็บกู้ได้ ใช้เวลาแดดเดียวครับ” สีไพร โหตะรัตน์ สามีของเธอ เป็นผู้อธิบายถึงขั้นตอนการเก็บผลผลิตใบยาสูบ
ยาสูบบรรจุใส่ถุงพร้อมขาย จะมีพ่อค้าโทรติดต่อและขับรถมารับถึงบ้าน ซึ่งถัวเฉลี่ยแล้วต้นยาสูบ 1 ไร่ จะให้ผลผลิตอยู่ประมาณ 300-400 กิโลกรัม ส่วนราคาก็ขึ้นอยู่กับตลาดในแต่ละปี แต่ก็อยู่ในราว 100-120 บาทต่อกิโลกรัม หากคำนวณจากพื้นที่ของ สีไพรและสนม ที่มีการปลูกยาสูบทั้งหมด 5 ไร่ ทำให้ครอบครัวของเขามีรายได้ ไม่น้อยกว่า 200,000 บาท ในรอบฤดูกาลผลิตของปีนี้
สนมยังให้ข้อมูลด้วยว่า ทุกวันนี้ที่ดินติดโขงส่วนใหญ่จะเป็นของนายทุนหมดแล้ว ใครจะทำเกษตรก็ต้องเช่า
“เราเช่าที่ราคาไร่ล่ะ 1,000 บาทต่อปี ลงทุนค่าไถ ค่าปุ๋ยเคมีและยา รวมแล้วตกไร่ละ 2,000-3,000 บาท ค่าน้ำสูบจากโขงเข้าแปลงครั้งละ 30 บาท “
ปัจจุบันคนทำใบยาสูบในชุมชนนี้ลดลง เหลือไม่ถึง 10 ครอบครัว หันไปทำงานรับจ้างบ้าง หรือไม่ก็ปลูกพืชอย่างอื่น เช่น ข้าวโพด มันสำปะหลัง และมะเขือเทศ เพราะมีโรงงานซอสมะเขือเทศมาตั้งอยู่ใกล้ อีกทั้งกระบวนการเพาะปลูกจนถึงเก็บผลผลิตก็ทำไม่ยุ่งยากเหมือนใบยาสูบ
“ทำยากที่สุดก็คือยาสูบนี่ล่ะ ตอนเช้าตอนเย็นต้องหมั่นไปรดน้ำดูแลต้นกล้าเป็นอย่างดี พอโตขึ้นมาก็ยังไม่ลำบากนัก แต่ช่วงเก็บเกี่ยวที่เราจะได้เงิน ถ้าฝนตกลงมากลางคืนก็อยู่ไม่ได้ ตี 1 ตี 2 หรือกินข้าวอยู่ก็ต้องรีบไป เพราะถ้ายาสูบโดนฝนต้องทิ้งหมดเลย นอกจากนี้ก็ต้องตื่นเช้ามาหั่นใบยาสูบ เพื่อจะต้องตากให้มันทันแดด” สีไพรกล่าว
“สมัยก่อนเรียกว่าทำกันทั้งหมู่บ้านเลยก็ว่าได้ แต่ตอนนี้เหลืออยู่ไม่กี่ครอบครัว ที่ยังทำอยู่ เพราะเขาว่ามันลำบาก เหนื่อย เวลาฝนตกก็ไม่ได้หลับได้นอน ลูกหลานก็ไม่อยากสืบทอดต่อ แต่ที่แน่ๆ ก็ยังมีครอบครัวของเรา และของตาที่อยู่ข้างกันนี่ล่ะ ที่ยังทำกันอยู่ตลอดทุกปี” ผู้เป็นภรรยากล่าวเสริม