ถ้อยคำที่ ดร. ชินวัฒน์ หรยางกูร หรืออ. ตั้นจาก ภาควิชาเศรษฐศาสตร์ คณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิทยาบูรพา เริ่มต้นเล่าให้ฟังถึงแนวคิดเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่ได้รับความนิยมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงระยะยาว
ทีมงาน your priority C-Site พร้อมทีมงานสื่อพลเมือง ไทยพีบีเอสมีโอกาสได้เจออ.ชินวัฒน์ ที่นั่งล้อมวงแลกเปลี่ยนข้อมูล มุมมองและเลือกสนทนาฟังเสียงประเทศไทย ตอน เมืองแสนสุขกับการมีส่วนร่วมจัดการมรสุมขยะ แล้วชวนอ.ตั้น คุยกันต่อเพิ่มเติมลงรายละเอียดและการนำแนวคิด วิธีการสะกิด หรือ nudge ไปใช้กับการสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องง่าย ๆ จนถึงเรื่องใหญ่ ๆ ในสังคม
อ.ตั้น เล่าว่า การจะนำแนวคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมมาใช้ก็สามารถแบ่งได้หลาย ๆ แนว ยกตัวอย่างงานของ House of Lords (สภาสูงแห่งรัฐสภาแห่งสหราชอาณาจักร) เขาสรุปว่าหน่วยงานภาครัฐหรือกลุ่มองค์กรที่อยากจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสามารถแบ่งเป็นกลุ่ม ๆ ได้
สิ่งที่อยากจะชี้คือว่าการปรับปรุงพฤติกรรมของหน่วยงานรัฐโดยปกติจะจบที่การใช้กฎหมายและกฎระเบียบเข้าไปจับ เช่น ห้ามไม่มี เช่น พวกยาเสพติด หรือลด เช่น ควบคุมสถานที่สูบบุหรี่ หรือข้อกำหนดสถานที่ขายแอลกอฮอล์ไม่ให้อยู่ใกล้สถานศึกษา นอกจากนั้นจะมีหลักเรื่องการชักจูงใจ การให้ความรู้ผ่านทางผู้เชี่ยวชาญ แล้วที่พบได้บ่อย คือการใช้มาตรการทางการคลัง เช่น เก็บภาษี หรือให้ประโยชน์ทางการเงินการคลัง เช่น เมื่ออยากให้บริโภคหรือซื้อรถอีวีก็ลดภาษีรถอีวี เป็นต้น
ส่วนที่นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมสนใจมาก ๆ คือแนวคิด nudge เป็นการปรับพฤติกรรมไม่ได้เกิดจากการห้าม หรือตัดทางเลือก แต่จะใช้วิธีการทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมในการสร้างแนวโน้มในการเลือกสิ่งที่อยากให้เป็น เช่น โรงอาหารในต่างประเทศจะเรียงอาหารเป็นแถว เหมือนกับที่จัดเลี้ยงบุฟเฟต์ในโรงแรม คนก็จะต่อแถวเพื่อตักอาหารที่ต้องการ ถ้าเราเปลี่ยนลำดับการวางอาหารที่มีประโยชน์มาวางไว้ก่อน เช่น สลัดผัก ผลไม้ มาวางไว้ก่อน คนก็จะหยิบก่อน ส่วนของที่อาจไม่ค่อยดีกับสุขภาพก็วางไว้ท้าย ๆ
หรือตัวอย่างที่มักจะถูกกล่าวอ้างอยู่บ่อย ๆ อย่างการวางป้ายที่ผ้าเช็ดตัวของโรงแรมว่า “75% ของคนที่พักก่อนหน้าคุณใช้ผ้าเช็ดตัวซ้ำ” ข้อความแบบนี้มันก็จะช่วยให้คนเปลี่ยนผ้าเช็ดตัวลดลง ทางโรงแรมก็ประหยัดต้นทุนในการทำความสะอาดผ้าเช็ดตัวและต้นทุนทางสิ่งแวดล้อมจากน้ำยาซักล้าง มันไม่ได้เป็นข้อความที่ให้ข้อมูลให้ความรู้อะไร แต่บอกว่าคนส่วนใหญ่ทำแบบไหนกัน
แล้วกับการจัดการขยะ ทำอย่างไรให้มีคนหน้าใหม่เข้ามามีส่วนร่วม
ก่อนจะไปถึงการให้คนเข้ามามีส่วนร่วม มันมี 2 ส่วนสำคัญที่ควรพิจารณา หนึ่ง ทำให้เรื่องนั้น ๆ อยู่ในชีวิตประจำวัน ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่นิยมใช้ถุงผ้า ไม่รับหลอดพลาสติก พยายามลดการใช้พลาสติกใช้ครั้งเดียวกันเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ถ้าเขามีส่วนร่วม ตามแนวทาง 3R: Reduce, Reuse และ Recycle มากยิ่งขึ้น ซึ่งเราก็อาจจะหันไปมองทางฝั่งธุรกิจด้วย เช่น ธุรกิจส่งอาหารทำอย่างไรจะลดขยะพลาสติกใช้ครั้งเดียวได้บ้าง หรือธุรกิจร้านรีฟิลของกินของใช้ถ้าจะส่งเสริมให้มันเป็นเรื่องปกติทั่วไป รัฐก็ต้องส่งเสริมสนับสนุน หรือใช้แรงกระตุ้นทางด้านภาษี เป็นต้น
แม้กระทั่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ก็สามารถสนับสนุนให้มีธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ท้องถิ่นหลายแห่งเปิดให้คนมาเช่าที่หรือมาขายของในตลาดนัด ท้องถิ่นก็สามารถส่งเสริมให้เกิดธุรกิจสีเขียวเพิ่มขึ้นได้ เช่น ลดค่าเช่า ลดภาษีโรงเรือน เป็นต้น เมื่อต้นทุนธุรกิจลดลง มันก็มีโอกาสจะงอกงามและประสบความสำเร็จได้มากขึ้น
เมื่อคนทั่วไปในชุมชนเห็นธุรกิจแบบนี้เป็นเรื่องปกติทั่วไป เขาก็จะคิดว่าเป็นเรื่องปกติที่ทำได้ ต่างจากทุกวันนี้ที่เวลาไปสั่งกาแฟแล้วไม่ขอรับหลอด แต่เขาก็ยังให้มาอยู่ดี อันนี้มันสะท้อนความเป็นปกติ ณ ปัจจุบัน
สอง การนำขยะมาใช้ ผู้บริโภคสามารถนำของเก่าที่ซ่อมแซมได้กลับมาใช้ใหม่ ส่วนภาคธุรกิจก็สามารถทำได้เช่นกัน อย่างเวลาเราไปตามชายหาด มักจะเห็นรองเท้าแตะที่เหลืออยู่ข้างเดียวที่ชายหาดสามารถนำมาแปรรูปกลับเป็นรองเท้าแตะคู่ใหม่ หรือเอาเศษอวนที่ถูกทิ้งจากการกลับมาเป็นวัสดุทำกระเป๋า เป็นต้น การนำของปกติที่เห็นได้ทั่วไปมาใช้ซ้ำ รีไซเคิลจะทำให้ของพวกนี้อยู่ในชีวิตประจำวันและพบเจอได้ตามปกติ
อีกวิธีหนึ่งของการสร้างการร่วมมือไม้ร่วมมือ เข้าร่วมมากขึ้น ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมก็มีความพยายามกระตุ้นพฤติกรรม เช่น ทำสิ่งต่าง ๆ ให้สนุก ท้าทายหรือเป็นเกมส์มากขึ้น gamification เป็นการตั้งเป้าหมายกระตุ้นให้เกิดกิจกรรม หรือในทางธุรกิจก็นำเรื่องการสะสมแต้มเพื่อแลกรางวัล หรือทางรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก็สามารถทำโครงการมาสนับสนุนเรื่องนี้ เช่น สร้างเครือข่ายของร้านที่รักสิ่งแวดล้อมหรือมีความรับผิดชอบทางสิ่งแวดล้อม เป็นต้น มันก็จะทำให้เกิดพฤติกรรมรวมหมู่ของการรักสิ่งแวดล้อมมากขึ้นได้
เมื่อมีนโยบายสนับสนุนให้คนคัดแยกขยะ ผู้บริโภคก็ปรับเปลี่ยนไปตามแรงกระตุ้นที่ได้รับ หรืออาจปรับเปลี่ยนวิธีการวางถังขยะ วิธีการเก็บขยะ หรือแจกถุงขยะแยกสี แม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณของรัฐหรือท้องถิ่นเพิ่มขึ้นบางส่วน แต่ก็ดีกว่าคนไม่ร่วมมือคัดแยกขยะเลย
อีกวิธีหนึ่งก็คือจัดอีเวนต์รวมคน พวก social lab, hackathon เอาคนยุคใหม่ หรือนิสิตนักศึกษา ที่เขารับรู้ปัญหานี้อยู่พอสมควร แต่เขาไม่รู้ว่าจะส่งเสียงที่ไหน และไม่รู้จะเริ่มอย่างไร การจัดอีเวนต์แบบนี้มันก็เป็นประโยชน์ต่อการรวบรวมความคิดเห็นจากคนกลุ่มต่าง ๆ แล้วขยำรวม ประสานออกเป็นชุดนโยบายต่าง ๆ ออกมา
“การให้คนยุคใหม่เข้ามามีส่วนร่วม เมื่อสิ่งที่เขาเสนอหรือสิ่งที่เขาสนใจ ถูกผลักดันจนเป็นนโยบายหรือปฏิบัติการจริง เขาก็จะรู้สึกว่านโยบายนั้นเป็นของเขา และไม่อยากให้มันหายไป เขาก็พยายามจะผลักดันให้มันประสบความสำเร็จมากขึ้น”
อ.ตั้น บอกว่า จากตัวอย่างที่เล่าไป เพียงการที่เราพบเจออยู่ทุกวัน เจออยู่บ่อย ๆ เราจะสามารถเรียกข้อมูลเหล่านั้นมาได้โดยง่าย และข้อมูลเหล่านั้นจะกระทบกับการตัดสินใจของเราเอง ยิ่งไปกว่านั้นพอเราเห็นคนอื่นเขาก็ทำกัน ก็จะทำให้เกิด social norms ที่คนปกติทั่วไปทำกัน เราก็ทำตาม นอกจากนั้นการที่เอาคนมาสร้างเอ็นเกจเมนต์มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า endowment effect หรือการให้คุณค่ากับของ ๆ เรามากกว่าของคนอื่น เช่น ร้านเฟอร์นิเจอร์บางร้านให้เราประกอบเอง เราก็จะเกิดความรู้สึกว่าของชิ้นนั้นเป็นของเราและมีคุณค่า และยอมจ่ายเงินที่สูงขึ้นเพื่อเป็นเจ้าของของชิ้นนั้น
หมายความว่ามันต้องมีการจัดการเชิงระบบ มีนิเวศทั้งโครงสร้างมารองรับเพื่อให้สิ่งนี้ไปได้
การจะแก้ปัญหาที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมเป็นระยะเวลานาน อย่างเรื่องสิ่งแวดล้อม มันก็ต้องไปปรับโครงสร้าง จัดการสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ และต้องพยายามปรับพฤติกรรมไปพร้อมกัน การปลูกจิตสำนึกของคนเป็นสิ่งที่ทำกันมานานแล้ว แต่มันไม่ส่งผล เพราะพอปลูกจิตสำนึกเสร็จก็ไม่ได้ทำต่อเนื่อง
เราอาจจะปลูกจิตสำนึกกับคน 30 คน แต่พอเขาออกไปเจอคนรอบ ๆ ข้าง ก็ไม่เห็นมีคนทำอย่างที่เขาทำเลย จิตสำนึกเหล่านั้นก็จะหายกลืนไปเลย ดังนั้นเราจึงต้องหาหนทาง ทำให้เรื่องเหล่านี้เป็นชีวิตประจำวัน เหมือนที่เราเห็นในซีรีส์เกาหลี จะทิ้งขวดน้ำก็แยกฝา ฉลากและตัวขวดทิ้งกันคนละถัง โดยอัตโนมัติ มันเป็นส่งต่อแบบแผนพฤติกรรมให้แผ่ขยายไป มากกว่าเป็นเรื่องจิตสำนึก
แล้วนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมคิดอย่างไรกับคำวิจารณ์ว่าสิ่งเหล่านี้มันเป็นแค่เทรนด์ ฮิตกันไม่อยู่นาน แล้วก็เลือนหายไป
บางเรื่องอาจจะเป็นกระแส เป็นความตื่นตัวที่เกิดขึ้นแล้วก็หายไป ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมหันมาสนใจเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่อยู่ได้ในระยะยาว เช่น ครั้งพะยูนมาเรียม หรือตอนที่คุณสืบ นาคะเสถียร เสียชีวิต คนก็ตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อมกันมาก แต่ผ่านไปไม่นานความสนใจของคนก็หายไป นี่ก็เป็นเรื่องปกติ เป็นธรรมชาติของมนุษย์
ดังนั้นงานด้านการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเขาพยายามหาทางให้พฤติกรรมอยู่ได้นาน จึงพยายามจะไปแตะโครงสร้างหรือสภาพแวดล้อม เพื่ออำนวยให้เกิดพฤติกรรมรักสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นได้ง่าย เช่น การจัดวางถังขยะเพื่อให้พฤติกรรมที่พึงประสงค์เกิดขึ้นได้ง่าย ถ้าเราวางป้ายรณรงค์ไว้ในสถานที่ท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวที่เพิ่งเห็นเป็นครั้งแรกก็อาจทำตาม แต่ถ้าเอาป้ายเดียวกันไปวางที่บ้านมันจะเกิดอะไรขึ้น เขาจะคุ้นชินกับข้อความเหล่านั้นหรือไม่ สิ่งที่ต้องทำคือจะทำให้โครงสร้างพื้นฐานมันเอื้ออำนวยให้พฤติกรรมรักสิ่งแวดล้อมกลายเป็นพฤติกรรมโดยปกติได้
ในต่างประเทศมีหน่วยงานที่ทำการศึกษาเชิงพฤติกรรมและพยายามออกแบบนโยบายที่มีรากฐานการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมศาสตร์ ซึ่งก็คล้ายกับทางธุรกิจในปัจจุบันที่พยายามจะเสนอสินค้าและบริการโดยดูพฤติกรรมความชอบการใช้งานหรือความต้องการของลูกค้าเป็นตัวตั้ง
มันก็คือความพยายามจะไปเข้าใจพฤติกรรมของคนก่อนว่ามีปัจจัยอะไรเบื้องหลังพฤติกรรมเหล่านั้น ทำไมเขาไม่คัดแยกขยะมีอะไรที่ติดขัด จึงค่อยไปหาสาเหตุนั้นแล้วกลับมาดีไซน์นโยบายที่แก้ไขปัญหาได้ แต่ก็อาจจะต้องใช้อย่างอื่นเข้ามาร่วมด้วย เช่น เทคโนโลยีที่ตอบสนองอำนวยความสะดวกให้คนก็จะช่วยให้เกิดอิมแพคมากขึ้น
หมายความว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคน สนใจผลกระทบทางสังคมเป็นหลัก
ใช่ครับ เพราะเวลาเรามองผ่านเลนส์ของเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเราอยากให้คนส่วนใหญ่มีพฤติกรรมอย่างที่เราปรารถนา แล้วดูว่าผลกระทบในภาพรวมทั้งทางเศรษฐกิจและสังคมมันดีขึ้นหรือแย่ลงอย่างไร ปกติเวลาทำการวิจัยหรือทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เราต้องเปรียบเทียบก่อนและหลัง เพื่อดูสิ่งที่ทดสอบหรือเข้าไป interventions ต่าง ๆ ได้รับผลมากน้อยแค่ไหน ซึ่งก็มักจะทำในพื้นที่นำร่องเล็ก ๆ บางจุดก่อนจะพิจารณาขยายผล
หลัง ๆ มาประเทศไทยก็มีพื้นที่ทดลองแบบนี้มากขึ้น เพื่อจะรู้ว่าว่าวิธีการนั้น ๆ คุ้มค่าที่จะทำ มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากน้อยแค่ไหน บางเรื่องมันสามารถขยายออกไปโดยไม่ต้องใช้ต้นทุนมากนัก แต่บางเรื่องขยายผลได้แต่ต้องใช้งบประมาณมหาศาล ซึ่งก็อาจเป็นเหตุให้ย้อนกลับมาพิจารณาใหม่ว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ขยายผลและประสบความสำเร็จได้
ถ้ากลับมาทดลองในเมืองแสนสุขหรือชุมชนมหาวิทยาลัยบูรพา มันจะเริ่มอย่างไร ยากตรงไหน?
อย่างแรกเราต้องไปฟังความคิดของเขาก่อน อย่างการจัดเวทีฟังเสียงประเทศไทยที่ทำมา มันก็ทำให้คนในวงรับรู้เรื่องราวหรือความคิดที่อาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน ยิ่งทำความเข้าใจกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้นเท่าไหร่ก็จะเข้าใจมากขึ้นว่าปัญหาของเขาอยู่ตรงไหน เช่น ในเวทีพบว่าขยะในม.บูรพามีเยอะมาก ๆ แต่ปริมาณการคัดแยกขยะยังน้อยอยู่ เราก็ต้องลงไปดูว่าปัญหามันติดขัดตรงไหน ซึ่งมีวิธีการทำได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการสังเกต เอาคนไปนั่งดู ตั้งกล้องถ่าย หรือดูจุดเริ่มต้นการเกิดขยะ ดูว่าเขาใช้ชีวิตแบบไหน จับจ่ายใช้สอยอย่างไร ทำไมเขาไม่คัดแยกขยะ หรือทิ้งขยะไม่เป็นที่ หรืออาจเลือกวิธีลงไปพูดคุยกับเขา ไปสอบถาม สัมภาษณ์ ทำแบบสำรวจก็ได้
เมื่อเข้าใจพฤติกรรมแล้ว ก็จะเข้าใจสาเหตุของปัญหา ยกตัวอย่าง การวางถังขยะตรงตู้กดกาแฟจากเดิมที่วางถังขยะไรไซเคิลข้างกับขยะทั่วไป คนก็อาจจะทิ้งขยะสะเปะสะปะ แต่เมื่อเรารู้อยู่แล้วว่าขยะตรงนี้ ส่วนใหญ่เป็นขยะรีไซเคิล ก็วางถังขยะรีไซเคิลไว้เท่านั้น มันก็ทำให้คนทิ้งขยะถูกประเภทมากขึ้น ส่วนขยะทั่วไปก็วางให้ห่างออกไปประมาณ 5 เมตร คนก็จะทิ้งขยะถูกประเภทมากขึ้น
การปรับเปลี่ยนเล็ก ๆ แค่นี้มันไม่ต้องใช้งบประมาณอะไร แต่เราต้องเข้าใจพฤติกรรมนั้นก่อน
เข้าใจ ทดลอง แล้วก็ดูว่าอัพสเกลได้หรือเปล่า?
จริง ๆ ก็ไม่ต่างจากการทำธุรกิจในสมัยนี้ หรือการสตาร์ทอัพก็ใช้แนวคิดคล้าย ๆ นี้เช่นกัน ต้องเข้าใจพฤติกรรมของเขา ทำเป็นตัวโปรโตไทป์แล้วลองทดลอง ถ้าเวิร์กก็อาจไปใช้ในพื้นที่ขนาดใหญ่ขึ้น ถ้าไม่เวิร์กก็มาทดลองวนซ้ำไปเรื่อย ๆ
“พวก nudging เริ่มได้รับความนิยมในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เหตุผลอย่างหนึ่ง การปรับเปลี่ยนกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเชิงพฤติกรรม ไม่ได้ใช้งบประมาณมาก แต่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้มหาศาล”
อยากแนะนำหนังสือเล่มไหนให้กับคนที่เริ่มสนใจแนวคิดเรื่องเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม?
หนังสือเรื่องเล่มแรกที่คนสนใจเรื่องนี้จะอ่านกันคือ Misbehaving: The Making of Behavioral Economics เขียนโดย ริชาร์ด เธเลอร์ ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมแห่งคณะบริหารธุรกิจบูธ มหาวิทยาลัยชิคาโก ฉบับแปลภาษาไทยชื่อว่า เศรษฐศาสตร์พฤติกรรม: เศรษฐศาสตร์แนวใหม่ที่มองคนไปไกลกว่าสัตว์เศรษฐกิจ
หนังสืออีกเล่มที่คนมักจะอ้างอิงถึงบ่อย ๆ คือ THINKING, FAST AND SLOW คิด, เร็วและช้า ของแดเนียล คาห์เนแมน
แล้วมีพวกนิทานอีสปหรือมีหนัง ซีรีส์อะไรที่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมบ้างไหม?
จริง ๆ มีหลายเรื่องแต่ผมนึกถึงฉากหนึ่งซีรีส์เกาหลี Hometown Cha-Cha-Cha เราจะเห็นเด็กนักเรียนสะพายกระเป๋าซึ่งด้านหลังมีที่ผ้าคลุ้มเขียนตัวเลข 30 หรือหมายความว่า 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง พอคนขับรถเห็นป้ายนี้ เขาก็จะชะลอความเร็วลงทันทีโดยธรรมชาติ จากตัวอย่างนีมันก็เห็นว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะเอาแนวคิดนี้ไปแทรกอยู่ในชีวิตประจำวัน
อ.ตั้น ปิดท้ายว่า ผู้เขียนหนังสือ how change happens (เมื่อการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น) เขาบอกว่าการเปลี่ยนแปลงเกิดจาก 3 เรื่องประกอบกัน อย่างแรกคือมีคนที่คิดเหมือน ๆ กันในจำนวนที่มากพอ สอง คนที่คิดเหมือนๆ กันต้องกระจายตัวไปอยู่ทั่ว ไม่ใช่กระจุกตัวรวมกันอยู่ในที่ใดที่หนึ่ง เมื่อครบเงื่อนไขทั้ง 2 ข้อ คือมีจำนวนคนที่มากพอ มีการกระจายตัวอย่างเหมาะสมแล้ว มันก็อาศัย ข้อสาม ต้องมีจุดสปาร์กเล็ก ๆ ที่ทำให้คนที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงอยู่แล้ว สร้างการปรับเปลี่ยนเป็นการโดยทั่วไป และสุดท้ายมันก็จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนค่านิยมของสังคมหรือ norm shift ได้.
ชวนติดตามรับชมรายการฟังเสียงประเทศไทย ตอน เมืองแสนสุขกับการมีส่วนร่วมจัดการมรสุมขยะ
วันเสาร์ที่ 10 กันยายน 2565 เวลา 17:30 – 18:00 น. ทาง Thai PBS หรือรับชมทีวีออนไลน์
ติดตามการเดินทางออกไปฟังเสียงประเทศไทย ณ เมืองแสนสุข อ.เมือง จ.ชลบุรี เมืองซึ่งผู้คนที่นี่พยายามสร้าง #เมืองท่องเที่ยวน่าอยู่ และฟื้นเศรษฐกิจของชุมชน ไปพร้อม ๆ กับการหาทางออกของการบริหารจัดการขยะมูลฝอย
อะไรคือโจทย์และข้อท้าทายของการจัดการขยะมูลฝอยจากแหล่งกำเนิดต้นทางถึงปลายทาง ไม่ว่าจะเป็นขยะของครัวเรือน ชุมชน การท่องเที่ยวและขยะทะเล รายการฟังเสียงประเทศไทยวันเสาร์ที่ 10 กันยายนนี้