มังกรใต้เขื่อนมิตส่ง ชะตากรรมแม่น้ำอิระวดี ภายใต้อนาคตของเต็งเส่งและกรงเล็บจีน

มังกรใต้เขื่อนมิตส่ง ชะตากรรมแม่น้ำอิระวดี ภายใต้อนาคตของเต็งเส่งและกรงเล็บจีน

20141103120836.jpg

ละไพ ซูง เตะฝุ่นสีแดงอยู่นอกบ้านของเขา และบ่นว่า ปลูกอะไรไม่ขึ้นเลย “สถานการณ์ที่นี่มันสิ้นหวัง” เขาบอก “ที่หมู่บ้านเดิม เราเคยปลูกข้าว ปลูกผลไม้และผัก เราเคยมีความสุข ที่นี่ พวกเขาเอารถแทรกเตอร์ไถดิน และไม่มีดินให้ปลูกอะไร ทุกคนอยากกลับไปที่หมู่บ้านเดิมของตัวเอง”

ทว่า ละไพ ชายชราวัย 70 ปีไม่ได้ได้รับอนุญาตให้กลับไปบ้านของบรรพบุรุษที่อยู่ห่างไปทางทิศเหนือแค่ 12 ไมล์ แม้ว่าโครงการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ที่จะส่งผลกระทบให้น้ำท่วมหมู่บ้านของเขาจะถูกระงับก็ตาม

20141103120916.jpg

โครงการก่อสร้างเขื่อน ‘มิตส่ง’ ได้ดำเนินการก่อสร้างค้างไว้ในรัฐคะฉิ่น ทางตอนเหนือของพม่า ซึ่งมีความขัดแย้งกันระหว่างรัฐบาลพม่ากับบริษัทจากจีน ละไพ และชาวคะฉิ่นอีกกว่า 12,000 คน ยังคงถูกขับออกจากพื้นที่บ้านเกิด ท่ามกลางละครทางการเมืองและการทหารต่อชะตากรรมของเขื่อนแห่งนี้

โครงการก่อสร้างเขื่อนมิตส่งเชื่อว่าได้รับทุนสนับสนุน และมีการก่อสร้างไปแล้วบางส่วนซึ่งดำเนินการโดยบริษัท Chinese Power Investment Corporation (CPI) โดยไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งข้ามชายแดนไปยังมณฑลยูนนานของจีน เพื่อหล่อเลี้ยงอุตสาหกรรม ทั้งนี้เขื่อนดังกล่าวจะมีความสูง 152 เมตร กำลังผลิต 6,000 เมกกะวัตต์

ซึ่งขื่อนมิตส่งเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเขื่อนทั้ง 7 แห่งในโครงการก่อสร้างเขื่อนบนต้นน้ำอิระวดี และหากก่อสร้างแล้วเสร็จ ก็จะกลายเป็นเขื่อนที่ใหญ่เป็นอันดับ 15 ของโลก แต่เมื่อเริ่มดำเนินการก่อสร้างขึ้นเมื่อปี 2009 ที่ผ่านมา ก็เกิดปัญกาขึ้นตามมา

20141103120948.jpg

นักสิ่งแวดล้อมได้ต่อต้านการสร้างเขื่อนดังกล่าวเนื่องจากแม่น้ำอิระวดีเป็นแม่แหล่งที่สำคัญที่สุดของพม่า เป็นแหล่งประมง แหล่งน้ำสำหรับปลูกข้าว หล่อเลี้ยงพื้นที่ปากแม่น้ำ แม้แต่ผู้ประเมินผลกระทบด้านสิ่งแลดล้อมของ CPI เองยังระบุไว้ในรายงานว่า “ไม่มีความจำเป็นที่จะก่อสร้างเขื่อนใหญ่ขนาดนี้” และให้คำแนะนำว่าควรจะสร้างเขื่อนที่มีขนาดเล็ก 2 แห่งตรงบริเวณที่อยู่เหนือขึ้นไปจากจุดนี้แทน

ขณะที่ประชาชนชาวพม่าทั่วไปต่อต้านการสร้างเขื่อนแห่งนี้เพราะ แม่น้ำอิระวดีเป็นแม่น้ำที่มีความสำคัญต่อชีวิตและิตวิญญาณของชาวพม่า เป็นที่มาของเรื่องเล่า บทเพลง และบทกลอนต่างๆ ในขณะที่ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งไปยังประเทศจีน ชาวพม่าจึงไม่เห็นว่า เขื่อนไม่ได้ให้ประโยชน์ต่อพวกเขา

ด้านชาวคะฉิ่นต่อต้านโครงการก่อสร้างเขื่อนดังกล่าวเนื่องจากพื้นที่กักเก็บน้ำกว่า 296 ตารางไมล์จะทำให้หมู่บ้าน 63 แห่งจมอยู่ใต้น้ำ รวมถึงสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำเมขะ และมาลิขะ ที่อยู่ต้นน้ำอีกด้วย

20141103121015.jpg

ในช่วงทีมีการก่อสร้าง กองกำลังเอกราชคะฉิ่น หรือ KIA ได้โจมตีพื้นที่ก่อสร้างเขื่อน ซึ่งเป็นการฉีกสัญญาหยุดยิงที่มีมายาวนานถึง 17 ปี ลง ต่อมาในช่วงปี 2010 เกิดเหตุระเบิด 10 ครั้งรอบบริเวณก่อสร้างเขื่อน ส่งผลให้มีเจ้าหน้าที่จีนเสียชีวิตจำนวน 1 คน

แต่รัฐบาลพม่ายังคงผลักดันให้มีการก่อสร้าง เพื่อเอาใจประเทศพันธมิตรและคู่ค้าสำคัญ

จากนั้นในปี 2011 ประธานาธิบดีเต็งเส่งได้ประกาศระงับการก่อสร้างเขื่อนมิตส่ง โดยระบุว่า จะไม่มีการก่อสร้างในขณะที่เขาอยู่ในตำแหน่ง ซึ่งสร้างความไม่พอใจต่อจีนเป็นอย่างมาก

ปัจจุบันหลายฝ่ายต่างเกรงว่า มังกรที่นอนสงบนิ่งอยู่ที่ต้นน้ำอิระวดีจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งเมื่อตำแหน่งประธานาธิบดีของเต็งเส่งจะหมดวาระลงในปีหน้า

เนื่องจากจุดตรวจของทหารได้กั้นทางเข้าพื้นที่ก่อสร้างเขื่อนไว้ ทางเดียวที่จะเข้าไปที่นั่นได้ต้องเลี่ยงไปใช้เส้นทางลูกรังที่อยู่ไกลออกไปาทงทิศตะวันตก ที่ลดเลี้ยวผ่านภูเขาและพื้นที่ป่า ไปทะลุผ่านหมู่บ้านที่ละไพเคยอาศัยอยู่ คือหมู่บ้านตังเพร ที่กลายเป็นหมู่บ้านรกร้างติดกับป่า ไม้ที่ใช้สร้างบ้านผุพังไม่ได้รับการซ่อมแซม ไร่ผลไม้เต็มไปด้วยหญ้า ผลไม้ร่วงหล่นลงบนพื้นไปอย่างไร้ค่า

“ชาวบ้านยังคงแอบหนีกลับเข้าไปในหมู่บ้าน” นงไค ดูคง ศาสนาจารย์ประจำหมู่บ้านกล่าว เขาชี้ให้ดูเสื้อผ้าที่ตากไว้บนราวที่ส่วนแห่งหนึ่ง “เมื่อปีที่แล้ว มีคนที่หนีกลับถูกทหารพม่าจับได้ 22 คน แต่ถ้าจะกลับไปอยู่ที่นี่ เราต้องซ่อมแซมความเสียหายในหมู่บ้านและแผ้วถางสวนให้เรียบร้อย ซึ่งนั่นคืออุปสรรคอย่างหนึ่ง ”

เมื่อเคลียร์ต้นไม้ข้างถนนลูกรังก็จะมองเห็นแม่น้ำอิระวดี และริมฝั่งน้ำทางทิศตะวันออกที่เต็มไปด้วยก้อนหินและสูงชัน ซึ่งแสดงให้เห็นหลักฐานร่องรอยการก่อสร้างเขื่อน หน้าผาถูกทำเป็นชั้นๆ ส่วนที่เป็นฐานเขื่อนถูกระเบิดลงไปที่ไหล่เขา

ไม่กี่ร้อยเมตรเหนือช่วงที่สิ้นสุดทางลูกรัง บริเวณที่เป็นดินยื่นลงไปในน้ำ เมื่อมองออกไปจะเห็นแม่น้ำเมขะ และแม่น้ำมาลิขะ ซึ่งแม่น้ำสองสายจะมาบรรจบกันเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำอิระวดี ตามตำนานที่เล่าขาน จุดนี้คือต้นกำเนิดของชนเผ่าคะฉิ่น ด้านตรงข้ามแม่น้ำ บ้านคอนกรีตที่เคยเป็นที่พักคนงานและวิศวกรของ CPI ถูกทิ้งร้างเรียงรายอยู่

ด้าน CPI ยังต้องดำเนินการสร้างเขื่อนตามสัญญา โดยได้ทำแคมเปญรณรงค์ให้ชาวคะฉิ่นสนุบสนุนการสร้างเขื่อน

“ตัวแทนจาก CPI มาที่นี่ตลอด พยายามชักจูงให้เราเชื่อว่าอยู่ที่ใหม่นั้นดีกว่าที่เก่า และบอกว่าเราว่าจะได้ประโยชน์จากไฟฟ้าที่ได้จากเขื่อน” ละไพ บอก “แต่ไฟฟ้าไม่ได้มีความสำคัญกับชาวบ้าน สิ่งที่เราให้ความสำคัญคือวิถีชีวิตของเราต่างหาก”

เครือข่ายแม่น้ำพม่า ซึ่งเป็นองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม มีความกังวลว่า จีนจะพยายามหาทางก่อสร้างให้ได้ ซึ่งจีนมีโครงการหลายโครงการที่ลงทุนในพม่า “ฉันคิดว่าแรงกดดันจากจีนนั้นสูงมาก” อาหนั่น โฆษกของเครือข่ายแม่น้ำกล่าว แต่เธอก็บอกว่า ถึงแม้โครงการจะกลับมาก่อสร้างอีกครั้ง จีนก็จะเจอปัญหาอีก “การส่งเครื่องมืออุปกรณ์ในการก่อสร้างจะทำได้ยากขึ้น เพราะพวกเขาจะต้องใช้เส้นทางที่อยู่ในเขตสู้รบ และการพัฒนาเช่นนี้มีแต่จะเติมเชื้อไฟให้กับการสู้รบมากขึ้นเท่านั้น”

แปลจาก Burmese villagers exiled from ancestral home as fate of dam remains unclear

โดย Peter Hadfield  จาก www.theguardian.com / 4 มีนาคม 2557

ที่มา : สาละวินโพสต์ จากชื่อบทความเดิม “บ้านที่ยังไม่ได้กลับ”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ