พิษณุโลก 2020 จากแยกอินโดจีนถึงศูนย์ลอจิสติกส์

พิษณุโลก 2020 จากแยกอินโดจีนถึงศูนย์ลอจิสติกส์

ยุทธศาสตร์การพัฒนาพิษณุโลกเป็นสี่แยกอินโดจีน ผ่านมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 จนนำไปสู่แผนการพัฒนาและจัดตั้งสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีนเพื่อศึกษาและติดตามการพัฒนาเป็น “สี่แยกอินโดจีน” ให้จังหวัดพิษณุโลกเป็นศูนย์กลางการพัฒนาพื้นที่ 9 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เพื่อสอดรับกับการพัฒนาแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก และแนวระเบียงเศรษฐกิจเหนือ-ใต้  ตามเส้นทางยุทธศาสตร์การค้า North-South Economic Corridor และ East-West Economic Corridor เกือบ 10 ปีมาแล้วมีความคืบหน้าอย่างไร คุณวิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ  ประธานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจ พื้นที่ภาคเหนือ จะมาบอกเล่าเรื่องราวนี้

20161202154934.jpg

สี่แยกอินโดจีนมีที่มาที่ไปอย่างไร

วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ – เริ่มต้นประมาณช่วงปีพ.ศ 2538 ถึงต้นปีพ.ศ. 2539 เราอิงข้อมูลจากแผนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมไทยและประเทศเพื่อนบ้านของ (ADB) เพื่อนำไปสู่การพัฒนาและเชื่อมโยงเศรษฐกิจ จนวันที่ 29 กรกฎาคม 2540 คณะรัฐมนตรี มีมติผ่านแผนการพัฒนาและจัดตั้งสถาบันพัฒนาสี่แยกอินโดจีน หลังจากนั้นก็เกิดคำถามว่า เป็นสี่แยกอินโดจีน แล้วอยู่ตรงไหน ก็ไปดูหลายที่ พบว่าตรงแยกอินโดจีนปัจจุบัน(4 แยกถนนเลี่ยงเมือง ช่วงก่อนเข้าตัวเมืองพิษณุโลกประมาณ 10 กิโลเมตร)มีความเหมาะสม ตอนนั้น คุณพินิจ บุญทอง ได้ทำป้ายมาติดไว้ ว่าสามารถเดินทางไปที่ต่างๆ คุนหมิง กัวลาลัมเปอร์ ดานัง เวียงจันทร์ ย่างกุ้ง

จากสี่แยกอินโดจีนไปยังที่ต่างๆตามป้าย เช่น คุนหมิง ดานัง กัวลาลัมเปอร์ ไปได้จริงไหม

วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ – มีคนถามนะว่าไปได้จริงไหม เราก็เลยมีคณะบุกเบิกสำรวจเส้นทาง เส้นทางแรกเริ่มจากลงใต้ ขับรถไปกัวลาลัมเปอร์ก็ไปได้จริงนะ เส้นที่2ไปย่างกุ้ง เมียนมา ออกทางด่านแม่สอด ผานเทือกเขาตะนาวศรี ทางนี้มีการขนส่งสินค้าเข้าออกอยู่ แต่ตอนนั้นมีเส้นทางเลนเดียว จะต้องสลับวันกัน คือ ไปวันหนึ่ง แล้วต้องรออีกวันเพื่อเป็นเส้นทางขาออก ขนสินค้าอย่างนี้มาตลอดตัวเลขสินค้าดีทีเดียว หากมองด่านชายแดนของเราทั้งหมดที่มันขนสินค้ามีการค้าชายแดน ที่จริงแล้วสามารถขนกันได้เพียงสามด่านตั้งแต่สมัยโบราณมา คือ ภาคเหนือมีด่านแม่สอด ด่านแม่สาย และอีกด่านที่มีการขนส่งสินค้าจำนวนมาก คือด่านระนอง เป็นด่านทางเรือ ขนสินค้าผ่านเรือข้ามไป แต่จาการศึกษาด่านระนองมีข้อจำกัด คือ ฤดูกาล ฤดูมรสุมขนส่งสินค้าทางนี้ไม่สะดวก แต่ในขณะที่ขนส่งสินค้าทางบกทำได้อยู่ยกเว้นว่าเจออุทกภัย

20161202154951.jpg

เส้นสามด้านตะวันออกผ่านมุกดาหาร สู่เมืองดานัง สมัยนั้นสะพานมุกดาหารยังไม่เสร็จ ต้องไปแพขนานยนต์ แล้วไปเข้าถนนR9 ไปจนถึงเมืองเว้ เมืองดานัง อาศัยความร่วมมือของสมาคมมิตรภาพไทยลาวพบว่าถนนในลาวเป็นถนนลาดยางดี สามารถข้ามไปเวียดนามได้ ถนนผ่านจังหวัดกวางตรีไปเมืองเว้ กำลังสร้าง ผ่านไปเพื่อดูท่าเรือ ซึ่งทางนี้ก็สามารถใช้ได้จริง เส้นที่สี่ คุนหมิง ขณะนั้นยังไม่มีสะพานที่เชียงของต้องขึ้นแพขนานยนต์ แล้วต่อรถบัสลาวในลาว ผ่านหลวงน้ำทา เข้าจีนต่อไปสิบสองปันนา พบว่าสามารถไปถึงคุนหมิงได้ ในขณะนั้นถนนจากสิบสองปันนาถึงคุนหมิงเส้นทางยังไม่ดีทั้งหมด มีอยู่หลายช่วงที่กำลังสร้างอยู่ ซึ่งตอนนี้คงสร้างเสร็จแล้ว จากการสำรวจในครั้งนั้นพบว่าถนนที่ดีที่สุด คือ ถนนที่ลงใต้ กับถนนขึ้นเหนือ สภาพทางหลวงของจีนที่ไปถึงคุนหมิง ดีกว่าประเทศไทย มาตรฐานทางหลวงดี มีการเจาะอุโมงหลายจุด พร้อมทั้งทำสะพานเชื่อม ทำให้สามารถวิ่งตรงได้ ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อการขนส่งเป็นอย่างดี

การเติบโตของด่านขนส่งสินค้าแต่ละด่านเป็นอย่างไรบ้าง

วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ – การขนทางด่านแม่สอดมีความสม่ำเสมอ ด่านแม่สอดจึงเติบโตได้เร็ว เพราะ เมื่อเปรียบเทียบกับด่านแม่สายแล้ว พบว่าในแง่ของภูมิศาตร์ด่านแม่สอดเป็นจุดชายแดนที่ใกล้เมืองย่างกุ้ง เมืองหลวงของพม่าที่สุด ในแง่ของการค้ามันเป็นไปได้จริงเมื่อเทียบกับด่านแม่สาย เพราะต้องเข้าทางท่าขี้เหล็กซึ่งเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือของเมียนมา สู่เชียงตุง ตองยี ซึ่งเป็นเมืองที่ไม่ใหญ่มาก หากเราวัดขนาดเมืองตามจำนวนประชากรในเมียนมาอันดับหนึ่ง คือ ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ เมาะละแหม่ง และตองยี ตามลำดับ อีกอย่างเส้นทางการค้าของด่านแม่สายจะต้องอ้อม ทั้งที่จริงแล้วเมืองตองยีใกล้กับเชียงใหม่มากกว่า ผมคิดว่าจะต้องผลักดันเปิดด่านที่เชียงใหม่ คือด่านกิ่วผาวอก อำเภอเชียงดาว และด่านบ้านหลักแต่ง อำเภอเวียงแหง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยังต้องเจรจาอยู่ในหลายฝ่าย

20161202155012.jpg

สินค้าที่ส่งไปขายในเมียนมามีอะไรบ้าง

วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ – ด่านแม่สอดห่างจากพิษณุโลก ประมาณ 200กว่ากิโลเมตร ซึ่งด้วยมาตรฐานทางหลวงของไทยสามารถเดินทางได้วันละ 4 เที่ยวได้เลย มีด่านที่ชัดเจน เชื่อมโยงกันกับเมียนมาได้ แต่ก็ต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มชาติพันธุ์ในพม่าด้วย เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาไม่สามารถควบคุมพื้นที่การขนส่งได้ตลอดเส้นทาง สัมยนั้นอุตสาหกรรมในเมียนมาไม่ค่อยมี เขาก็ต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคจากประเทศไทย จะเห็นได้ว่าสินค้าอุปโภคบริโภคของเราไปตีตลาดที่ย่างกุ้งก่อนจีนอีก อาทิ แชมพู ยาสีฟัน ยาสระผม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โสร่ง ร้องเท้าแตะ ของให้จิปาถะ เป็นต้น  ตอนนี้ตลาดส่งออกเปลี่ยนแปลงไป จีนทำตลาดส่งออกในมัณฑะเลย์ได้มากกว่าเราเนื่องขนส่งใกล้กว่า ส่วนตลาดหลักของไทยจะเป็นย่างกุ้ง คนพม่ายังมองว่าสินค้าจากไทยมีคุณภาพดีกว่าจีน สินค้าก็เปลี่ยนไปจากเดิม จากสถิติตัวเลขส่งออกจากกรมศุลกากร อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือ เครืองจักรกลทางการเกษตร และรถจักรยานยนต์ กลายเป็นสินค้าหลักที่เราส่งไปเมียนมา

เราจะสามาถพัฒนาระบบการขนส่งของพิษณุโลกได้อย่างไร

วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ – ผมคิดว่าเราต้องมาพัฒนาด้าน ลอจิสติกส์ (logistics) เป็นระบบการจัดการการส่งสินค้าให้อยู่บนโหนดของการขนส่งทางบกในภูมิภาคอินโดจีน  เท่าที่ศึกษา ในแง่การขนส่งระหว่างประเทศ ลากเส้นแบบ One Direction เป็นเส้นเดียว เช่น จากกรุงเทพถึงเชียงของ เป็นต้น ผมมองว่าพิษณุโลกเป็นศูนย์กระจายสินค้าได้ถ้าเรามีสิ่งอำนวยความสะดวกรองรับได้ สินค้าจากทางเหนือถ้าจะไปตะวันออกเฉียงเหนือ มาเปลี่ยนถ่ายที่พิษณุโลกได้ สามารถมิกซ์คอนเทนเนอร์มาลงที่ศูนย์ลอจิสติกส์ได้ และจะนำสินค้าจากที่นี่โหลดเข้ากรุงเทพได้อีกด้วย ระบบแบบนี้เป็นประโยชน์ คือ ทุกวันนี้มันต้องตีเปล่ากลับตลอด เช่น อย่างที่เราจะเห็นว่าทัวร์จีนของคนไทยมีบางช่วงที่ถูกๆ เพราะมีเครื่องเช่าเหมาลำที่ขนนักท่องเที่ยวจีนมาเมืองไทย แล้วจะขนอะไรกลับ วิธีที่ง่ายที่สุด คือ ขายทัวร์ถูกๆ ค่าเครื่องบินถูกๆ เพื่อให้ได้ค่าน้ำมันกลับ มีใครอยากมีเที่ยวเปล่าบินครึ่งลำ

หลังจากการประกาศแผนตอนนี้ได้ดำเนินการอะไรเพื่อรองรับการเป็นศูนย์ลอจิสติกส์ของพิษณุโลกบ้าง

วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ – พิษณุโลกได้มีการศึกษาเพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นแยกอินโดจีนเมื่อปี พ.ศ.2549 และความเป็นไปได้ของศูนย์ลอจิสติกส์ที่พิษณุโลก ซึ่งผลการศึกษาเรื่องปริมาณสินค้า พบว่ามีสินค้าการเกษตรอยู่บริเวณพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างเพียงพอที่จะส่งออก และควรให้รัฐสร้างแล้วสัมปทานไปให้เอกชนบริหาร เหมือนลาดกระบัง แต่จังหวัดไม่มีงบประมาณมากพอที่จะสร้าง

ความก้าวหน้าด้านอื่นๆมีบ้างไหม อย่างล่าสุดเพิ่งเปิดการเดินรถสายพิษณุโลก- ดอนสัก สุราษฎรธานี

วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ – ด้านการขนส่งผู้โดยสารนั้นจะเห็นได้ว่าตอนนี้ถ้าจะเดินทางไปอีสาน หรือไปภาคกลาง ก็ต้องมาจอดส่งผู้โดยสารที่พิษณุโลก ที่นี่มีรถวิ่งผ่านทั้งจากจากอุบลราชธานี เชียงใหม่ ระยอง พัทยา  ผมมองว่าเป็นเส้นทางที่จะไปได้สะดวกที่สุด จากกาศึกษายังพบว่าผลไม้จีนที่ขายอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือถูกขนส่งจากเชียงแสนไปที่ตลาดไทย ขนส่งจากตลาดไทยไปยังพื้นที่อีสาน ทำไมเราไม่ขนส่งไปยังพื้นที่โดยตรงโดยมีศูนย์ลอจิสติกส์ที่พิษณุโลกเนพื้นที่กระจายสินค้า

ทราบมาว่ามีการให้ใบอนุญาตขนส่งไปยังประเทศเมียนมาเข้าสู่จีนได้แล้วมีความคืบหน่าอย่างไรบ้าง

วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ – การขนส่งตรงนี้เป็นการเจรจาระหว่างคู่ค้า อย่างระหว่างเรากับลาวก็เป็นเรื่องเรากับลาว  ระหว่างเรากับเมียนมาก็เป็นเรื่องของเรากับเมียนมา ไม่ใช่บอกว่าคุยอาเซียนแล้วจบหมด ในกรณีเรากับลาวนั้นหากเรามีพาสพอร์ตรถ มีใบขับขี่ไทยสามารถใช้ในประเทศลาว แต่ไปจีนไม่ได้ ต้องเจรจากันเป็นครั้งๆไป และเนื่องจากเป็นการเจรจาระหว่างคู่ค้า มันจะต้องไม่มีการได้เปรียบเสียเปรียบกัน ถ้าเขาจดทะเบียนให้รถไทย 400 คัน ไทยก็ต้องจดให้เขา 400 คันด้วย มองว่าหากรถขนส่งสินค้าจากลาวจะข้ามมาไทยอาจจะเสียเปรียบ เพราะมีจำนวนไม่มากเท่าของเรา ส่วนเมียนมายังไม่มีข้อตกลงที่จะมีรถจากเมียนมาสามารถโหลดสินค้าที่พิษณุโลกได้ รถทะเบียนเมียนมาข้ามมาได้แค่อำเภอแม่สอด รถของผู้ประกอบการไทยที่จะข้ามไปได้เลยมีเฉพาะรถน้ำมันซึ่งขนถ่ายได้ลำบาก เมียนมาไม่อนุญาตให้เราเอารถเข้าไปอย่างเสรี ตอนนี้แม่สอดยังเป็นศูนย์กลาง (HUP) ด้านการค้าชายแดน

การพัฒนาด้านลอจิสติกส์ตอนนี้มีปัญหาอะไรบ้าง

วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ – ปัญหาของลอจิสติกส์ คือ Load Factor  สิ่งที่ต้องทำ คือ คลังสินค้าทัณฑ์บน(คลังสินค้าที่ทำหน้าที่เก็บรักษาของที่นำเข้าจากต่างประเทศ การบรรจุหรือแบ่งบรรจุ การขนถ่ายสินค้า การกระจายสินค้าและเพื่อกิจการอื่น ๆ ที่อธิบดีกรมศุลกากรเห็นสมควร)ร่วมกับศุลกากร เพื่อจะได้สามารถส่งออกจากพิษณุโลก สามาถตรวจสอบตามข้อกำหนดศุลกากรแล้วขนขึ้นคอนเทนเนอร์แล้วซีลปิดผนึก เมื่อส่งไปถึงด่าน ศุลกากรกรก็มีหน้าที่ตรวจว่าซีลไม่มีการเปิด แตกหัก ถูกทำลาย ก็ส่งข้ามไปได้เลย ซึ่งหากไปดูตามด่านทุกวันนี้มีรถรอคิวเป็นจำนวนมากไม่สะดวก ดีที่ศุลกากรมาตรวจปล่อยสินค้านอกสถานที่ ตามท่าเรือเอกชนที่ขึ้นทะเบียบกับศุลกากร ซึ่งต้องถูกต้องตามหลักเกณฑ์ศุลกากรทั้งหมด

ผมมองว่าถ้าจะขนส่งสินค้าผ่านสะพานทั้งหมดเป็นไปได้ยากต่อให้ทำทั้งวัน หากพิษณุโลกทำบทบาทตรงนี้ได้ จะช่วยแบ่งเบาด่านชายแดนได้ ผลที่ตามมา คือ อุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นมาได้ ทำไมต้องไปอยู่แม่สอดอย่างเดียว และหากมองในแง่ผู้ประกอบการ ถ้าแหล่งวัตถุดิบไม่ได้อยู่ตรงนั้น การขนส่งต้องข้ามภูเขาหลายลูก ในขณะที่การขนส่งของพิษณุโลกมีทั้งรถไฟ และรถยนต์ จึงสะดวกกว่า  และหากการเจรจาขนส่งสินค้าเป็นแบบ Single Window คือศุลกากรสองประเทศทำงานร่วมกันก็จะทำให้เกิดความสะดกว รวดเร็วขึ้น

ความคืบหน้าการสร้างรถไฟรางคู่ตอนนี้ไปถึงไหนแล้ว

วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ – รถไฟรางคู่ในปีนี้จะตัดจากลพบุรีไปนครสวรรค์ และในอนาคตจากนครสวรรค์ไปพิษณุโลก ซึ่งทางคู่จะใช้ขนส่งสินค้าเป็นหลัก ตอนนี้สินค้าที่ขายอยู่ในพิษณุโลกขนส่งโดยรถไฟน้อยมาก หากมองในแง่เศรษฐกิจเราสูญเสีย เพราะต้อองใช้น้ำมันจำนวนมากในการขนส่ง รถไฟรางคู่จะทำให้การขนส่งด้วยระยะเวลาไม่ต่างกับรถยนต์มาก คนก็จะเลือกการขนส่งทางรถไฟมากขึ้น ซึ่งสามารถมาลงที่ศูนย์ลอจิสติกส์ แล้วกระจายสินค้าต่อไปได้

ตอนนี้มีการการออกแบบ หรือแผนของรัฐที่จะพัฒนาพิษณุโลกให้เป็นศูนย์ลอจิสติกส์อย่างไรบ้าง

วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ –  เราต้องทำการศึกษาเพิ่ม เพราะการศึกษาเดิมทำไว้น่านแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2549ควรมีการตั้งงบเพื่อศึกษาอย่างจริงจังอีกครั้ง ตอนนี้ครบรอบ 10 ของการเริ่มผลักดันให้พิษณุโลกเป็นศูนย์ลอจิสติกส์ สิ่งที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น  ถนนสี่ช่องจราจรไปถึงหล่มสัก หรือ จากอุตรดิตถ์เป็นถนนสี่เลนก็อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์สี่แยกอินโดจีน ที่จะพัฒนาภาคเหนือตอนล่าง พิษณุโลก สุโขทัยพิจิตร เพชรบูรณ์ ตาก

จากแผนการพัฒนาโครงข่าวคมนาคมของ ADB กับประเทศเพื่อบ้าน ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ –  ด้านโครงข่ายเป็นไปตามที่วางไว้ แต่ปัจจุบันยังไม่เต็มพื้นที่ทั้งหมด เนื่องจากโครงข่ายทางหลวงในพม่ายังไม่เต็ม  ส่วนเส้นไปจีน ขาดช่วงเดียวคือ ที่อำเภองาว จังหวัดลำปางถึงอำเภอร้องกวาง จังหวัดแพร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ภูเขายังเป็นเลนคู่ จากอเภอหล่มศักดิ์ถึงอำเภอน้ำหนาว เพชรบูรณ์ และ ในลาวช่วงหลวงน้ำทาถึงบ่อแก้วก็เช่นกัน

ในส่วนของการขนส่งทางอากาศตอนนี้สนามบินพิษณุโลกมี่เที่ยวบิน 5 เที่ยวบินต่อวัน ตอนนี้ภาคเอกชนพยายามผลักดันให้เป็นท่าอากาศยานนานาชาติ ตรงนี้มีพื้นที่อยู่แล้วเพียงแต่ไม่ได้เปิดใช้ สิ่งที่จำเป็นต้องรีบทำ คือ สายการบินในประเทศที่บินระหว่างภูมิภาค เช่น จากเชียงใหม่มาพิษณุโลก จากพิษณุโลกไปอุดรธานี เพราะ จะช่วยอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวได้มาก

อะไรในพิษณุโลกมีการเปลี่ยนแปลงบ้างในช่วง 2-3 ปีนี้

วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ –  พิษณุโลกมีเรื่องการค้าปลีก ผมว่าเป็นสมรภูมิการค้าปลีกเลยทีเดียว เพราะมี ห้างสรพพสินค้าต่างๆมากมาย แย่งชิงตลาดกัน ตอนนี้พิษณุโลกก็เป็นศูนย์กลางของหลายอย่างในภาคเหนือตอนล่าง อย่างเช่น ระบบการบริการสุขภาพ เนื่องจากมีโรงพยาบาลศูนย์ที่คนจังหวัดรอบข้างเข้ามาให้บริการเพิ่มขึ้น คนในพื้นที่ก็มองว่าพิษณุโลกเจริญขึ้น เจริญเร็ว

ความคืบหน้าของแผนยุทธศาสตร์พิษณุโลก2020

วิโรจน์ จิรัฐิติกาลโชติ –  เราตั้งคำถามว่าพิษณุโลกจะเป็นเมืองใหญ่แบบไหน เรามีกรุงเทพเป็นบทเรียน จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์พิษณุโลก2020 ให้มียุทธศาสตร์ผังเมือง มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับการเติบโตของเมือง เราได้กำหนดโครงข่ายอนาคตทางถนน ขนส่งมวลชนของเมือง ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการวางเส้นร่าง และอยู่ในระหว่างการรับฟังความคิดเห็นเป็นระยะๆ แต่ยังไม่ได้ประกาศออกมา เราหาพื้นที่เหมาะสมสำหรับศูนย์ลอจิสติกส์เพื่อจะไม่ให้กระทบต่อการคมนาคมในเมืองและเกิดมลภาวะทางอากาศ ส่วนด้านอุตสาหกรรม พิษณุโลกกำหนดเป้าไว้ว่า เราจะเป็นศูนย์นวตกรรมด้านอาหาร เน้นเทคโนโลยีด้านการแปรรูป โดยมีมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นศูนย์ในด้านวิชาการ และจะพัฒนาความร่วมมือกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งเทศบาล องค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อที่จะมารวมตัวกันจดทะเบียนลักษณะคล้ายกรุงเทพมหานครธนาคม ซึ่งมีลักษณะเป็นเทศพานิชย์เพื่อแก้ไขปัญหาการทำงานในพื้นที่ซึ่งมีการดูแลของหลายหน่วยงาน เช่น การตัดการเส้นทางจราจรที่จะต้องผ่านเขตรับผิดชอบของเทศบาล เมื่อออกนอกเมืองไปจะกลายเป็นความรับผิดชอบขององค์การบริหารส่วนจังหวัด หรืออง๕การบริหารส่วนตำบล ซึ่งตรงนี้ก็จะสามารถผลักดันให้สามารถทำงานร่วมกันเพื่อให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ อย่างเช่น ที่ขอนแก่นเคยทำมา ทั้งนี้ยังพยายามที่ผลักดันให้เกิดการเดินหน้ายุทธศาสตร์พิษณุโลก2020 อย่างเต็มที่โดยจะมีการจัดเวทีนำเสนอเพื่อให้รัฐบาลทราบข้อมูล เพื่อการสนับสนุน และเตรียมตัวที่จะก้าวต่อไปในอนาคต

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ