วานนี้ 1 พ.ค. 2565 ที่ลานกิจกรรมข่วงประตูท่าแพเชียงใหม่ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดกิจกรรมเนื่องในวันแรงงานสากล คู่ขนานกับกรุงเทพมหานคร ภายใต้ชื่อกิจกรรม “Worker Fest! เราทุกคน คือ คนงาน, We all are workers” โดยในบริเวณงานองค์กร/กลุ่มด้านแรงงานจัดกิจกรรม ออกบูธนิทรรศการ การเล่นเกมส์ การแสดงดนตรีและเดินแฟชั่นโชว์ภายใต้แนวคิด “เราทุกคน คือ คนงาน”
บรรยากาศมีความคึกคัก มีแรงงานทั้งชาวไทยและแรงงานเพื่อนบ้านเข้าร่วมจำนวนมาก ในซุ้มรณรงค์ของเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ กล่าวถึงค่าใช้จ่ายของกลุ่มแรงงาน ได้แก่ ค่านมลูก ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าทำบัตร ค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าห้อง ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าเรียนออนไลน์ของบุตรหลาน ค่ารักษาพยาบาล และที่สำคัญที่สุด คือเครือข่ายแรงงานภาคเหนือเรียกร้องและต้องการ “ค่าแรงที่เป็นธรรม”
นอกจากนั้นยังมีการตั้งโต๊ะรวบรวมรายชื่อสนับสนุนการฟ้องเพิกถอนคุณสมบัติสัญชาติไทยในการเยียวยาผลกระทบจากโรคโควิด-19 ตามโครงการ ม.33 เรารักกัน กิจกรรมซุ้มของกลุ่มของแรงงานภาคบริการสำรวจความเห็นในประเด็นเกี่ยวกับแรงงานในด้านต่าง ๆ เป็นต้น
นายสุชาติ ตระกูลหูทิพย์ ผู้ประสานงานโครงการสิทธิแรงงานมูลนิธิเพื่อสุขภาพของแรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ และตัวแทนเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ กล่าวว่า งานในวันนี้ใช้ชื่อภาษาไทย เราทุกคนคือคนงาน เพราะเราถูกทำให้เข้าใจว่าวันนี้เป็นวันของกรรมกรหรือแรงงานระดับล่าง หรือคนที่ต้องทำงานโดยใช้แรงกายเป็นหลัก ทั้งที่คนอื่น ๆ ซึ่งอาจจะเป็นพนักงานออฟฟิศหรือทำงานภาคบริการงานอื่น ๆ หรือแม้กระทั่งคนที่ทำงานอิสระก็เป็นแรงงาน เป็นคนทำงานเหมือนกัน
ดังนั้นเป็นเรื่องที่คนทุกคนที่เป็นคนทำงานต้องออกมาร่วมกันผลักดันไปสู่การแก้ไขปัญหาของแรงงานไม่ใช่บอกว่าเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเรื่องของแรงงานที่เป็นที่เป็นแรงงานที่ต้องใช้แรงกายอย่างเดียว แต่มันเป็นเรื่องเชิงโครงสร้างที่ต้องปรับไปสู่การมีค่าจ้างที่เป็นธรรม
ตัวแทนกลุ่มแรงงาน กล่าวอีกว่า วันนี้มีไฮไลท์เป็นคลิปวิดีโอถ่ายทำถึงปรากฏการณ์ชีวิตของคนงานในช่วงสถานการณ์โควิดและการต่ออายุบัตรแรงงานข้ามชาติ ที่สะท้อนความยากลำบากในการเก็บเงิน เพื่อจ่ายเป็นค่าทำบัตร มันสะท้อนผ่านที่คนงานจำนวนมากไปทำบัตรกันในช่วงท้าย ก่อนจะครบกำหนดที่รัฐบาลประกาศ
เราพบว่ามีคนงานบางส่วนต้องหลุดออกจากระบบ เพราะไม่มีเงินที่จะไปจ่ายค่าทำบัตรแบบนั้น ฉะนั้นประเด็นสำคัญที่อยากจะชี้คือตัวรายได้ของคนทำงานมันยังไม่มากพอที่สามารถเรียกว่าเป็นค่าจ้างที่ไม่เป็นธรรม ข้อเสนอหลัก ๆ ในงานวันนี้จึงอยู่ภายใต้ค่าจ้างที่เป็นธรรมสำหรับแรงงานในทุกทุกภาคส่วน ไม่ใช่ที่ไม่ใช่แค่ค่าจ้างขั้นต่ำแต่เป็นค่าจ้างที่ให้คนงานสามารถเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวได้
ประเด็นที่สอง เรามองว่าแรงงานในทุกส่วนนั้น สามารถรวมกลุ่มกันเพื่อมีอำนาจในการเจรจาต่อรองหรือนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น รัฐจะต้องรับรองอนุสัญญา ILO 87, 98, 189 ถึงเรื่องการรวมกลุ่มและการเจรจาต่อรองร่วมเพื่อนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ในส่วนของแรงงานข้ามชาตินั้นกลายเป็นความจำเป็นซึ่งไทยไม่สามารถปฏิเสธได้อีกต่อไป ดังนั้น แนวคิดเรื่องเราทุกคนคือคนงานจึงไม่ได้จำกัดหรืออยู่ที่ตัวแรงงานไทยเท่านั้น แต่รวมถึงแรงงานข้ามชาติอื่น ๆ ที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยด้วย ฉะนั้นรัฐเองต้องมีมาตรการที่รองรับพวกเขาอย่างเหมาะสมทั่วถึงอย่างกรณีเรื่องของทำบัตร
“สิ่งที่ทำได้เลยคือขยายระยะเวลาในการต่อบัตรควรที่จะเป็นสี่ปีได้แล้วถ้าต่อปีต่อปีเป็นการสร้างภาระ และเรื่องของการใช้ระบบเอกสารหรือขั้นตอนในการต่อบัตรต้องลดขั้นตอนอาจจะใช้วิธีการอื่นเข้ามาเพิ่มเช่นข้อมูลทางออนไลน์หรือข้อมูลที่อยู่ในซอฟต์แวร์โดยไม่ต้องจำเป็นต้องพิมพ์ออกเป็นกระดาษ ต้องคอยมาเขียนมากรอกทุก ๆครั้งที่มีการต่อบัตรขึ้นทะเบียนแรงงาน”
ที่สำคัญ หากนายจ้างมีความต้องการที่จะขึ้นทะเบียนแรงงานเมื่อไหร่สามารถขึ้นทะเบียนได้ตลอดเวลาไม่จำเป็นต้องรอช่วงจะเปิดช่วงนี้หนึ่งเดือนเปิดช่วงนี้สามเดือนซึ่งปรากฏการณ์ที่เราเห็นคือการนำไปสู่การคอร์รัปชันหรือการเรียกรับผลประโยชน์หรือคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากกระบวนการเหล่านี้คือกระบวนการนายหน้า
สำหรับข้อเรียกร้องเครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ในปี 2565 ประกอบด้วย
1. อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 492 บาททั่วประเทศ
2. รับรองอนุสัญญา ILO 87, 98, 189
3. ทุกอาชีพต้องได้ประกันสังคม
4. ทุกอาชีพ ทุกรูปแบบการทำงานต้องได้รับการคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานทุกฉบับ
5. ใบอนุญาตทำงานของคนงานข้ามชาติต้องมีอายุคราวละ 4 ปี
6. ยกระดับการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเป็นระบบดิจิทัล
7. ยกเลิก พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี
8. รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า
9. ควบคุมราคาสินค้าอุปโภค บริโภค
10. ยกเลิกร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการทำงานขององค์กรไม่แสวงหาผลกำไร
11. สิทธิและเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุม
เสวนาคนงาน ครวญ ค่าจ้างต่ำ ค่าครองชีพสูง
ในช่วงหัวค่ำมีเวทีเสวนาเชิงการให้ข้อเสนอแนะต่อภาครัฐและภาคเอกชนในหัวข้อ “ค่าจ้างต่ำ-ค่าครองชีพสูงในความจำยอมของคนทำงาน และการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติแสนแพง” โดยมีตัวแทนคนทำงานจากภาคผลิตต่าง ๆ ได้แก่ ไรเดอร์ แรงงานภาคการเกษตร แรงงานก่อสร้าง แรงงานพนักงานบริการ แรงงานแม่บ้านและแรงงานภาคประชาสังคม
ตัวแรงงานไรเดอร์ กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 หลายคนอาจคิดว่าไรเดอร์เงินดี แต่งานเราขึ้นอยู่บนแพลตฟอร์มที่มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ลูกค้า ร้านค้า และไรเดอร์กับบริษัท เมื่อโควิดอยู่นาน เศรษฐกิจก็ถดถอย ร้านค้าทยอยปิดตัวเรื่อย ๆ ส่งผลให้งานมีน้อยลง ไรเดอร์บางคนใช้เวลา 2 ชั่วโมงเพื่อให้ได้ 1 งาน เป็นต้น
“ผมไม่ปฏิเสธว่ามันเป็นงานอิสระ จะเข้างานเมื่อไหร่ก็ได้ เลือกวันหยุดเองได้ แต่เมื่อเลือกทำงานนี้แล้ว ทุกคนจะค่าใช้จ่ายอื่น ๆ จะตามมา เช่น ผมเป็นนักศึกษาจบใหม่ พอมาทำจริง ๆ มันต้องใช้ชั่วโมงการทำงาน เหมือนคนทำงานทั่วไป ถ้าอยากจะได้ค่าตอบแทนเท่ากับค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาท ไรเดอร์อาจต้องรับทั้งหมด 10 งาน หรือบางเจ้าให้ค่ารอบ 28 บาท แสดงว่าเราก็ต้องเพิ่มชั่วโมงการทำงานเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ”
ผู้แทนไรเดอร์กล่าว หลังเผชิญสถานการณ์การลดค่ารอบ ไรเดอร์ประท้วงกันหลายรอบ ขับรถไปที่ศาลากลางจังหวัด ไปยื่นหนังสือที่กรมแรงงานให้มาช่วยจัดการ แต่จนถึงตอนนี้เราก็ยังไม่ได้ค่ารอบกลับคืนมา
ส่วนผู้แทนแรงงานภาคเกษตร กล่าวว่า ในช่วงโควิดที่ปัญหาแรกที่คนงานในภาคเกษตรได้รับผลกระทบ คือการขาดรายได้ หากเพื่อนแรงงานในกลุ่ม หรือพักอาศัยในห้องแถว ในชุมชน หรือแค้มป์คนงานเดียวกัน เกิดติดโควิดเพียงคนหนึ่ง เจ้าหน้าที่รัฐ อสม. หรือหน่วยงานสาธารณสุขอื่น ๆ จะห้ามไม่ให้แรงงานทั้งหมดไปเก็บผลผลิต หรือทำงานตามปกติ ในคือการขาดรายได้แบบยกหมู่
“พอขาดรายได้ รัฐและนายจ้างไม่ได้มีการดูแลเลย เมื่อหยุดงานก็คือไม่มีเงิน มันเหมือนกับว่าตกงานไปเลย พี่น้องแรงงานในชุมชนแรงงานต้องพยายามช่วยเหลือกันโดยการระดมสิ่งของ ข้าวสาร อาหารแห้ง เพื่อบรรเทาช่วยเหลือซี่งกันและกันไป”
ด้านผู้แทนพนักงานบริการ กล่าวว่า เราถูกสั่งปิดกิจการก่อนเพื่อน และยังไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ ทั้งสิ้น พวกเราอยู่กันอย่างไร ก็ทำเท่าที่ได้ บางคนต้องไปรับจ้างก่อสร้าง ขับรถส่งของ ขายอะไรเล็ก ๆ น้อย ๆ เพราะว่าทุกคนมีลูก พ่อแม่ที่ต้องดูแล ต้องดิ้นรนออกไป แม้จะรวมตัวกันไปเรียกร้องขอความช่วยเหลือให้มีการเยียวยา แต่เราก็ไม่เคยได้ เขาบอกว่าเราทำงานในสถานบริการ เป็นพนักงานบริการ เขาไม่มองเราเป็นอาชีพ ไม่ได้มองเราเป็นแรงงาน ทั้ง ๆ ที่เราเป็นแรงงาน เราก็ทำงานเหมือนกัน
แรงงานภาคก่อสร้าง กล่าวว่า ตนได้รับค่าแรงต่ำประมาณ 300 บาทต่อวัน แต่ค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อย ๆ ค่าซื้อของ ค่าใช้จ่าย สูงขึ้น ต้องส่งลูกเรียน ค่าน้ำ ไฟ พอโควิดระบาด แรงงานก่อสร้างส่วนใหญ่ไม่ได้ทำงาน บางทีต้องทำวันเว้นวัน และยังมีเรื่องค่าบัตรเข้ามาอีก พี่น้องแรงงานต้องยากลำบากมากที่ต้องหาเงินไปต่อบัตร
ขณะที่ตัวแทนแรงงานภาคประชาสังคม กล่าวว่า เขาหาว่าเราชอบปลุกปั่นคนอื่น แต่เรามาจากปัญหาสังคมที่เกิดขึ้น เราถึงต้องรวมตัวกัน มีความคิด อุดมการณ์เพื่อแก้ไขปัญหา สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นมามันมาตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว จนกระทั่งโควิดเข้ามา สถานการณ์เศรษฐกิจแย่ลง สวัสดิการไม่มี ค่าแรงของแรงงานไม่เพียงพอ
แม้รัฐบาลจะมีมาตรการช่วยเหลือ เช่น คนละครึ่ง แต่ในความเป็นจริงนโยบายคนละครึ่งมันทำให้ร้านค้าและนายทุนขึ้นราคาสินค้า ทำให้เราต้องจ่ายแพงขึ้นไปอีก เราจึงออกมาเรียกร้องว่าควรเพิ่มค่าแรงให้เพียงพอต่อค่าครองชีพ มันจึงเกิดภาคประชาสังคมขึ้นเพื่อไปต่อรอง พูด เรียกร้อง ช่วยเหลือคนที่กำลังเดือดร้อน ภาคประชาสังคมแต่ละภาคส่วนก็มาจากคนที่เดือดร้อน แต่กลับมีกฎหมายคัดค้านการรวมกลุ่มของประชาชน ตรวจสอบองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร เนื้อหาใน พ.ร.บ. ตัวนี้กำลังห้ามพวกเรารวมกลุ่มกัน ฉะนั้นถ้าเราเดือดร้อน อยากไปบอกความเดือดร้อนของเรามันทำไม่ได้อีกแล้ว เราจึงลุกขึ้นมาต่อต้าน
ทั้งนี้ ยังมีการเปิดตัวฉายสารคดีที่พูดถึงเรื่อง ต่อบัตร ภาระ ภาษี แรงงานข้ามชาติ โดย เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ บอกเล่าเรื่องราวชีวิตที่ผูกติดอยู่กับการจ่ายค่า “ต่อบัตร” ของแรงงานข้ามชาติ หลายคน “ต้องลุ้นว่าปีนี้ค่าต่อบัตรจะเท่าไหร่ ทุกปีไม่เหมือนกัน”
สามารถรับชมคลิปเต็มได้ที่ https://fb.watch/cK9vRC922T/
อ่านเพิ่มเติม ข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากล 2022
———————————————————————————————————————
ข้อเรียกร้องเนื่องในวันกรรมกรสากล 2022
ด้วยวันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปี เป็น “วันกรรมกรสากล” ซึ่งเป็นวันที่คนทำงานทั่วโลกได้รำลึกถึงการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในสังคมของคนทำงาน เป็นการยกย่องและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของคนทำงานในทุกสาขาอาชีพ สิทธิอันชอบธรรมที่คนทำงานสมควรได้รับในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับประชาชนกลุ่มอื่น ๆในฐานะที่คนทำงานเป็นส่วนสำคัญหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวไปข้างหน้าและทัดเทียมกับนานาประเทศ แต่ในช่วงสามปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันคนทำงานทุกสาขาอาชีพต้องเผชิญกับวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้วันทำงานน้อยลงส่งผลให้มีรายได้ลดลง บางส่วนตกงาน โดยรัฐบาลไม่มีมาตรการในการช่วยเหลือเยียวยาอย่างเหมาะสมและทั่วถึง ประกอบกับค่าครองชีพที่สูง เนื่องจากสินค้าอุปโภคและบริโภคต่างปรับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสวนทางกับรายได้และค่าจ้างของคนงานที่ลดลงเนื่องจากได้ผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด 19 และทั้งนี้ในรอบสองปีที่ผ่านมาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไม่มีการปรับขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งฐานอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปัจจุบันแทบไม่พอสำหรับเลี้ยงดูตนเองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ และนอกจากนี้ยังพบว่ามีกลุ่มคนงานเปราะบางได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และถูกละเมิดในเรื่องวันหยุดประจำสัปดาห์ ค่าจ้างในการทำงานในวันหยุดและวันลา ทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจ รวมถึงไม่ได้เข้าสู่ระบบประกันสังคม
เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาและส่งเสริมให้เห็นถึงคุณค่าความสำคัญของคนทำงาน เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ร่วมกับคนทำงานทุกสาขาอาชีพจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการดังต่อไปนี้
- รัฐบาลต้องควบคุมราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคโดยด่วน
- ขอให้รัฐบาลนำหลักการการคำนวณค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานแรงงานสากล มาใช้เป็นหลักการการคำนวณอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย เพื่อให้สอดคล้องกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้นในปัจจุบันโดยเสนอให้มีการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 492 บาทต่อวันและใช้อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราเดียวกันทั่วทั้งประเทศ โดยให้ดำเนินการและประกาศอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอัตราใหม่ภายในปี 2565
- ขอให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว และเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และอนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของคนงานทำงานบ้าน
- ขอให้รัฐบาลปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยเร่งด่วน ในกรณีดังต่อไปนี้
4.1 ออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพเข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ
4.2 ปรับปรุงเงื่อนไขการเกิดสิทธิในกองทุนประกันสังคม โดยให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่มีการเข้าสู่ระบบประกันสังคม
4.3 แก้ไขกฎกระทรวงการจ่ายเงินบำเหน็จชราภาพของผู้ประกันตนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย โดยให้แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมที่ต้องการกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไปสามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำเหน็จชราภาพได้ทันที - ขอให้รัฐบาลดำเนินการโดยเร่งด่วนเพื่อแก้ไขนิยามของ “งาน” และ “แรงงาน” ให้ครอบคลุมแรงงานทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกวัย รวมถึงรูปแบบการทำงานที่มีความหลากหลายในการจ้างงาน อาทิ การจ้างงานแบบชิ้น (gig worker) เพื่อให้ แรงงานทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกวัย เช่น แรงงานภาคบริการ แรงงานนอกระบบ แรงงานข้ามชาติ แรงงานกลุ่มชาติพันธุ์ ลูกจ้างทำงานบ้าน คนทำงานแบบชิ้น (gig worker) ได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม กฎหมายกองทุนเงินทดแทน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงาน
- ขอให้รัฐบาลกำหนดนโยบายเกี่ยวกับการบริหารจัดการด้านแรงงานข้ามชาติอย่างเป็นระบบ ในระยาว เป็นแผน 5 ปี หรือ 10 ปี โดยให้คำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ และเน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และแก้ไขพระราชกำหนดการทำงานของคนต่างด้าว ปี 2561ในประเด็นต่อไปนี้
6.1 ให้มีการจัดระบบการขึ้นทะเบียนของแรงงานข้ามชาติเป็นระบบดิจิทัล และเปิดขึ้นทะเบียนได้ตลอดเวลาเพื่อสะดวกต่อการดำเนินการของทั้งลูกจ้าง นายจ้าง และภาครัฐ
6.2 ใบอนุญาตทำงานของคนงานควรปรับให้มีอายุคราวละ 4 ปี เพื่อลดค่าใช้จ่ายและขั้นตอนการดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานทั้งลูกจ้าง นายจ้างและภาครัฐ
6.3 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่อใบอนุญาตทำงานและเอกสารอื่น ทางภาครัฐควรกำหนดให้เหมาะสมกับรายได้ของแรงงานข้ามชาติ
6.4 ให้แรงงานข้ามชาติทำงานได้ทุกอาชีพตามความสามารถของตน
6.5 ขยายอายุของแรงงานข้ามชาติให้สามารถทำงานได้ถึงอายุ 60 ปี
6.6 ให้กรมพัฒนาฝีมือแรงงานกำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีการอบรมอาชีพแรงงานข้ามชาติ โดยระหว่างที่อบรมพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีค่าเบี้ยเลี้ยงตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และหลังจากที่จบการอบรมแล้วให้ออกใบรับรองการผ่านการพัฒนาฝีมือแรงงานที่สามารถนำไปใช้ในการปรับค่าจ้างตามระดับการพัฒนาฝีมือแรงงานได้
6.7 เปิดขึ้นทะเบียนผู้ติดตามเด็กที่ไม่ได้เกิดในประเทศไทย รวมทั้งผู้ติดตามที่เป็นผู้สูงอายุ
- ขอให้รัฐบาลยกเลิกพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี และให้แก้ไข พรบ.คุ้มครองแรงงาน 2541 ให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานภาคบริการ