เรียบเรียง : นาตยา สิมภา
เมื่อนึกถึงชุมชนริมรางรถไฟ คุณนึกถึงอะไร?
หลายคนคงมีประสบการณ์แตกต่างกันกับการเดินทางโดยรถไฟ บ้างอาจจะเคยเห็น เคยโดยสาร เคยใช้บริการ และล่าสุด กลุ่มคนรุ่นใหม่ก็อาจจะได้ยินอีกครั้งจากเวที Coachella 2022 ที่ศิลปินเดี่ยวชาวไทยคนแรก “มิลลิ” ร่วมแสดงบนเวที
“รถไฟ” นับเป็นการคมนาคมที่สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในครั้งอดีตให้การเดินทางสะดวกสบายเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการขยาย “เมือง” จากศูนย์กลางการปกครอง อย่าง กรุงเทพมหานคร ไปยังหัวเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาค โดยล่าสุด “รถไฟ (ความเร็วสูง)” กำลังจะพุ่งทยานไปตามเส้นทางรถไฟเดิม ซึ่งจะนำเป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ส่งผลต่อชุมชนริมรางอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยสารไปพร้อมกัน
Thai PBS โดยฝ่ายพัฒนานักสื่อสารพลเมือง สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ วางแผนการทำงานร่วมกับเครือข่ายภาคสังคม นักวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา และเครือข่ายสื่อพลเมืองจึงได้เปิดพื้นที่การสื่อสารอย่างมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มีการรับฟังและนำไปสู่การแก้ปัญหาบนฐานข้อมูล (Database) ผ่านการทำงานของโครงการฟังเสียงประเทศไทย Next Normal โดยมีการบันทึกรายการพร้อมชวนคุยถึงมุมมองและข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ณ วัดใหม่อัมพวัน อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา เมื่อวันพุธที่ 20 เมษายน ที่ผ่านมา ซึ่งมีตัวแทนผู้เกี่ยวข้องร่วมแลกเปลี่ยน รับฟังข้อมูลเพื่อรวมมองภาพอนาคตร่วมกัน ทั้ง นักศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา / เครือข่ายชุมชนริมรางเมืองย่าโม / สถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน (พอช.) และหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อมองและหาทางออกร่วมกัน ถึง “ภาพอนาคตชุมชนริมรางกับทางไปต่อ”
และนอกจากประสบการณ์ร่วมของตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่จ.นครราชสีมาและจ.ขอนแก่น รวมกว่า 30 คน ข้อมูลชุมชนริมรางเมืองโคราชกับทางไปต่อ ยังเป็นส่วนสำคัญที่สำหรับผู้ร่วมแลกเปลี่ยนในเวที
นครราชสีมา ตั้งอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและอยู่ในพื้นที่กลุ่มจังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 บนที่ราบสูงโคราช ห่างจากกรุงเทพมหานครโดยทางรถยนต์ 259 กิโลเมตร และโดยทางรถไฟ 264 กิโลเมตร แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 32 อําเภอ ประชากร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 มีจำนวน 2,648,927 คน
นครราชสีมา เดิมเป็นเมืองโบราณในอาณาจักรไทย ตั้งอยู่ในพื้นที่อําเภอสูงเนิน ห่างจากตัวเมืองปัจจุบัน 31 กิโลเมตร เรียกว่า “เมืองโคราฆะปุระ” หรือ “โคราช” กับ “เมืองเสมา” ต่อมามาผูกเป็นนามเมืองใหม่ เรียกว่า“เมืองนครราชสีมา”แต่คนทั่วไป เรียกว่า “เมืองโคราช”
นครราชสีมากับทางรถไฟ
สถานีรถไฟนครราชสีมาสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็นสถานที่มีขนาดใหญ่ และเป็นศูนย์ซ่อมรถไฟที่ใหญ่ที่สุดในภาคอีสานและเป็นสถานีรถไฟชั้น 1 ซึ่งมีรถไฟสายอีสานกรุงเทพ – อุบลราชธานีและกรุงเทพ – หนองคาย ที่สถานีรถไฟชุมทางถนนจิระเป็นชุมทางระหว่างทางรถไฟสายอีสานตอนบนไปสิ้นสุดที่ อ.เมือง จ.หนองคาย และรถไฟสายอีสานตอนล่างที่จะแล่นไปสิ้นสุดที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี มีอำเภอที่มีเส้นทางรถไฟพาดผ่าน ทั้งสิ้น 11 อำเภอ ได้แก่
- อ. ปากช่อง
- อ. สีคิ้ว
- อ. สูงเนิน
- อ.เมือง
- อ.โนนสูง
- อ. คง
- อ. บัวใหญ่
- อ. บัวลาย
- อ. เฉลิมพระเกียรติ
- อ. จักราช
- อ. ห้วยแถลง
ซึ่งมีขบวนรถท้องถิ่นวิ่งให้บริการระหว่างจังหวัด มีสถานีรถไฟภายในรวม 41 สถานี ซึ่งชาวโคราชรู้จักโดยทั่วไปว่า “หัวรถไฟ”
วรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ได้เขียนบทความ ปี ๒๔๔๓ กับความเปลี่ยนแปลงของชาวโคราช เมื่อรถไฟมาถึง ซึ่งเล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ว่า “…เกิดความเปลี่ยนแปลงต่อวิถีของชาวโคราชในช่วงเวลานั้นหลายประการ ทั้งในด้านการอุปโภค บริโภค การขยายตัวของเมืองดังปรากฏให้เห็นจากรายงานผลการเดินทางไปตรวจราชการ ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ปี 2445 เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในขณะนั้นกิจการรถไฟดำเนินการไปแล้วกว่า 1 ปี ดังนี้
- สินค้าอุปโภค บริโภค
- คนโคราชนำสินค้าขึ้นมาขายจากกรุงเทพฯ โดยตรง มีทั้งข้าวเปลือก สุกร ยาง ส้ม มะขามป้อม สมอ นุ่น มะขามฝัก (เพราะคนเมืองนี้ไม่กิน) มะเกลือ ส้ม อ้อย เนื้อโค ไม้เสาเรือน ไม้ไถ ไม้เครื่องเกวียน ไม้แดง ไม้ท่อน ศิลา โค ม้า เป็ด ไก่ หมากพลู ปูนแดง ยาจืด และสินค้าพิเศษคือการนำน้ำแข็งมาจากกรุงเทพฯ
- วิถีการบริโภค
- คนในเมืองโคราชเริ่มหันมาบริโภคเกลือทะเลแทนเกลือสินเธาว์ บริโภคยาเส้นจากกรุงเทพฯ ซึ่งมีต้นตำรับจากเกาะกร่าง ลุ่มแม่น้ำแม่กลอง และปลูกอย่างแพร่หลายที่เมืองกาญจนบุรี แทนยาเส้นจากเดิมที่นำมาจากเมืองเพชรบูรณ์กับเมืองหนองคาย และคนโคราชเปลี่ยนการบริโภคปลาร้า จากเดิมซื้อจากเมืองพิมาย หันมาบริโภคปลาร้าจากกรุงเก่า เมืองอยุธยา
- การแลกเปลี่ยนสินค้า
- ในเรื่องการแลกเปลี่ยนสินค้าของพ่อค้าคนกลาง พ่อค้าจากมณฑลอิสาน (อุบลราชธานี) แบะมณฑลอุดร (อุดรธานี) ไม่รับสินค้าผ่านพ่อค้าคนกลางเมืองโคราชแล้ว แต่ลงไปซื้อด้วยตนเองที่กรุงเทพฯ นอกจากนี้ยังมีการนำปลาย่าง ปลากรอบ จากพระตะบอง บรรทุกใส่เกวียนคราวละ 50-60 เล่ม แล้วบรรทุกรถไฟลงไปขายที่กรุงเทพฯ
- สิ่งปลูกสร้าง
- สิ่งปลูกสร้าง ทั้งโรงเรือนมุงสังกะสี และโรงแถวปลูกใหม่ ในเมืองโคราชมีเพิ่มขึ้นทั้งในเมืองและนอกเมืองค่อนไปทางสถานีรถไฟนครราชสีมาในปัจจุบัน ที่ดินมีราคาเพิ่มสูงขึ้น ถึงตารางวาละ 6-7 บาท เมื่อมีความต้องการมากขึ้นจึงส่งผลให้เกิดโรงรับจ้างทำอิฐ ทำกระเบื้องขึ้น นอกจากนี้ยังพบบ้านข้างทางรถไฟเกิดขึ้นใหม่ ทั้งที่ลาดบัวขาว สีคิ้ว และที่หนาแน่นที่สุดคือบ้านสูงเนิน (อำเภอสูงเนินในปัจจุบัน) มีชุมชนขนาดใหญ่ มีตลาดและโรงแถว
เมื่อมีความต้องการมากขึ้นจึงส่งผลให้เกิดโรงรับจ้างทำอิฐ ทำกระเบื้องขึ้น นอกจากนี้ยังพบบ้านข้างทางรถไฟเกิดขึ้นใหม่ ทั้งที่ลาดบัวขาว สีคิ้ว และที่หนาแน่นที่สุดคือบ้านสูงเนิน (อำเภอสูงเนินในปัจจุบัน) มีชุมชนขนาดใหญ่ มีตลาดและโรงแถว…”
นครราชสีมา รถไฟ และชุมชนริมราง
กว่า 60 ปีก่อน แม่เสงี่ยมเป็นเจ้าของวิกลิเกคนแรก เข้ามาตั้งถิ่นฐานที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อเปิดให้ชมการแสดงลิเกของคณะตัวเอง และคณะต่างๆ ริมถนนมุขมนตรีย่านชุมชนสวายเรียงเคยเฟื่องฟูด้วยคณะลิเกกว่า 200 คณะในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 คณะลิเกบางส่วนเดินทางมาจากกรุงเทพฯ หลังจากถูกกระแสนโยบายตั้งแต่รัฐบาลสมัยจอมพล ป. ไม่ยอมรับการแสดงลิเก จึงมาตั้งรกรากที่นี่โดยเลือกใกล้สถานีรถไฟเพื่อสะดวกต่อการคมนาคม
เมื่อรถไฟ (ความเร็วสูง) จะไปโคราช
การพัฒนาเส้นทางรถไฟ
ข้อมูลจาก แผนพัฒนาจังหวัดนครราชสีมาพ.ศ. 2561 – 2565 ฉบับทบทวน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ระบุว่า จ.นครราชสีมา เป็นหนึ่งในเส้นทางพัฒนาโครงการรถไฟ ดังนี้
1.รถไฟความเร็วสูงสายแรกกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ภายใต้ความ ร่วมมือไทย-จีน ระยะทาง 617 กม. แบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงที่ 1 (กทม. – โคราช) ระยะทาง 252.5 กม. เปิดให้บริการ พ.ศ. 2566 ช่วงที่ 2 (โคราช – หนองคาย) ระยะทาง 355 กม. เปิดให้บริการ พ. ศ. 2569
2.โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ มีเส้นทางที่ผ่านจังหวัดนครราชสีมา แบ่งออกเป็น 3 โครงการ คือ 1. ช่วงชุมทางถนนจิระ – ขอนแก่น ระยะทาง 187 กม. 2. ช่วงมาบกะเบา – ชุมทางถนนจิระ และ 3. ช่วงชุมทางถนนจิระ – อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กิโลเมตร
ฉากทัศน์ Scenario ภาพอนาคตชุมชนริมรางกับทางไปต่อ
ก่อนจะสนทนาแลกเปลี่ยนและมองภาพอนาคตของชาวชุมชนริมรางเมืองย่าโมอย่างรอบด้าน ณ วัดใหม่อัมพวัน อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา ที่มีตัวแทนชาวชุมชนริมรางรถไฟและคนในพื้นที่ 30 คน ซึ่งหลายคนต่างมีประสบการณ์ในต่อสู้เพื่อให้มีที่อยู่อาศัยและบางคนก็เคยลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูล ซึ่งจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในรายการของเรา มองภาพอนาคตของชุมชนริมรางกับ 3 ฉากทัศน์ที่อาจจะเกิดขึ้น ดังนี้ โดยมี คุณกมล หอมกลิ่น ผู้อำนวยการมูลนิธิสื่อสร้างสุข ทำหน้าที่ดำเนินวงสนทนา
“หลังจากได้ฟังข้อมูลภาพความจริงและบริบทให้ฟัง (Fact and Figures) คราวนี้เราจะมาฟังตัวแทนฉากทัศน์ทั้ง 3 ท่าน ซึ่งแต่ละท่านจะมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงเหตุผลเพื่อให้มีน้ำหนักมากขึ้น โดยท่านแรก ผศ.ดร.สกุล วงษ์กาฬสินธุ์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา จะขยายความต่อในเวลาประมาณคนละ 4 นาที”
ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติม ฉากทัศน์ SCE 1
ผศ.ดร.สกุล วงษ์กาฬสินธุ์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
“ดีใจที่ได้มาเป็นส่วนหนึ่งของพี่น้องริมรางที่บอกว่าจะไปต่อ แล้วจะไปต่ออย่างไร พอบอกว่าจะจ้าง บริษัทที่ปรึกษาที่จะให้ค่าชดเชยอย่างเป็นธรรม พอบอกว่าเป็นบริษัทที่ปรึกษาเราก็มีความกลัวอยู่เหมือนกัน ทำไมถึงไม่มีระบบภาคีที่มาตั้งแล้วให้พวกเราได้เป็นธรรม
คำว่า เป็นธรรม หรือ ธรรมะ แปลว่าไม่ต้องกดทับคนใดคนหนึ่ง ไม่กดทับศักยภาพ เศรษฐกิจจะก้าวหน้าและการพัฒนาจะก้าวหน้ามันต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง งั้นถ้าจะชดเชยผมคิดว่า มันต้องชดเชยด้วยความเป็นธรรมที่ไม่กดทับพี่น้องที่กำลังจะถูกไล่รื้อออกไป ก็อยากจะฝากไปถึงหน่วยงานว่าเราจะคำนวณความยุติธรรมนี้เท่าไร คำถามที่จะต้องถามกับบริษัทที่จะมาเป็นที่ปรึกษาที่จะจ่ายค่าชดเชย รถไฟรางนี้ถ้าย้อนกลับไปพี่น้องบางคนเกิดอยู่ที่นี่ แก่อยู่ที่นี่และหวังว่าจะตายอยู่ที่นี่
แต่วันนี้เมื่อรางรถไฟมาก็ต้องไปที่อื่นงั้นความเป็นธรรมตรงนี้จะจ่ายเท่าไหร่ แล้วผลประโยชน์ที่จะได้จากบริษัท 1 ปี จะได้เท่าไร ถ้าจะแบ่งให้เรา 2-3 เปอร์เซ็นต์ คิดให้ล่วงหน้าได้ไหมถ้าไม่อยากให้เราเรียกร้องภายหลังมันเป็นเงินเท่าไหร่ ถึงจะสร้างความยุติธรรมที่ไม่กดทับพวกเรา ให้พวกเราไปอย่างมีความสุขเหมือนกับที่หลายคนกำลังมีความสุข กำลังเห็นแววประกายว่าเศรษฐกิจมันจะก้าวหน้าแล้วนะ โคราชเราจะไปถึงจีนไปถึงลาวทุกคนดีใจ แต่ในขณะเดียวกันมีคนตัวเล็กตัวน้อยซึ่งเป็นคนที่เสียงเบา ๆ กลับกำลังน้ำตาไหลเหมือนคุณแม่ที่พูดเมื่อกี้ว่า ลูกชายที่แต่งงานกับคนที่มาจากอุบลราชธานี ลูกสาวแต่งงานกับคนที่มาจากหนองคาย ถ้าให้กลับไปที่เดิมแล้วที่เดิมคือที่ตรงไหน งั้นครอบครัวของผมต้องแยกกันใช่ไหม คนหนึ่งไปอยู่อุบลราชธานี อีกคนต้องไปอยู่หนองคาย ความเป็นญาติพี่น้องมันจะแตกลงไหม ซึ่งความยุติธรรมต้องมองในหลายมิติ ก็อยากจะให้ทุกภาคส่วนได้มองถึงสิ่งเหล่านี้บ้าง ประการต่อมาผมคิดว่าค่าชดเชยที่จะให้หรือความเป็นธรรมผมก็มองอันหนึ่งคือเป็นเงินแหละ
อันที่สองถ้าจะเตรียมให้เขาไปควรจะเตรียมอาชีพไหม บ้านเขาจะไปอยู่ที่ไหน แล้วมีอาชีพก็ต้องเตรียมคนให้พร้อมให้มีศักยภาพ ผมคิดว่าอันนี้คือสิ่งที่จะต้องเตรียมให้เขาพร้อมที่จะไปอยู่อย่างมีความสุขไม่ใช่ว่าไปแล้วสร้างบ้านให้ 1 หลัง ให้ปลากระป๋อง 5 กระป๋อง, ข้าวสาร 5 กิโลกรัม อยู่ได้ไม่ถึง 1 เดือนหรอกครับเพราะว่าการไปสร้างวิถีชีวิตใหม่กว่าจะเข้าที่เข้าทางกว่าจะมีค่าใช้จ่ายที่เพียงพออันนี้ก็เป็นสิ่งที่ต้องฝากให้คิดเหมือนกัน แต่ถ้ารัฐได้เตรียมตัวว่าคนที่จะไปมีอาชีพใหม่ เข้าสู้โรงงาน หรืออะไรที่เพียงพอตรงนี้รัฐก็ต้องเตรียมให้
คำว่ายุติธรรมก็ต้องให้เขารู้สึกว่าไปแล้วมีโอกาสมากกว่าเก่า ไปอยู่ที่ใหม่ก็ต้องคิดว่าต้องดีกว่าที่เก่าแน่ ๆ มันต้องเหมือนกันรถไฟที่กำลังมาพวกเรารู้สึกเรามีพลัง ต้องให้พี่น้องไปแบบนี้นะครับ อันที่สองผมเชื่อว่าประเทศไทยเรามีทรัพยากรที่มากมายถ้ารู้จักการจัดสรรแบ่งปันผมเชื่อว่าที่ดินแห่งใหม่ ที่อยู่แห่งใหม่ ถ้ารัฐจริงใจผมคิดว่าเหล่านี้สามารถมาแบ่งปันให้พี่น้องอยู่ได้อย่างเหลือเฟือกับศักยภาพที่เรามีอยู่ ประการสุดท้ายก็อยากจะฝากว่า พี่น้องที่กำลังจะถูกไล่รื้อก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีใหม่ไม่ใช่วิถีเดิม ถ้าภาพอุตสาหกรรมใหม่มันต้องการคนแบบนี้ก็ต้องพร้อมที่จะลุกขึ้นมาพัฒนาศักยภาพตัวเองให้สอดคล้องที่จะเข้าทำงานกับบริบทของเศรษฐกิจใหม่ครับ”
ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติม ฉากทัศน์ SCE 2
นิยม พินิจพงษ์ เครือข่ายริมรางเมืองย่าโม “ชุมชนของเราก่อนที่จะก่อตั้งกลุ่มออมทรัพย์ ครั้งหนึ่งเคยตั้งใจว่าจะออมทรัพย์เพื่อซื้อที่ดิน แต่พอประเมินดูที่ดินมันแพงหูฉีก ชาวบ้านต้องไปแบกรับหนี้ ค่าบ้าน,ค่าที่ดิน ที่ทำมาหากินจะไปหากินตรงไหนก็ยังไม่รู้ แสงสว่างยังมองไม่เห็นเลย ก็เลยเปลี่ยนเข็มทิศใหม่ด้วยการขอเช่าพื้นที่ของการรถไฟ เราก็เลยรวมกันต่อสู้ทั้ง 7 ชุมชนกับอีก 1 กลุ่ม ทั้งหมด 166 หลังคาเรือนยินดีทุ่มเทที่จะไปพร้อม ๆ กัน เหมือนกับลิเกคณะหนึ่งจะแยกกันอยู่ไม่ได้ก็ต้องไปเป็นทีม พวกเราทั้งหมดก็เลยตัดสินใจว่าไปเช่าที่ดินก็วิ่งต่อสู้กันมาจนประสบความสำเร็จเกินครึ่ง
ตอนนี้รอเรื่องเข้าบอร์ดที่จะทำสัญญาเช่า โดยได้พื้นที่พะไล บริเวณโรงเรียนพะไล อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา เป็นพื้นที่ท้องช้างกว้างประมาณ 7 ไร่กว่า ๆ สัญญาเช่าก็ระบุไว้ 30 ปี ตารางเมตรละ 20 บาทต่อปี คือให้คนจนสามารถเช่าได้ เดินต่อไปได้และไม่ใช่แค่เพื่อที่อยู่อาศัยเราวาดฝันไปถึงว่าพี่น้องที่ไปอยู่ที่ใหม่เขาจะต้องไปทำมาหากินและที่ที่เราหวังไหวมันก็ไม่ไกลมากเป็นที่ที่เจริญ พี่น้องไม่ใช่ว่าจะเอาแต่ที่ไปแล้วก็ไปนอนแต่ไม่มีที่ทำมาหากินจะอยู่กันได้ยังไง ค่าที่ก็ต้องจ่ายบางคนไปกู้เงินมาก็ต้องส่ง เราจึงวางแผนกันเป็นระบบว่าเช่าที่ดินของการรถไฟ ส่วนที่เก่าเราอยู่ไม่ได้แล้วยังไงก็ต้องไป ก็เลยตกลงกันว่าไปขอเช่าที่ใหม่ ตอนนี้ก็มีสัญญาณมาว่าเดือนพฤษภาคมนี้ เรื่องจะเข้าบอร์ดน่าจะได้เซ็นต์สัญญาไม่ช่วงต้นก็ปลายเดือนมิถุนายนตามรูปแบบจะเป็นอย่างนั้น
นี่คือความหวังของคนจนที่จะไปต่อได้เพราะต่างคนก็มีอาชีพเก็บของเก่าบ้าง แม่ค้าแผงลอย ทุกวันนี้มีโควิด-19 เข้ามาเกาะกิน ก็ทำมาหากินไม่ได้รายได้ก็ลดลงไป ให้เราไปซื้อที่อยู่จบเลยชีวิตไม่ต้องทำอะไรกันแล้วเดี๋ยวก็ต้องทิ้งที่นู้นกลับมาบุกรุกใหม่อีกเหมือนเดิมไม่จบไม่สิ้น เรื่องนี้ก็อยากให้รัฐบาลแก้จุดตรงนี้คือแบ่งสันปันส่วนที่ดินให้คนจนอยู่โดยทำให้ถูกต้องตามกฎหมายคือให้สัญญาเช่ากับชาวบ้านเพื่อจะหมดภาระ ถ้าท่านจะทำให้ประเทศชาติเจริญชาวบ้านไม่กีดขวาง ชาวบ้านไม่ดื้อหรอก แต่ขอให้เขามีที่ไปเขาพร้อมที่จะไปทุกคน ก็ความหวังจะได้รับข่าวดีภายในเดือนสองเดือนนี้ ทุกคนดีใจไว้รอแล้ว”
ข้อมูลและมุมมองเพิ่มเติม ฉากทัศน์ SCE 3
สุพัฒน์ จันทนา ผู้อำนวยการภาค สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน (พอช.) “ในส่วนของผมผมก็มองดูว่าฉากทัศน์ที่ 2 และ 3 มันจะต้องไปด้วยกัน ถ้าพี่น้องเลือกฉากทัศน์ที่1 คือรับค่าชดเชยนี่คือแยกย้ายกันไปคนละทิศคนละทาง แต่เราต้องต่อสู้ในเรื่องของค่าชดเชยที่เป็นธรรม อย่างตอนต้นพี่น้องได้สะท้อนความรู้สึกที่ออกจากใจ ที่ได้มาอยู่ในที่บุกรุกในที่ริมทางรถไฟผมว่าไม่ต่ำกว่า 30 – 50 ปี คือทั้งชีวิตอยู่ตรงนี้แล้วก็อาชีพ รายได้ต่าง ๆ พวกนี้ แล้วเราก็บอกว่าเราเป็นคนจนเมืองผลสรุปคำสำคัญที่พี่น้องเล่าออกมาคือว่าพี่น้องที่อยู่
ริมทางรถไฟในมุมที่ผมคิดคือ ความไม่มั่นคงในชีวิตทุกด้าน มาอยู่ในที่บุกรุกอยู่อย่างหวาดระแวง หวาดกลัวว่าคนจะมาไล่ ชุมชนริมรางรถไฟของโคราชตอนนี้ที่มีผลกระทบมี 7 ชุมชนกับอีก 1 กลุ่ม ตอนนี้ที่มีการสำรวจข้อมูลมีผู้เดือดร้อนที่ได้รับผลกระทบ 342 ครัวเรือน แต่ใน 342 ครัวเรือนมี 166 หลังคาเรือนที่เป็นคนยากจนที่สุดเป็นคนกลุ่มเปราะบางที่สุดอยู่ในเมือง เป็นคนที่ไม่รู้จะไปไหน ส่วนอีกที่เหลืออาจจะมีที่ทางไป มีเครือญาติที่อยู่ชนบท มีแหล่งทำมาหากิน หรือมีอะไรต่าง ๆ แต่ 166 ครัวเรือนที่อยู่ใน 7 ชุมชน ไม่มีทางไปจะทำอย่างไรเพราะยังไงเราก็ต้องใช้ชีวิตอยู่กับวิถีของความเป็นเมืองอยู่ตรงนี้เพราะเป็นแหล่งอาชีพ รายได้และครอบครัว แต่ที่สำคัญก็คือว่าความไม่มั่นคงโดยเฉพาะเรื่องใหญ่ที่สุดก็คือเรื่องที่ดิน เรื่องที่อยู่อาศัยเป็นเรื่องรองนะครับ ถ้าเกิดได้ความมั่นคงในที่ดินเรื่องที่อยู่อาศัยก็จะมั่นคงตามมาเรื่องคุณภาพชีวิต อาชีพรายได้ของพี่น้องก็จะตามมา
ต่อยอดจาก Scenario ที่ 2นิดหนึ่งว่าในส่วนของชุมชนริมรางรถไฟทั้ง 7 ชุมชน 1 กลุ่ม มันต้องไปแนวนี้ก็คือว่า “เช่า” ขอเช่าที่กับทางรถไฟซึ่งตอนนี้ก็มีความคืบหน้าเรื่องการเจรจาเชิงนโยบายเรื่องพี่น้องที่บุกรุกในที่ริมทางรถไฟที่มีมายาวนาน มีเครือข่ายภาคประชาสังคมก็ต่อสู้ร่วมกับพี่น้องที่อยู่ริมทางรถไฟ จริง ๆ ก็เกือบทั่วประเทศภาคอีสานก็มีพี่น้องเครือข่ายสลัม 4 ภาค, พี่น้องเครือข่ายริมทางรถไฟก็ได้ผลักดันทั้งการสำรวจและการเจรจาต่อรอง เมื่อปี 2542 เครือข่ายสลัม 4 ภาคก็ได้มีการสำรวจข้อมูลพี่น้องที่ได้รับผลกระทบทั่วประเทศประมาณ 123 ชุมชน แล้วก็เจรจาโดยเอาชื่อ 123 ชุมชนเจรจาขอเช่ากับทางรถไฟ ปี 2543 บอร์ดการรถไฟก็มีมติเห็นชอบโดยหลักการที่จะให้จำนวน 61 ชุมชนสามารถที่จะเช่าที่ของการรถไฟได้และ 7 ชุมชนนี้ก็เป็น 1 ใน 61 ชุมชน ตอนนี้ทางชุมชนก็ได้ดำเนินการในการที่จะทำหนังสือขออนุญาต ไม่เกิน 2-3 เดือนนี้ หลังจากอนุญาตเสร็จแล้ว
ในส่วนของสถาบันองค์กรพัฒนาชุมชน (พอช.) ก็ได้อนุมัติโครงการเพื่อที่จะไปดำเนินการพัฒนาเรื่องที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่จะเช่ากับที่ดินการรถไฟเป็นทั้งงบด้านการสนับสนุนสาธารณูปโภคเรื่องการถมที่ดิน ต่าง ๆ ในกระบวนการนี้ไปแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารที่จะดำเนินการได้เพราะต้องรอเรื่องของสัญญาเช่าก่อน ซึ่งอันนี้ก็เป็นกระบวนการที่ต่อยอดในส่วนของ (พอช.) งบที่สนับสนุนไป 12 ล้าน เป็นงบอุดหนุนเพื่อไปพัฒนาสาธารณูปโภค พอพัฒนาสาธารณูปโภคแล้วกระบวนการก็ต้องมาอยู่ที่พี่น้องที่ต้องรวมตัวกัน ต้องสร้างทุนของตัวเอง ระบบการออมทรัพย์ที่พูดถึงกลุ่มออมทรัพย์ คำว่ากลุ่มออมทรัพย์คือว่าโยงการมีส่วนร่วมของพี่น้องมาออมด้วยกันคนละนิดคนละหน่อยตามกำลังของเราแต่อย่างน้อยขอให้มีการออม การออมมันทำให้เกิดการรวมกลุ่มรวมคนมาทำงานร่วมกันออมวันละ 1 บาทก็ได้ 1 เดือน 30 บาท ใครมีกำลังมากก็เดือนละ 100 บาท เพื่อเป็นการต่อยอดทุนในเรื่องของการที่จะไปสู่เรื่องบ้าน เรื่องที่ดินเราไม่ต้องไปใช้สินเชื่ออะไรเพราะว่าเราได้รับการเช่ามีความมั่นคงในระยะยาว 20-30 ปี พอมาเรื่องบ้านพี่น้องก็ต้องช่วยกันดู 166 ครัวเรือนต้องจัดกลุ่ม กลุ่มไหนที่พอไปได้พอมีรายได้หรือกลุ่มไหนระดับกลางและกลุ่มที่ยากจนที่สุดอย่างพี่น้องชุมชน (ไบเล่ย์-หลังจวน) ที่จนที่สุดซึ่งมันต้องเป็นรูปแบบของการสร้างที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมกับพี่น้อง ถ้าพี่น้องไม่จำเป็นที่จะต้องใช้สินเชื่อเพื่อกู้เรื่องที่อยู่อาศัยเรื่องสร้างบ้านพี่น้องมีวัสดุต่าง ๆ อยู่แล้วก็สามารถดำเนินการได้ แต่ถ้าพี่น้องมีกำลังแล้วจัดกลุ่มกันก็เข้าสู่กระบวนการในการใช้สินเชื่อจากสถาบันฯได้ ซึ่งสินเชื่อของสถาบันฯก็เป็นสินเชื่อที่ให้คนจนเข้าถึงที่สุดเพราะพวกเราไม่สามารถที่จะเข้าไปสู่ระบบสถาบันการเงินของรัฐได้เลย ของพอช.คล้าย ๆ เป็นกองทุนให้พี่น้องแบบระยะยาวให้เกิดการดูแลกันเองในกลุ่มออมทรัพย์โดยสหกรณ์บริหารจัดการกันเอง”
ท่ามกลางมุมมองและเสียงความคิดเห็นที่หลากหลาย นี่เป็นเพียงข้อมูลส่วนหนึ่งเพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วม “รับฟัง” และมองเห็นข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อร่วมออกแบบ “ภาพอนาคตชุมชนริมรางกับทางไปต่อ” ทั้งหมดนี้ ยังไม่มีคำตอบสุดท้าย เพราะเรื่องที่อยู่อาศัยยังเป็นโจทย์ที่ต้องการข้อมูลเพื่อร่วมออกแบบ ซึ่งจะนำไปสู่การร่วมตัดสินใจ
ร่วมโหวตฉากทัศน์ภาพอนาคตชุมชนริมราง
ไม่เพียงแค่ชาวชุมชนริมรางรถไฟเท่านั้นที่กำลังกำหนดภาพอนาคตให้กับตัวเอง ผู้อ่านและคุณผู้ชมทางบ้านยังสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นและโหวตเลือก “ภาพอนาคตชุมชนริมรางกับทางไปต่อ” พร้อมร่วมเสนอประเด็นเพื่อให้เกิดเวทีฟังเสียงประเทศไทย ทั้งประเด็นระดับชาติ และประเด็นท้องถิ่นอีสานกับอยู่ดีมีแฮง และ Thai PBS