สื่อชุมชน : ทางรอด คุณค่า และทางเดินต่อ
ทีวีชุมชน หนึ่งใน “สื่อชุมชน” ประเภทหนึ่ง ที่มีความขนาดและขั้นตอนในการดำเนินงานซับซ้อนกว่าสื่อประเภทอื่น และถ้ายิ่งเข้าไปเกี่ยวข้องกับ “ทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ที่กฎหมาย(เคย) รับรองสิทธิการเป็นเจ้าของของภาคประชาชนไว้ชัดเจน ก่อนจะมีการปรับเปลี่ยนให้รัฐมีอำนาจในการรักษาคลื่นความถี่ ทำให้ความชัดเจนของสิทธิการเป็นเจ้าของและได้ใช้คลื่นความถี่ของภาคประชาชนพร่าเลือนและคลุมเครือ (อ่านรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ. 2560 มาตรา 56 ประกอบ) ก็ยิ่งมีความยากและซับซ้อนขึ้นไปอีกมาก แต่หากพิจารณาถึงการลงมือทำของประชาชน หรือกลุ่มประชาชนที่สนใจทำสื่อในระดับชุมชน และสื่อชุมชน (ในความหมายการเป็นสื่อที่ชุมชนมีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมผลิต และร่วมชมตามอุดมคติและที่หลายประเทศเขาทำกัน) อย่างต่อเนื่องบนสื่อออนไลน์ในปัจจุบัน อาจกล่าวได้ว่าความซับซ้อนยุ่งยากที่เคยใหญ่โตลงไปมาก ยิ่งประชาชนคุ้นชินกับสื่อภาพและเสียง(วิดีโอ) และแสดงบทบาทการเป็นผู้ผลิตสื่อบนสื่อออนไลน์ได้อย่างกว้างขวางแล้ว ยิ่งไม่ใช่เรื่องที่ทำไม่ได้…แล้วสื่อชุมชนเติบโตตามหรือเปล่า?
หลังผ่านการเปลี่ยนผ่านและเปลี่ยนแปลงทั้งทางกฎหมาย การเปลี่ยนแปลงของชุมชน สังคม รวมถึงพฤติกรรมการสื่อสารและเสพสื่อของประชาชน ณ วันนี้ สื่อชุมชนและทีวีชุมชน ไปถึงไหนแล้ว ทั้งในทางวิชาการแวดวงนิเทศศาสตร์ และแวดวงคนทำสื่อชุมชนที่กระจายอยู่ในชุมชนต่าง ๆ นอกจากนั้นโจทย์หรือความท้าทายต่าง ๆ ได้เปลี่ยนแปลงหรือไม่อย่างไร
ศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชน มหาวิทยาลัยพะเยา จึงชวนนักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์และคนทำสื่อชุมชนหน้าใหม่ในอำเภอเล็ก ๆ จังหวัดน่าน อย่าง เมืองสวดแชนแนล และสื่อชุมชนในจังหวัดใหญ่เชิงประเด็น สถานีฝุ่น และเครือข่ายพันธมิตรที่เอาใจช่วยและจับมือทำสื่อมาด้วยกัน มาพูดคุย ทบทวนและการเดินก้าวต่อไป เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ณ จังหวัดเชียงใหม่ มีประเด็นที่น่าสนใจ…ชวนอ่านโดยพลัน
การอยู่รอดของสื่อชุมชน ประเด็นที่(ต้อง) คุยกัน…เอาไง?
ย้อนไปเกือบแปดเก้าปีก่อน การยกเอาเรื่องการอยู่รอด หรือเรื่องหาเงินหาทองของสื่อชุมชนและทีวีชุมชน เป็นประเด็นที่คนทำสื่อ หรือคนที่กำลังเริ่มอยากทำสื่อชุมชนและทีวีชุมชนเป็นเรื่องไม่ง่าย ทำให้เรื่องดังกล่าวแทบไม่มีการกล่าวถึงไม่ว่าจะพูดคุยหรือเปิดเวทีพูดคุยร่วมกับคนในชุมชนหรือพันธมิตรเครือข่าย เพราะกลุ่มแกนหลักจะรู้สึกว่าเป็นเรื่องกระอักกระอ่วนใจและลำบากใจที่จะพูดถึงเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ประเด็นการพูดคุยกันในช่วงเวลาก่อนหน้านั้นจึงเน้นไปที่เรื่องการจัดตั้ง หรือรวมกลุ่มอย่างไร จะผลิตอะไร เป็นประเด็นที่ให้น้ำหนักมากกว่า แต่มาถึงปัจจุบันเรื่องการอยู่รอด และการหารายได้เพื่อให้อยู่รอด เป็นเรื่องที่ผู้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนฯ พูดถึงอย่างเป็นปกติและมองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่คนทำสื่อชุมชนต้องเอาใจใส่ แต่ก็ยังมองว่าจังหวะและเวลาในการคุยเรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ควรเป็นจังหวะที่แกนนำหรือแกนหลักได้ผลิตผลงานหรือทำงานให้ชุมชนได้เห็นเชิงประจักษ์ก่อน ถึงจะเป็นแรงขยับให้หยิบยกเรื่องหารายได้จากทุนในและนอกชุมชน หรือกล่าวได้ว่าลำดับของการทำสื่อชุมชนควรเริ่มจาก หาคน(แกนหลัก) ได้ใจ (เครือข่าย/คนในชุมชน) มีเรื่อง (ประเด็นที่สำคัญต่อชุมชน) และหาทุน(รายได้/ทุนทำงาน)
“วิธีที่เราจะยืนหยัดได้เราวิเคราะห์กันต่อนะว่าเราต้องมีอะไรเราต้องมีคน ได้คนแล้วเราต้องได้ใจ มีใจและต้องมีตังค์ มีทุนนะ เข้ามาหนุนเสริมมีเรื่องราว ต้องมีคนมีใจมีทุนมีเรื่องและมีเครือข่าย แล้วทำงานสื่อสารอย่างต่อเนื่อง โดยสิ่งที่เราจะทำเพื่อขยายสื่อชุมชนเกิดขึ้นและเกิดพลัง คือรวมคนให้ได้ กระตุ้นความอยากของชุมชนให้เห็นว่าสิ่งที่ทำมีความสำคัญแล้วก็ใช้แกนนำ ดึงคนเข้าร่วม และให้แกนนำลงมือทำ Pilot Project ทดลองทำงานขึ้นมาให้ โดนใจ กระแทกใจ ไม่ได้หมายถึงเป็นประเด็นแรง ๆ แต่เป็นเรื่องสำคัญกับท้องถิ่นเพื่อจะเป็นโมเดลเป็นต้นแบบเป็นรูปธรรมและใช้ผลงานที่เกิดขึ้นเป็นกลไก กระตุ้นให้คนอื่น ๆ รู้สึกอยากเข้ามา ทำร่วม ให้มามีส่วนร่วมมากขึ้นเกิดเป็นเครือข่ายขึ้นมา แล้วค่อยขยับมาหาเรื่องการแสวงหารายได้ รายได้ไม่ใช่กำไรเป็นรายได้มาจากวิธีไหนก็ได้ วิธีแบบเดิมวิธีแบบใหม่ทั้งภายในชุมชนหรือภายนอก”
(ตัวแทนกลุ่มจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สื่อชุมชน แนวทางการพัฒนาสื่อชุมชนภาคเหนือ, 22 มีนาคม 2565)
“การอยู่รอด” จุดเจ็บปวดของสื่อชุมชน ที่ยังมองไม่ค่อยเห็นแสงปลายอุโมงค์
สื่อชุมชนควรมีรูปแบบการหารายได้อย่างไรได้บ้างนั้น เป็นคำถามที่ยากจะตอบได้ชัดเจน เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาของการมีอยู่ของสื่อ รูปแบบเดียวที่เราคุ้นชินและแทบจะเชื่อว่าคือรูปแบบเดียว ก็คือ “การหาโฆษณา” เชิงพาณิชย์ เท่านั้น ขณะที่ความรู้และตัวอย่างการหารูปแบบหรือตัวอย่างการหารายได้ การส่งเสริมและสนับสนุนสื่อชุมชนที่หลากหลายในรูปแบบอื่น ๆ แทบเป็นศูนย์ ดังนั้นประเด็นการอยู่รอดหรือทางรอดของสื่อชุมชน โดยเฉพาะทางรอดในเชิงรายได้หรือเงินทุน จึงเป็นจุดเจ็บปวดของคนทำสื่อชุมชน
ทุนเงินเริ่มต้นของสื่อชุมชน มักมาจากการลงขัน หรือทุนเงินของผู้ร่วมก่อตั้งหรือเริ่มดำเนินการ จากนั้นจึงมองหาโอกาสการเสนอขอรับทุนจากกองทุนหรือหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีพันธกิจให้ทุนสนับสนุน หรือมีแนวคิดร่วมกัน อย่างเช่นสื่อชุมชนเมืองสวดแชนแนล สื่อชุมชนขนาดเล็ก ที่มีคน มีใจมารวมตัวกันด้วยทุนของแต่ละคน หรือสถานีฝุ่น ที่จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีคน มีใจ มีเครือข่าย และมีทุนระดับหนึ่งจากหน่วยงานต่าง ๆ สนับสนุนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง แต่หากจะขยายงานและให้อยู่รอดจะมีแนวทางหารายได้อย่างไร ในเวทียังไม่มีข้อสรุปหรือรูปธรรมที่ชัดเจน มีเพียงการตั้งคำถามและท้าชวนให้การหาองค์ความรู้เหล่านี้ สถาบันการศึกษา หรือตัวสื่อสาธารณะของไทย ควรเป็นกลไกสำคัญในการเติมเต็มหรือหาไปหาวิธีการต่าง ๆ เช่น รูปแบบการบริหารแบบองค์กรเพื่อสังคม วิธีการหาโฆษณาของทีวีชุมชนในต่างประเทศ เขากำหนดกรอบกติกาไว้อย่างไร อันไหนเอามาใช้กับบริบทของเราได้บ้าง แล้วนำมาถ่ายทอดให้กับกลุ่มสื่อชุมชนได้รับรู้เพื่อเป็นแนวทางและเห็นทางออกจากบริบทของพวกเขา
“…สื่อชุมชนจะสามารถที่จะหาโฆษณาได้ไหม ถ้าหาโฆษณาไปแล้วจะเหมือนกับสื่อท้องถิ่นเหมือนสื่อมวลชนท้องถิ่นหรือว่าเป็นอย่างไง แล้วมันจะตอบโจทย์ไหม หรือว่ามันมีวิธีการอื่นที่จะทำให้หาทุนหรือว่ามีการจัดการทุนต้นทุนของตัวเองแล้วก็มีรายได้เข้ามาได้ที่มันสอดคล้องกับยุคสมัย”
อัจฉราวดี บัวคลี่ สำนักเครือข่ายและการมีส่วนร่วมสาธารณะ ไทยพีบีเอส, 22 มีนาคม 2565
ขยายนิยามคำว่า “ชุมชน” ในยุคดิจิทัล ชุมชนกายภาพยังจำเป็นอีกไหม?
การอภิปรายในเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ มีการพูดถึงความหมายของคำว่า ชุมชน ที่ต่อท้ายคำว่า “สื่อชุมชน” มา ควรครอบคลุมหรือมีขอบเขตอย่างไรในสมัยนี้ โดยบางส่วนเห็นว่า คำว่าชุมชนควรขยายไปยังชุมชนที่มากกว่าพื้นที่หรือขอบเขตทางกายภาพ อาจหมายถึงชุมชนที่เกิดจากความสนใจร่วมกัน หรือมีกิจกรรม เป้าหมายบางอย่างร่วมกันก็ได้ ขณะที่บางส่วนเห็นว่าคำว่า ชุมชน อาจเป็นได้ทั้งสองความหมาย คือทั้ง สื่อชุมชนเชิงพื้นที่หรือกายภาพ ที่คนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการสื่อสารที่สะท้อนอัตลักษณ์ของความเป็นพื้นที่นั้น ๆ ออกมาร่วมกัน และอีกความหมายคือ การเป็นพื้นที่เชิงประเด็น ที่คนที่มีความเกี่ยวข้องกับประเด็นหนึ่ง ๆ สื่อสารหรือขับเคลื่อนเรื่องนั้น โดยก้าวข้ามเรื่องพื้นที่กายภาพ แต่ทั้งสองแบบมีสิ่งที่ต้องคำนึงในความเป็น “สื่อชุมชน” ร่วมกันก็คือ คน เน้นเป็นคนในชุมชนที่เข้ามามีส่วนร่วมชุมชนเป็นเจ้าของชุมชนนั้น ๆ และเป็นผู้นำเสนอชุมชน เป็นคนสื่อสาร หรือคนในชุมชนหรือเจ้าของเรื่องราวลุกขึ้นมาสื่อสารแต่ที่ไม่ใช่เพียงการสื่อสารเรื่องราวของชุมชนเท่านั้น แต่หมายถึงการสื่อสารที่ชุมชนสามารถนำเรื่องราวข่าวสารต่าง ๆ ไปแก้ปัญหาตัวเองหรือสามารถพึ่งพาได้
ส่วนสื่อนั้นจะมีรูปแบบอย่างไร หรือใช้เทคโนโลยีอะไรก็ได้ เพราะสื่อปรับเปลี่ยนได้ตามเทคโนโลยีตามบริบทตามสังคม ที่เป็นเครื่องมือในการสื่อสาร แต่ควรมีการเลือกใช้ใช้สื่ออย่างหลากหลายช่องทางหลายรูปแบบหรือข้ามสื่อได้ และนำเสนอเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับสังคมชุมชน ณ ขณะนั้น และเป็นสื่อที่พึ่งพาตัวเองได้ มีเครือข่ายความร่วมมือที่มาจากทั้งคนในพื้นที่หรือว่าคนที่สนใจ มีความรู้สึกรู้ร้อนรู้หนาวต่อประเด็นร่วมกัน คือเป็น Active citizen ที่คน ๆ นั้นลุกขึ้นมาเพื่อจะสื่อสารเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในประเด็น หรือในพื้นที่/ชุมชนและในสังคมที่ดีขึ้น
ตัวตน คุณค่าของสื่อชุมชน อยู่เพื่อทำอะไรในยุคสมัยปัจจุบัน?
สื่อชุมชน ยังจำเป็นต้องมีอีกไหมในยุคที่ใครก็สามารถทำสื่อและผลิตเนื้อหาเผยแพร่ได้…ประเด็นนี้ ผู้ร่วมเวทีฯ มองว่า คุณค่าของสื่อชุมชนยังคงมีอยู่และมีความสำคัญ ถ้าสื่อชุมชนสามารถทำหน้าที่ในการเป็นช่องทางการสื่อสารกับคนในชุมชน และสังคมภายนอก ที่ไม่ใช่การเป็นสื่อที่มีคุณค่าเพียงการทำหน้าที่รายงานข้อมูลข่าวสารในชุมชนเท่านั้น แต่ต้องแสดงออกถึงคุณค่าของการเป็นสถาบันสื่อ หรือสถาบันหนึ่งของชุมชน ที่มีบทบาทในการนำพา ติดอาวุธที่เรียกว่าความรู้ และให้ข่าวสารที่แท้จริง ทันเหตุการณ์และตอบโจทย์ชุมชนอย่างอย่างแท้จริง เพื่อทำให้ชุมชนมีเกราะกำบังและต้นทุนในการอยู่รอดและรับมือกับความไม่แน่นอนหรือการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วได้ รวมทั้งเป็นแหล่งจ้างงานในชุมชน หรือแหล่งความรู้ท้องถิ่นให้กับคนในและนอกชุมชน
“สื่อชุมชนไม่ได้เป็นแค่สื่อเฉย ๆแต่ว่าแสดงหน้าที่ทำให้เกิดคอนเทนต์คอนเทนต์ของท้องถิ่น สื่อสารเรื่องราวของตัวเองนะครับ เป็นตัวแทนเสียงชุมชนสู่ภายนอก ใช้สื่อของตัวเองเปิดพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วม เป็นตัวกลางนะครับการสื่อสารในชุมชนเพื่อแก้ไขปัญหาในชุมชนเอง แล้วก็สื่อสารเพื่อสร้างโอกาสสร้างประโยชน์ให้กับคนในชุมชน เผยแพร่ผ่านแพลตฟอร์มที่เหมาะสม สร้างจิตสำนึกของชุมชนขึ้น รวบรวมองค์ความรู้แหล่งรวมเรื่องเล่าต่าง ๆ ของชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่แท้จริงที่ อย่างทันเหตุการณ์ทันกับโจทย์ตอนนั้นมันช้าไม่ได้”
(ตัวแทนกลุ่ม เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวทางการพัฒนาสื่อชุมชนภาคเหนือ, 22 มีนาคม 2565)
“สื่อชุมชนต่างกับสื่อของบริษัทที่ตั้งขึ้นมาเพราะนั่นเป็นการประชาสัมพันธ์สื่อบริษัท เป็นกลไกเพื่อส่งเสียงของตัวเองเป็นกลไกขององค์กร แต่คำว่าสื่อชุมชนมีความยึดโยงระหว่างคนชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นมาและใช้สื่อเป็นเครื่องมือ…เพราะเดี๋ยวนี้ สื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยปกป้องตัวเองจากปัญหา และขณะเดียวกันสื่อก็เป็นการแก้ปัญหาอีกชนิดหนึ่ง จากที่ไม่เจริญงอกงามให้มันเจริญงอกงามขึ้นมาได้”
(บัณรส บัวคลี่, ตัวแทนจากสถานีฝุ่น, เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้แนวทางการพัฒนาสื่อชุมชนภาคเหนือ, 22 มีนาคม 2565)
สำหรับเนื้อหาที่สื่อชุมชนควรให้ความสำคัญในการนำเสนอ เพื่อสะท้อนคุณค่าของการเป็นสื่อชุมชนให้ไปอยู่ในใจ หรือโดนใจคนในชุมชนร่วม ก็คือ เรื่องการเมืองระดับท้องถิ่น เพราะเชื่อว่าหากรัฐในระดับท้องถิ่นมีนโยบายที่ดี จะสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในท้องถิ่นได้มากกว่า ถ้าสื่อชุมชนสามารถสื่อสารแล้วทำให้คนในชุมชนรับรู้และเข้าใจถึงบทบาทของตนเองว่าพวกเขามีส่วนในการกำหนดคุณภาพชีวิตดี ๆ ให้กับพวกเขาเองผ่านการเข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายของรัฐท้องถิ่น ก็น่าจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในชุมชนได้
นอกจากนั้นควรนำเสนอเนื้อหาที่เป็นที่พึ่งของคนในชุมชน เกาะติดกับปัญหาของชุมชนหรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิต เป็นเรื่องราวทั้งภายในและภายนอกชุมชนที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนนั้น ๆ ตอนนี้สิ่งที่ชุมชนขาดก็คือข้อเท็จจริง โดยเฉพาะข้อเท็จจริงที่ชุมชนสามารถเชื่อถือและไว้วางใจนั้นมีน้อยในยุคที่ข่าวสารท่วมท้น สิ่งที่ชุมชนต้องการไม่ใช่เรื่องการต้องการสื่อหรือผลิตสื่ออย่างเดียว แต่ต้องการข้อเท็จจริงที่ชุมชนสามารถไว้เนื้อเชื่อใจหรือเชื่อถือได้ สื่อชุมชนน่าจะทำหน้าที่ตรงนี้ได้
ส่งท้ายเวทีฯ ถ้าจะไปต่อ สื่อชุมชน ต้องมีและทำอะไร
บทสรุปก่อนปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ แนวทางการพัฒนาสื่อชุมชนภาคเหนือ ในวันนั้น มีการสรุปประเด็นและเงื่อนไขที่ได้จากการพูดคุยกัน ประเด็นสำคัญ ๆ ที่สำหรับแนวทางการก้าวต่อของสื่อชุมชน ควรพิจารณาในประเด็นดังนี้
นานาทรรศนะต่อ “สื่อชุมชน” จากผู้เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยน
“…สิ่งสำคัญก็คือกระบวนการสร้างคนที่เน้นก็คือเรื่องของมายด์เซต จากประสบการณ์ที่ผ่านมาคือว่าถ้าเราเอาสื่อไปสร้างสื่อให้กับคนก่อน คนอาจจะมีทักษะการสื่อสารแต่เรื่องมายด์เซตเรื่องความคิดหรือเชิงลึกจริงๆแล้วไม่เปลี่ยน แต่ไปสื่อสารได้ ไปพูดไปไรได้ แต่สุดท้ายมายด์เซตไม่เปลี่ยนแปลง พฤติกรรมก็ไม่เปลี่ยน จากประสบการณ์ของเต่าก็คือหนึ่งก็คือต้องให้คน เน้นคนที่เรื่องของจิตสำนึก เปลี่ยนระบบคิดหรือว่าทัศนคติหรือมุมมองเรื่องประเด็นปัญหา มองปัญหาอะไร มองข้อมูลอะไรในชุมชน มองชุมชนเป็นยังไงมองตัวเองยังไงด้วยนะ คือส่วนใหญ่แล้วเราจะการพัฒนาคนจะมองข้ามไปที่ให้เขามองชุมชนหรือว่ามองสังคมใช่ไหมแต่ขาดการมองตัวเอง … ดังนั้นเราต้องให้เขาวิเคราะห์และเท่าทันสื่อไม่ใช่ผลิตซ้ำ คุณจะต้องผลิตสื่อยังไงมาไม่ให้ตอกย้ำผลิตซ้ำตามค่านิยมความคิดเดิม ทำยังไงจึงจะนำเสนอมุมมองจากตัวเองกับชุมชนไปสู่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของชุมชนได้ มันโยงตัวเองกับชุมชนเสมอ สร้างคนแล้วไปสู่ชุมชน อย่าไปดึงเขาออกจากชุมชน เขาและชุมชนคืออันเดียวกันประเด็นร่วมกันปัญหาร่วมกัน …แล้วต้องมีพื้นที่ให้ได้สื่อสารกับชุมชน … ทำไมวันนี้ต้องมีนักวิชาการมานักวิชาการก็มีเครือข่ายที่สามารถช่วยกันไปช่วยกันมาได้ เราคือพี่น้องเดียวกันนั่นแหละ ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการเป็นคนทำงานสื่อหรือใครก็ตามจริงๆแล้วสุดท้ายหัวใจก็คืออยากเห็นสังคมดีขึ้น ถ้าถอดหมวกถอดหัวโขนไรออกนะจริงๆหัวใจมันคืออันเดียวกัน วันนี้ที่มาก็พร้อมและจะมาช่วยกันหนุนเสริมว่าใครจะช่วยอะไรบ้างตรงไหนบ้างถือว่ามันเป็น พื้นที่ของการเจอกันแลกเปลี่ยนพูดคุยกันแล้ว ก็จะไปเชื่อมโยงกันเอง เขาเรียกเป็นการขยายพื้นที่ขยายแนวร่วมมันจะหมุนไปเรื่อย ๆ เป็นเครือข่ายกันไป”
ปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ
นักวิชาการด้านสื่อ
“การที่เราวางเป้าหมายว่าต่อไปเมืองสวดแชนแนลจะเป็นศูนย์เรียนรู้สื่อชุมชนน่าจะเป็นเป้าหมายที่เราสามารถทำได้ ซึ่งการที่จะไปสู่เป้าหมายนั้นเรามองว่าขั้นตอนจะเป็นยังไงอย่างแรกเราคิดว่าเมื่อเรามีแนวคิด แต่สิ่งที่เราขาดคือแนวร่วม แนวร่วมที่ว่าก็คือเราต้องเฟ้นหาคนที่จะมาเป็นเครือข่ายกับเมืองสวดแชนแนลจะมีใครบ้างทั้งในส่วนที่มีอยู่เดิมแล้วคืออาจมีสื่อในท้องที่ที่มีอยู่แล้วเราก็เชิญเข้ามาเป็นเครือข่ายกับเรากับอีกกลุ่มหนึ่งคือกลุ่มที่สนใจ มีความสนใจด้านสื่ออย่างเช่นเยาวชนในชุมชนหรือผู้นำหมู่บ้านบางท่านที่มีความสนใจแต่ว่ายังขาดการสนับสนุนหรือขาดการประสานงานเหล่านี้ เราก็จะพยายามสร้างเครือข่ายตรงนั้นให้เข้มแข็งก่อน และในอนาคตเราคิดว่า เราจะพัฒนาในเรื่องของศักยภาพมากขึ้นทั้งในเรื่องของสถานที่ อุปกรณ์อะไรต่าง ๆ ก็จะตามมา เราคิดว่าสำคัญที่สุดก็คือในเรื่องของผู้สนับสนุนก็คือเครือข่ายสถาบันวิชาการหรือศูนย์ต่างเครือข่ายที่มาร่วมเวทีวันนี้ ทำไมเราถึงว่าวิธีการนี้สำคัญเพราะว่าในส่วนของเมืองสวดแชนแนล เราก่อตั้งหรือเริ่มต้นด้วยคนที่กลุ่มคนที่สนใจสื่อ แต่ว่าไม่ได้มีพื้นฐานเรื่องของสื่อมาเลยเพราะฉะนั้นวิธีการที่ดีที่สุดที่จะช่วยเราได้ก็คือจะต้องอาศัยประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญหรือเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับสื่อโดยตรง เพราะฉะนั้นวิธีนี้คิดว่าเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดสำหรับกลุ่มของพวกเรา เพราะฉะนั้นถ้าหากเราจะไปสนับสนุนเครือข่ายในพื้นที่ก็ต้องอาศัยเครือข่ายที่เข้มแข็งในส่วนของสถาบันวิชาการต่าง ๆ รวมถึงเครือข่ายสื่ออื่น ๆ”
ดร.นภดล สุดสม ผู้ร่วมก่อตั้งเมืองสวดแชนแนล
อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน
“ผมมองเชิงปฏิบัติ มองในเชิงพื้นที่มองผมว่ามีอีกส่วนหนึ่งที่ที่กำลังน่าจัดเสริมเข้าไปได้นั่นก็คือเรื่องของการสร้างความเข้มแข็งและสร้างเกราะคุ้มกัน เพราะว่าสื่อชุมชน ส่วนใหญ่สื่อชุมชนที่เกิดขึ้นมามักจะมุ่งโฟกัสประเด็นของด่านเชิงลบ การเรียกร้องการ สร้างเสียงสร้างปัญหาโชว์ปัญหาออกมาสู่สาธารณะ แน่นอนครับเราจะเดินกับอำนาจ ดังนั้นใครที่จะเป็นเกราะคุ้มกันให้กับสื่อท้องถิ่นได้ ไม่งั้นสื่อท้องถิ่นก็จะกลับไปอยู่ในวงโคจรเดิมก็คือสร้างสื่อแต่ภาพบวกอย่างเดียวสุดท้ายปัญหาในชุมชนที่เราต้องการสะท้อนไม่เกิดการแก้ไขปัญหา แต่พอเราจะ ทำสื่อในภาพลบ ใครล่ะจะช่วยคุมกันเขา…อันนี้ผมว่าน่าจะเสริมเกราะคุ้มกันเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต”
สุรชัย ศรีนรจันทร์
สาขาวิชานิเทศศาสตร์บูรณาการ
คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้
“…มายด์เซตที่ควรจะที่เสริมสร้างในทุก ๆ ด้านก็คือมายด์เซตที่ว่าเป็นเรื่องของคน ให้คนคิดว่ามันเป็นประเด็นร่วม อย่างเช่นเรื่องของเด็กอย่าคิดว่าเป็นเรื่องของเด็กจริงก็ผู้ใหญ่ผู้สูงอายุในชุมชนนั้น ก็มีส่วนเกี่ยวข้องกับเด็กทั้งนั้น พอดีตัวเองก็ทำเรื่องคนพิการก็ยังคิดว่าเรื่องคนพิการไม่ใช่ของคนพิการเท่านั้น มันเป็นเรื่องของคนทุกคนที่ต้องมาร่วมกันจัดการ เรื่องของผู้สูงอายุก็เหมือนกัน เรื่องของเชื้อชาติอะไรนี้ ถ้าเป็นเกี่ยวกับคน มันคือเรื่องของทุกคนประเด็นคือประเด็นร่วมถ้าเรามีหัวใจตรงนี้รวมกัน ประเด็นที่สอง เราคุยกันเรื่องจิตสำนึกของความเป็นเราร่วมกัน ถ้าเรารู้สึกว่าเราเป็นเรา ชุมชนก็จะเข้มแข็งขึ้น และในอีกด้านหนึ่งถ้าคนในชุมชนมีปฏิสัมพันธ์กันมากเท่าไหร่ ชุมชนนั้นก็จะเข้มแข็งขึ้นเท่านั้น แล้วคนในชุมชนจะปฏิสัมพันธ์กันได้ยังไงล่ะก็สื่อชุมชนนั่นเอง …”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ จิรภัทร กิตติวรากูล
คณะมนุษยศาสตร์และนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ