วันนี้ (25 มีนาคม 2565) ที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จ.เชียงใหม่ กลุ่มภาคประชาสังคมในเชียงใหม่ซึ่งรวมตัวกันในนาม Covid Team North (CTN) รวบรวมความทุกข์ของคนเชียงใหม่ที่ติดโควิด และแถลงเรียกร้องให้จังหวัดเชียงใหม่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อุดช่องว่างระบบมาตรการรักษา และการสื่อสารความเข้าใจเรื่องโควิด พร้อมเรียกร้องให้ ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในการต้องดูแลตนเอง
“ภาครัฐเร่งปรับแนวทาง ให้โควิด 19 เป็นโรคประจำถิ่น ประชาชนก็เข้าใจได้ว่าต้องทำ แต่ควรมีมาตรการที่ชัดเจน ไม่ใช่มองไม่เห็นปัญหา และปล่อยให้ประชาชนเผชิญกันเอง”
ทีม ‘COVID Team North’ เปิดเวทีแถลงข่าวก่อนลงรายละเอียดถึงมาตรการที่ไม่ชัดเจนของหน่วยงานและข้อจำกัดในการเข้าถึงยา อุปกรณ์การรักษาโรคโควิด-19 จนกลายเป็นความทุกข์ของคนเชียงใหม่ที่ติดโควิด
นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทีม CTN เกิดจากการรวมตัวของภาคประชาสังคมในเชียงใหม่ ที่เห็นการระบาดโควิด 19 หนักมากมาตั้งแต่กรกฎาคม 2564 ซี่งมีประกาศปิดชุมชน แคมป์แรงงานต่าง ๆ ในเชียงใหม่ และได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนเฉพาะหน้า เช่น ให้ถุงยังชีพ หน้ากากอนามัย นมผง ของใช้ที่จำเป็นในเขตอำเภอต่าง ๆ ที่ระบาดเป็นกลุ่มก้อน ซึ่งการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง เช่น คนไร้บ้าน พนักงานบริหาร แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ เป็นลักษณะการช่วยเหลือกันในองค์กรเครือข่าย และประสานความร่วมมือกับหน่วยบริการของภาครัฐบางหน่วยเช่นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาเขตพื้นที่ (สปสช.)
นอกจากนั้นยังรับเรื่องร้องทุกข์และประสานงานแก้ไขปัญหาให้ประชาชนในฐานะเป็น ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนและหน่วยรับเรื่องร้องเรียนอิสระฯ ตามมาตรา 50(5) ของพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสมาชิกสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งจากการทำงานที่ผ่านมาขององค์กรเครือข่ายพบความทุกข์ในหลายแง่มุม
นายนันทชาติ หนูแก้ว จากมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย กล่าวว่า ถึงทุกข์ของคนในชุมชนแออัด และบุคคลสาธารณะ เมื่อติดโควิด ว่า มี 2 เรื่องหลัก คือ
หนึ่ง นโยบายหรือมาตรการของรัฐไม่ชัดเจน มีผลต่อคนในชุมชน ผู้ใช้พื้นที่สาธารณะในชุมชนเมือง แคมป์ก่อสร้างได้รับผลกระทบ เช่นมาตรการการรักษาในช่วงแรก พยายามให้ทุกคนเข้าสู่ระบบการรักษาของรัฐที่มีอยู่ แต่ต่อมาเมื่อโรงพยาบาลเริ่มเต็ม ก็ให้ประชาชนกักตัวในชุมชน หรือในบ้านเอง ทำให้บางชุมชนตั้งรับไม่ทัน เกิดความสับสน มาตรการด้านที่อยู่อาศัยระยะยาว ด้วยลักษณะของกลุ่มคนที่อยู่ในชุมชนแออัดในเมืองเชียงใหม่ และคนไร้บ้าน พบว่าจำนวนหนึ่ง ไม่มีความมั่นคงในที่อยู่อาศัย และลักษณะของชุมชนแออัดทำให้การระบาดแพร่กระจายได้ง่าย รัฐไม่มีนโยบายเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยที่มั่นคง ทำให้ชาวบ้านไม่กล้าจะปรับปรุงสภาพแวดล้อมของบ้าน และด้วยลักษณะวิถีชีวิตของคนจนเมืองอยู่แบบ หาเช้ากินค่ำ วิถีชีวิตผูกกับรายได้แบบวันต่อวัน มาตรการเรื่องการกักตัวผู้เสี่ยงสูง บางหมู่บ้านปิดชุมชน ทำให้เกิดผลกระทบเรื่องของการกินอยู่ ค่าใช้จ่ายรายวัน
สอง ความไม่เชื่อมั่นว่าประชาชนสามารถจัดการระบบได้ ที่ผ่านมา 2 ปี ภาคประชาชนและชุมชนแสดงให้เห็นว่าสามารถจัดการระบบโดยมีอาสาสมัครคอยประสานชุมชน รวมตัวเป็นเครือข่ายจัดการได้ เช่น การสร้างกลไกเข้าถึงระบบการรักษา อาสาสมัครการเข้าถึงระบบการรักษา การเข้าถึงและดูแล ยา อาหาร การติดตามอาการโดยเฉพาะกลุ่ม 608 เมื่อชุมชนมีรูปแบบในการช่วยเหลือกัน ในการดูแลกัน ประสานหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาดูแล ส่วนบทบาททางภาครัฐควรเข้ามาหนุนเสริมในเรื่องของการจัดการเพื่อให้รับมือให้ได้ดียิ่งขึ้นมากกว่าจะไม่เชื่อมั่น
นางรจนา ยี่บัว จากศูนย์คุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเฮลท์เนท กล่าวถึงทุกข์ของคนซื้อประกันโควิด กล่าวว่า อันดับแรกคือคนที่ซื้อประกันโควิดถูกยกเลิก พอทำประกัน 3-4 เดือน บางบริษัทไม่มีการแจ้งล่วงหน้าว่ายกเลิก เมื่อเกิดการติดโควิดและจะเคลมก็ไม่สามารถทำได้ เงียบหาย ชาวบ้านบางรายคิดจะทำร้ายตัวเองเพราะไม่ได้รับความเป็นธรรม บางรายที่ติดแล้วอยากทำการยืนยันผลเพื่อยื่นเอาประกัน แต่เมื่อติดต่อโรงพยาบาล กลับมีค่าใช้จ่าย และเมื่อไม่มีเงินในการยื่นรับผลตรวจประกันไม่สามารถเดินหน้าให้เงินประกันได้
สิ่งเหล่านี้คือความทุกข์และแทนที่จะได้รับการเยียวยาแต่กลับไม่ได้รับ นอกจากนั้นยังพบว่าประชาชนขาดความรู้ในการยื่นเรื่องประกัน ช่องทางในการรู้สิทธิ และร้องเรียน และอีกปัญหาที่พบคือเรื่องการฉีดวัคซีนแล้วได้รับผลกระทบและขั้นตอนขอรับเงินเยียวยาเบื้องต้น จาก สปสช. ซึ่ง หน่วยงานสภาองค์กรผู้บริโภคเชียงใหม่จะเป็นผู้ช่วยเหลือภาคประชาชนในตอนนี้
นางอัจฉราพร ชนะเลิศ : ประธานอาสาสมัครดูแลผู้สูงอายุ ในชุมชน “ทุกข์ของคนประกันสังคมที่ติดโควิด” กล่าวว่า ในช่วงเริ่มต้น มีประกาศให้ประชาชนไปรักษาในโรงพยาบาลใดก็ได้ ต่อมาให้ประชาชนที่มีสิทธิ์ประกันสังคมต้องกลับไปโรงพยาบาลที่ตนมีสิทธิประกันสังคม แต่ต่อมาโรงพยาบาลรับแต่เคสหนัก หรือสีแดง หรือหากต้องการตรวจผลแบบ RT-CPR ซ้ำ หลายคนไม่สามารถจ่ายไหวเพราะมีราคาที่สูง ทั้งที่ประชาชนหลายคนอยากจะตรวจซ้ำเพราะไม่มั่นใจในการตรวจแบบ ATK ทำให้ผู้ประกันตนต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายเองเพื่อให้ตนเองได้รับยา และมีที่พักในการรักษาตัว บางรายอาการไม่สอดคล้องกับสิ่งที่เจ้าหน้าที่กำหนด ก็จะให้กลับบ้าน
อัจฉราพร กล่าวว่า ช่วงที่โควิดระบาดหนักในชุมชนเมือง ภาระหลักเป็นของอาสาสมัครในชุมชนที่ต้องทำการจัดทีมลงไปดูแลกันเอง ให้ความรู้ และให้ประชาชนที่ติดเชื้อเชื่อมั่นว่าเราจะเคลียร์ปัญหาให้เขาได้ อีกประเด็นประกันสังคมมาตรา 33 ต้องเข้าในระบบตามข้อกำหนดในการเป็นลูกจ้างบริษัท ส่วนมาตรา 39 คือการชำระค่าประกันสังคมด้วยตนเอง จนช่วงหลังผู้ที่ติดโควิดอยากออกจากระบบมาตรา 39 จะเข้ามาตรา 40 หากอายุไม่เกิน 65 เพราะทางรัฐและบัตรทองมีมาตรการ เจอ จ่าย แจก แต่หากสิทธิประกันสังคมต้องไปรอคิวหรืออยู่ที่บ้านรอเจ้าหน้าที่โทรกลับไปแล้วรอรับยา สิ่งเหล่านี้สะท้อนว่า โรงพยาบาลยังคงมีเรื่องของมาตรฐานและการดูแลที่ไม่เท่ากันอยู่
นายนิวัตร สุวรรณพัฒนา นักวิชาการกลุ่มโควิดทีมภาคเหนือ กล่าวถึง “ทุกข์ของคนเชียงใหม่ภายใต้ระบบที่มีช่องว่าง” ว่า กลุ่มคนที่จะเน้นถึงคือกลุ่มในเมืองหรือกลุ่มคนจนเมือง หมายถึงคนที่อยู่ในชุมชนเมือง ประชากรข้ามชาติและผู้ติดตาม แรงงานชาติพันธุ์ และอีกกลุ่มที่คือ กลุ่ม 608 คืออายุเกิน 60 ปี มาจากกลุ่มเสี่ยง 7 โรค หัวใจ สมอง หอบ ทางเดินหายใจ เบาหวาน มะเร็ง ไต และผู้เปราะบาง สตรีตั้งครรภ์ ครัวเด็ก ผู้หญิงและ ผู้ป่วยติดเตียง
ช่องว่างของระบบดูแลสุขภาพและควบคุมโรคต่าง ๆ ก่อให้เกิดทุกข์ใหญ่ 3 เรื่อง
1.ความเจ็บปวดที่คนใกล้ชิด เสียชีวิตจากโควิด-109 และเรื่อง Long Covid – Post Covid โดยกลุ่ม 608 เกิดโอกาสเกิดความรุนแรงโดยไม่มีการติดตามอาการ
2.ประชากรทั่วไปจากการเปลี่ยนผ่าน นโยบายหรือแนวทางการรักษา ทำให้ เกิดความคาดหวัง สับสน กังวล เช่น ที่คนเชียงใหม่ได้ยาต้านไวรัสมาโดยตลอด แต่ปัจจุบัน พอไม่ได้ยาจากแนวทาง เจอ จ่าย จบ หลายคนได้เฉพาะยาติดตามอาการ สิ่งนี้เปิดช่องให้คลีนิคเอกชนต่าง ๆ ฉวยโอกาสในการขึ้นราคา เช่น การตรวจ RT-CPR เรียกเก็บค่ายาต้านไวรัส ในคลีนิคและโรงพยาบาลเอกชน ตลอดจนการใช้ ATK เกินความจำเป็น
3.กลุ่มประชาชนที่อยู่แเออัดหนาแน่น HI, CI ต้องได้รับยาติดตาม อุปกรณ์ต่าง ๆ อาหาร 3 มื้อ แต่ต้องช่วยเหลือตนเองและช่วยเหลือกันเองทั้งหมด
4. เมื่อบ้านหนึ่งหลัง ผู้ป่วย 1 คน กักตัว 2 คน ผลกระทบขาดรายได้ ขาดอาหาร
5.ระบบของเชียงใหม่ แนวทางการรักษาส่งเสริม HI ตั้งแต่ต้นปียืนยันว่าทุกคนจะต้องจะต้องรักษาที่บ้าน สื่อสารไปที่อาสาสมัครเพื่อให้แนวทางการดูแล การไปสู่แนวทางที่เป็นโรคประจำถิ่นซึ่งเราต้องทำ แต่มาตรการและนโยบายไม่ชัดเจน ปล่อยให้เผชิญกันเอง เช่น ปิด CI แต่แรงงานหรือผู้ที่รักษาตัวที่บ้านอยู่ไม่ได้ และช่องทางการจ่ายยาไม่พอกับความต้องการเป็นต้น
สุรีรัตน์ ตรีมรรคา ประธานสมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวถึงข้อเสนอ เร่งปลดทุกข์ของคนเชียงใหม่ที่ติดโควิด
1. การสื่อสารกับประชาชน ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ หรือนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ จัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาประชาชนเรื่องโควิด โดยบูรณาการหน่วยงานที่มีหน้าที่สื่อสารความเสี่ยง ความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด การอัพเดทข้อมูลมาตรการ แนวทาง ต่าง ๆ เพื่อลดความสับสน และเป็นศูนย์กลางข้อมูลชุดเดียวกัน การให้ข้อมูลเรื่องสิทธิในการรับบริการรักษาต่าง ๆ บทบาทหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ดูแลประชากรตามสิทธิต่าง ๆ โดยเฉพาะประกันสังคม บัตรทอง และข้าราชการ
2. ช่วยประชาชนลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น ทั้งการตรวจ ATK และการที่โรงพยาบาลไม่จ่ายยาตามอาการทำให้ประชาชนต้องซื้อเองแม้ไปรับบริการที่โรงพยาบาลตามสิทธิแล้ว
2.1 การลดความสิ้นเปลืองไม่จำเป็น การตรวจ ATK ที่เกินความจำเป็น ไม่สมเหตุผล ควรยกเลิก หรือหยุดทำ
- ตรวจเด็กที่จะไปโรงเรียน /ไปสอบ
- การให้พนักงาน หรือเจ้าหน้าที่ ตรวจเป็นประจำ
- การตรวจก่อนเข้าใช้ ห้องประชุม สำนักงาน/อาคาร หรือเข้าพื้นที่
- การให้ผู้ติดเชื้อตรวจซ้ำเพื่อเป็นการยืนยันว่าหายแล้ว
- การตรวจแบบไม่มีข้อบ่งชี้ ตรวจเพราะกังวล
2.2 การสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจช่วงเวลาที่สมควรตรวจ วันที่ 5 กับวันที่ 10 ของการสัมผัสเชื้อ ไม่ใช่ตรวจ
ทุกวัน
3. สำนักงานสาธารณะสุขจังหวัด ดำเนินการให้ทุกโรงพยาบาลในเขตอำเภอเมือง เขตเทศบาลนคร มีระบบให้บริการทางออนไลน์ ทางโทรศัพท์ สำหรับคนที่อาการไม่มาก การมีช่องทางรับยาแบบแยกต่างหากสามารถไปถึงรับยากลับบ้านได้เลย
4. ให้หน่วยงานคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคจังหวัด ดำเนินการเชิงรุกเพื่อดูแลประชาชนผู้ซื้อประกันสุขภาพโควิด ให้มีที่ปรึกษา มีการกำกับติดตามบริษัทประกัน การให้ข้อมูลสื่อสารต่อเนื่องผ่านศูนย์ให้คำปรึกษาประชาชน รวมถึงการรับเรื่องร้องเรียน ติดตามดูแลผู้ได้รับความทุกข์ความเสียหายจากระบบประกันโควิด
5. พาณิชย์จังหวัด กำกับควบคุมราคาค่าตรวจ RT-PCR ค่าใบรับรองแพทย์ ให้เป็นราคามาตรฐานเดียวกัน
6. เทศบาลนคร องค์การบริหารส่วนจังหวัด สนับสนุนผู้นำชุมชน ให้สามารถจัดเตรียมชุมชน สร้างความเข้าใจต่อประชาชนในชุมชนที่ต้องอยู่ร่วมกับโควิดได้อย่างเข้าใจ จัดหาพื้นที่ในชุมชนสำหรับกลุ่มคนที่ไม่สามารถดูแลตนเองในการกักตัวได้ ประสานงานกับวัด หน่วยงานรัฐ หน่วยงานท้องถิ่น เพื่อทำงานร่วมกัน
ดูไลฟ์แถลงเพิ่มเติมได้ที่
หมายเหตุ : สมาชิกCOVID Team North ประกอบด้วย คณะกรรมการองค์การพัฒนาเอกชนด้านเอดส์ภาคเหนือ (กพอ.เหนือ) และองค์กรสมาชิก สมัชชาสุขภาพจังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิรักษ์ไทยและมูลนิธิแมพ โครงการ C19(RM) มูลนิธิเอ็มพลัส เครือข่ายผู้ติดเชื้อฯ ภาคเหนือตอนบน บ้านเตื่อมฝัน เครือข่ายองค์กรด้านชาติพันธุ์ กองบุญข้าววัดป่าดาราภิรมย์ มูลนิธิโพธิยาลัย มูลนิธิการศึกษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนาภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เครือข่ายพระคิลานุปัฐาก จังหวัดเชียงใหม่