#เจอแจกจบ มาตรการจบที่รัฐ ลำบากที่ประชาชน

#เจอแจกจบ มาตรการจบที่รัฐ ลำบากที่ประชาชน

“เจอ แจก จบ”  มาตรการสำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่กระทรวงสาธารณสุขปรับแนวทางการรักษาเป็นแบบผู้ป่วยนอก สำหรับกลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย ให้ยารักษาตามอาการ กลับไปรักษาตัวที่บ้าน

ผ่านมาเกือบ 1 เดือน มาตรการดังกล่าวกลายเป็นที่พูดถึงกันอย่างต่อเนื่อง ว่าเอาเข้าจริง มาตรการนี้กลับ “เจอ จ่าย แต่ไม่จบ” อย่างที่รัฐตั้งใจ เพราะยังมีหลายชุมชน โดยเฉพาะชุมชนเมืองที่อยู่กันอย่างหนาแน่น ที่เล่าว่าพื้นที่เขาพวกเขาไม่สามารถจบได้จริง การกลับมารักษาตัวที่บ้านในชุมชน นั่นยิ่งทำให้มีการะบาดเพิ่มขึ้น

มันไม่จบจริง ๆ พอไปรับยามาแล้วกลับมาอยู่บ้าน แล้วก็ติดกันเป็นแถวเลย ส่งผลกระทบต่อเนื่อง อย่างพอติดโควิด งานก็ทำไม่ได้ ขาดรายได้ นี่มันก็ไม่จบแล้ว มาตรการนี้อาจจะจบที่รัฐ แต่ไม่จบที่ชาวบ้านแน่ ๆ พี่เจอหลายคนไม่ใช่แค่ชุมชนคลองลัดภาชีเท่านั้น บางชุมติดกันที 50 60 คน

ธรรมศักดิ์ มากนคร ประธานชุมชนคลองลัดภาชี

พี่ศักดิ์ ประธานชุมชนคลองลัดภาชี เขตภาษีเจริญ กรุงเทพมหานคร หนึ่งคนที่กำลังพยายามดูแลชุมชนตัวเองจากโควิด-19 สะท้อนถึงมาตรการภาระประชาชน

ชุมชนคลองลัดภาชี เรียกได้ว่าเป็นชุมชนแออัดครับ บ้านมีลักษณะติด ๆ กันเป็นแถวยาวตอนลึก หน้าบ้านหันชนกัน มีถนนคั่นกลางพอให้มีทางรถวิ่งได้พอตัวเท่านั้น ที่นี่อยู่กัน 79 หลังคาเรือน สมาชิกรวม ๆ แล้วก็กว่า 336 คน

สถานการณ์ตอนนี้ไม่ใช่ว่าเงียบนะ โอมิครอนตอนนี้ยังรุนแรง โดยเฉพาะในชุมชนเมืองแออัด หรือที่บ้านติด ๆ กันแบบนี้ ถ้าติดหนึ่งคนคือติดกันทั้งบ้านลามไปบ้านข้าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ถึงภาครัฐจะบอกว่าเป็นโรคประจำถิ่น แต่การติดเชื้อมันติดได้ง่าย แล้วระบบก็ยังเข้าไม่ถึง แล้วตรงนี้จะแก้ไขปัญหายังไง

ธรรมศักดิ์ มากนคร ประธานชุมชนคลองลัดภาชี

เจอ แจก ที่ไม่จบ พี่ศักดิ์เล่าเพิ่มว่า นี่ยังไม่ได้พูดถึงการขาดรายได้ในช่วงที่ต้องกักตัวอยู่บ้าน เพราะถ้าเกิดมีคนติดหนึ่งคน ขาดรายได้กันทั้งครอบครัว เพราะต้องกักตัวเป็นผู้เสี่ยงสูง ตรงนี้มองข้ามไม่ได้ ต้องเข้ามาดูแลเยียวยา

แต่ก็ใช่ว่าชุมชนคลองลัดภาชี จะนอนรอแค่ความช่วยเหลือเท่านั้น เพราะโรคระบาดที่ว่า ไม่อาจรอความช่วยเหลือจากคนข้างนอกได้ทางเดียว พี่ศักดิ์จึงรวมกับแม่ ๆ ในชุมชน ลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง ก่อนจะมีการสูญเสียที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้นในชุมชน

โดยหลักนี่เป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องเข้ามาช่วยดูแล ภาครัฐต้องเข้ามาจัดการระบบ แก้ปัญหา เป็นหน้าที่ที่ต้องดูแลคุณภาพชีวิตของผู้คน แต่ด้วยสถานการณ์ที่มันแรงขึ้นเรื่อย ๆ มีคนป่วย มีคนเสียชีวิต เรารอไม่ได้ เราเลยต้องลุกขึ้นมาจัดการตัวเอง พี่อยากให้หลาย ๆ ชุมชนคิดแบบนี้ เรารอไม่ได้ เพราะมันค่อย ๆ กัดกินคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน

ธรรมศักดิ์ มากนคร ประธานชุมชนคลองลัดภาชี

ในชุมชนเราพยายามสร้างการจัดการระบบคนให้ดี ใครเสี่ยงต้องบอก เราเข้าไปตรวจ ส่งเข้ากักตัว มีอาหารดูแล แต่สำคัญคือลูกบ้านต้องมีวินัย ไปไหนมาไหนต้องบอก เสี่ยงต้องแจ้ง ก็เลยทำให้เราควบคุมตัวเลขคนติดเชื้อได้

ธรรมศักดิ์ มากนคร ประธานชุมชนคลองลัดภาชี

ในชุมชนคลองลัดภาชีตอนนี้ ใครเสี่ยงตรวจทันที ถ้าเจอส่งเข้าไปที่ศูนย์พักคอยในชุมชนที่เตรียมไว้ กักตัว 10 วัน ประสานงานให้เข้าระบบและให้ได้รับยา รักษาตัวให้หาย ระหว่างกักตัวจะมีครัวกลางคอยส่งอาหาร ซึ่งภายในชุมชนตอนนี้ก็มี 6 คนที่พักอยู่ในศูนย์พักคอย ส่วนคนที่ตรวจไม่เจอ ต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง กลับบ้านคอยติดตามอาการอย่างใกล้ชิด ผ่านไป 7 วัน จะเรียกกลับมาตรวจอีกที ถ้าไม่เจออีกก็คือใช้ชีวิตปกติ

ที่นี่เขาทำกันแบบนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้วครับ หลังจากที่มีคนเสียชีวิตในชุมชน ก็เริ่มลุกขึ้นมาดูแลชุมชน ไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ พอจัดการชุมชนตัวเองได้แล้ว ก็ขยายความช่วยเหลือ เป็นศูนย์กลางดูแลชุมชนอื่น ๆ กว่า 18 ชุมชน 2 กลุ่มคนเปราะบาง โดยการสนับสนุนของหลายหน่วยงาน ทั้ง สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์กรมหาชน(พอช) มูลนิธิ sos สำนักงานเขตภาษีเจริญ ศูนย์สาธารณสุข47 คลองขวางสำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร โครงการจุฬาอารีย์ ศูนย์วิจัยเพื่อพัฒนาชุม(ศวพช)มหาลัยสยาม และ สส.ในพื้นที่

ก่อนหน้านี้เราทำงานที่อยู่อาศัยของคนที่มีรายได้น้อยมาตั้งแต่ต้น พอเราทำงานชุมชนเราก็เห็นพี่น้องที่เดือดร้อนในเขตภาษีเจริญอยู่อีกเยอะ จากนั้นเราก็ได้ร่วมกับเครือข่ายต่าง ๆ เข้าไปพัฒนาชุมชนอื่น ๆ ด้วย ทั้งเรื่องที่อยู่อาศัย สังคม สุขภาพ เรื่องสิ่งแวดล้อม และสวัสดิการ ดังนั้นเราเชื่อมโยงกันตั้งแต่ตอนนั้น และกลับมาในช่วงสถานการณ์โควิดแบบนี้ เราก็ยังช่วยเหลือกันอยู่ คลองลัดภาชีก็ทำครัวกลาง และมีถุงยังชีพ ให้พี่ ๆ น้อง ๆ ชุมชนในเครือข่ายเข้ามารับไปกระจายส่งต่อกันในชุมชน เมื่อมีความเดือดร้อนเกิดขึ้น

ธรรมศักดิ์ มากนคร ประธานชุมชนคลองลัดภาชี

สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ทว่าไม่ได้จบง่าย ซ้ำต้องมีคนเจ็บ สูญเสีย โอกาส และปากท้อง ที่ต้องประคับประคองกันไปในช่วงที่ยากลำบาก เคยได้ยินว่าชุมชนเมืองนั้นเป็นสังคมที่ต่างคนต่างอยู่ ไม่เหมือนสังคมชนบทที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน แต่อาจใช้คำนั้นไม่ใช่กับที่นี่ ที่เมื่อข้างบ้านต้องการความช่วยเหลือ ก็พร้อมยื่นมือเข้าไปเสมอ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

Prev

January 2025

Next

Mon

Tue

Wed

Thu

Fri

Sat

Sun

30
31
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31
1
2

8 January 2025

Nothing to show.

เข้าสู่ระบบ