ความหลากหลายทางเพศ ดูเหมือนจะถูกยอมรับมากขึ้นในสังคมไทยตลอดหลายปีที่ผ่านมา การถูกมองเห็นอย่างเป็นรูปธรรมใน “สังคมวงกว้าง” ของกลุ่มความหลากหลายทางเพศมีให้เห็นหลายมิติ เราสามารถเห็นบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในทุกสาขาอาชีพ แต่ขณะเดียวกันก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการยอมรับความหลากหลายของสังคมไทยยังเป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไข โดยเฉพาะเรื่องความหลากหลายทางเพศ ทำให้มีการรณรงค์และผลักดันให้เกิดการยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศอย่างจริงจังในช่วงหลายปีมานี้
Pride Month หรือเดือนแห่งความภาคภูมิใจของ กลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อแสดงออกถึงความเท่าเทียม และเรียกร้องสิทธิของคนที่มีความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย ซึ่งตลอดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา หลายคนได้เห็นกิจกรรมหรือแคมเปญต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับ Pride Month ที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งสายรุ้ง และปีนี้นับว่าเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของประเทศไทย เพราะเป็นปีแรกที่มีการจัดกิจกรรม “ไพร์ดพาเหรด” Bangkok Naruemit Pride 2022 อย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยเครือข่ายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศ และเป็นจุดเริ่มต้นของการจัดกิจกรรม Pride Month ในพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ
“ISAAN PRIDE” ณ จังหวัดขอนแก่น เป็นอีกกิจกรรมความร่วมมือที่แสดงถึงการมีอยู่ และการยอมรับความแตกต่างหลากหลายทางเพศของชาวอีสาน ณ มหานครขอนแก่น หัวเมืองใหญ่ในอีสานตอนบน ที่กำลังเติบโตในทุกมิติรวมถึงความเบ่งบานในเรื่องสิทธิเสรีภาพทางเพศ
อาจารย์ชีรา ทองกระจาย อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และเครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน (IGDN) ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะจัดงาน Isaan Pride 2022 บอกว่า งาน Pride ที่จัดขึ้นในจังหวัดขอนแก่นครั้งนี้ แสดงถึงความตื่นตัวของผู้คนในการตะหนักรู้เรื่องสิทธิ์และความเท่าเทียม ที่สำคัญคือการยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ซึ่งก็ไม่ใช่แค่เรื่องเพศเท่านั้นแต่รวมถึงความหลายหลายทางภาษาวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ และรสนิยม
“งานนี้ไม่ใช่แค่งานของกลุ่ม LGBTQIAN+ เท่านั้น เป้าหมายของเรา เรามองว่ามันควรจะเป็นงานของทุกคน เรื่องสิทธิทางเพศหรือความเท่าเทียมทางเพศเป็นเรื่องของทุกคน รวมถึงกลุ่มที่ไม่ค่อยได้รับสิทธิทางสังคม ซึ่งอาจจะหมายถึงสิทธิด้านชาติพันธุ์ หรือสิทธิของผู้พิการเป็นต้น เราเลยคิดว่า Isaan Pride มันแสดงถึงความตื่นตัวของผู้คนในการตะหนักรู้เรื่องสิทธิ์ และความเท่าเทียม และประเด็นที่สำคัญคือการยอมรับความแตกต่างหลากหลายนั่นเอง”
อาจารย์ชีรา ทองกระจาย ย้ำถึงจุดประสงค์ของการจัดงาน Isaan Pride 2022
พิสิษฐ์ สุวรรณสาร ผู้เข้าร่วมงาน “ISAAN PRIDE” บอกว่า
“ความหลากหลายมันเป็นเหมือนต้นไม้เล็ก ๆ ที่มันมีอยู่แล้วในทุกพื้นที่ พอมีงาน Pride มามันเหมือนเป็นฝนที่ตกลงมาทำให้ต้นไม้เหล่านั้นเติบและเบ่งบาน”
“ISAAN PRIDE” นับว่าเป็นก้าวแรกในการเติบโตและเบ่งบานของความหลากหลายในอีสาน ซึ่งภายในงานเต็มไปด้วยความสนุกสนานและสีสันแหล่งความหลากหลายของศิลปะวัฒนธรรมอีสาน และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ อย่างการแต่ง Drag Queen หรือกลุ่มคนที่กายเป็นชาย แต่มีความสามารถแต่งตัวแปลงร่างเป็นผู้หญิงได้อย่างสวยงาม หรือ “Dressed Resembling A Girl” หรือ “แต่งตัวเหมือนผู้หญิง” ซึ่งเป็นอีกสีสันหนึ่งภายในงาน
บริพัฒน์ เยาวพันธ์ หนึ่งใน Drag Queen แห่งแดนอีสานที่รวมงาน เล่าว่า
“Drag Queen ก็นับว่าเป็นอีกรูปแบบของความหลากหลาย ซึ่งงาน Isaan Pride ทำให้เรารู้สึกว่ามีตัวตนและมีพื้นที่ที่จะแสดงตัวตนออกมาได้ เพราะในวันธรรมดาเราก็คงไม่สามารถแต่ง Drag ออกมาแล้วบอกทุกคนว่ามี Drag Queen อยู่ในอีสานด้วย แต่พอมีงาน Isaan Pride ทำให้เราสามารถแสดงตัวตนได้”
การเกิดขึ้นของกิจกรรม Pride Month แม้จะเป็นกิจกรรมสำคัญของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) แต่หลายคนก็มองว่ากิจกรรมนี้ ไม่ใช่เพียงกิจกรรมของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น โดยเฉพาะในไทย Pride Month ถือเป็นของการยอมรับความหลากหลายทุกรูปแบบ ที่เกิดขึ้นและกระจายไปในหลายพื้นที่ทุกภูมิภาค เหนือ อีสาน กลาง ใต้ จนเป็นเสมือนความหวังครั้งใหม่ในการเปิดประตูความเข้าใจและโอกาสทางสังคมของทุกผู้คนที่มีความหลากหลายทุกมิติ ให้ได้มีที่ยืนและถูกมองเห็นมากยิ่งขึ้น
“เรามองว่า Pride Month ในไทยมันเป็นเรื่องที่ดีมากที่เกิดขึ้น อย่างที่บอกว่ามันเป็นจุดแรก ก้าวแรกที่จะทำให้เกิดการโอบรับความหลากหลายในทุกมิติที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ตอนนี้งาน Pride ทั่วโลกมันถูกขยายขอบเขตออกให้มากกว่าความหลากหลายทางเพศ แต่เป็นความหลากหลายในทุกรูปแบบ ทั้ง ด้านการแต่งกาย หรือความหลากหลายทางด้านรูปร่าง หน้าตา เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา รวมถึงวัฒนธรรม ความหลากหลายทุก ๆ อย่างเลย”
บริพัฒน์ เยาวพันธ์ ย้ำถึงพลังสร้างสรรค์ที่ส่งต่อจากกิจกรรมPride Month
อาจารย์ชีรา ทองกระจาย เครือข่ายความหลากหลายทางเพศอีสาน (IGDN) เล่าต่อว่า งานIsaan Pride 2022 ที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยขอนแก่นคือจุดหนึ่งที่บอกว่า ความหลากหลายไม่ได้จำกัดแค่เรื่องเพศ
“เราอยากให้งาน Pride เป็นการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของทุก ๆ คน ที่ภูมิใจในความเป็นตัวของตัวเอง ไม่ว่าคุณจะเป็นกลุ่มไหน เพศไหน พูดภาษาอะไร เป็นคนไทยหรือไม่ ทุกคนควรได้เฉลิมฉลองภาคภูมิใจในตัวเอง เราไม่จำเป็นต้องไปแบ่งแยก เราต้องมองว่าทุกคนเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมกัน และอยากให้ทุกคนมีพื้นที่อย่างงาน Pride เป็นการออกมายืนยันตัวตนของตัวเอง และร่วมเฉลิมฉลองร่วมกันว่านี่คือสังคมของเราเป็นสังคมของทุก ๆ คน”
Isaan Pride 2022 นับเป็นจุดเริ่มต้นการสร้างความเข้าใจ การยอมรับการมีอยู่ของความหลากหลาย และเปิดพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันให้เห็น “อีสาน” ในมุมมองใหม่ อีสานที่มีความหลากหลาย มีความงดงาม “เป็นตาออนซอน” ของผู้คนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเพศ ภาษา วัฒนธรรม ช่วงวัย และอื่นใด โดยที่ทั้งหมดนี้มีความต้องการร่วมกันที่จะยืนหยัดถึงคุณค่าตัวตนที่ไร้ข้อจำกัดด้วยรูปลักษณ์ และมายาคติ เพราะทุกคนต่าง หลากหลาย เท่าเทียม ซึ่งเหล่านี้คือเมล็ดพันธุ์ คือหน่ออ่อนทางความคิด ที่หยั่งรากลงและกำลังจะเติบโตเบ่งบานในอีสานบ้านข้อย “ออนซอนเด้”