คนเท่ากัน : เราต่าง (ไม่) เหมือนกัน

คนเท่ากัน : เราต่าง (ไม่) เหมือนกัน

มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์และภาคีเครือข่าย จัดวงคุยแลกเปลี่ยนร่วมกับเครือข่ายคนทำงานด้านสื่อในภาคอีสาน ณ ร้านหนังสือ Abdul Book อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เพื่อรับฟังติดตามสถานการณ์และร่วมผลักดันประเด็นการแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มคนเปราะบางในสังคม โดยมีเครือข่ายคนทำงานด้านสื่อในภาคอีสาน สื่อภาคประชาสังคม และเครือข่ายสื่อภาคประชาชนที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนร่วมแลกเปลี่ยน

“ความแตกต่าง”ความหลากหลาย” เป็นอีกคำที่หลายคนได้ยินกันบ่อยขึ้นในปัจจุบัน แม้จะมีการพูดถึงและพยายามทำความเข้าใจร่วมกันในสังคมวงกว้าง ควบคู่กับการสร้างค่านิยมใหม่ต่อความแตกต่างหลากหลายในมิติต่าง ๆ แต่ด้านหนึ่งกลับยังพบว่ายังมี “การตีตรา” และ “เลือกปฏิบัติ” ต่อบุคคล กลุ่มบุคคล ที่มี เพศ เชื้อชาติ ศาสนา ภาษา รูปร่าง หน้าตา และอายุ ที่ไม่เหมือนกัน จนอาจนำไปสู่การลิดรอนการละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคล สิทธิมนุษยชน และสิทธิชุมชน

นพพล ไม้พลวง เจ้าหน้าที่ทีมสื่อสาร มูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ บอกว่า เป้าหมายของการจัดวงคุยแลกเปลี่ยนในครั้งนี้ คือการหารือเพื่อวางแผนการทำงานร่วมกันของเครือข่ายคนทำงานด้านสื่อในภาคต่าง ๆ โดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันประเด็นการแก้ปัญหาการเลือกปฏิบัติกับกลุ่มเปราะบางในสังคม ทั้ง ผู้ติดเชื้อ HIV กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ คนพิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และแรงงานข้ามชาติ

“ก่อนหน้านี้ เรามีความพยายามผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล ฉบับประชาชน เพื่อเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร แต่ตอนนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้า จึงคิดว่าต้องผลักดันเรื่องนี้กันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจต่อสังคมและฝ่ายการเมืองครับ เพราะเราคิดว่าการมีกฎหมายอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องการตีตราและการเลือกปฏิบัติในสังคม ดังนั้นเราคิดว่าอีกบทบาทหนึ่งคือการสื่อสาร น่าจะมีพลังมากพอที่จะทำให้คนในสังคมรับรู้ เข้าใจ และลดการเลือกปฏิบัติได้ครับ”

ข้อมูลจากมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ยังพบว่า การเลือกปฏิบัตินั้นเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชน ทำให้ทางมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ และภาคีเครือข่ายร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข พัฒนาระบบรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองการละเมิดสิทธิในพื้นที่ต้นแบบ 17 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานครฯ , ชลบุรี , ลำพูน , พะเยา , เชียงใหม่ , ตราด , นครปฐม , นครศรีธรรมราช , นนทบุรี , ปทุมธานี , ระยอง , สงขลา , สมุทรสาคร , สมุทรปราการ , สุราษฎร์ธานี , อุดรธานี , อุบลราชธานี ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมขยายพื้นที่เพิ่ม  รวมถึงมีการพัฒนารูปแบบกลไกการดำเนินงานลดการตีตราและเลือกปฏิบัติผ่านช่องทางออนไลน์ https://crs.ddc.moph.go.th/  เพียงพิมพ์คำว่า “สวัสดีปกป้อง”  หรือ (https://crs.ddc.moph.go.th/) เพื่อเป็นช่องทางรับเรื่องร้องเรียน

“สวัสดีปกป้อง” (https://crs.ddc.moph.go.th/)  คือระบบรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่คอยให้คำแนะนำด้านกฎหมาย ข้อบังคับต่าง ๆ และมีทีมดำเนินงานเชิงรุกในพื้นที่ ประกอบด้วย อัยการจังหวัด และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการถูกเลือกปฏิบัติและการถูกตีตราของผู้ที่เข้ามาร้องเรียน โดยก่อนหน้านี้มีผู้ร้องเรียนเข้ามาหลายกรณี เช่น ผู้มีความหลากหลายทางเพศ ในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี ไม่สามารถบริจาคเลือดได้ หรือผู้ติดเชื่อเอชไอวีถูกปฏิเสธรับเข้าทำงาน ไม่มีโอกาสเติบโตในหน้าที่การงาน หรือนายจ้างที่บังคับให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศแต่งกายเป็นหญิงหรือชายตามเพศกำเนิดเท่านั้น

ภาพโดย : mediastock.thaipbs

ประเทศไทยเป็น 1 ในประเทศที่ให้การรับรองปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ปี 2491 แต่ในทางปฏิบัติยังปรากฏการละเมิดสิทธิมนุษยชนในหลายลักษณะ การร่วมมือสร้างความเข้าใจผ่านการเรียนรู้ร่วมกันของสังคมจึงเป็นอีกความพยายามในการลดผลกระทบจากการเลือกปฏิบัติ และการตีตรา ทั้งในระดับบุคคล ชุมชน และสังคม

ภาพโดย : mediastock.thaipbs

แม้จะมีความพยายามร่วมกันเพื่อพัฒนายกระดับความเข้าใจของสังคมวงกว้างเรื่องความแตกต่างหลากหลาย แต่การตีตราและการเลือกปฏิบัติยังคงเป็นอีกหนึ่งความจริงที่ยังมีอยู่ การเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การยอมรับ นับถือและมองทุกคนรวมถึงตัวเองว่า “เราต่างเท่ากัน” อาจจะเป็นกลไกระดับบุคคลที่ร่วมสร้างความเท่าเทียม แต่อย่างไรก็ตามในระดับนโยบาย ยังมีโจทย์ที่ต้องเร่งดำเนินการเพื่อสร้างความเข้าใจในระดับโครงสร้างทางสังคม เพื่อยืนยันและนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและปฏิบัติต่อบุคคลอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค เพราะ คนเท่ากัน และ เราต่าง (ไม่) เหมือนกัน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ