เสื้อผ้าจากเส้นใยกล้วย

เสื้อผ้าจากเส้นใยกล้วย

กล้วยทำอะไรได้มากกว่ากิน

ถ้าให้พูดถึงลำดับรายการพืชที่พบได้บ่อยตามทุกบ้านทุกแห่งหน ย่อมมีชื่อของ “กล้วย (Banana, Musa sapientum L.)” ผุดขึ้นมาเป็นลำดับต้น ๆ

เนื่องจากกล้วยเป็นพืชเมืองร้อนที่สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทยและการปลูกไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน ใช้พื้นที่การเพาะปลูกไม่มาก ประชาชนทั่วไปสามารถเพาะปลูกได้ โดยที่กล้วยสามารถใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วนของตัวมันเอง ส่วนผลมีคุณค่าทางโภชนาการที่สูง ราคาย่อมเยา และสามารถใช้รักษาโรคได้หลายโรค อาทิ โรคกระเพาะอาหารอักเสบเป็นแผล แก้ท้องอืด แก้ท้องเสีย เป็นต้น ส่วนของลำต้นสามารถนำมาทำเป็นเส้นใยในการทอผ้าและทำเป็นส่วนผสมในอาหารเลี้ยงสัตว์ ส่วนของใบและกาบกล้วยใช้ในการทำสิ่งห่อหุ้มอาหารและขนมต่าง ๆ

ทั้งยังนำไปประดิษฐ์เป็นส่วนหนึ่งของบายศรี กระทงและสิ่งของมากมายในงานเทศกาล ประเพณีไทยต่าง ๆ ซึ่งพบเห็นได้ตลอด จะเห็นได้ว่ากล้วยสามารถทำประโยชน์ได้หลากหลายมากกว่าการกิน แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันกลับพบว่าเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยส่วนใหญ่พบปัญหาในการแปรรูปส่วนต่าง ๆ ที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตของกล้วย ซึ่งเป็นปัญหาที่ไม่กล้วย ดังชื่อเสียแล้ว

“เนื่องจากกล้วยเป็นพืชเมืองร้อนที่สามารถปลูกได้ในทุกพื้นที่ของประเทศไทยและการปลูกไม่ยุ่งยาก ไม่ซับซ้อน ใช้พื้นที่การเพาะปลูกไม่มาก ประชาชนทั่วไปสามารถเพาะปลูกได้”

กล้วยเป็นพืชที่พบเห็นได้แทบทุกบ้าน

สถานการณ์ของกล้วยจะลื่นไหลหรือล้ม!

ปัจจุบันกระแสการบริโภคกล้วยเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงามและทันสมัย โดยการ
วางจำหน่ายในร้านสะดวกซื้อและในห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นการกระจายสินค้าถึงมือผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง ประกอบกับสามารถนำไปเป็นวัตถุดิบต่าง ๆ รวมทั้งกระแสรักสุขภาพมาแรง ทำให้ความนิยมบริโภคกล้วยหอมขยายตัวอย่างกว้างขวางในเวลานี้ จังหวัดปทุมธานีถือว่าแหล่งปลูกกล้วยขนาดใหญ่ที่สุดในภาคกลาง

โดยมีผลผลิตกล้วยหอมปทุม 27,491.82 ตัน กล้วยน้ำว้า 17,099.16 ตัน (สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดปทุมธานี ,2564) โดยกล้วยหอมปทุมถือเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดปทุมธานีและขึ้นทะเบียนเป็นพืชสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications: GI) กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์

เนื่องจากสถานการณ์ของราคากล้วยที่พุ่งขึ้นสูงทำให้เกษตรกรหันมาปลูกกล้วยเพิ่มมากยิ่งขึ้น โดยการปลูกกล้วยเพื่อนำผลผลิตไปขาย โดยส่วนที่เหลือจากการเก็บเกี่ยว อาทิ ลำต้น ใบและกาบใบ ไม่สามารถจำหน่ายต่อได้ในทุกรอบของการเพาะปลูก เกษตรกรจะต้องเสียเงินและแรงงานในการกำจัดทิ้งเพื่อเตรียมแปลงสำหรับในการเพาะปลูกกล้วยรอบต่อไป ซึ่งทางเกษตรกรมีแนวทางในการที่จะนำส่วนเหลือดังกล่าวไปแปรรูปหรือเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ แต่ไม่สามารถจัดหาช่องทาง การประสานงานกับโรงงานอุตสาหกรรมในการแปรรูปได้ จึงร่วมตัวกันคิดค้นแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าวขึ้นมา

“จังหวัดปทุมธานีถือว่าแหล่งปลูกกล้วยขนาดใหญ่ที่สุดในภาคกลาง โดยมีผลผลิตกล้วยหอมปทุม  27,491.82 ตัน กล้วยน้ำว้า 17,009.16 ตัน”

กล้วยหอมทองปทุมธานี

ผ้าจากเส้นใยกล้วย ช่วยเกษตรกรบนความสวยงาม

จากปัญหาข้างต้นที่กล่าวมาทางสภาเกษตรกรจังหวัดปทุมธานีโดยสำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดปทุมธานี ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ได้ส่งเสริมพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือในการแปรรูปส่วนที่เหลือทิ้งจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตกล้วย ภายใต้โครงการ “การให้บริการให้คำปรึกษาการพัฒนากระบวนการผลิตเส้นใยยาวเพื่อการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากเส้นใยกล้วย” โดยมีเป้าหมายคือ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตการเกษตรแสงตะวัน หมู่ที่ 1 ตำบลกระแชง อำเภอสามโคก จังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีการแปรรูปลำต้นกล้วยให้เป็นเส้นใยที่ใช้ในการทอผ้า ทำเป็นเครื่องนุ่งห่ม เครื่องประดับ สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาข้างต้น และเป็นการต่อยอดหารายได้เสริมของเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยในช่วงที่รอเวลาเก็บเกี่ยวผลผลกล้วยรอบใหม่

“ทางกลุ่มได้ให้เกษตรกรที่ปลูกกล้วยนำลำต้นกล้วยที่เหลือจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตมาจำหน่าย และทางกลุ่มได้รวมตัวกันของผู้ที่อาศัยในพื้นที่มาช่วยกันทำเส้นใยในการทอผ้าจนเป็นผ้าผืนหนึ่งซึ่งสามารถนำไปตัดเป็นชุดและเครื่องประดับต่าง ๆ ซึ่งใช้เวลาประมาณหนึ่งกว่าจะได้ชุดสัก 1 ชุด ในอนาคตตั้งใจไว้ว่าอยากจะส่งเสริมให้เสื้อผ้าจากใยกล้วยเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัดปทุมธานีเหมือนผ้าชนิดอื่น ๆที่เป็นอัตลักษณ์ประจำจังหวัดต่าง ๆ โดยที่ทางกลุ่มมีแนวทางที่จะนำลายสัญลักษณ์ประจำจังหวัดมาทอเป็นลวดลายในเสื้อผ้าเป็นหน้าเป็นตาของจังหวัดปทุมธานี และหากมีโอกาสอยากจะพัฒนาพื้นที่ในกลุ่มให้เป็นศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดการทอผ้าจากเส้นใยกล้วยสำหรับผู้ที่สนใจอีกด้วย” คุณบุญนภา บัวหลวง ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปผลผลิตการเกษตรแสงตะวันได้กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ของทางกลุ่มสามารถ ติดต่อได้ทางเบอร์โทรศัพท์ 094-4386587 (คุณบุญนภา บัวหลวง)

“ทางกลุ่มมีแนวทางที่จะนำลายสัญลักษณ์ประจำจังหวัดมาทอเป็นลวดลายในเสื้อผ้าเป็นหน้าเป็นตาของจังหวัดปทุมธานี และหากมีโอกาสอยากจะพัฒนาพื้นที่ในกลุ่มให้เป็นศูนย์เรียนรู้และถ่ายทอดการทอผ้าจากเส้นใยกล้วยสำหรับผู้ที่สนใจอีกด้วย”

ตัวอย่างผลิตภัณฑ์จากใยกล้วย

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ