สรุปปี 64 แรงงานเพื่อนบ้าน : ชีวิตคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เราผ่านอะไรมา ปี 65 จะไปทางไหนกัน?

สรุปปี 64 แรงงานเพื่อนบ้าน : ชีวิตคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง เราผ่านอะไรมา ปี 65 จะไปทางไหนกัน?

สองปีวิกฤติการแพร่ระบาดไวรัสโควิด – 19 และกำลังย่างก้าวเข้าปีที่สาม ประชาชน คนทำงานต่างได้รับความเดือนร้อน วิถีชีวิต วิถีการทำงานที่เปลี่ยนไป สถานประกอบการถูกสั่งปิด มีคนทำงานในภาคส่วนต่างๆ ต้องตกงาน  ต้องดิ้นรนหารายได้ เพื่อให้ตนและครอบครัวมีชีวิตรอด หนึ่งกลุ่มใหญ่ของคนทำงานที่ได้รับความเดือนร้อนอย่างสาหัสไม่ต่างกันก็คือแรงงานข้ามชาติ ที่ต้องประสบปัญหาตกงาน ขาดรายได้ ทั้งยังเข้าไม่ถึงสิทธิและการช่วยเหลือการเยียวยาของภาครัฐไทย ด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติสัญชาติ ที่พวกเขาถูกตีตราว่าเป็น “ต่างด้าว”  

ทางเครือข่ายแรงงานภาคเหนือร่วมกับคุณออมสิน บุญเลิศ ลงพื้นที่เก็บข้อมูลสัมภาษณ์แรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายและได้พบปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อแรงงานข้ามชาติหลายประเด็น ซึ่งคุณออมสินได้รายงานสถานการณ์ของแรงงานข้ามชาติ ในหัวข้อ “สถานการณ์แรงงานข้ามชาติในวิกฤติโควิด 19” ในวันที่ 18 ธันวาคม2564 เวทีเสวนา “วันแรงงานข้ามชาติสากล”

ออมสิน บุญเลิศ

นักวิจัยประจำศูนย์วิจัยนวัตกรรมเชิงสังคมพื้นที่ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

จากการพูดคุยกับแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย พบว่าโจทก์ใหญ่คือแรงงานข้ามชาติกับวิกฤติโควิด ที่ทุกคนต้องเผชิญในช่วงการระบาดโควิดที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2562 ต่อยาวมาถึงตอนนี้ ช่วงมีการระบาดหนักจริงๆ คือช่วงปี 2563  และสิ่งที่เราได้ยินมาโดยตลอดก็คือคำสั่งต่างๆ ของรัฐบาล โดยช่วงแรกมีคำสั่งล็อกดาวน์ การใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และเรื่องของการเยียวยา มีคำสั่งปิดพื้นที่เสี่ยง เรื่องของการเจ็บป่วย การรักษา และการเสียชีวิตของผู้คน แต่เรื่องราวของแรงงานข้ามชาติแทบจะไม่มีการพูดถึงหรือให้ความสนใจเลย

“หกโครงการเยียวยาในวงกลม (มุมบนซ้ายมือ) แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับแม้แต่อย่างเดียว” 

แต่ในขณะเดียวกันสิ่งที่เกี่ยวข้องกับการระบาดโควิด ก่อนช่วงสงกรานต์ปี 63 กับมีข่าวสารที่พาดหัวข่าวว่า “แรงงานข้ามชาติแห่กลับบ้านหนีโควิด” ในความเป็นจริงแล้วอาจมีเงื่อนไขอื่นๆ หรือไม่ ที่แรงงานต้องกลับบ้าน แม้ว่าแรงงานข้ามชาติจะได้รับความสนใจมากขึ้น แต่มันก็เป็นภาพที่ไม่ต่างกันนักหรืออาจทำให้สถานการณ์แย่ลงก็ได้ คือการพบผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิดในพื้นที่ที่มีแรงงานทำงานเป็นจำนวนมากนั้นคือตลาดกุ้งที่มหาชัย และต่อมาพบในสถานที่ทำงานก่อสร้างทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและในหลายพื้นในช่วงสงกรานต์ปี 2564

เจ้าหน้าที่และหน่วยงานภาครัฐที่ทำงานกับเรื่องนี้โดยตรง สิ่งที่เขาสนใจและพูดถึงก็คือ การขึ้นทะเบียนแรงงาน และการมีงานทำของแรงงาน ถ้าเราดูตัวเลขสัดส่วนการมีงานทำของแรงงานข้ามชาติจากกราฟจะเห็นว่าตัวเลขลดลงจาก 6.10 เปอร์เซ็นในช่วงกลางปี 63 และจำนวนลดลงเหลือ 4.28 เปอร์เซ็นในช่วงกลางปี 64

ซึ่งทางภาครัฐมองว่าสัดส่วนการทำงานลดลงนั้นหมายความอาจจะมีแรงงานว่างงานมากขึ้น หรือแรงงานกลับบ้านมากขึ้น ตรงนี้เป็นสิ่งที่เรื่องราวแรงงานถูกพูดถึงหรือถูกมองจากสังคมไทย จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการตั้งคำถามว่าในท้ายที่สุดแรงานข้ามชาติที่ยังอยู่ในประเทศไทย เขาดิ้นรน หรือเอาชีวิตรอดภายใต้สถานการณ์ที่เกิดขึ้น และท่ามกลางทั้งการระบาดโควิดและการรับมือของรัฐบาลไทยอย่างไร

จากที่ได้ไปรวมรวบข้อมูลส่วนหนึ่งก็พบว่า นโยบายต่างๆ การจัดการโควิดและที่เกี่ยวข้องกับแรงงานข้ามชาติ พบว่าภาครัฐเองรับมือด้วยความกลัว กลัวทั้งโรค กลัวทั้งคนเป็นโรค และยังมองว่าแรงงานข้ามชาติอาจเป็นคนที่ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งเห็นได้ชัดจากการประกาศ “ระงับการเคลื่อนย้ายคนงานต่างด้าว – จนกว่าสถานการณ์โควิด 19 จะคลี่คลาย” ซึ่งประกาศนี้ออกมาตั้งแต่ช่วงแรกในการมีนโยบายควบคุมและยับยั้งการแพร่ระบาดโควิดในประเทศ  ในขณะเดียวกันสภาพความเป็นอยู่หรือผลกระทบการจ้างงานที่แรงงานข้ามชาติกำลังเผชิญอยู่กลับไม่ถูกพูดถึง เมื่อมองว่าแรงงานข้ามชาติอาจจะนำโรคหรืออาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคได้ มันก่อให้เกิดการตอกย้ำกับความกลัว ให้เกิดความรู้สึกที่มองว่าคนเหล่านี้กำลังคุกคามความเป็นอยู่ที่ดีของชาติ

กลุ่มแรงงานข้ามชาติเป็นกลุ่มคนที่ต้องเผชิญความเสี่ยง นั้นหมายความว่ากลุ่มแรงงงานข้ามชาติมีความเปราะบางมากขึ้นทั้งในเรื่องของการจ้างงานและเรื่องของสุขภาพ สิ่งเหล่านี้ที่แรงงานต้องเจอเป็นสิ่งใหม่หรือเปล่า ส่วนตัวคิดว่าเป็นสิ่งที่รัฐเองทำตัวเหมือนไม่รู้ แต่ก็ยังทำ และเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ในส่วนต่อไปนี้คิดว่าจะทำให้ชัดเจนมากขึ้น สิ่งที่รัฐพยายามไม่พูดถึง แต่ความเป็นจริงไม่สามารถที่จะไม่พูดถึงได้ เพราะอย่าลืมว่าเราทุกคนอยู่ด้วยกัน เพราะแรงงานข้ามชาติก็เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่ไม่สามารถแยกขาดจากกันได้

จากที่มีโอกาสได้พูดคุยกับแรงงานข้ามชาติจำนวนหนึ่ง อยากจะสรุปจากคำถามแรกว่า “แรงงานข้ามชาติเค้าอยู่กันอย่างไรในท่ามกลางการแพร่ระบาดโควิด ท่ามกลางการดำเนินนโยบายภายใต้ความกลัวคนอื่น ภายใต้การมองคนที่เป็นแรงงานข้ามชาติอาจจะนำความเสี่ยงภัยคุกคามอันตรายต่อสุขภาพของประเทศ แรงงานใช้ชีวิตอยู่กันอย่างไร”

มีหลายเรื่องที่อยากจะชวนไม่ว่าจะเป็นแรงงาน นายจ้าง หรือคนที่มีเพื่อนที่เป็นแรงงานช่วยกันทบทวนดูว่าเรื่องราวที่เราได้ไปคุยกับแรงงานจำนวนหนึ่งมันสะท้อนถึงปัญหาของคนรู้จักหรือปัญหาของเราอย่างไรบ้าง   

เรื่องแรกกับความพยายามของรัฐในการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติ สิ่งที่แรงงานข้ามชาติต้องเจอตลอดเวลาภายใต้ระเบียบต่างๆ คือการเป็นแรงงานข้ามชาติแบบชั่วคราว แต่ไปใส่ในวงเล็บว่าถาวร แต่ในความเป็นจริง ความชั่วคราวของแรงงานข้ามชาติในประเทศไทย ก็สิบปี ยี่สิบปี แบบนี้จะยังเรียกว่าชั่วคราวกันอยู่หรือไม่  สิ่งต่อมาคือการขึ้นทะเบียนแรงงานภายใต้ความคิดของรัฐที่มองว่าการไม่มีแรงงานต่างด้าว (ใช้ภาษาของรัฐ) ที่ผิดกฎหมาย คือจะทำให้ประเทศไทยไม่มีโควิด และสุดท้ายคือขั้นตอนและกระบวนการที่ซับซ้อนและการแบ่งกลุ่มกลุ่มแรงงานหลายประเภท

เสียงสะท้อนจากแรงงานเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายจำนวนมากในการทำบัตร ซึ่งเป็นการตอกย้ำว่าการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติในปัจจุบันนี้เป็นการผลักภาระให้กับแรงงานและนายจ้าง ถึงแม้ว่ารัฐจะเชื่อว่าค่าใช้จ่ายต่างๆ นายจ้างต้องเป็นคนจ่าย แต่ความเป็นจริงแรงงานเป็นคนจ่ายเองและจ่ายมานานแล้วและก็ต้องจ่ายต่อไป

สิ่งที่เราเห็นในข่าวสาร สื่อ พาดหัวข่าว และประกาศต่างๆ พูดถึงแรงงานข้ามชาติว่าเข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือนำไปสู่การแพร่ระบาดของโรคโควิด การตรวจค้นหาแรงงานที่ไม่มีเอกสารตามกฎหมาย เราจะเห็นป้ายเตือนว่า “ไม่จ้างแรงงานที่ลักลอบเข้าเมือง หรือว่าแรงงานที่ไม่เอกสาร”  แต่เรื่องที่แรงงานข้ามชาติต้องเจอในระหว่างการแพร่ระบาดโควิด การถูกเลิกจ้าง หรืออยู่ในหอพักที่ไม่มีพื้นที่ ที่จะสามารถ Social distancing กลับไม่มีการพูดถึง

อย่างกรณีที่แกนนำแรงงานไปเจอมามีแรงงานคนหนึ่งพักอยู่ที่หอพักหนึ่งในอำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ ที่หอพักของเธอมีคนติดโควิด ซึ่งแน่นอนเมื่อมีคนติดโควิด ทางสาธารณสุขก็เข้าไปตรวจเชิงรุกซึ่งเป็นสิ่งที่ดี แต่แรงงานถูกขอให้แสดงบัตรและมีแรงงานสองคนไม่สามารถแสดงบัตร คนหนึ่งไม่สามารถแสดงบัตรได้เพราะบัตรไม่ได้อยู่กับตัว อีกคนไม่มีบัตรเพราะระยะเวลาที่รัฐเปิดให้ขึ้นทะเบียนนั้นเขาทำไม่ทัน

แรงงานที่สามารถขึ้นทะเบียนได้ มีบัตร แต่ด้วยเงื่อนไขสภาพเศรษฐกิจมันแย่ ถูกเลิกจ้าง ต้องทำงานที่ได้ค่าจ้างน้อยลงเพราะว่าไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม ตัวแรงงานรู้ว่าตัวเองมีสภาวะที่กำกวมระหว่างการถูกกฎหมายและผิดกฎหมายสะท้อนให้เห็นว่าการมีบัตร ใบอนุญาตทำงานของแรงงานไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เป็นจริงที่แรงงานต้องเจอไม่สามารถคุ้มครองหรือเข้าถึงสิทธิและมีสถานภาพที่ต่อรองได้มากนัก

ทำไมแรงงานข้ามชาติถึงกลัวและหวาดระแวง เพราะมีความย้อนแย้งที่เกิดขึ้นกับภาครัฐ ทางกระทรวงแรงงานประกาศผ่อนผันให้แรงงานข้ามชาติอยู่ไทยได้เพื่อป้องกันโควิดและลดการขาดแคลนแรงงาน แต่ในขณะเดียวกันก็มีชุดตรวจสอบการทำงานของคนต่างด้าว โดยชุดตรวจนี้ประกอบไปด้วยสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงตรวจสอบคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่ใช่เจ้าหน้าที่ที่ทำงานในการตรวจสอบการทำงานของแรงงาน  ยอมรับการเข้ามาเพราะความศักยภาพของแรงงาน ยอมรับว่าเขาสามารถเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศได้ แต่ในทางกลับกันก็ปฏิบัติกับพวกเขาด้วยความหวาดระแวง ด้วยความกลัว มองว่าอยู่กับพวกเขาแล้วไม่ปลอดภัย

การขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติเป็นเครื่องมือของรัฐ แต่ก็อย่าลืมว่าก็เป็นเครื่องมือสำหรับแรงงานข้ามชาติที่จะใช้เพื่อเข้าถึงสิทธิ ทรัพยากร และเข้าถึงงานเพื่อให้มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น

การเยียวยาการผลกระทบจากโควิด “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” แต่แรงงานข้ามชาติกับถูกยกเว้น ไม่ถูกมองเห็น และไม่ถูกรวมไว้ในกลุ่มใดที่รัฐจะไม่ทิ้งไว้ข้างหลัง  จากภาพข่าวรัฐมนตรีแรงงานก็ออกตัวเต็มที่ว่า “เราจะไม่นำเงินกู้ไปเยียวยา มาตรา 33 ทุกเชื้อชาติ ชี้ว่าตอนเป็นหนี้เขาไม่ได้มาเป็นกับเรา” ต้องช่วยกันให้ข้อมูลความรู้เขาว่า แรงงานไม่ได้มีส่วนร่วมทำให้เศรษฐกิจดี ไม่ได้ทำให้รัฐสามารถใช้หนี้ที่กู้มาได้หรือ แรงงานอยู่ในระบบประกันสังคมและมีส่วนร่วมตรงนี้ แต่ทำไมแรงงานข้ามชาติกลับถูกบอกว่าไม่ควรได้รับ

แรงงานภาคบริการ สถานประกอบการถูกสั่งปิดตั้งแต่แรกจนถึงปัจจุบัน แรงงงานภาคบริการ 80 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้หญิง เป็นเสาหลักของครอบครัว ที่มีภาระต้องดูแลครอบครัวแทบทุกด้าน สิ่งหนึ่งที่ดึงออกมาจากการพูดคุยคือ คนงานที่ต้องไปทำงานข้างนอก มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น  

สิ่งหนึ่งที่แรงงานอยากสะท้อนคือการเยียวยา การเยียวยาเดียวที่มีคำถามว่าทำไมเขาไม่ได้ เขาส่งเงินสบทบเข้าประกันสังคมมาตรา 33

แอนทำงานที่ร้านแคนดูบาร์ อยู่ในระบบประกันสังคม ได้เงินชดเชยจากการสั่งปิดกิจการชั่วคราว 90 วันแต่มันไม่พอเพราะตอนนี้ร้านยังไม่เปิดเลย

อีกกรณีแรงงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม แต่เมื่อไม่มีงาน ไม่ได้การเยียวยาจากประกันสังคม ในช่วงนั้นมหาวิทยาลัยสถานที่ที่ถูกส่งให้ไปทำงานปิด ทางบริษัทให้สลับไปทำงาน และให้ไปทำงานอีกพื้นที่หนึ่งซึ่งอยู่นอกเหนือจากข้อตกลง และสุดท้ายคนงานถูกเลิกจ้างโดยไม่จ่ายค่าชดเชยโดยได้รับเหตุผลว่ามหาวิทยาลัยต้องการลดคนงานและคนงานมาทำงานส่วนรวมช้า

กับคำถามว่าเคยคิดเปลี่ยนงานหรือไม่ แรงงานตอบว่าเคยคิดเปลี่ยนงานต้องการมีรายได้ที่มากขึ้นเพราะมีภาระ แต่ก็มองว่างานที่ทำอยู่นี่ยืดหยุ่นเธอสามารถพาลูกไปที่ทำงานได้

การเข้าถึงวัคซีน การเข้ารักษา แรงงานเข้าถึงวัคซีนได้ช้า ทำให้มีแรงงานมีความเสี่ยงมาก  มีการทำ Q&A  ไขข้อข้องใจของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรติดเชื้อไวรัศโคโรนา 2019 เป็นข้อมูลเพิ่งถูกทำเมื่อเดือนเมษายน 2564 โดยตั้งคำถามว่า “รัฐบาลจะจัดวัคซีนให้กับแรงงานข้ามชาติหรือเปล่า”  ซึ่งรัฐบาลตอบว่า “กำลังดำเนินการตามลำดับ”  ตามลำดับในที่นี่ตามที่เรารู้กัน “ รอไปก่อน ให้คนไทยก่อน”

ซึ่งการที่แรงานได้รับวัคซีนช้า ในขณะที่มีการระบาดโควิดมากขึ้น ทำให้แรงงานเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย และยังเสี่ยงต่อการถูกตีตรา เพราะรัฐและสังคมไทยมีความกลัวต่อแรงงานข้ามชาติ อย่างกรณีที่เกิดขึ้นกับคุณคำ ที่ทำงานของเธอถูกสั่งปิดเพราะมีคนติดโควิด เมื่อพ้นกำหนดกักตัวมีมาตรการตรวจหาเชื้ออีกครั้ง แต่ทางหัวหน้างานกับแจ้งว่าจะตรวจเฉพาะแรงงานข้ามชาติเท่านั้น

แม้แต่พื้นที่ที่แรงงานเข้าถึงวัคซีนและการรักษาได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายหากไม่มีองค์กรภาคประชาสังคมที่เข้าไปช่วยเหลือเพราะยังมีช่องว่างของการสื่อสาร ซึ่งมีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนกับศูนย์ช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติที่จังหวัดเชียงราย ที่ศูนย์ฯ ทำหน้าที่ช่วยเหลือประสานงาน ส่งข้อมูลคนป่วย  call center และรับส่งผู้ป่วย ปัญหาที่พบคือไม่มีการอธิบายเกี่ยวกับยาที่ใช้กับคนป่วยและขั้นตอนการรักษา เจ้าหน้าที่นำยาไปวางไว้ซึ่งเป็นภาษาไทย แรงงานอ่านไม่เข้าใจ อธิบายให้ฟังแรงงานก็ไม่เข้าใจเพราะมีข้อจำกัดทางภาษา การเข้าไม่ถึงเรื่องของการสื่อสาร อาจทำให้แรงงานได้รับการรักษาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่

แรงงานทุกคนกลัวโควิดไม่ต่างกับทุกคน ไม่ควรนำการฉีดวัคซีนมาเป็นเงื่อนไขการจ้างงาน กรณีของคุณคำนายจ้างซื้อวัคซีนให้เพราะที่สวนดอกไม้มีคนติดโควิด คุณคำกลัวที่จะต้องฉีดวัคซีนเพราะมีโรคประจำตัว แต่นายจ้างบอกว่าใครไม่ฉีดวัคซีนก็ไม่ต้องมาทำงาน และกรณีของคุณแก้วที่พยายามลงทะเบียนฉีดวัคซีนฟรีแต่ก็มีความล่าช้า จึงต้องยอมจ่ายเงินซื้อวัคซีนทางเลือกโดยนำทองไปขายเพราะมองว่าหากไม่ได้ฉีดวัคซีนอาจส่งผลกระทบต่อการต่อบัตร (ใบอนุญาตการทำงาน)

หรือกรณีของคุณไหมที่ป่วยติดเชื้อโควิดและรักษาหายแล้ว และท้ายที่สุดก็ต้องฉีดวัคซีนที่ทางร้านจัดให้ เธอก็มีความกังวลที่จะต้องฉีด แต่ทางร้านก็บอกว่าทางเทศบาลมาตรวจคนทำงาน ถ้าอยากมาทำงานก็ต้องฉีด ถ้าไม่อยากฉีดก็หยุดทำงานไป  

นี่คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับแรงงานข้ามชาติที่ได้สัมภาษณ์และมีคีย์เวิร์ดที่รายล้อมในเรื่องราวเหล่านี้ โดยสรุปในส่วนของแรงงานข้ามชาติ เราจะเห็นถึงความพยายามของพวกเขาที่จะทำตามสิ่งที่รัฐออกระเบียบ รวมถึงความพยายามดูแลตนเองในระหว่างการระบาดโควิด  แต่ในขณะเดียวกันเอง ความกลัวโรคระบาด ความเป็นแรงงานต่างด้าว ความกลัวคนอื่น มันกลับถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้าง ละเลย เพิกเฉย ละเว้น ต่อการดูแลและการช่วยเหลือของภาครัฐ  

ชัชชลาวัณย์ เมืองจันทร์

เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายมูลนิธิเอ็มพาวเวอร์

เรื่องราวที่ออมสินได้เล่าให้ฟัง แรงงานทุกคนน่าจะมีความชัดเจนและเข้าใจ เพราะเป็นเรื่องของตัวแรงงานทุกคน สิ่งหนึ่งที่เราเห็นชัดเจนว่าวิกฤติในครั้งนี้ สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นมาก็คือการสร้างความกลัว เพราะสถานการณ์บางอย่างเราก็เรียกร้องกันมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องเงื่อนไข เรื่องที่เจ้าหน้าที่รัฐทำเรื่องการตรวจจับมากกว่าการตรวจคุ้มครอง แต่พอในสถานการณ์โควิดเหมือนกับแรงงานข้ามชาติถูกกระทำซ้ำ ถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งโรค เพราะรัฐไทยมองเรื่องความมั่นคง ห่วงคนในประเทศมากกว่า คนเริ่มไม่เท่ากัน ก็เลยเกิดวิกฤติแบบนี้ ไม่ว่าจะกลัวแรงงานข้ามชาติเป็นคนแพร่เชื้อ กลัวแรงงานข้ามชาติจะมาแย่งเตียงคนไข้ กลัวแรงงานข้ามชาติจะมาใช้เงินภาษีของคนไทย กลัวกระทั่งว่าจะมาแย่งวัคซีน ตามที่เห็นก่อนหน้านี้ เขาเลือกว่าใครควรเข้าก่อนเข้าหลัง มันมีแบบนี้ได้ด้วยหรือ โควิดมันไม่ได้เลือกคน

ดังนั้นเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐอยู่บนฐานความคิดแบบไหน ซึ่งเรื่องนี้มันก็ส่งผลต่อตัวแรงงานข้ามชาติด้วยที่จากเดิมที่รู้สึกว่าถูกเลือกปฏิบัติอยู่แล้ว กับตอนนี้เรารู้สึกถอยหลังลงไปอีก คือความกลัว เมื่อเราถามว่ากลัวอะไร ถ้าย้อนกลับไปสองปีที่แล้ว แน่นอนว่าเรากลัวโควิด แต่ตอนนี้เรากลัวอะไรมากกว่าโควิด เรา “กลัวอดตาย” เมื่อเรากลัวอดตาย เราต้องทำอย่างไร เราก็ต้องไปทำงานใช่ไหม ไปทำงานทั้งๆ ที่รู้ว่าทำงานผิดประเภทแน่นอน  ทำงานผิดนายจ้างแน่นอน ทำงานแบบไม่มีหลักประกันอะไรแน่นอน ช่วงเวลาการทำงานก็มากขึ้น ค่าแรงก็ถูกกด เงื่อนไขการต่อรองไม่ต้องพูดถึงถูกปิดปากปิดตาแน่นอน หากเรามีวัคซีนไม่ครบก็ยิ่งต่อสู้ต่อรองอะไรไม่ได้เลย ดังนั้นวันนี้เราสะท้อนให้เห็นปัญหาที่ทับซ้อนที่มากขึ้น เพราะว่าเราถูกเลือกปฏิบัติ สำหรับข้อเสนอของเรามีทั้งหมด 9 ข้อ ค่อนข้างจะชัดเชน เพราะส่วนใหญ่ก็จะเป็นเรื่องเดิมๆ ที่เราขอกันมาตลอด แต่ก็จะมีเรื่องวิกฤติโควิดเข้ามาก็คือเรื่องการหยุดการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเชื้อชาติ เช่นการเยียวยา การเข้าถึงวัคซีน และชุดตรวจโควิดที่จะต้องไม่ผลักภาระให้กับแรงงาน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ