คุยกับ โดม-ศิววงศ์ สุขทวี นักกิจกรรม เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน ถึงสถานการณ์แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน หลังโควิด-19 ทำให้รัฐบาลแทบทั้งโลกต้องปิดชายแดนตัวเอง ยุติการเดินทางข้ามเขตแดน รวมทั้งประเทศไทย เมื่อถึงคราวผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศ ให้เศรษฐกิจได้เดินหน้าต่อ แต่ปัญหาแรงงานยังคงมะรุมมะตุ้มรุมเร้าให้ต้องเร่งจัดการ
ทั้งคนตกหล่นจากการ “ขออนุญาตทำงาน” โดยนายจ้าง ตามมติ ครม. 28 กันยายน 2564 ที่สิ้นสุดลงไปแล้ว ทำให้อยู่อย่างสูญญากาศ ไร้กฎหมายรองรับ และเรื่อง MOU ที่เหมือนจะเป็นความหวังในการนำเข้าแรงงาน เพื่อตอบสนองความต้องการในภาคการผลิต แต่กลับมีเสียงสะท้อนถึงค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ปัญหาการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายจึงยังคงมีอยู่… แล้วเราควรไปต่อกันอย่างไร
สถานการณ์แรงงานข้ามชาติเป็นอย่างไรในวันที่ประเทศเปิด แต่ชายแดนปิด
ศิววงศ์ สุขทวี เครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน : จากมติ ครม. เมื่อ29 ธันวาคม 2563 ที่วางการขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติรอบใหม่ และมีการขยายต่ออีกจนถึงประมาณกันยายน 2564 แล้วก็มีมติ ครม. ใหม่เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 อีกรอบหนึ่ง ที่เริ่มต้นกระบวนการใหม่อีกกระบวนการหนึ่ง
คนที่ตกหล่นจาก มติ ครม. 29 ธันวาคม 2563 แล้วยังทำไม่เสร็จสิ้น แม้ว่ามีการขยายต่อแล้ว ก็ต้องมาเริ่มกระบวนการใหม่ ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไปแล้วจะทำอย่างไร ต้องมาจ่ายใหม่อีกครั้งใช่ไหม ที่สำคัญคือว่าสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมากระทบทุกคน แม้กระทั่งนายจ้าง และแรงงาน แต่ค่าใช้จ่ายการขึ้นทะเบียนแรงงานไม่เคยลด
ที่ผ่านมา มีการเริ่มต้นผ่อนผันให้กับคนที่เข้ามาภายในประเทศอย่างผิดกฎหมายขึ้นทะเบียนมาก่อน เราก็เห็นว่ามันเป็นแนวทางที่ไม่ได้เป็นคำตอบ จึงพยายามทำข้อตกลงกับประเทศเพื่อนบ้าน นำเข้าแรงงานมาตามข้อตกลง MOU แต่ว่าโดยเงื่อนไขค่าใช้จ่ายของ MOU ที่สูงมาก แล้วก็สภาพปัญหาทางการเมืองสังคมภายในของประเทศเพื่อนบ้านเอง ทำให้คนจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึง MOU ตั้งแต่ประเทศต้นทาง
ในส่วนที่กังวลคือ กรณีคนที่ออกไป เพื่อกลับไปเตรียมทำเอกสารประกอบการทำ MOU แล้วกำลังจะกลับเข้ามาใหม่ แต่โดนผลกระทบจากการสั่งปิดชายแดน กลุ่มนี้คือต้องรอคอยอยู่ฝั่งประเทศต้นทางอย่างไม่มีอนาคต ซึ่งหมายความว่า แรงงานจำนวนหนึ่งที่เคยทำงานอยู่ในประเทศไทยอยู่แล้ว กับผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญบางอย่าง แล้วเดินทางออกไปเพื่อต่อเอกสาร เขาถูกห้ามไม่ให้กลับเข้ามา ฉะนั้นกำลังแรงงานในประเทศไทยหายไปแล้วจำนวนหนึ่ง จากคนกลุ่มนี้แน่ ๆ
หลายคนที่มีภรรยา มีลูกในประเทศไทย แต่สามีที่เป็นแรงงานกลับไปทำเอกสาร พอดี 2 ปีที่เขาออกไปแล้วไม่สามารถกลับเข้ามาได้ มันเป็นความเจ็บปวดของคนในครอบครัวที่ถูกแยกจากกัน จนถึงวันนี้แม้ว่าจะมีมติ ครม. ล่าสุดที่จะเปิดให้มี MOU แต่ก็เริ่มต้นปีหน้า แล้วเป็นการเริ่มต้นใหม่ด้วย ฉะนั้นปัญหาตอนนี้คือ MOU ที่เป็นช่องทางเดียวในการเดินทางเข้ามาค่อนข้างแพงมาก แม้กระทั่งคนที่พยายามทำอยู่แล้วก็ต้องมาทำใหม่อีกรอบ ถือว่าเป็นต้นทุนที่ยากลำบาก ขณะที่การเดินทางเข้ามาอย่างผิดกฎหมายมันถูกกว่าเยอะ
MOU ความหวังการนำเข้าแรงงานถูกกฎหมาย
MOU ที่เดิมเราตั้งใจจะเป็นทางออกการจัดการปัญหาคนหลบหนีเข้าเมือง จนถึงวันนี้ทุกคนตระหนักแล้วว่ามันเป็นภาระ และเป็นต้นทุนที่สูงเกินไป วันนี้มันอาจจะต้องคิดถึงพื้นฐานที่สุด เช่น การจัดการในพื้นที่จุดผ่านแดนโดยตรง แทนที่เราจะต้องมีการประสานงานไปมา โดยความเห็นส่วนตัว ผมมองว่าทุกอย่างให้ไปติดต่อที่ด่านชายแดนดีกว่าไหม ให้แรงงานที่อยู่ฝั่งประเทศต้นทางเดินทางมาที่ชายแดน อาจมีนายหน้าในพื้นที่ก็ว่ากันไป ก็แจ้งความประสงค์ นายจ้างฝั่งไทยก็แจ้งความประสงค์ไปที่ด่านชายแดน อาจมีการขออนุญาตใช้ Border pass เข้ามาก็ได้ มีการสัมภาษณ์สมัครงานในพื้นที่ชายแดน แล้วถ้าตกลงมีการจ้างงานก็ทำสัญญาการจ้างงาน แล้วก็ขอใบอนุญาตเข้ามาจากฝั่งประเทศต้นทาง ต้นทุนน่าจะลดลงมากกว่า
คิดง่าย ๆ ว่าถ้าช่องทางการเข้ามาอย่างปกติแพงกว่าช่องทางผิดกฎหมาย มันยากที่จะไปแข่งกับเขา ฉะนั้นโจทย์ใหญ่ก็คือถ้าหากจะแพงกว่า ต้องแพงกว่าด้วยคุณภาพที่เพิ่ม เช่น การรับประกันว่า ไม่ใช่เพียงการเข้ามาอย่างถูกต้อง แต่คุณจะเข้าอย่างปลอดภัย การทำงานของคุณจะมีสิทธิ เสรีภาพตามกฎหมายของเราอย่างถึงที่สุด หรือตามที่แรงงานไทยได้รับ ถ้ามีปัญหาอะไรคุณสามารถเข้าถึงกลไกการร้องเรียนได้ ได้รับเงินชดเชยได้ แบบนี้มันค่อยมีเหตุมีผล
นี่เป็นเรื่องที่อยากให้สังคมกลับมาคิด ว่าการจัดการชายแดนไทยนั้นสอดคล้องกับความเป็นจริงไหม ทางเลือกที่ถูกกฎหมายมันดีกว่าทางเลือกที่ผิดกฎหมายหรือเปล่า เพราะว่าเอาเข้าจริง การเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะได้รับความคุ้มครอง หลายครั้งหลายกรณีที่เขาถูกละเมิดโดยตรงจากนายจ้าง ถูกทำร้ายร่างกาย หรือเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แต่เข้าไม่ถึงสวัสดิการการรักษาพยาบาล ด้วยปัญหาทางภาษา หรืออื่น ๆ
สุดท้ายจุดจบก็ไม่ต่างกับคนที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายด้วยซ้ำ มันก็ไม่มีเหตุผลที่ต้องเข้ามาอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ตาม MOU
มายาคติที่ว่า “สามารถจัดการชายแดนได้” นำไปสู่ความล้มเหลวในการจัดการ
เสนอว่า ถ้าเราเปิดชายแดนแล้วทำให้ทุกคนมาที่ชายแดนได้ ยื่นความประสงค์ด้วยตัวเองได้ ระหว่างที่ยื่นความประสงค์อาจรออยู่ฝั่งเขา แต่เมื่อมีคนรับรองจากฝั่งไทยแล้ว ก็ค่อยอนุญาตเข้ามา หรือถ้าหากมีความประสงค์ในเรื่องอื่น ๆ ก็ต้องมาดูว่ากลุ่มไหนที่จะเข้ามา เข้ามาอย่างไร ทำอะไรบ้าง นั่นจะทำให้เราสามารถที่จะจัดการพื้นที่ชายแดนได้อยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่ถูกต้องในวันนี้ เพราะว่าวันนี้ดูเหมือนว่าเรามีข้อมูลที่ไม่เป็นจริง เพราะด่านปิด คนที่เข้ามาก็เข้ามารอบ ๆ ด่านทั้งหมด เราเลยไม่รู้ว่าใครเข้ามาบ้าง
การยืนยันว่าเราจัดการชายแดนได้อย่างเข้มแข็ง แบบเวลาปิดชายแดนเราปิดได้ อันนี้เป็นมายาคติที่ต้องยอมรับกันจริง ๆ ว่าเราทำไม่ได้ การจัดการทางกายภาพอาจเป็นเรื่องเกินความสามารถ แต่การจัดการเชิงปัจเจกชนผมคิดว่าเราอาจต้องยอมรับว่าเราอาจจะใช้พระเดช คือการบังคับใช้กฎหมายไม่ได้ ต้องสร้างเงื่อนไขดึงดูดให้เขาเข้ามาในช่องทางปกติให้ได้
อันนี้เป็นข้อเสนอหนึ่งที่เป็นทางเลือกในอนาคต ไม่นับรวมการจัดการที่ยืดหยุ่น เช่น กรณีชายแดนอาจมีการจัดการคน 2 สัญชาติ หรือมีการออกเอกสารให้เบื้องต้นในการอยู่ในพื้นที่ชายแดนได้ เพื่อให้เขาค่อย ๆ มีตัวตนในระบบราชการของเรา ค่อย ๆ ให้สิทธิเขาตามระยะเวลาที่มีอยู่ เช่น ถ้าคุณสามารถอยู่ในแม่สอดได้ มีเอกสารออกให้โดยท้องถิ่น อยู่ได้ 5 ปี มีการทำงาน เสียภาษี ก็อาจขยับต่อไปว่าคุณอาจสามารถขอเดินทางออกนอกพื้นที่ได้หลังจาก 5 ปีแล้ว
มันอาจจะทำให้เป็นการดึงคนที่ประสงค์เข้ามาอย่างถูกต้อง เข้ามามากขึ้น และหวังว่ามันจะลดช่องทางรูหนูต่าง ๆ ลงไปได้ ส่วนรูหนูที่เกิดขึ้นปกติอยู่แล้ว เช่น ญาติพี่น้องที่อยู่ 2 ฝั่ง ต้องเอื้อให้อยู่ 2 ฝั่งได้อย่างปกติ ไม่งั้นก็เป็นการทำลายครอบครัวเขา ที่ซึ่งเราวางกำลังทหารไม่ได้ทุกตำบล หมู่บ้านด้วยซ้ำ
แต่ว่าหลังจากเข้ามาในพื้นที่ชายแดนแล้ว จะเข้ามาตอนในได้อย่างไร ชายแดนอาจจะไม่ได้อยู่ที่ชายแดน อาจจะมีลำดับของมัน ชายแดนไทย พม่าคือลำดับแรกที่ยืดหยุ่นกว่า ชายแดนจังหวัดตากกับกำแพงเพชรอาจจะอีกสเต็ปหนึ่ง นครสวรรค์อาจจะเป็นพื้นที่ตอนในที่ซึ่งค่อย ๆ ขยับมาตรการออกมาให้มีความเข้มข้นมากขึ้น
พร้อมไปกับเงื่อนไขที่จะดึงดูดให้กับคนที่ประสงค์ที่จะเดินทางข้ามแดน เลือกหนทางที่เข้ามาอย่างถูกต้อง ที่ง่ายกว่า ถูกกว่าช่องทางผิดกฎหมายให้ได้ แม้อาจไม่ได้ทำให้ทุกคนสามารถเดินทางได้ถูกต้องตามกฎหมาย 100 เปอร์เซ็นต์เต็ม แต่มันต้องเลือกกัน ให้สิทธิกับเขามากขึ้น
ผมกังวลว่าการใช้อำนาจตามกฎหมายในพื้นที่ชายแดนจะนำไปสู่ขบวนการผิดกฎหมาย ซึ่งมันเคยเกิดขึ้นจริง ๆ ถ้าหากเรายังยืนยันเรื่องมาตรการความมั่นคง ยืนยันเรื่องการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ยืดหยุ่นเลย มันจะนำไปสู่การทำให้ขบวนการนอกกฎหมายเติบโต แล้วสุดท้ายใครจะไปรู้ว่าคนที่เข้ามาอาจไม่ใช่คนที่เราต้องการจริง ๆ ก็ได้
ข้อเสนอการแก้ปัญหาการจัดการแรงงานข้ามชาติ
เรื่องที่ 1 ต้องจัดการคนที่อยู่ในประเทศอยู่แล้ว แรงงานกลุ่มนี้ยังอยู่ในประเทศแน่ ๆ แต่อาจจะเข้าไม่ถึงด้วยเหตุผลที่ผ่านมา ทั้งเรื่องค่าใช้จ่าย เรื่องเอกสารการเปลี่ยนแปลงนายจ้างในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา การเปิดผ่อนผันโดยมีขั้นตอน ทั้งหมดนี้มันเป็นการเปิดโดยมีเงื่อนไข จึงทำให้ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงได้ หรือพยายามเข้าถึงแล้วจะสำเร็จ
ตอนนี้คนที่อยู่ในประเทศอยู่แล้ว มีหลักฐาน มีการจ้างงานกับนายจ้าง มีหลักฐานว่าทำงานกับนายจ้างคนนี้มาก่อนแน่ ๆ ผ่อนผันให้เขาอยู่ก่อนเลย แล้วค่อยดำเนินการตรวจร่างกาย ขอใบอนุญาตทำงานทีหลัง จะเป็นการดึงให้คนที่เคยหลุดไปจากระบบ หรือคนที่ยังอยู่ในประเทศไทยกลับเข้าสู่ระบบได้ง่าย แล้วค่อยตามด้วยเอกสาร
ที่ผ่านมาเป็นการเปิด แต่ว่าทำเอกสารให้จบก่อนถึงจะได้สิทธิ ข้อเสนอผมก็คือว่า ให้สิทธิไปก่อนเลย แล้วตามด้วยเอกสารที่ผ่านมา เพราะคนกลุ่มนี้อยู่ในประเทศไทย
เรื่องที่ 2 เรื่องการจัดการชายแดน ต้องเพิ่มศักยภาพของเขาในการจัดการคนที่เดินทางเข้ามา ไม่ใช่เป็นการปิด การปิดชายแดนมันเป็นการปิดประตูบ้าน แต่เรายังมีรูหนูเข้า ฉะนั้นมันจึงไม่สามารถที่จะกันคนทั้งหมดได้ สิ่งที่ผมเสนอคือว่า เปิดประตูบ้าน ปิดรูหนูเข้า แต่ประตูบ้านต้องแข็งพอที่จะรู้ว่าใครเข้ามา
ฉะนั้นอยากให้เห็นว่าชายแดนจะเป็นจุดที่ทุกคนจะมายื่นความประสงค์ว่า ผม นายหม่องเอ ต้องการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ผมมีนายจ้าง ผมทำงานอยู่กับบริษัทเอ พร้อมจะรับ มีหนังสือแบบนี้มา ผมขออนุญาตทำงานที่ชายแดนได้ไหม ชายแดนอาจมีเอกสารบอกว่า คุณขอเอกสารหลักฐานจากบริษัทคุณมายืนยันกัน ทั้งหมดจะทำให้เราเห็นภาพของการเดินทางเคลื่อนย้ายในพื้นที่ชายแดน
เพียงแต่ตอนนี้เราอยู่ในมายาคติว่า ชายแดนเปิดไม่ได้ เพราะเดี๋ยวโรคจะกลับเข้ามา ฉะนั้นปิดไว้ พอปิดไว้ สิ่งที่เราเจอก็คือรูหนูจำนวนมากที่เกิดขึ้นในทุกพื้นที่ อันนี้ต่างห่างที่เป็นความกังวล และเป็นสิ่งที่สังคมอาจจะต้องเลือกว่าเราจะปิดตาเพื่อไม่ให้เห็นความจริง หรือว่าเราจะพยายามจะเปิดตาเพื่อให้ความจริงปรากฏขึ้น แล้วรู้ว่าเรากำลังรับมือกับอะไร