บ้านที่ไม่ใช่วิมาน : ภาพและชีวิตในแคมป์คนงานก่อสร้าง

บ้านที่ไม่ใช่วิมาน : ภาพและชีวิตในแคมป์คนงานก่อสร้าง

โควิด-19 ทำให้เกิดผลกระทบกับแรงงาน โดยเฉพาะในภาคของแรงงานก่อสร้าง หลังถูกสั่งปิดแคมป์ องค์กรแรงงานและภาคประชาสังคมได้เข้าช่วยเหลือแรงงานที่ถูกกักตัวอยู่ในแคมป์คนงาน ทำให้เห็นปัญหาของแรงงานในเรื่องสภาพความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม จึงได้ร่วมกันหารือ และทำการสำรวจจัดทำข้อมูลเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เพื่อที่การยกระดับมาตรฐานที่พัก คุณภาพชีวิตและสภาพการจ้างงานของแรงงานก่อสร้างในประเทศไทยให้ได้มาตรฐาน

ปัจจุบัน ไซต์งานก่อสร้างส่วนใหญ่เปิดทำงานแล้ว แต่ปัญหาเรื่องแคมป์ หรือที่พักอาศัยของแรงงานยังคงไม่ถูกแก้ไข เครือข่ายแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างเครื่องเรือนและคนทำไม้แห่งประเทศไทย สหภาพคนทำงาน เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติและ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท จึงจัดเวทีเสวนา “บ้านที่ไม่ใช่วิมาน : ภาพและชีวิตในแคมป์คนงานก่อสร้าง” เพื่อนำเสนอผลการสำรวจ และให้ข้อเสนอเชิงนโยบายขึ้น

การนำเสนอ “รายงานสำรวจความเห็นจากคนงานแคป์คนงานก่อสร้าง” ขององค์กรภาคีร่วมจัด ใช้แบบสำรวจทำการปรับมาจากข้อแนะนำของ องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ไอแอลโอ) เรื่องของ workers housing recommendation, 1961 เป็นข้อแนะนำเกี่ยวกับมาตรฐานที่พักคนทำงาน เพื่อใช้ในการเก็บข้อมูล โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วน คือ

ข้อมูลพื้นฐาน

ข้อมูลการที่ได้จากการสำรวจครั้งนี้ มาจากแรงงานไทย 7 คน และแรงงานที่มาจากประเทศเพื่อนบ้าน 3 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา 6 คน กัมพูชา 16 คน และลาว 2 คน รวมทั้งหมด 31 คน

แรงงานข้ามชาติที่มีเอกสารแรงงานถูกต้องจำนวน 20 คน และไม่มีอีก 4 คน ขนาดของแคมป์ที่แรงงานก่อสร้างอาศัยอยู่ แบ่งออกเป็น

  1. แคมป์ที่มีคนอาศัยอยู่น้อยกว่า 50 คน จำนวน 13 คน
  2. แคมป์ที่มีคนอาศัยอยู่ระหว่าง 50 – 99 คน จำนวน 8 คน
  3. แคมป์ที่มีคนอาศัยอยู่ระหว่าง 100 – 199 คน จำนวน 4 คน
  4. แคมป์ที่มีคนอาศัยอยู่ระหว่าง 200 – 299 คน จำนวน 6 คน

มาตรฐานที่พักคนงานก่อสร้าง

ศิววงศ์ สุขทวี นำเสนอภาพรวมความพึงพอใจจากการสำรวจที่พักของแรงงานก่อสร้างพบว่า แรงงานส่วนใหญ่ค่อนข้างพึงพอใจกับสภาพความเป็นอยู่ แม้จะพบว่าการจัดสรร หรือแบ่งสัดส่วนพื้นที่การใช้งานบางอย่างไม่เพียงพอ เช่น ระบบการระบายอากาศที่พักคนงานในแคมป์มีอยู่บ้างแต่ไม่เพียงพอ และในบางแคมป์ไม่มีระบบระบายอากาศเลย การแบ่งห้องนอนหญิง ชาย บางแห่งยังไม่มีการจัดอย่างชัดเจน ซึ่งอาจเกิดความเสี่ยงเรื่องการละเมิดขึ้นได้ การจัดบริการน้ำดื่มสะอาดพบว่า 52% มีบริการแต่ต้องเสียค่าใช่จ่าย มีเพียงไม่ถึงครึ่งที่จัดบริการน้ำดื่มให้ แต่อีกส่วนคือต้องหาน้ำดื่มด้วยตัวเอง ระบบการระบายน้ำเสีย พบว่าเกือบครึ่งไม่มีการจัดการน้ำเสีย มีเพียง 32% เท่านั้นที่มีและใช้งานได้ดี และพบว่า 97% ไม่มีการแยกพื้นที่สำหรับรับประทานอาหาร และในแคมป์ส่วนใหญ่ 74% ไม่มีข้อปฏิบัติการดูแลที่พักอาศัยให้สะอาด และมาตรการป้องกันสัตว์ เช่น หนู แมลงสาป หรือสัตว์อันตรายอื่น ๆ

สิทธิแรงงานของคนงานก่อสร้าง

ธนพร วิจันทร์ เล่าถึงผลจากการสำรวจว่าส่วนใหญ่ไม่มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน รวมไปถึงคณะกรรมการต่าง ๆ ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเลย ในเรื่องของการให้ลูกจ้างมีส่วนแสดงความคิดเห็นในการทำงานนั้นมีอยู่บ้าง แต่ค่อนข้างน้อย

ในประเด็นของค่าจ้างนั้นส่วนใหญ่ลูกจ้างได้เกินกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ และมีการจ่ายค่าล่วงเวลาให้ตามกฎหมายกำหนด ซึ่งการจ่ายค่าจ้างนั้นบางคนได้เป็นรายวันบ้าง รายสัปดาห์บ้าง แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นการแบ่งจ่ายเดือนละ 2 ครั้ง เรื่องการจ่ายค่าตอบแทนในกรณีทำงานในวันหยุดนักขัตฤกษ์พบว่า ส่วนใหญ่นายจ้างไม่มีการจ่ายค่าจ้างให้ตามกฎหมาย

ส่วนเรื่องของเวลาการทำงานพบว่าโดยฉลี่ย ส่วนใหญ่ทำงานวันละ 8 ชั่วโมง และมีการจัดเวลาพักกลางวันอย่างชัดเจน แต่เรื่องการจัดวันหยุดนั้นพบว่า เกือบครึ่งหนึ่งของการสำรวจไม่มีการจัดวันหยุดประจำสัปดาห์ให้ มีบางส่วนเท่านั้นที่มีการจัดวันหยุด แต่ไม่ได้รับค่าตอบแทน

กรณีของการลาป่วยตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดไว้ว่า สามารถลาป่วยได้ตามใบรับรองของแพทย์ แต่นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้าง 30 วันต่อ 1 ปี แต่กว่าครึ่งที่บอกว่าลาแล้วไม่ได้รับค่าจ้างถึง 61%  ส่วนของการลากิจธุระ ผลสำรวจพบว่าสามารถลาได้แต่ไม่ได้รับค่าจ้างเช่นกัน สุดท้ายเรื่องการจัดวันลาพักร้อนประจำปี ซึ่งตากฎหมายลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี นายจ้างต้องจัดวันลาพักให้ 6 วัน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า 97% ไม่มีการจัดวันลาให้

ประเด็นของสิทธิแรงงานที่มีการสำรวจคือ การเข้าถึงระบบการดูแลสุขภาพ และประกันสังคม ยังพบว่ามีนายจ้างบางส่วนหลีกเลี่ยงการจัดให้ลูกจ้างเข้าสู่ระบบประกันสังคมอยู่จำนวนหนึ่ง

การดูแลคนงานก่อสร้างในสถานการณ์โควิด

ในหมวดนี้เป็นการเพิ่มเติมขึ้นในช่วงสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 อดิศร เกิดมงคล เครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ เป็นผู้รายงานข้อมูลการสำรวจพบว่านายจ้างส่วนใหญ่ มีการให้ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับโรคระบาด รวมไปถึงการคัดกรอง และจัดอุปกรณ์ป้องกันตามข้อกำหนดมาตรการของรัฐ เช่น จุดตรวจวัดอุณหภูมิ การตรวจหาเชื้อ หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ การจัดการเรื่องการฉีดวัคซีน

แต่ในเรื่องการจ่ายค่าแรงในช่วงปิดแคมป์นั้น ลูกจ้างส่วนหนึ่งบอกว่านายจ้างจ่ายให้บางส่วน แต่จำนวนอีกเกือบครึ่งที่ทำการสำรวจนั้น ไม่ได้รับค่าแรงเลย ส่วนการจัดหาอาหารให้กับแรงงานที่ต้องกักตัวอยู่ภายในแคมป์ส่วนใหญ่นายจ้างมีการจัดให้ แต่ไม่เพียงพอ และบางส่วนไม่มีการจัดการดูแลเรื่องอาหารเลย มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ได้รับการดูแลเรื่องอาหารจากนายจ้างอย่างเพียงพอ

“บ้านที่ยังไม่ใช่วิมานของพวกเรา” ภาพถ่ายจากมุมมองของคนงาน

จากนั้น ฉัตรชัย พุ่มพวง สหภาพคนทำงาน นำเสนอ ภาพบ้านของคนสร้างบ้าน และชีวิตในแคมป์คนงานก่อสร้าง มุมต่าง ๆ ภาพชุดที่นำเสนอครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือจากแรงงานก่อสร้างที่อยู่ในแคมป์ช่วยถ่ายภาพ และส่งมาให้กับภาคีองค์กรร่วมจัดงานครั้งนี้ รวบรวมเพื่อนำมาเสนอใน 7 หัวข้อ คือ

  • ภาพภายนอก
  • ภาพห้องนั่งเล่น/ห้องรับแขก
  • ภาพห้องทำครัว / กินข้าว
  • ภาพห้องน้ำ
  • ภาพห้องซักผ้า
  • ภาพห้องนอน
  • ภาพสวนหลังบ้าน
ภาพถ่ายบางส่วนจากมุมมองของคนงานชุด “บ้านที่ยังไม่ใช่วิมานของพวกเรา”

ข้อสังเกตที่น่าสนใจจากข้อมูลการสำรวจความพึงพอใจของแรงงานต่อด้านที่พักอาศัย ส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่มีความพึงพอใจ แต่ก็จะเห็นได้ว่ามีข้อมูลสถิติบางอย่างที่ยังคงน่าเป็นห่วงอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องของการจัดสัดส่วนพื้นที่ใช้สอยให้ชัดเจน และที่ต้องเน้นเป็นพิเศษคือ เรื่องของสุขอนามัยของที่พักอาศัย แต่จะเห็นได้ทั้งจากผลสำรวจ และภาพจากในแคมป์ว่าแทบจะไม่มีมาตรการการดูแลเรื่องสุขอนามัยเท่าที่ควร

วงเสวนาหัวข้อ “รัฐจะยกระดับคุณภาพชีวิตของคนงานก่อสร้างได้อย่างไร”

ผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร อำนาจ อัตวรอนันต์ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน และดร.อัมพร จันทวิบูลย์ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข

สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งต้นการพูดคุยจากปัญหาที่รัฐต้องแก้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงานก่อสร้าง ซึ่งปัญหาแรกคือ เรื่องมาตรการมาทีหลังคำสั่ง เช่น ในช่วงของการสั่งปิดแคมป์ก่อสร้าง รัฐได้มีการประกาศคำสั่งออกมา แต่ยังไม่มีมาตรการรองรับ ทำให้แรงงานที่ทราบข่าวทะยอยเดินทางกลับบ้านเป็นจำนวนมาก ทำให้รัฐดูแลไม่ทั่งถึง และไม่มีพร้อมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงเกิดการแพร่กระจายของโรคในเวลาต่อมา ปัญหาถัดมาคือ เรื่องกฏหมายที่คุ้มครองแรงงานก่อสร้างอย่างเป็นระบบ คือถ้าไม่มีสัญญาจ้าง จะไม่สามารถเข้าถึงกฎหมายคุ้มครอง และระบบประกันสังคมได้ ซึ่งในส่วนนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือกรมการจัดหางาน และประกันสังคม ที่ไม่มีการทำงานเชื่อมข้อมูลเข้าหากัน

(ซ้าย) สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร , (ขวา) อำนาจ อัตวรอนันต์ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน

อำนาจ อัตวรอนันต์ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน พูดถึงการแก้ไขเรื่องคุณภาพชีวิตแคมป์คนงานก่อสร้างในสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ว่าต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะเรื่องการระบาดของโรคนี้เป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน จะต้องอาศัยการทำงานร่วมกันจากหลายหน่วยงาน ซึ่งแต่ละหน่วยงานเองก็มีกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติเป็นของตัวเอง และมีปัจจัยเรื่องงบประมาณที่จำกัด รวมไปถึงระเบียบการใช้งบประมาณที่ต้องมาจากนโยบายเป็นหลัก ส่วนในเรื่องของการออกประกาศ ทางกระทรวงแรงงานได้ออกประกาศเป็นข้อเสนอในเรื่องของการจัดการเรื่องที่พักอาศัย แต่ในส่วนของเรื่องสวัสดิการนั้นเป็นเรื่องที่นอกเหนือกฎหมายกำหนด

ดร.อัมพร จันทวิบูลย์ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข

ดร.อัมพร จันทวิบูลย์ ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข พูดถึงโอกาสในวิกฤตของการระบาดโควิด 19 ที่ทำให้เกิด สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมดีขึ้นทั่วหน้า ความตระหนักของสังคม ความรับผิดชอบทางสังคม การมีส่วนร่วมภาคส่วนต่าง ๆ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลอย่างกว้างขวาง ทำให้เกิดการยกระดับคุณภาพชีวิต แต่ถ้าจะให้ยั่งยืน อย่างแรกต้องจัดการในระดับบุคคล สร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ประชาชน และรับผิดชอบสังคม เมื่อป่วยต้องไม่แพร่เชื้อ หรือถ้าสงสัยว่ามีอาการต้องกักตัว เรื่องที่ 2 คือการฉีดวัคซีนให้ทั่วถึง

ในระดับของสถานประกอบการต้องยกระดับสถานที่ คือแคมป์คนงาน และไซต์ก่อสร้าง ต้องจัดการให้ถูกสุขลักษณะ ซึ่งทางกรมอนามัยทำเอกสารเป็นดิจิทัล ให้ความรู้ในเรื่องนี้ และอีกส่วนหนึ่งคือ แอปพลิเคชันการประเมินเพื่อปรับปรุงสภาพสถานประกอบการ กลไกนี้ทำให้สถานประกอบการต้องรับผิดชอบร่วมกัน

ตอนนี้แรงงานจำนวนมากต้องการเข้ามา ทำยังอย่างไรจะนำเข้าแรงงานอย่างถูกกฎหมาย เพื่อจะได้ตรวจสุขภาพ ตรวจโรค กักตัว และสามารถกลับเข้าระบบได้ ทั้งนี้ผู้ประกอบการต้องลงทุนเพื่อปรับสภาพสิ่งแวดล้อมความเป็นอยู่ แรงงานต้องเข้าใจ ยอมรับกฎเกณฑ์ในการเข้ามาลงทะเบียนให้ถูกต้อง

อำนาจ อัตวรอนันต์ ผู้แทนกระทรวงแรงงาน กล่าวต่อว่า การรณรงค์ส่งเสริมเรื่องนี้ต้องประเมินความพร้อมสถานประกอบการ และต้องมีมาตการกระตุ้นไปพร้อมกัน ยกตัวอย่างเรื่องการปรับปรุงที่พักอาศัยในแคมป์คนงานก่อสร้าง บางครั้งอาจติดเรื่องบประมาณของสถานประกอบการ แต่ถ้าเราคิดเชิงบูรณาการร่วมกัน เช่นสถานประกอบการไม่มีความพร้อม แต่ลูกจ้าง หรือแรงงานมีความสามารถดัดแปลง อาจเกิดนวัตกรรมเปลี่ยนวัสดุก่อสร้างมาพัฒนาที่อยู่อาศัย อีกส่วนคือการมีวินัย การอยู่ร่วมกัน การจัดหน้าที่รับผิดชอบเรื่องสุขอนามัย นายจ้างอาจไม่สามารถเพิ่มคนมาดูแลได้ แต่ถ้านายจ้างกับลูกจ้างร่วมมือกันอาจทำให้เกิดการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงาน ทำให้เกิดแนวคิดในการใช้ค่าใช้จ่ายน้อย โดยใช้ความสามารถของลูกจ้าง สาธารณสุขอาจมีโมเดลสำหรับการปรับปรุงที่พักอาศัย ที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนเพื่อให้เกิดสุขภาวะอนามัยที่ดี

สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการทำงานของรัฐต่อเรื่องนี้ว่า ถ้ารัฐมีความตั้งใจจริง จะต้องทำงานเรื่องโครงสร้างเชิงระบบ ตอนนี้รัฐทำงานเหมือนปะผุ คือพอเกิดปัญหา ก็แก้เป็นเรื่อง ๆ ไม่มีการบูรณาการทำงานกัน วันนี้การจ้างงานในประเทศมีหลายระบบ และซับซ้อน มีเงื่อนไขมาก ทำให้แรงงานเข้าไม่ถึงสิทธิต่าง ๆ  ตอนนี้ต้องยอมรับว่าแรงงานในภาคการก่อสร้างส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ ประเด็นคือมาตรฐานการดูแลแรงงานข้ามชาติมีขนาดไหน เรื่องสาธารณะสุขเป็นเรื่องสำคัญ ต่อไปในอนาคตโรคระบาดอาจมีขึ้นอีกมาก

ถ้าวันนี้ประเทศไทยต้องการใช้แรงงานก่อสร้าง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานข้ามชาติ ต้องนำเข้ามาอย่างถูกกฏหมาย แต่ด้วยเงื่อนไขการนำเข้าเรื่องค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง บวกกับความต้องการแรงงานของนายจ้างมีมาก และการนำเข้าแรงงานด้วยMOU ยังไม่มีความชัดเจน ทำให้เกิดการลักลอบเข้ามาของแรงงานทางช่องทางธรรมชาติจำนวนมาก แต่ยิ่งจับ ยิ่งฟื้นฟูระบบการนำเข้าที่ผิดกฎหมาย

ตอนนี้ต้องมาคุยกัน ผู้นำประเทศต้องมีคำสั่งปลดล็อกเงื่อนไขบางอย่าง เช่นการปรับลดค่าใช้จ่ายลง เชื่อว่าการเข้ามาอย่างถูกต้องจะมีมากขึ้น และรัฐต้องมีนโยบาย ที่มีความจริงจัง จริงใจ ในการบังคับใช้กฎหมายที่คุ้มครองดูแลแรงงานให้เหมือนกัน ทั้งแรงงานไทย แรงงานข้ามชาติ

ช่วงท้าย Q&A ฟังเสียงพี่น้องแรงงาน และข้อคิดเห็นเพิ่มเติม

ด้านตัวแทนแรงงานจากประเทศกัมพูชา พูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนแรงงานว่า บางคนตัดสินใจเข้ามาลงทะเบียน ออกค่าใช้จ่ายเอง แต่ทำไม่จบขั้นตอน เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง รวมถึงระยเวลาที่เปิดให้ขึ้นทะเบียนนั้นน้อยเกินไป และตอนนี้มีแรงงานบางส่วนถูกจับกุมอยู่ชายแดน มีอาหารไม่เพียงพอ อยากให้กระทรวงแรงงานช่วยแก้ไขเรื่องนี้ด้วย

ธนพร วิจันทร์ เครือข่ายแรงงานอุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างฯ เสนอว่าผู้ประกอบการ หรือนายจ้างต้องชัดเจนว่าต้องการแรงงานข้ามชาติจำนวนมากน้อยแค่ไหน และนำแรงงานที่ผิดกฎหมายในประเทศตอนนี้ขึ้นทะเบียนให้ครบ ส่วนที่เหลือดำเนินการส่งกลับประเทศต้นทางตามขั้นตอนอย่างถูกวิธี ไม่เช่นนั้นจะเกิดการค้ามนุษย์ขึ้น

สุเทพ อู่อ้น ประธานกรรมาธิการแรงงานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวทิ้งท้ายว่าต้องมีการถอดบทเรียนย้อนหลังว่าทำไมยังมีขบวนการนำเข้าแรงงานผิดกฏหมายอยู่ กระบวนการนำเข้าแรงงานข้ามชาติมีขั้นตอนไหนสามารถปลดล็อก หรือปรับลดได้หรือไม่ เรื่องของการบังคับใช้กฏหมายในการลงโทษการนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายต้องชัดเจน เพิ่มโทษผู้กระทำผิดกับทุกคนที่เกี่ยวข้อง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ