แม่หญิงพรานปลาคนสุดท้ายแห่งบ้านเชียงคาน กับความหวังบนสายน้ำโขงที่ไม่เคยท้ายสุด

แม่หญิงพรานปลาคนสุดท้ายแห่งบ้านเชียงคาน กับความหวังบนสายน้ำโขงที่ไม่เคยท้ายสุด

เช้าวันใกล้ออกพรรษา ณ เมืองเล็กๆ ริมแม่น้ำโขงสุดชายแดนไทย ท้องฟ้าแลดูอึมครึมมีมวลเมฆยองใยแผ่คลุมไกลจนสุดสายตา ไร้ซึ่งแสงสุริยาที่จะสามารถสาดส่องลงมาได้ ลมหนาวพัดเอื่อยปะทะกับไอหมอกส่งสัญญาณบอกลาฤดูฝน หมู่นกกระยางขาวฝูงใหญ่ออกหากินบินต่ำตัดกับสีเขียวขจีของกลุ่มเขาทมึนฝั่งตรงข้าม ราวกับว่าพวกมันกำลังแหวกว่ายทวนแม่น้ำอยู่บนอากาศ

สาวน้อยจากแดนอีสานใต้ ตัวเล็ก ผิวเข้มคมขำ ผมฟูหยักศก พูดแต่น้อย ออกเสียง “ร” ลิ้นรัวอย่างชัดถ้อยชัดคำ นอกจากกันตรึม พรึม โจ๊ะ พรึมๆ แล้ว เธอก็มักโยกย้ายให้กับแนวเพลงแร็พ โย้วๆ ในพื้นที่ส่วนตัว ด้วยความที่มีงานบ้าง ไม่มีงานบ้าง ตาม “วิถีฟรีแลนซ์” ซึ่งเดิมทีก็ work from home อยู่แล้ว พอช่วงโรคโควิด-19 ระบาดหนัก มีการแพร่กระจายอย่างรุนแรง จนตัวเลขผู้ติดเชื้อพุงทะยานอย่างต่อเนื่องไม่แพ้บั้งไฟเมืองยโส กิจกรรมปลูกต้นไม้ เล่นกับหมา ตกปลาในบ่อหลังบ้าน และทำกับข้าว ก็เข้ามาเบียดแย่งพื้นที่การดำเนินชีวิตของเธอแทบทั้งหมด

กระทั่งสถานการณ์เริ่มผ่อนคลาย หลายพื้นที่ก็ผ่อนปรน สำหรับคนได้รับวัคซีนครบโดสสูตรไขว้อย่างเธอก็ไม่ยอมพลาดโอกาสที่จะแบกเป้สัมภาระพร้อมกล้องถ่ายรูปออกเดินทางเพื่อมาเก็บภาพบรรยากาศธรรมชาติและวิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ ตามที่เธอปรารถนา

หากไม่มีคลื่นลมพายุกระหน่ำแล้ว ก็ไม่มีสิ่งอื่นใดจะเป็นข้ออ้างมิให้ชาวประมงพื้นบ้านที่นี่ออกเรือหาปลา ถึงแม้น้ำโขงจะสีแดงขุ่น ไหลแรงวน และเชี่ยวกราก เสมือนดั่งโกรธใครมาก็มิปาน แต่เสียงเครื่องยนต์ที่ติดอยู่ท้ายเรือของพรานปลาต่างเริ่มส่งเสียงอื้ออึงทำลายความสงบลงอย่างสิ้นเชิง

ริมฝั่งมีเรือยนต์และแพน้อยใหญ่จอดเรียงรายปะปนกันไป แม่หญิงสูงวัย ร่างเล็กสันทัด ผิวคล้ำเพราะกรำแดด ใบหน้าหยาบกร้าน และมีนิ้วมือค่อนข้างใหญ่หยาบกว่าหญิงปกติทั่วไป กำลังใช้ถังพลาสติกผ่าซีกวิดน้ำออกจากเรือของเธอด้วยสีหน้าที่เรียบเฉย

สาวน้อยรวบรวมความกล้าก่อนจะเอื้อนเอ่ยทักทายและขอถ่ายรูป แม่หญิงสูงวัยก็ยังมีสีหน้าเรียบเฉยไม่พูดจา ประหนึ่งว่าพบเจอนักท่องเที่ยวมาขอถ่ายรูปด้วยจนชินชา แต่กำลังง่วนอยู่กับการตระเตรียมพาหนะคู่ใจ

“หนูขอลงเรือไปด้วยได้ไหมคะ” เสียงใสของสาวน้อยเป็นเชิงร้องขอต่อแม่หญิงสูงวัย จนทำให้เธอต้องประหลาดใจ และผ่อนอิริยาบถลง แล้วตอบด้วยสำเนียงท้องถิ่น ภาษาไทเลย “นี่ไม่ใช่เรือท่องเที่ยวนะหนู ยายกำลังจะไปหาปลา ถ้าหนูอยากล่องเรือชมวิว หนูลองไปติดต่อตรงโน้นนะ”  พร้อมชี้นิ้วไปที่แพขนาดใหญ่ซึ่งจอดตระหง่านอยู่ถัดกันไปในราว 50 เมตร และมีป้ายติดบอกว่า “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเกษตรริมโขงประมงพื้นบ้านเชียงคาน”

ดูเหมือนว่าสาวน้อยเธอไม่ละความพยายามที่จะขอขึ้นเรือไปด้วย หว่านล้อมอยู่ครู่ใหญ่จนหญิงสูงวัยใจอ่อน ก่อนจะเอ่ยคำถาม “แล้วหนูว่ายน้ำเป็นไหม”

“ไม่เป็นค่ะ” ผู้ที่จะร่วมโดยสารตอบ

“ตายห่าแล้ว” เจ้าของเรือหลุดคำสบถ ก่อนจะเดินเข้าไปในแพที่จอดอยู่ติดกัน แล้วออกมาพร้อมเสื้อชูชีพยื่นให้สาวน้อยสวมใส่เพื่อความปลอดภัย “นั่งบริเวณกลางเรือหรือจะเขยิบไปข้างหน้าก็ได้” กัปตันเรือชี้แจงให้ผู้โดยสารปฏิบัติตาม หลังจากนั้นก็เดินไปท้ายเรือแล้วดึงเชือกสตาร์ทเครื่องยนต์ด้วยท่วงท่าทะมัดทะแมง

บรื้นๆๆ เสียงเครื่องยนต์คำราม ใบพัดติดหางเรือหมุนติ้วตัดผิวน้ำกระเซ็นจนเกิดเป็นระลอกคลื่นแยกออกเป็นสองข้าง ส่งให้เรือแล่นทวนน้ำขึ้นไป นอกจากหญิงสองวัยแล้ว ภายในยังบรรทุกตาข่ายดักปลากองอยู่ครึ่งลำเรือ

ริมฝั่งโขงทางทิศเหนือห่างตัวเมืองเชียงคาน ราว 2 กิโลเมตร เป็นท่าแพพื้นบ้าน มีเรือหาปลาจอดอยู่รายรอบ พบชายสูงวัยนับ 10 คน กำลังวุ่นวายกับการเตรียมตาข่ายดักปลา บ้างก็จับกลุ่มพูดคุยสัพเพเหระ หยอกเย้ากัน พอเรือหญิงสูงวัยไปถึงและดับเครื่องยนต์จอด ชายผมขาวโพลน ร่างท้วมผิวคล้ำ ปากคาบยาสูบมวนใหญ่ กำลังสาวตาข่ายมือเป็นระวิง พลางสายตาเหลือบมอง แล้วเอ่ยทักทายเป็นภาษาเดียวกัน

“ยายหนาน วันนี้มีลูกมือมาช่วย คือสิหมาน (ได้ปลาเยอะ) เน๊าะ” พูดจบหยุดมือคีบยาสูบออกจากปาก พ่นควันโขมง คนในแพรวมทั้งยายหนานต่างหัวเราะร่าระคนกัน  

สมาน  เรือนคำ พรานปลาแม่หญิงหนึ่งเดียวของที่นี่  “คนแถวนี้เรียกยายหนาน ปีนี้ยายอายุ 60 ปีเต็มพอดี” หญิงสูงวัยเริ่มให้ข้อมูลกับสาวน้อย ขณะจัดเตรียมตาข่ายในลำเรือไปด้วย 

บริเวณนี้คือ ท่าหลักหมื่น เป็นเสมือนแหล่งชุมนุมชาวยุทธ์พรานปลา เพราะเป็นจุดสตาร์ทออกเรือ ที่เรียกว่า “ท่าหลักหมื่น” เนื่องจากข้างบนฝั่งเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าพ่อหลักหมื่น สิ่งยึดเหนี่ยวทางใจตามความเชื่อของชุมชน ซึ่งเมื่อก่อนจะมีควันธูปลอยคละคลุ้งอยู่ไม่ขาดสาย พร้อมเครื่องเซ่นไหว้ “เหล้าไหไก่ตัว” จากพรานปลาที่เอามาแก้บนหลังจับปลาได้ปริมาณมาก หรือได้ตัวขนาดใหญ่ แต่ทุกวันนี้นานๆ ครั้ง จะมีควันธูปลอยขึ้นมาให้เห็นบ้าง

ลักษณะนิเวศของน้ำโขง เขตอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย แม่น้ำจะเป็นเวิ้งกว้าง ไหลเชี่ยวแรง แต่พอถึงฤดูแล้งน้ำลดลงจนกลายเป็นหาดทราย ชาวบ้านก็จะมาจับจองพื้นที่ปลูกพืชผักริมฝั่งโขงเอาไว้บริโภคในครัวเรือน และขายสร้างรายได้ในชุมชน การทำประมงพื้นบ้านที่นี่ จึงใช้วิธีการ ไหลมอง (มองคือตาข่ายดักปลา) ซึ่งเป็นวิถีพรานปลา ที่สืบทอดมาแต่บรรพบุรุษ คือการวางมองลงเรือให้ไหลไปตามน้ำโขง พอถึงจุดหมายที่ต้องการแล้วก็เก็บกู้ขึ้นมา

หากไล่ถัดลงไปเขตอำเภอปากชม จังหวัดเลย จนถึงอำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย นิเวศแม่น้ำโขงจะมีลักษณะเป็นโขดหินขนาดใหญ่โผล่กระจายตัวเต็มไปหมด พร้อมกับมีพืชน้ำที่สำคัญ คือต้นไคร้ ขึ้นแซมอยู่ทั่ว บริเวณนี้จึงเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปลาและนกนานาชนิด รวมถึงการเป็นแหล่งอนุบาลพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำขนาดเล็ก ดังนั้นวิถีการหาปลาของประมงพื้นบ้าน ก็คือการใส่เบ็ดเผือก ใส่ลอบดักปลา และทำวังปลา เป็นต้น

“มองที่ใช้มีหลายขนาด ตาถี่หรือห่างก็เลือกใช้ตามฤดูกาล มีทั้งมองตลาดและมองสานเอง ซึ่งคนหาปลาสมัยก่อนจะสานมองเป็นกันทุกคน รวมทั้งยายด้วย สิ่งที่ผู้ชายทำได้ยายก็ทำได้หมด”

ยายหนานพูดอย่างโอ่อ่าด้วยความภาคภูมิ ขณะที่ฝ่ายชายไม่มีใครโต้แย้งสักคำ

แม่หญิงพรานปลาจัดเรียงมองในลำเรือเสร็จพอดี “อ้าว ยายหนานถ้าพร้อมแล้วก็ออกเรือก่อนโลด” เสียงส่งสัญญาณมาจากในแพ ดูเหมือนว่ามีคนยอมสละคิวให้ “ขอบใจจ้าตาอิน” ว่าแล้วเธอก็ควักเอากระป๋องแป้งเย็นทาผิว ออกจากถุงย่ามที่เตรียมมา แล้วโรยๆ ที่หัวเรือจนทั่ว พร้อมกล่าว“ขอให้ลูกโชคๆ หมานๆ เด้อแม่”

“แม่ย่านางท่านชอบหอมๆ เย็นๆ แบบนี้ล่ะ” หันหน้ามากล่าวกับสาวน้อยที่กำลังถ่ายภาพภายในแพ ไม่มากพิธี ยายหนานหยิบงอบขึ้นสวมบนหัว เดินไปท้ายเรือติดเครื่องยนต์ มือขวาจับหางเสือมั่นควบคุมเรือแล่นทะยานตัดผ่านลำน้ำไปจนถึงกลางแม่โขง ส่วนสาวน้อยผู้ร่วมโดยสาร ถึงแม้เธอมีความหวั่นใจกับกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว แต่ก็ยังยกกล้องถ่ายรูปขึ้นมาลั่นชัตเตอร์รัวๆ เพื่อเก็บภาพบรรยากาศในแม่น้ำโขงที่เจ้าตัวไม่เคยลงมาไกลขนาดนี้เลย

ตามประสบการณ์คาดว่าละแวกนี้น่าจะมีปลาชุกชุม ยายหนานจึงดับเครื่องยนต์แล้วปล่อยเรือให้ไหลไปตามกระแสน้ำพัดพา โดยมีลำไม้ไผ่ยาวที่ยึดติดกับเรือไว้คอยคัดท้ายควบคุมทิศทางแทน เมื่อเข้าที่เข้าทางแล้วเธอจึงเดินทรงตัวอย่างชำนาญมาที่กลางเรือ หยิบปลายเชือกมองอีกด้านที่ผูกกับทุ่นโยนลงน้ำ ก่อนจะทำท่ายืนโก้งโค้งและใช้สองมืออันหยาบกร้านจับวางมองลงน้ำอย่างคล่องแคล่วและช่ำชอง จนตากล้องที่นั่งอยู่ตรงหน้าจับภาพแทบไม่ทัน ภายในเวลา 10 นาที มองที่จัดเรียงและกองอยู่ครึ่งลำเรือถูกส่งลงไปทำหน้าที่ดักปลาในแม่น้ำโขงเหลือเพียงส่วนปลายอีกด้านที่ผูกติดกับเรือ

สาวน้อยลดมือวางกล้องถ่ายรูปไว้บนตัก แล้วเริ่มต้นการสนทนา “ทำไมยายถึงมาออกเรือหาปลา เพราะโดยปกติแล้วมันเป็นงานของผู้ชายไม่ใช่เหรอคะ” ระหว่างทั้งสองนั่งรออยู่บนเรือที่กำลังไหลอยู่กลางแม่น้ำโขง ใบหน้าอันเรียบเฉยของยายหนานค่อยๆ ผ่อนคลายลง และเล่าว่า

“ยายไม่ได้เข้าโรงเรียน ไม่รู้หนังสือ ตอนอายุ 4-5 ขวบ พ่อกับแม่ก็พาลงโขงหาปลาแล้ว ถึงทำอะไรไม่เป็นก็ช่วยหยิบจับสิ่งของ และปลดปลาที่ติดมองออก พออายุ 11-12 ปี ก็ทำหน้าที่ช่วยคัดท้ายเรือและเริ่มฝึกไหลมองจนทำเป็น กระทั่งอายุ 16 ปี แต่งงาน ก็ได้ออกเรือหาปลาไปกับสามีเพื่อเลี้ยงครอบครัว ดังนั้นยายจึงผูกพันกับการหาปลาในแม่น้ำโขงมาตั้งแต่เด็ก”

เมื่อก่อนเรือไม่มีเครื่องยนต์ ดังนั้นจะต้องมีอย่างน้อยสองคน คอยทำหน้าที่ช่วยกันพาย คัดท้ายเรือ และไหลมอง “พอมีเครื่องยนต์เข้ามายายก็ออกเรือคนเดียวเลย เพราะเวลาไปด้วยกันกับสามีมักจะทะเลาะกันแล้วไม่ได้ปลา” พูดจบเธอก็หัวเราะฮ่าๆ 

“แล้วการหาปลาทุกวันนี้ กับเมื่อก่อนเปลี่ยนแปลงไปมากไหมคะ” สาวน้อยถามต่อ

“โอ้ เปลี่ยนแปลงไปมากเลยลูก เมื่อก่อนปลามีเยอะ หาได้เยอะ ถึงแม้ราคากิโลกรัมละ 15-20 บาท แต่เราก็มีเงินเลี้ยงครอบครัว เปรียบกับเดี๋ยวนี้ไหลมองทั้งวันก็ไม่ได้ปลาพอขาย น้ำมันก็แพง 100 บาท เติมเรือแล่นได้ 2 วัน หลายคนต้องขายเรือ เลิกอาชีพไปหาทำงานรับจ้าง หรือปลูกยางพารา และทำสวน พอให้มีรายได้จุนเจือครอบครัว”

โดยเฉพาะช่วงสองปีที่ผ่านมามีปัญหาน้ำขึ้นลงไม่เป็นไปตามฤดูกาล ได้ส่งผลกระทบต่อจำนวนพันธุ์ปลาที่ลดลง อาชีพประมงพื้นบ้าน และการเกษตรริมฝั่งโขง

“ปกติน้ำจะขึ้นในช่วงนี้ และค่อยๆ ลดลงไป จนถึงหน้าแล้งช่วงเดือนมีนา เมษา บริเวณตลิ่งจะกลายเป็นหาดทราย ชาวบ้านจะออกมาหาปลาและปลูกผักกันเต็มไปหมด แต่ทุกวันนี้กลับหัวกลับหางกัน บางวันตอนเช้าน้ำลด พอตกเย็นน้ำขึ้นก็มี ปลามันก็งงปรับสภาพไม่ทัน หรือผักที่ปลูกไว้ริมตลิ่งตื่นเช้ามาก็น้ำท่วม” ยายหนาน เล่าให้เห็นภาพความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

“เห็นเขาลือกันว่าข้างบนมีการสร้างเขื่อนทำการกักน้ำ ปล่อยน้ำ ปั่นไฟฟ้า แต่ยายก็ไม่เคยไปเห็นหรอก อีกอย่างเรามันก็แค่ราษฎรธรรมดาไม่รู้จะทำอย่างไร”

ได้เวลาเก็บกู้มอง ยายหนานก็ลุกยืนโก้งโค้งแล้วเอามือสาวดึงเชือกมองขึ้นจากน้ำมากองบนเรือ โดยมีปลาโจกขนาด 3 นิ้ว จำนวน 2 ตัว เป็นผลประกอบการ

สีหน้าและแววตาของแม่หญิงพรานปลาแสดงออกถึงความหดหู่และผิดหวัง “คงเป็นเพราะหนูมาด้วยและชวนยายคุย ปลาก็เลยไม่มาติดตาข่าย เดี๋ยวรอบต่อไปยายกลับมาใหม่ต้องได้ปลาเยอะแน่ๆ เลยคะ” สาวน้อยพยายามปลอบ ให้กำลังใจ

ยายหนานมีใบหน้าเปื้อนยิ้มขึ้นมาบ้าง ก่อนจะกล่าวว่า

“ไม่เป็นไร นี่คือวิถีคนหาปลา ได้บ้างไม่ได้บ้าง เป็นเรื่องธรรมดา แต่ที่ยังหาอยู่ก็เพราะใจมันรักและผูกพันกับแม่น้ำโขง”

“วันนี้พอแค่นี้ก่อน ยายจะกลับบ้านไปเตรียมของสำหรับไปวัดในวันออกพรรษามะรืนนี้” พูดจบแม่หญิงพรานปลา ติดเครื่องยนต์ควบคุมหางเสือหันหัวเรือฝ่าคลื่นน้ำเข้าฝั่ง

เดชา คำเบ้าเมือง /เรื่อง

มิ่งขวัญ ถือเหมาะ/ภาพ

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ