2 พฤศจิกายน 2564 บางพื้นที่มีลมหนาวปะทะร่างกายบ้างแล้ว กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่หน้าหนาวอย่างเป็นทางการและสิ้นสุดฤดูฝน แต่มวลน้ำเจ้ากรรมยังท่วมขังแช่นานในหลายพื้นที่ ทั้งในภาคกลางและอีสานบ้านข้อย ต้นข้าวใหญ่น้อยหลายพื้นที่จมอยู่ใต้น้ำ ร่วมถึงหอมแดงนับพันไร่ในพื้นที่ อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ
วิศณ์ ประสานพันธ์ นักข่าวพลเมืองสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ ปักหมุดรายงานกับแอปพลิเคชัน C-Site บอกเล่าย้อนความไปถึงเหตการณ์ก่อนหน้านี้ ที่อิทธิพลของพายุสองลูกและความกดอากาศต่ำกำลังแรง ส่งผลถึงชุมชนที่อยู่บริเวณลุ่มน้ำมูล และน้ำชีไหลผ่าน ต้องเจอกับมวลน้ำหลายระลอก ถึงแม้ว่าอีสานใต้ฝนจะไม่ได้รับลูกพายุเข้าเต็ม ๆ แต่พายุฝนที่ไปตกบริเวณต้นกำเนิดเเม่น้ำ ทั้งน้ำชี น้ำมูล จากภูเขียวและเขาใหญ่ มวลน้ำจำนวนนั้นได้ไหลมาถึงศรีสะเกษและอุบลราชธานีแล้ว
เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 64 เจ้าหน้าที่และหน่วยงานในท้องถิ่น รวมถึงเครือข่ายสภาเกษตรกรลงพื้นที่ไปพูดคุยกับเกษตรกรผู้ปลูกหอมแดง ที่บ้านค้อเมืองแสน ต.คอนกาม อ.ยางชุมน้อย จ.ศรีสะเกษ ซึ่งพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ปลูกหอมแดงพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นแหล่งเงินทองและรายได้ของชาวบ้านที่นี่ เมื่อ 3-4 วันก่อน ฝนไม่ตก แต่มีน้ำท่วมหนัก เกษตรกรยังตั้งคำถาม และเข้าใจว่าเขื่อนปล่อยน้ำมา แต่มีข้อสังเกตว่า ส่วนหนึ่งจะเป็นน้ำป่า จากเขาพระวิหารที่มีมากพอสมควร อาจทำให้ทั้งนาข้าวและแปลงหอมแดง ถูกน้ำท่วมจมอยู่ใต้น้ำเป็นพันไร่ ซึ่งหอมแดงก็ใกล้วันเก็บเกี่ยวตามรอบแล้ว แต่พอเจอน้ำท่วมเกษตรกรก็ต้องช่วยกันถอนต้นหอมหนีน้ำ เพราะหอมแดงเป็นพืชที่ไม่ทนน้ำ หากแช่ไว้นานจะทำให้เน่าเสีย ซึ่งการชดเชยก็อาจจะได้ไม่คุ้มเสียเพราะเกษตรกรลงทุนหลายหมื่นบาท การเก็บกู้หอมแดงจมน้ำที่แม้จะมีความยากลำบาก ก็จำเป็นต้องเร่งลงมือเพื่อหวังได้ต้นทุนคืนมาบ้าง
ภาพ : วิศณ์ ประสานพันธ์ นักข่าวพลเมืองสภาเกษตรกรจังหวัดศรีสะเกษ