คำปิ่น อักษร
เมื่อถึงหน้าแล้ง หนองน้ำที่ตำบลวารีสวัสดิ์ อ.พนนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ก็เปิดให้ชาวบ้านลงหาปลาได้
สวิงเก็บเงิน 10 บาท แหเก็บเงิน 40 บาท
ภาพของผู้คนที่รายรอบหนอง ทำเอาต้องแวะด้วยความอยากรู้อยากเห็น กิจกรรมหาปลานี้นอกจากสนุก แล้วยังได้ปลากลับไปกินอีกด้วย
“พ่อสุเทพ” เล่าว่า เวลามีงานเปิดหนองก็จะมีการส่งข่าวกัน ชาวบ้านที่อยู่ใกล้เคียงก็จะพากันมา บ้างเป็นหมู่คณะบ้างก็เดี่ยว ตามแต่ว่าใครจะถนัด มันเป็นเกมส์กีฬาของชุมชน จ่ายค่าอุปกรณ์เครื่องมือตามกติกาข้อตกลง ใครหาปลาได้ตัวใหญ่ที่สุดก็จะได้รางวัล ตั้งแต่ 1,000-1,500 บาท สนุกและได้ปลากลับไปกิน พรานแห หรือแม่คนไหนที่ถนัดสวิงก็จะมากันอย่างครบองค์ประกอบ
เครื่องมือหาปลา แห ข้อง สวิง ที่ใส่ปลามากันเพียบ ปีนี้น้ำลดลงมากกว่าทุกปี ปลาก็ตัวไม่โต แต่ก็พอมีให้จับหา บางคนลงทุน 40 บาทเอาไปขายเป็นเงิน 500-800 บาทก็มี บางบ่อที่ปลาเก่าค้างเยอะก็มีปลาให้จับหาได้เยอะ มันสนุกและตื่นเต้นได้ลุ้นด้วย เวลาหว่านแหออกไปแต่ละครั้ง เพื่อนๆ ที่ร่วมลงหาใครได้ปลาก็เฮโลกันลั่นบ่อ
“พ่อสุเทพ” ชาวบ้านหนองแวง ต.ภูใหญ่ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด กล่าวขณะที่กำลังปิ้งข้าวจี่กิน หลังจากเหน็ดเหนื่อยจากหว่านแหกลางหนอง วันนี้หนองน้ำที่ตำบลวารีสวัสดิ์ อ.พนนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ดูคึกคัก มีคนมาลงร่วมร้อยชีวิต ทั้งหนุ่มน้อย หนุ่มใหญ่ และแม่บ้านที่รวมตัวกัน มาจากตำบลต่างๆ ที่มีการส่งข่าวบอกต่อกันไป
อีสานช่วงนี้เป็นช่วงฤดูแล้งที่เข้าใจกันมาแต่มีแผ่นดินอีสานแล้ว การหาอยู่หากินของคนอีสานไม่ได้จำนนต่อฤดู หรือตกอกตกใจต่อสภาวะหากแต่มีการปรับตัวมาทุกยุคสมัย
ปลามีในบ่อก็วิดน้ำจับปลาในช่วงหน้าแล้ง หรือจะแค่หว่านแหก็พอมีกิน วันเวลาขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละครัวเรือน ไข่มดแดง แมงดา จีนูน หอยจูบ แย้ กะปอม หรือกระทั่งหนังวัวควายตากแห้งของแซบที่คุ้นเคย เหล่านี้คือการหาอยู่หากิน การปรับตัวที่เป็นมาตั้งแต่สมัยปู่สังกะสาย่าสังกะสีแล้ว
นี่คือ “อีสาน” คนอีสานเข้าใจดี แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับภาพของอีสานในทิศทางการพัฒนา การหยิบยกวาทะกรรมอีสานแห้งแล้ง ขาดแคลนจนวิกฤติ ไม่น่าจะถูกต้องนัก
“แล้ง” ใช่ แต่มันคือฤดู ก็ต้องเข้าใจว่ามันคือฤดูแล้ง
ปัจจุบันสื่อทุกช่องที่เห็นๆ มักไปถ่ายเอาดินแดงแตกระแหง จุดที่เห็นว่าน้ำน้อยมากๆ กระพือ โหมข่าว ยิ่งเข้าทางของนักจัดการ
นักจัดการที่สักแต่ว่าคิดและปั้นเป็นโครงการแต่ไม่เคยมือแตะดิน ตีนเหยียบแหอย่างชาวบ้านที่ทำกันอยู่ในทุกวัน กินเงินเดือนหากแต่ทำทีว่าเข้าใจความต้องการของประชาชนเหลือเกิน และเตรียมที่จะเอาโครงการใหญ่ๆ มาลง หากตรวจสอบจริงไม่แน่ใจว่าสำเร็จจริงกี่แห่งกันแน่ เอายอด เอาตัวเลขมาวัดค่าจากการคิดคำนวณประโลมโลก
กระแสวิกฤติภัยแล้งต้องเข้าใจเรื่องปรากฎการณ์เอลนิญโญ่และต้องมาขบคิดแก้กันแบบยาวๆ เช่น ปลูกป่าทดแทน เกษตรกรหันมาปลูกต้นไม้ตามไร่นา ส่งเสริมการเกษตรแบบเป็นโซน หรือเรื่องเมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่น เพื่อป้องกันในระยะยาว และรัฐก็ดูแลแหล่งต้นน้ำอย่างจริงจังร่วมกับชุมชนโดยรอบ
ที่ผ่านมา ไม่สร้างก็ขุดลอก ล๊อก หลอกไล่ชุมชนหนีจากป่า เปิดหน้าให้นายทุนหรือแนวร่วมที่มีผลประโยชน์แฝงเข้าไปดำเนินการแทน และไม่ได้ถามความคิดเห็นของชาวบ้านที่เขาจบ ป.4 แต่ดีกรีดอกเตอร์ในการคิดค้นจากการลงมือทำซึ่งมากมายมีดี
วันนี้พี่น้องไทอีสานยังอยู่ดีมีแฮงหาปลากันเต็มบ่อ เพราะนี่คือฤดูแล้ง พรุ่งนี้ไปหาบ่อสาธารณะที่ใหม่จนกว่าฤดูฝนจะเวียนมาอีกรอบ นี่คือวิถีอีสานที่ชาวบ้านปรับตัวกันแล้ว รอก็แต่พวกคร่ำครึหัวเก่าคิดแต่เรื่องเดิมๆ การจัดการที่กระทบกับอีกหลายชุมชนหลายชีวิตแต่ไม่เคยกระทบกับครอบครัวผู้คิดและลงมือจัดการน้ำในแบบฉบับดั้งเดิมที่เรียกว่า “เขื่อน” แต่อย่างใด
อยู่ดีมีแฮงเด้อไทอีสานเฮา
2 มีนาคม 2559