บทความโดย : ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา
ความพยายามผลักดันให้มีการขุดคลองไทยเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และเริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งทุนจีนเข้ามาสนับสนุนทุนในการศึกษา รวมถึงการผลักดันคลองไทยของกลุ่มนายพลที่เกษียณอายุราชการแล้ว ต่อมา พ.ศ. 2560 มีการจัดตั้งสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการเคลื่อนไหวให้ข้อมูลด้านดีของโครงการ มีการจัดกิจกรรมในพื้นที่ขุดคลองร่วมกับผู้นำท้องถิ่นอย่างต่อเนื่อง มีการหว่านล้อมให้ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบลงนามสนับสนุนเพื่อเสนอโครงการต่อรัฐบาล ต่อมา พ.ศ. 2561 มีการจัดตั้งพรรคคลองไทย โดยชูนโยบายเสนอพระราชบัญญัติคลองไทย นอกจากนั้นมีพรรคการเมืองอีกจำนวนหนึ่งที่มีนโยบายสนับสนุนคลองไทย จนกระทั่งในปัจจุบันสภาผู้แทนราษฎรได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้
ดังนั้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีการนำเสนอข้อมูลคลองไทยในด้านดีอย่างต่อเนื่อง ในส่วนรายงานชิ้นนี้จะนำเสนอข้อมูลคลองไทยในอีกด้านหนึ่ง โดยเรียบเรียงข้อมูลจากการให้สัมภาษณ์ของผู้ผลักดันโครงการ งานศึกษาของบริษัทจีน งานศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และการเข้าร่วมเวทีนำเสนอข้อมูลคลองไทย
คลองไทยตัดแบ่งแผ่นดิน
คลองไทยเป็นการขุดคลองขนาดใหญ่ ตัดแบ่งแผ่นดินภาคใต้ เชื่อมทะเลฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย เพื่อเป็นช่องทางสัญจรทางทะเลระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก ข้อมูลล่าสุดระบุว่าคลองไทยเส้น 9A ผ่าน 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา มีความยาว 135 กม. ความกว้างประมาณ 400 เมตร ความลึกประมาณ 30 เมตร คาดว่าต้องเสียพื้นที่เฉพาะพื้นที่ขุดอย่างน้อย 1,400 ตร.กม. นอกจากนั้นมีการขุดร่องน้ำเพื่อให้มีความลึกประมาณ 30 เมตร โดยขุดร่องน้ำฝั่งอันดามันออกไปประมาณ 30-40 กม. และฝั่งอ่าวไทยประมาณ 50-55 กม.
เส้นทางคลองไทยเริ่มจากปากทางเข้าด้านทะเลอันดามันในพื้นที่ จ.กระบี่ อยู่ระหว่างเกาะไหงกับเกาะลันตา ไปยังพื้นที่ จ.ตรัง ที่บ้านแหลมไทร ต.เขาไม้แก้ว ต.กะลาเส อ.สิเกา ต.วังมะปราง อ.วังวิเศษ ต.วังคีรี ต.บางดี ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด ต.หนองบัว อ.รัษฎา ไปยัง จ.นครศรีธรรมราช ในพื้นที่ ต.น้ำตก อ.ทุ่งสง ต.ควนหนองหงส์ ต.เขาพระทอง ต.ท่าเสม็ด ต.เคร็ง อ.ชะอวด ผ่าน จ.พัทลุง ในพื้นที่ อ.ป่าพะยอม อ.ควนขนุน ไปยัง ต.ควนชะลิก อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ไปยัง จ.สงขลา ในพื้นที่ ต.คลองแดน ต.ท่าบอน อ.ระโนด แล้วออกทะเลอ่าวไทย คาดว่าจะมีการอพยพประชาชนในพื้นที่ขุดคลองอย่างน้อย 63,441 คน
ผู้ประกอบการธุรกิจเดินเรือชี้ ผู้ผลักดันคลองไทยให้ข้อมูลคลาดเคลื่อน
กลุ่มผู้ผลักดันโครงการระบุว่าคลองไทยจะช่วยย่นระยะเวลาการเดินเรือจากมหาสมุทรอินเดียไปทะเลจีนใต้ ทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าโลกตะวันออกแทนสิงคโปร์ นอกจากนั้นจะเป็นแหล่งอุตสาหกรรม และการท่องเที่ยวระดับโลก โดยชูวาทกรรม “คลองไทยหัวใจของชาติ” ด้านผู้ประกอบการเดินเรือมีความเห็นว่ามีการให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงในหลายเรื่อง
นายเฉลิมพล ชัยวรพงศา ผู้ประกอบการเดินเรือวงศ์สมุทรนาวี กล่าวว่า สมาคมคลองไทยให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อาทิช่องมะละกาไม่ได้แคบ ส่วนที่แคบสุดมีระยะทางประมาณ 2 กม. และมีความลึก 30 เมตรขึ้นไป ลึกพอๆ กับคลองไทยที่จะขุด, หลายประเทศมีการพัฒนาเส้นทางขนส่งสินค้าทางน้ำและทางบก เช่น จีนพัฒนารถไฟจากซีอานไปยังปราก ยุโรป ไม่ได้มีความจำเป็นที่จะต้องมาใช้คลองไทย, ต้นทุนโครงการนี้ไม่ต่ำกว่า 5 ล้านล้านบาท ไม่ใช่ 2.4 ล้านล้านบาท ตามที่ให้ข้อมูล ตัวเลขดังกล่าวยังไม่รวมต้นทุนอื่นๆ เช่น ค่านำดินที่ขุดไปถมเกาะขนาดใหญ่ซึ่งมีเนื้อที่รวมประมาณ 1 แสนไร่, การขุดคลองไทยใช้ผู้รับเหมาจากบริษัทต่างประเทศ ไม่ได้ใช้แรงงานไทย จะมีการนำคนงานต่างชาติประมาณ 30,000 คนเข้ามาในประเทศไทยเพื่อจัดการงานก่อสร้าง, คลองไทยขาดทุนอย่างมาก ต้องพึ่งพารายได้จากนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งถ้าหากต้องการพัฒนาอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องขุดคลอง
นายเฉลิมพล กล่าวอีกว่า การขุดคลองไทยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก โดยเฉพาะแม่น้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ แหล่งปะการัง แหล่งวางไข่ของปลา ต้องเตรียมแหล่งน้ำจืดขนาดใหญ่สำหรับเติมในคลอง เราต้องสูญเสียหลายอย่างเพื่อแลกกับคลองที่ขาดทุน ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 1 ในเอเชีย เราจะเลือกทางเดิมซึ่งเป็นจุดแข็งไหม หรือจะเปลี่ยนเป็นนิคมอุตสาหกรรม เราต้องตัดสินใจว่าอะไรที่ดีกว่า
อุตสาหกรรมในพื้นที่คลองไทยใหญ่กว่า EEC
การขุดคลองไทยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่เท่านั้น หากแต่จะมีการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจโดยเรียกว่า “เขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทอง” ซึ่ง ส.ส. พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านประกาศจะผลักดันให้มีการออกกฎหมายฉบับนี้
ข้อมูลจากผู้ผลักดันโครงการระบุว่าในพื้นที่คลองไทยสามารถพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ประมาณ 800 ตร.กม. หรือ 5 แสนไร่ จะเป็นนิคมอุตสาหกรรมประมาณ 400 ตร.กม. หรือ 2.5 แสนไร่ นอกจากนั้นเป็นเกาะท่าเรือ การท่องเที่ยว และอื่นๆ โดยมีการนำดินที่ได้จากการขุดคลองอย่างน้อย 5,300 ล้านลูกบาศก์เมตรมาถมทะเลทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ประมาณ 10 เกาะ รวมเนื้อที่ประมาณ 1 แสนไร่
ในส่วนรายงานการศึกษาของบริษัทจีนระบุถึงการถมทะเลในพื้นที่อันดามัน จ.ตรัง และ จ.กระบี่ ว่ามีการถมทะเลเกาะมุก จ.ตรัง เป็นเกาะพลังงานหรืออุตสาหกรรมปิโตรเคมี เนื้อที่ 92 ตร.กม. ในส่วนเกาะกระดาน จ.ตรัง กับเกาะไหง จ.กระบี่ เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีด้วย และมีการถมทะเลเชื่อมเกาะลันตาใหญ่ เกาะลันตาน้อย และเกาะปอ จ.กระบี่ เพื่อเป็นท่าเรือ นอกจากนั้น มีการกำหนดพื้นที่บ้านบ่อม่วง อ.คลองท่อม จ.กระบี่ เป็นพื้นที่อุตสาหกรรมการประมงทางทะเล เนื้อที่ 47 ตร.กม. บ้านแหลมไทรเป็นที่ตั้งของสถานีตำรวจชายฝั่งทะเล เนื้อที่ 10 ตร.กม. พื้นที่ระหว่างเกาะลันตากับเกาะไหงเป็นจุดจอดเรือใหญ่ก่อนเข้าร่องน้ำ
ผู้ประกอบการท่องเที่ยวห่วงคลองไทยทำการท่องเที่ยวอันดามันพัง
นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์ กรรมการสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว จ.กระบี่ กล่าวว่า หากมีการขุดคลองไทยจะส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว จ.กระบี่ จ.ตรัง รวมถึงการท่องเที่ยวอันดามันซึ่งมีความเชื่อมโยงกัน เนื่องจากมีการขุดร่องน้ำบริเวณทางเข้าคลองไทย บริเวณเกาะลันตา เกาะไหง ตะกอนจากการขุดสามารถไหลตามน้ำไปถึงเกาะพีพี เกาะห้า เกาะหมา เกาะรอก และเกาะอื่นๆ นอกจากนั้นมีการถมทะเลเพื่อรองรับอุตสาหกรรม โครงการคลองไทยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง เราจะต้องสูญเสียทะเลที่สมบูรณ์ไป พื้นที่อุทยานแห่งชาติ 2 แห่ง ในบริเวณนี้ ได้แก่ อุทยานฯ หมู่เกาะลันตา กับอุทยานฯ หาดเจ้าไหม จะต้องถูกยุบ ต้นทุนของคลองไทยที่ไม่ได้นำมาคำนวณคือมูลค่าการท่องเที่ยว มูลค่าประมง ต้นทุนของทรัพยากรตลอดเส้นทางคลองไทย
“ข้อมูลจากบริษัทจีนบอกว่าจะถมเกาะมุกเพื่อเป็นเกาะปิโตรเคมี จากเนื้อที่ในปัจจุบัน 7.688 ตร.กม. จะนำดินจากการขุดคลองมาถมให้มีเนื้อที่ 92 ตร.กม. ใหญ่กว่าปัจจุบันประมาณ 12 เท่า ใหญ่กว่าเกาะลันตาใหญ่ที่มีเนื้อที่ 78.270 ตร.กม. นั่นคือเกาะมุกในอนาคต มีการถมทางเชื่อมเกาะมุกกับเกาะกระดาน ทำให้เกาะกระดานแปรสภาพเป็นส่วนหน้าของท่าเรือของเกาะมุก เกาะกระดานเป็นจุดจอดเรือบรรทุกผลิตภัณฑ์อันตราย การถมพื้นที่ขนาดใหญ่ในทะเลจะส่งผลกระทบต่อแนวปะการังและหญ้าทะเลในบริเวณนั้น ปะการังอ่อนที่เกาะเชือก เกาะม้า เกาะแหวนก็ไม่น่าจะรอด ป่าชายเลน หญ้าทะเล ปะการังก็ถูกทำลาย ชายหาดจะเปื้อนฝุ่นตลอดการก่อสร้างเป็นระยะเวลามากกว่า 6 ปี และจะต้องขุดลอกร่องน้ำทุกปี” นายธีรพจน์กล่าว
โครงการคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดยักษ์เป็นหายนะครั้งใหญ่ของประชาชนภาคใต้และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตามมีความเคลื่อนไหวผลักดันโครงการโดยใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร นอกจากการจัดทำรายงานการศึกษา มีการผลักดันกฎหมาย แผนงานของรัฐบาล และบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับนักลงทุนชาวต่างชาติอีกด้วย