6 ความเคลื่อนไหวเด่น ประเด็นคลองไทย ปี 2564

6 ความเคลื่อนไหวเด่น ประเด็นคลองไทย ปี 2564

โครงการคลองไทยเป็นการขุดคลองขนาดใหญ่ ตัดแบ่งแผ่นดินภาคใต้ เชื่อมทะเลฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย เพื่อเป็นช่องทางสัญจรทางทะเลระหว่างมหาสมุทรอินเดียกับมหาสมุทรแปซิฟิก คลองไทยผ่าน 5 จังหวัด ได้แก่ กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา มีความยาว 135 กม. รูปแบบของคลองมี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบที่ 1) มีคลองหลักคลองเดียวขนาดใหญ่ เรือเดินสมุทรสามารถเข้า-ออก ได้ในคลองเดียวกัน และรูปแบบที่ 2) มีคลองหลักขนาดใหญ่เป็นคลองคู่ขนาน 2 คลอง เรือเดินสมุทรสามารถเข้า-ออก ในคลองคนละเส้นทางเพื่อรองรับเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก การขุดคลองไทยไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อเป็นเส้นทางเดินเรือใหม่เท่านั้น หากแต่จะมีการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษแห่งใหม่และใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

ในรอบปี พ.ศ. 2564 มีความเคลื่อนไหวกรณีโครงการคลองไทยที่น่าสนใจ ดังนี้

1. สภาฯ เปิดรับฟังความคิดเห็น ร่างกฎหมายคลองไทย 3 ฉบับ

เว็บไซต์รัฐสภาเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับคลองไทย จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ (1) ร่างพระราชบัญญัติเขตเศรษฐกิจพิเศษขวานทองคลองไทยภาคใต้ พ.ศ…. เสนอโดย นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รับฟังตั้งแต่วันที่ 6 พ.ย. 2563 ถึงวันที่ 12 พ.ค. 2564 มีผู้แสดงความคิดเห็น จำนวน 8 คน  (2) ร่างพระราชบัญญัติการขุดคลองไทยและเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ พ.ศ…. เสนอโดย พล.ต.ทรงกลด ทิพยรัตน์ รับฟังตั้งแต่วันที่ 12 พ.ย. 2563 ถึงวันที่ 12 พ.ค. 2564 มีผู้แสดงความคิดเห็น จำนวน 9 คน  (3) พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ พ.ศ… เสนอโดย นายนภดล แก้วสุพัฒน์ รับฟังตั้งแต่วันที่ 3 ก.พ. 2564 เป็นต้นไป

ที่มา : เว็บไซต์รัฐสภา

2. กมธ. คลองไทย เซ็น MOU กับ 9 บริษัท

วันที่ 3 ก.พ. 2564 ณ ห้องประชุม 409 ชั้น 4 อาคารรัฐสภา พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือด้านการศึกษาวิจัยและการเผยแพร่ผลการศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ กับ 9 บริษัท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมศึกษาและเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ความคืบหน้าของโครงการให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาชนในประเทศและต่างประเทศทั่วโลก รวมถึงสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกัน

นอกจากนั้น ก่อนหน้านั้นในปีที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2563 ที่อาคารรัฐสภา พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้ลงนามความร่วมมือ (MOU) กับ บริษัท GRAND DRAGON INTERNATIONAL HOLDINGS COMPANY LIMITED ซึ่งจดทะเบียนในฮ่องกง และมีบริษัทแม่อยู่ในประเทศจีน โดยบริษัทดังกล่าวได้จัดทำงานศึกษาโครงการคลองไทย เมื่อปี พ.ศ. 2558 นำเสนอโมเดลคลองไทยตั้งแต่การขุดคลอง การนำดินจากการขุดคลองไปถมทะเล และการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรม

ที่มา : เว็บไซต์รัฐสภา

3. เครือข่ายประชาชนยื่นสอบจริยธรรม กมธ.คลองไทย

วันที่ 3 มี.ค. 2564 ที่อาคารรัฐสภา เครือข่ายเขียนอนาคตประเทศไทยได้ยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้ตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ ว่าถูกต้องหรือไม่ ทั้งในเชิงกระบวนการ ทิศทาง และการแต่งตั้งบุคคลในการทำงานทั้งหมดของคณะกรรมาธิการฯ รวมทั้งขอให้ไต่สวนการลงนามความร่วมมือระหว่าง คณะกรรมาธิการฯ กับบริษัทเอกชนว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ และขอให้ยุติการเสนอร่าง พ.ร.บ.การขุดคลองไทยและเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ ที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งอย่างสำคัญ  

4. ส.ว. เสนอยกเลิกขุดคลองไทยอย่างถาวร

วันที่ 17 ส.ค. 2564  พล.ร.อ.พัลลภ ตมิศานนท์ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายในที่ประชุมวุฒิสภา ระหว่างการพิจารณารายงานผลการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ ประจำปี 2563 ต่อประเด็นการปฏิรูปประเทศเขตเศรษฐกิจพิเศษ การพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ โดยระบุว่า กรณีคลองไทยไม่ได้อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ แต่พบว่ามีการผลักดันร่างกฎหมาย 3 ฉบับ โดยมีการเปิดให้รับฟังความเห็นในเว็บไซต์ของรัฐสภา พบการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริง คลองไทยไม่ใช่เส้นทางลัดเดินเรือที่มีนัยยะสำคัญ ลงทุนสูง เรือผ่านน้อย ขาดทุนมาก เป็นกับดักหนี้สินของชาติมหาอำนาจ คลองไทยไม่ใช่วาระแห่งชาติแต่เป็นหายนะแห่งชาติ หายนะจากมวลน้ำเค็มมหาศาลตลอดแนวคลอง สร้างความเสียหายแก่พื้นที่เกษตรกรรม นาข้าว สวนผลไม้ สวนยางพาราเป็นวงกว้าง กระทบกับสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง ตนในฐานะอดีตเสนาธิการทหารเรือมองว่าคลองไทยคือชนวนความขัดแย้ง กระทบต่อการแบ่งแยกอาณาจักร จะเกิดหายนะกับไทยที่ถูกแบ่งแยกจากการขุดคลองไทยที่กว้างกว่า 1 กม. มีข้อเสนอแนะให้รัฐบาลแสดงจุดยืนยกเลิกขุดคอคอดกระ (คลองไทย) อย่างถาวรให้นานาชาติรับรู้ ตลอดจนรัฐบาลและสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต้องไม่หลวมตัวศึกษาคลองไทยในเชิงลึก

5. สมาคมคลองไทยยื่นหนังสือหนุน กมธ.คลองไทย

วันที่ 24 พ.ย. 2564 ที่อาคารรัฐสภา นายณรงค์ ซุ้มทอง นายกสมาคมคลองไทย 5 จังหวัดภาคใต้ และคณะ ได้ยื่นหนังสือต่อ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ คนที่หนึ่ง และนายสฤษฏ์พงษ์ เกี่ยวข้อง โฆษกคณะกรรมาธิการฯ เพื่อแสดงเจตจำนงในการสนับสนุนรายงานการศึกษาของคณะกรรมาธิการฯ ให้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ตามที่สภาผู้แทนราษฎรได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการฯ ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2563

ที่มา : เว็บไซต์รัฐสภา

6. งานศึกษาคลองไทย 3 ฉบับ

ในปี พ.ศ. 2564 มีการจัดทำงานศึกษาคลองไทย จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

(1) คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดทำงานศึกษาคลองไทย ตามที่มีการเสนอญัตติให้มีการศึกษาเรื่องคลองไทย และที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2563 คณะกรรมาธิการฯ ได้นำเสนอรายงานผลการศึกษาต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามหนังสือลงวันที่ 9 ก.ค. 2564 ปัจจุบันอยู่ระหว่างรอเข้าสู่วาระการพิจารณาของที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร คาดว่าจะมีการพิจารณารายงานดังกล่าวในเดือน ม.ค. 2565 

(2) รัฐบาลมอบหมายให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ จัดทำงานศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมต่ออ่าวไทยกับอันดามัน โดยศึกษาโครงการคลองไทย โครงการแลนด์บริดจ์ชุมพร-ระนอง ในระยะเวลา 1 ปี งบประมาณประมาณ 11 ล้านบาท มีกำหนดศึกษาเสร็จในช่วงต้นปี 2565  

(3) คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จัดทำงานวิจัยชีวิตปากคลองไทย ในพื้นที่ อ.สิเกา อ.กันตัง จ.ตรัง และ อ.เกาะลันตา อ.คลองท่อม จ.กระบี่ โดยสำรวจระบบนิเวศแนวปะการัง 8 เกาะ 13 จุด แหล่งหญ้าทะเล 4 แห่ง ชายหาด 5 แห่ง ป่าชายเลนบางส่วน สำรวจข้อมูลสมุทรศาสตร์/พื้นทะเล เช่น คุณภาพน้ำ ความลึก กระแสน้ำ แพลงก์ตอน ไมโครพลาสติก สัตว์หน้าดิน งานวิจัยดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2565 มีความเคลื่อนไหวสำคัญของคลองไทยให้ติดตามกันต่ออย่างแน่นอน

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ