จับตาความเคลื่อนไหวคลองไทยในสภาฯ ตอนที่ 2

จับตาความเคลื่อนไหวคลองไทยในสภาฯ ตอนที่ 2

บทความโดย ศูนย์สร้างจิตสำนึกนิเวศวิทยา

โครงการคลองไทยถูกจับตามองมากขึ้นหลังจากสภาผู้แทนราษฎรมีการพิจารณาญัตติเรื่องขอให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยและการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ โดย ส.ส. พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านได้อภิปรายสนับสนุนการขุดคลองไทย ที่ประชุมมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ จำนวน 49 คน โดยมีกรอบระยะเวลา 120 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. จนถึง 15 พ.ค. 2563 ต่อมามีการขยายกรอบระยะเวลาการพิจารณาศึกษาออกไปอีก 120 วัน จะครบกำหนดระยะเวลาตามที่ขอขยายในวันที่ 12 ก.ย. 2563 

งานศึกษาของ สนช. ระบุขุดคลองไทยไม่คุ้ม

โครงการคลองไทยมีการตั้งกรรมการศึกษาหลายครั้ง มีรายงานการศึกษาหลายชิ้น ในส่วนรายงานการพิจารณาศึกษาความจำเป็นและความคุ้มค่าของการขุดคลองไทย ของคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในปี พ.ศ.2561 ซึ่งมีการรวบรวมงานวิจัย และข้อมูลเกี่ยวกับคลองไทย จำนวน 37 ฉบับ สรุปผลการศึกษาพบว่าประเทศไทยยังไม่มีความจำเป็นและความคุ้มค่าที่จะดำเนินการขุดคลองไทยในสภาวะแวดล้อมในปัจจุบัน

รายงานการศึกษาดังกล่าวระบุถึงเหตุผลว่าคลองไทยไม่ได้ช่วยย่นระยะทางและระยะเวลาในการเดินเรือได้มากนัก อีกทั้งยังขาดความชัดเจนจากผลการศึกษาที่ผ่านมาว่าโครงการดังกล่าวจะสามารถพลิกเศรษฐกิจของชาติให้เติบโตอย่างก้าวกระโดดได้อย่างไร ตลอดจนการขุดคลองไทยจะส่งผลทำให้สภาวะแวดล้อมทางทะเลเปลี่ยนแปลงไปในเชิงลบมากกว่าที่จะเป็นผลดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบต่อการสูญเสียดินแดนและการเป็นเป้าที่ยากต่อการป้องกันจากภัยคุกคามทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการศึกษาความคุ้มค่าด้านการลงทุน พบว่าโครงการคลองไทยจะเป็นโครงการที่มีต้นทุนสูงและมีความเสี่ยงที่ต้องใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างที่ยาวนาน และหากพิจารณาผลกระทบของการขุดคลองไทยในมิติต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ ความมั่นคง การเมือง สิ่งแวดล้อม และสังคมและวัฒนธรรม จะพบว่าผลกระทบในทางลบจะมีน้ำหนักมากกว่าผลกระทบทางบวก ทั้งนี้หากประเทศไทยตัดสินใจที่จะขุดคลองไทยขึ้นจริง ประเทศที่เป็นเจ้าของทุนจะเป็นผู้เข้ามาบริหารจัดการคลองด้วยตนเอง และหากโครงการดังกล่าวไม่เป็นตามที่คาดไว้ จะส่งผลทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย และอาจต้องตกอยู่ภายใต้อำนาจของมหาอำนาจหรือรัฐเจ้าของทุนในที่สุด

อดีตกรรมาธิการวิสามัญฯ คลองไทย ชี้กรรมาธิการเจตนาผลักดันคลองไทย

ผลการศึกษาคลองไทยของสภาผู้แทนราษฎรอาจไม่สอดคล้องกับรายงานการศึกษาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีการตั้งข้อสังเกตถึงท่าทีของกรรมาธิการซึ่งมีเจตนาผลักดันโครงการคลองไทย

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล อดีตกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทยฯ สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงเหตุผลในการลาออกว่า ตลอดเวลาการทำงานของกรรมาธิการฯ มีท่วงทำนองของการผลักดัน มิใช่การศึกษาหาคำตอบว่าโครงการเช่นนี้เหมาะสมหรือไม่ เช่น ที่ปรึกษากรรมาธิการฯ หรืออนุกรรมาธิการฯ ประกอบด้วยบุคคลที่สนับสนุนการขุดคลองไทย ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ถึงความไม่เป็นกลางของกรรมาธิการฯ วิธีคิดของกรรมาธิการฯ สะท้อนจากวิธีการทำงาน เช่น พยายามให้หน่วยงานรัฐบรรจุเรื่องคลองไทยเข้าสู่แผนงานในระดับชาติ เพื่อจะทำให้เกิดการเดินหน้าของโครงการขุดคลอง หรือในกระบวนการรับฟังความเห็นของกรรมาธิการฯ ทั้งที่จังหวัดกระบี่และนครศรีธรรมราช ล้วนสะท้อนวิธีคิดและเจตนาในการผลักดันมากกว่าการศึกษาหาข้อเท็จจริง กรรมาธิการฯ ใช้ชุดข้อมูลการออกแบบของสมาคมคลองไทยในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้เจตนาว่า กรรมาธิการฯ กับสมาคมคลองไทยร่วมมือกันทำงานหรือไม่ การใช้กลไกนิติบัญญัติเพื่อการผลักดันโครงการของภาคเอกชนหรือต่างชาติเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่

“สังคมไทย และคนภาคใต้จำเป็นต้องรู้ข้อมูล โครงการนี้ใหญ่สุดในเชิงการลงทุนตั้งแต่มีประเทศไทยมา มันเปลี่ยนสภาพภูมิศาสตร์โลก เปลี่ยนความมั่นคงของโลก มันเป็นเรื่องใหญ่ ไม่สามารถมามุบมิบทำกันใต้ดิน กรรมาธิการไม่สามารถทำหน้าที่เป็นผู้ผลักดัน กรรมาธิการต้องมีหน้าที่ในการเปิดการศึกษา แผ่นดินนี้ไม่ใช่ที่อยู่ของคนกลุ่มเดียว เราจะให้เกิดการขุดคลองไทยแล้วเกิดการสู้รบในแผ่นดินเราเหรอ เราต้องเสียสิทธิสภาพในแผ่นดินของเราให้กับ พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ เหรอ คนแสนคนที่ต้องย้ายไปจะไปอยู่ในแผ่นดินไหน จะไล่คนออกไปเพื่อโครงการที่ไม่คุ้มหรือเปล่า” 

นายประสิทธิ์ชัย กล่าวอีกว่า จังหวัดกระบี่และอันดามันมีรายได้จากการท่องเที่ยว 4 แสนล้าน การขุดร่องน้ำออกไป 30 กม. การถมทะเล จะทำให้การท่องเที่ยวและประมงไม่เหลืออะไรเลย มันจะเปลี่ยนเราไปหมดเลย จะไม่ให้พูดข้อมูลอีกด้านหนึ่งได้อย่างไร กระบวนการการพัฒนาประเทศได้ดำเนินการบนเส้นทางการพัฒนาด้วยเมกะโปรเจกต์มานานหลายสิบปี วิถีทางการพัฒนาเช่นนี้เป็นประโยชน์สำหรับคนมีอำนาจและกลุ่มทุน ด้วยการอ้างผลประโยชน์ประชาชน แต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก่อเกิดความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลา ศักยภาพของประชาชนถูกทำลายตลอดเวลา จึงเพียงพอแล้วสำหรับการพัฒนาเช่นนี้

จับตาความเคลื่อนไหวคลองไทยในสภาฯ

การขับเคลื่อนโครงการคลองไทยในยุคนี้มีพัฒนาการมากขึ้น จากเดิมมีการผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รวมถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตั้งกรรมาธิการศึกษา ปัจจุบันนอกจากผลักดันให้สภาผู้แทนราษฎรมีการศึกษาเรื่องคลองไทยแล้ว ยังมีการผลักดันให้มีกฎหมาย แผนงานของรัฐบาล รวมถึงการทำบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU กับนักลงทุนชาวต่างชาติ เพื่อสร้างเงื่อนไขให้มีการขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่านักลงทุนที่สนใจโครงการคลองไทยนอกจากชาวจีนซึ่งมีการสนับสนุนทุนในการศึกษาและอื่นๆ มาเป็นระยะเวลาหลายปี มีนักลงทุนชาติอื่นด้วย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย ออสเตรเลีย

พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ สส.พรรคพลังชาติไทย ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมาธิการศึกษาการขุดคลองไทย สภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ (21 ก.ค. 2563) ว่า ตนจะนำตัวแทนของ ส.ส. พรรครัฐบาลและพรรคฝ่ายค้านเข้าพบกับนายกรัฐมนตรี เพื่อขอความชัดเจนในการขุดคลองไทยและระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร หากรัฐบาลไม่ดำเนินการขุดคลองไทย ส.ส. จะร่วมยกร่างกฎหมายพิเศษขึ้นเพื่อขุดคลองไทยโดยเฉพาะ ไม่มีใครจะมายับยั้งโครงการนี้ได้ จะนำเอาโครงการ EEC มาเป็นแบบอย่าง

นอกจากนั้น พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ ได้เปิดเผยกับ TNN (24 ส.ค. 2563) ว่า ตอนนี้มีบริษัทต่างชาติเสนอตัวทำ MOU ในการลงทุนขุดและพัฒนาคลองไทย 100% ไม่ต้องรบกวนงบประมาณแผ่นดิน ในขณะนี้ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายต่างประเทศของสภาผู้แทนราษฎรกำลังแปล MOU คิดว่าจะเสร็จภายในสิ้นเดือน ส.ค. 2563 และในเดือน ก.ย. 2563 จะมีการเซ็น MOU 

ด้าน พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป นายกสมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา ได้เปิดเผยกับ TNN (24 ส.ค. 2563) ว่าการเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรศึกษาโครงการคลองไทยเป็นเป้าหมายหลักที่จะทำให้บรรลุผลถึงที่สุด เพราะเป็นโครงการเดียวที่มีหวังว่าจะสร้างรายได้ก้อนใหญ่ให้ประเทศไทย และสร้างงานเป็นจำนวนมาก

ดังนั้นในเดือน ก.ย. 2563 เป็นต้นไป จะมีความเคลื่อนไหวของโครงการคลองไทยในสภาผู้แทนราษฎรให้ติดตามต่ออย่างแน่นอน !!!

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

คลองไทย ต้องแลกอะไรกับคลองที่ขาดทุนและอุตสาหกรรมยักษ์ ตอนที่ 1

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ