TDRI: หรือเราจะไม่ดึงดูดการลงทุน จากต่างชาติอีกต่อไป?

TDRI: หรือเราจะไม่ดึงดูดการลงทุน จากต่างชาติอีกต่อไป?

20150408172258.jpg

ดร.บุญวรา สุมะโน 
สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)

ในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมามีข่าวสำคัญที่เกี่ยวกับการค้าการลงทุนระหว่างประเทศอย่างน้อย 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา แห่งสหรัฐอเมริกาได้รับความเห็นชอบจากสภาคองเกรสในการเจรจา Trans-Pacific Partnership (TPP) กับประเทศคู่ค้าอีก 11 ประเทศ รวมถึงประเทศอาเซียนอย่างเวียดนาม สิงคโปร์ มาเลเซีย และบรูไน  ซึ่งคาดว่าผลของการเจรจาจะครอบคลุมประมาณ 40% ของมูลค่าการค้าโลก 

อีกเรื่องคือการมาเยือนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของนายกรัฐมนตรีอังกฤษ เดวิด คาเมรอน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการหาช่องทางการค้าการลงทุนในอาเซียน โดยนำนักธุรกิจกลุ่มทุนและนวัตกรรมใหญ่อย่าง Airbus, Rolls-Royce, JCB และ Lloyds มาด้วย ซึ่งนายกคาเมรอนมีกำหนดการเยือน 4 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย และคาดว่าจะมีการเจรจาข้อตกลงการค้ามูลค่ากว่า 1.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ

นับเป็นข่าวดีสำหรับอาเซียน แต่อาจเป็นข่าวร้ายสำหรับประเทศไทยที่ตกขบวนโอกาสทางการค้าและการลงทุนมูลค่ามหาศาล ท่ามกลางข่าวร้ายทางเศรษฐกิจมากมาย ทั้งการย้ายฐานการผลิตของซัมซุง การปิดตัวลงของกิจการจำนวนมาก ความผันผวนของตลาดหุ้น และฟองสบู่ที่กำลังก่อตัวในภาคอสังหาริมทรัพย์

การถูกมหาอำนาจในเวทีโลกอย่างสหรัฐและอังกฤษเมินอย่างจังจึงเป็นเหมือนสัญญาณว่า วิกฤตินี้จะแก้ด้วยการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยการส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติได้ยาก เพราะประเทศไทยอาจไม่น่าดึงดูดในสายตาประเทศคู่ค้าอีกต่อไป

รายงาน IMD World Competitiveness Yearbook 2015 ซึ่งจัดอันดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศต่างๆ ทั้งหมด 61 ประเทศ ซึ่งรวมถึง ASEAN 5 หรือกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนดั้งเดิม ได้แก่ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย ก็ระบุว่าความสามารถในการแข่งขันของไทยตกลงมาจากอันดับที่ 27 ในปี 2556 มาอยู่อันดับที่ 30 ในปี 2558  โดยอยู่ตรงกลางของตารางและเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน ดังที่เป็นมาหลายปีแล้ว

แต่เมื่อลงไปดูในรายละเอียดจะพบว่า มีดัชนีหลายตัวที่ไทยถูกจัดอยู่ในอันดับที่ต่ำกว่าประเทศอาเซียนอีก 4 ประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นดัชนีที่มีนัยสำคัญต่อความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และความน่าดึงดูดต่อการค้าและการลงทุนจากต่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น

–    ความเสี่ยงของเศรษฐกิจต่อการย้ายฐานการผลิต (Relocation Threats of Production) อันดับที่ 53
–    ผลิตภาพบริษัท (Productivity of Companies) อันดับที่ 33
–    ผลิตภาพและประสิทธิภาพของธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (Productivity & Efficiency of Small and Medium Size Enterprises) อันดับที่ 53
–    จำนวนแรงงานฝีมือที่มีอยู่ในตลาด (Availability of Skilled Labor) อันดับที่ 46
–    ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวของคนในประเทศต่อความท้าทายใหม่ (Flexibility and Adaptability of People when Faced with New Challenges) อันดับที่ 40
–    ระดับการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นผลจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน (Public-Private Partnerships Supports Technological Development) อันดับที่ 35
–    ความสามารถในการผลิตนวัตกรรม (Innovative Capacity) อันดับที่ 51
–    ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ วัดจากผลการสอบโทเฟล (English Proficiency – TOEFL) อันดับที่ 57
–    ทักษะด้านภาษาที่ตรงกับความต้องการของธุรกิจ (Language Skills Meets the Needs of Enterprises) อันดับที่ 53
–    ระบบการศึกษาที่ตรงกับความต้องการของเศรษฐกิจที่ต้องแข่งขัน (Educational System Meet the Needs of a Competitive Economy) อันดับที่ 46

ดัชนีข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างของสัญญาณที่บ่งบอกว่า ประเทศไทยกำลังจะสูญเสียความสามารถทางการแข่งขันด้านเศรษฐกิจ ให้กับประเทศเพื่อนบ้านที่ไทยเคยเหนือกว่ามาตลอดอย่างฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย 

แม้ว่าในภาพรวมแล้วไทยจะยังมีความสามารถในการแข่งขันที่ดีกว่า แต่ยังมีดัชนีอีกหลายตัวที่แม้ไทยจะไม่ได้ที่โหล่ แต่ก็ถูกฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียหายใจรดต้นคอเตรียมเบียดขึ้นมาได้ทุกเมื่อ เช่น ผลิตภาพแรงงาน (Labor Productivity) ที่ไทยอยู่อันดับที่ 56 นั้น อินโดนีเซียตามมาที่อันดับ 59 และฟิลิปปินส์ที่ 60  และระดับการปรับตัวของนโยบายรัฐบาลต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ (Adaptability of Government Policy to Changes in the Economy) ซึ่งไทยอยู่อันดับที่ 34 และฟิลิปปินส์ตามอยู่ที่ 35 ส่วนอินโดนีเซียนั้นก้าวไปอันดับที่ 21 แล้ว

ดังที่กล่าวไว้ตอนต้น ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอาจไม่สามารถแก้ได้ด้วยกระตุ้นการลงทุนจากต่างชาติเพียงอย่างเดียว เพราะรายงาน IMD ฉบับเดียวกันจัดอันดับความน่าดึงดูดของมาตรการส่งเสริมการลงทุน (Investment Incentive Attractive to Foreign Investors) ไว้สูงถึงอันดับที่ 20 พูดง่ายๆ ว่าเราพร้อมจะให้สิทธิพิเศษแก่นักลงทุนไม่แพ้ใคร หากต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุน แต่ปัญหาอยู่ที่เขามองดูเราแล้วจะอยากเข้ามารึเปล่าต่างหาก

การถูกประเทศที่มีทุนใหญ่อย่างสหรัฐและอังกฤษมองข้ามไปนั้นก็ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับปรุงตนเอง เช่น ทำอย่างไรให้เรามีความสามารถในการผลิตนวัตกรรม ปรับรูปแบบการเรียนการสอนให้ตรงกับความต้องการของธุรกิจ และยกระดับความสามารถในการสื่อสารภาษาอังกฤษ เป็นต้น 

มาตรการเหล่านี้ไม่ใช่ของง่ายที่จะทำเสร็จในวันเดียว แต่ถ้าไม่เริ่มตอนนี้ก็น่าคิดว่าไทยอาจจะต้องเห็นประเทศอาเซียนอื่นอย่างอินโดนีเซียซึ่งมีศักยภาพในการเป็นทั้งฐานการผลิตและตลาดขนาดใหญ่ และฟิลิปปินส์ซึ่งมีความพร้อมด้านกำลังแรงงานทักษะแซงหน้าไป 

ยังไม่นับเวียดนามซึ่งแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในการสำรวจของ IMD แต่ก็คาดว่าจะมีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูงในสายตามหาอำนาจขนาดที่ประธานาธิบดีโอบามา และนายกรัฐมนตรีคาเมรอนต้องเดินทางมาจีบด้วยตัวเอง

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ