องค์กรภาคประชาชน ชี้ลดค่าไฟแค่ 3% ไม่ได้ช่วยอะไร เสนอรัฐออกมาตรการใหม่ ช่วยประชาชน เหตุค่าไฟพุ่งจากการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”
จากการที่ รัฐบาลได้ออกนโยบาย ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ โดยให้ประชาชนอยู่บ้านเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 (COVID-19) จึงมีประชาชนบางส่วนที่ทำงานจากที่บ้าน (work from home) ทำให้ค่าไฟฟ้าในเดือนที่ผ่านมาเพิ่มสูงขึ้น จนมีประชาชนจำนวนมากออกมาเรียกร้องรัฐให้จัดการปัญหาค่าไฟแพง นั้น
ล่าสุด (20 เม.ย 2563) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บุญยืน ศิริธรรม นายกสมาคมสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และ รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร เฟซบุ๊กไลฟ์ ประเด็น ‘ค่าไฟฟ้าแพง’
สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในช่วง 2 -3 ที่ผ่านมา มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนกรณีค่าไฟฟ้าแพงเข้ามาเป็นจำนวน โดยบางรายค่าไฟแพงขึ้นจากปกติประมาณ 2-3 เท่า จึงตัดสินใจเฟซบุ๊กไลฟ์ร่วมกันคุณบุญยืน และคุณรสนา เพื่อชี้ให้เห็นถึงปัญหา ร่วมกันแนวทางในการลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน เพื่อเสนอเพื่อเสนอแนวทางในการลดค่าไฟฟ้าไปยังรัฐบาล
“รัฐบาลควรยุติการเรียกเก็บเงินค่าบริการจำนวน 38.22 บาท (ค่าบริการ 38.22 บาท คืออะไร? คลิกอ่านเพิ่มเติม) รวมถึงการคิดค่าไฟฟ้าแบบอัตราก้าวหน้าในช่วงนี้ เนื่องจากในภาวะที่ทุกคนต้องอยู่ที่บ้าน ทำให้ปริมาณการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และเสนอให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คิดค่าไฟกับประชาชนในราคาที่เท่ากับที่ซื้อมาจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) นอกจากนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตก็ควรลดราคาให้กับการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคด้วย” สารีกล่าว
รสนา โตสิตระกูล กล่าวว่า แนวทางที่อยากเสนอให้รัฐบาลดำเนินการ คือลดค่าไฟฟ้า 1,000 บาทแรกให้กับประชาชนผู้ใช้ไฟทุกคน ลดค่าไฟฟ้า ร้อยละ 50 กับผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วงตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป – 3,000 บาท และลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 30 กับผู้ใช้ไฟฟ้าในช่วง 3,000 บาท ขึ้นไป เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ส่วนใหญ่ต้องอยู่บ้านตามนโยบายรัฐบาลในการจัดการกับเชื้อโควิด-19 ซึ่งประชาชนจำนวนมากที่ไม่มีรายได้เนื่องจากการหยุดงาน และหลายส่วนก็ยังอยู่ระหว่างรอการเยียวยาด้วยมาตรการอื่นๆ ของรัฐ
บุญยืน ศิริธรรม กล่าวว่า นโยบายของรัฐที่ลดค่าไฟฟ้าให้กับครัวเรือนร้อยละ 3 เป็นเวลา 3 เดือน ไม่ได้แก้ปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริง เพราะค่าไฟที่ลดลงนั้นเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้าที่แต่ละครัวเรือนต้องจ่าย ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากมาตรการของรัฐที่ให้ประชาชนอยู่บ้าน ดังนั้นจึงสนับสนุนข้อเสนอของคุณรสนา นอกจากนี้ รัฐวิสาหกิจผู้ผลิตไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง ทั้งการไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตล้วนเป็นกิจการของรัฐที่ไม่ได้แปรรูปกลายเป็นบริษัทมหาชนดังเช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ดังนั้นหากเกิดการขาดทุนจากการลดค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือประชาชน ก็จะเป็นเพียงการขาดทุนกำไร รัฐจึงควรต้องแสดงความจริงใจในการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการประคับประคองให้ผ่านภาวะวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 นี้ไปด้วยกัน
ทั้งนี้ ได้มีข้อเสนอไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงรัฐบาล 5 ข้อ ดังนี้
1) ขอให้ลดค่าไฟ โดยแบ่งเป็น 3 กรณีย่อยๆ คือ
– ลดอย่างเป็นธรรมถ้วนหน้า รายละ 1000 บาท
– ลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 50 ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายค่าไฟในช่วง 1,001 – 3,000 บาท
– ลดค่าไฟฟ้าร้อยละ 30 ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าที่จ่ายค่าไฟตั้งแต่ 3,000 บาทขึ้นไป
2) ขอให้ค่าบริหารจัดการเป็น 0 (ยกเลิกการคิดค่าบริการ 38.22 บาท) อย่าผลักภาระส่วนนี้ให้ประชาชนแบกรับ
3) ให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าในราคาเท่ากับที่รัฐรับซื้อไฟจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิต รวมทั้งเจรจาให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตลดค่าไฟที่ขายให้แก่รัฐ เพื่อให้ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าลดลง
4) มีนโยบายส่งเสริมให้ประชาชนมีสิทธิในการผลิตกระแสไฟฟ้าได้เอง เช่น ผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ โดยทำให้การขออนุญาตในการผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ง่ายขึ้น นอกจากนี้ เสนอให้ใช้นโยบาย net metering โดยคิดค่าไฟแบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติระหว่างไฟฟ้าที่ผลิตได้เองและไฟฟ้าที่ประชาชนใช้จากการไฟฟ้า รวมทั้งเดินหน้านโยบายให้การไฟฟ้าติดตั้งโซล่าร์เซลล์ให้ 1 ล้านครัวเรือน
และ 5) แก้ไขโครงสร้างต่าง ๆ ที่ไม่เป็นธรรม เช่น การผูกขาดราคาแก๊ส การประกันราคาค่าไฟฟ้าที่เอกชนผลิตให้รัฐ (take or pay)