‘กฟผ.’ ต้องยกเลิกโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว จ.กระบี่

‘กฟผ.’ ต้องยกเลิกโครงการท่าเทียบเรือคลองรั้ว จ.กระบี่

6 มีนาคม 2557 กรีนพีซ นักวิชาการพลังงาน และสมาคมท่องเที่ยวเกาะลันตา ร่วมวิพากษ์แผนการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วและแผนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ โดยเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันปกป้องกระบี่จากถ่านหิน เพื่อให้กระบี่คงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มาจากการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่น

การวิพากษ์แผนการสร้างท่าเทียบเรือถ่านหินและโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ครั้งนี้จัดขึ้นก่อนหน้าการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Public Scoping) ซึ่งจะจัดขึ้นโดยบริษัทที่ปรึกษาในวันที่ 9 มีนาคม 2557

กรีนพีซ นักวิชาการพลังงาน และสมาคมท่องเที่ยวเกาะลันตาได้แสดงความกังวลต่อกระบวนการศึกษาและจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วและแผนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เนื่องจากการระบุผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมดังกล่าวนั้นค่อนข้างต่ำกว่าความเป็นจริง

“กระบี่เปรียบเสมือนมรกตแห่งอันดามัน ซึ่งไม่เพียงแต่มีชื่อเสียงในระดับโลกจากภูมิทัศน์อันงดงามโดดเด่น แต่ยังมีระบบนิเวศทางทะเลที่อุดมสมบูรณ์อีกด้วย โครงการสร้างท่าเทียบเรือและโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นสวนทางโดยสิ้นเชิงกับแนวนโยบายการพัฒนาของจังหวัดกระบี่ที่ต้องการพัฒนาไปสู่การท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม” นายธีรพจน์ กษิรวัฒน์  นายกสมาคมการท่องเที่ยวเกาะลันตากล่าว

“การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะต้องตระหนักถึงภัยคุกคามที่กำลังเกิดขึ้นในจังหวัดกระบี่” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

“เราเกรงว่าการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วที่จะเกิดขึ้นในวันอาทิตย์นี้ จะไม่มีความแตกต่างจากรายงานการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินและท่าเทียบเรือท่าช้างที่มีการจัดทำไปก่อนหน้า คือ การระบุผลกระทบที่ต่ำกว่าความเป็นจริงหรือหากจะเกิดผลกระทบก็ระบุว่าสามารถแก้ไขได้ ผลคือรายงานที่ออกมาได้ตีตราประทับให้เจ้าของโครงการซึ่งก็คือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย” จริยากล่าวเสริม

พื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ จังหวัดกระบี่ ถูกขึ้นทะเบียนให้เป็น 1 ใน 10 ของพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ (List of Wetland of International Importance) ตามอนุสัญญาว่าด้วยพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระดับนานาชาติ (Ramsar Convention) หรือเรียกว่า “Ramsar Site” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2544  มีเนื้อที่ประมาณ 133,120 ไร่ ประกอบด้วยพื้นที่ป่าชายเลน หาดทราย และคลองที่ตัวเมืองกระบี่ รวมถึงพื้นที่ป่าโกงกางและหญ้าทะเลที่เกาะศรีบอยา ซึ่งมีพื้นที่ถึง 62,500 ไร่ ปากแม่น้ำกระบี่เกิดจากการที่แม่น้ำหลายสายในพื้นที่ภาคใต้ไหลมาบรรจบกันที่อ่าวพังงา พื้นที่ปากแม่น้ำของกระบี่เป็นตัวอย่างที่ดีของการอยู่ร่วมกันของชุมชนกับธรรมชาติ โดยป่าชายเลน หญ้าทะเล และแนวปะการัง เป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ รวมถึงเป็นพื้นที่อนุบาลและวางไข่ของสิ่งมีชีวิตในทะเล

9 มีนาคม 2557  หลังจากมีการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (ค1) โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว

จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า “เห็นได้ชัดเจนว่า ภายใต้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ อย่างเช่น โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วนี้ มีข้อจำกัดคือกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยใช้เงินจัดจ้างบริษัททีม คอนซัลติ้ง ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเพียงการตีตราประทับให้กับโครงการท่าเทียบเรือและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินเท่านั้น

การรับฟังความคิดเห็นของและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมในวันนี้ถือว่าเป็นกระบวนการที่ล้มเหลวและขาดความชอบธรรม เนื่องจากมีการปิดกั้นการแสดงความคิดเห็นของประชาชน การข่มขู่ความปลอดภัยของแกนนำในพื้นที่ที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการสร้างท่าเทียบเรือและโรงไฟฟ้าถ่านหิน โดยการใช้ความรุนแรงทั้งทางวาจา และขว้างปาเก้าอี้ในระหว่างการแสดงความคิดเห็น

กรีนพีซและเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหินจะยังคงเดินหน้าคัดค้านโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือถ่านหินและโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ พร้อมเรียกร้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยกเลิกโครงการดังกล่าว

กรีนพีซขอเรียกร้องไปยังสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้ทำการปฏิรูปกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) โดยคำนึงถึงข้อโต้เถียงของทุกฝ่าย ตลอดจนผลกระทบในด้านต่างๆ และให้ดำเนินการด้วยความยืดหยุ่น สุจริตและเป็นธรรมเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลประกอบการตัดสินใจของรัฐที่ชัดเจนและถูกต้องตามหลักวิชาการและสภาพความเป็นจริงมากที่สุด”

ทั้งนี้ โครงการท่าเทียบเรือถ่านหินบ้านคลองรั้วเป็นแผนทางเลือกล่าสุดของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเพื่อขนถ่ายถ่านหินนำเข้าจากอินโดนีเซีย ออสเตรเลียหรือแอฟริกา มาเป็นเป็นเชื้อเพลิงในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิตติดตั้ง 870 เมกะวัตต์ จุดของโครงการท่าเทียบเรือตั้งอยู่ ณ ตําบลตลิ่งชัน อําเภอคลองขนาน จังหวัดกระบี่ ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำเพียงไม่กี่แห่งในประเทศไทยที่มีสถานะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญในระดับนานาชาติ

ในช่วงฤดูมรสุม การขนถ่ายถ่านหินจากเรือเดินสมุทรขนาดมหึมาลงเรือขนถ่านหินขนาดเล็กจะเกิดขึ้นบริเวณกลางทะเลใกล้เกาะปอซึ่งอยู่ท้ายเกาะลันตา และบริเวณเกาะกลางในช่วงไม่มีมรสุม แล้วผ่านเข้าไปยังท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว เพื่อขนส่งถ่านหินไปตามสายพานลำเลียงยาว 8.4 กิโลเมตร เข้าสู่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน การขนถ่ายถ่านหินจะส่งผลกระทบมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อมของกระบี่ โดยเฉพาะปะการัง หญ้าทะเล ผืนป่าชายเลน แหล่งทำประมงพื้นบ้าน แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ถิ่นที่อยู่อาศัยของพรรณพืชและสัตว์ และที่สำคัญจะสร้างความเสียหายต่อวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดกระบี่

สำหรับเครือข่ายปกป้องกระบี่จากถ่านหิน ประกอบด้วย

  • กลุ่มรักลันตา
  • กลุ่มพิทักษ์ปกาสัย
  • สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวลันตา
  • สมาคมผู้ประกอบการโรงแรมเกาะลันตา
  • มูลนิธิอันดามัน
  • ศูนย์สร้างเสริมจิตสำนึกนิเวศวิทยา
  • กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
  • สมาคมสมาพันธ์ชาวประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย
  • คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ (กปอพช)
  • โครงการปกป้องพื้นที่ผลิตอาหารชายฝั่งภาคใต้
  • กลุ่มรักตรังปกป้องตรัง
  • กลุ่มรักษ์อันดามัน
  • กลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมปกาสัย จังหวัดกระบี่
  • กลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขจังหวัดกระบี่
  • เครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดกระบี่
  • องค์การความร่วมมือเพื่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติอันดามัน
  • เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านอ่าวพังงา อันดามัน
  • เครือข่ายถ่านหินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ Southeast Asia Coal Network
  • เครือข่ายถ่านหิน ประเทศไทย Thailand Coal Network
  • เครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ
  • เครื่อข่ายติดตามผลกระทบจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ตำบลเขาหินซ้อน

 

20141003141659.jpg20141003141700.jpg20141003141702.jpg

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ