แม้จะยังคงเป็นที่ถกเถียงถึงการปล่อยโคมไฟในคืนประเพณียี่เป็งหรือลอยกระทงในจังหวัดเชียงใหม่ทุกปี ปี2562 นี้ มีจำนวนผู้ขออนุญาตปล่อยโคมไฟลดลงกว่าปีที่ผ่านมาที่มีทั้งสิ้น 64,970 ลูก เหลือ 46,300 ลูก อย่างไรก็ตามเป็นที่สังเกตุว่าเป็นการยื่นขอโดยผู้ประกอบการจำนวน 13 ราย ใน 15 พื้นที่ที่เป็นทั้งของท้องถิ่นและหน่วยงานที่ร่วมกันจัดกิจกรรม ขณะที่ในพื้นที่ 5 อำเภอใกล้เขตทางเดินอากาศเป็นพื้นที่ต้องห้ามตามหนังสือสั่งการของจังหวัด
ข้อมูลสรุปจากปกครองจังหวัดเชียงใหม่
ระบุจำนวนผู้ยื่นขออนุญาตปล่อยโคมไฟในปีประเพณียี่เป็งเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 11-12 พฤศจิกายน 2562 ว่ามีผู้มายื่นขออนุญาตในนามบุคคลจำนวนทั้งสิ้น 13 ราย จุดในสถานที่ 15 แห่งใน 6 อำเภอรวมทั้งสิ้น 46,300 ลูก จุดพลุ 1,225 นัด สถานที่จุดมีทั้งของเอกชน การจัดกิจกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และมีผู้ประกอบการเข้าดำเนินงานในพื้นที่ของหน่วยงาน แบ่งเป็นการปล่อยเรียงลำดับจำนวมากไปหาน้อยคือ อำเภอ ดอยสะเก็ด ขอปล่อยโคม 15,700 ลูก จุดพลุ 624 นัด อำเภอแม่ริม ขอปล่อยโคม 15,000 ลูก จุดพลุ 220 นัด อำเภอสันกำแพง ขอปล่อยโคม 95,000 ลูก จุดพลุ 260 นัด อำเภอสันทราย ขอปล่อยโคม 4,000 ลูก จุดพลุ 121 นัด อำเภอสารภี ขอปล่อยโคม 2,000 ลูก และอำเภอสะเมิง ขอปล่อยโคม 100ลูก
ที่ อ.ดอยสะเก็ต จะมีการปล่อยโคมลอยในวันที่ 11 และ 12 พ.ย. 62 คือที่ลานเอนกประสงค์ บริษัทเชียงใหม่เส้นขอบฟ้า จำกัด 600 ลูก ที่ลานหนองบัวพระเจ้าหลวง 5,000 ลูก ที่ลานโครงการเชียงใหม่เวิลด์พีค 5,000 ลูก จุดพลุ 400 นัด ที่สนามกีฬาเทศบาลตำบลเชิงดอย 3,000 ลูก และลานเอนกประสงค์สวนทวีชล จุดพลุ 24 นัด ส่วนเฉพาะคืนวันที่ 11 พ.ย.62 จุดที่ลานน้ำพุร้อนดอยสะเก็ดปล่อยโคม 2,000 ลูก จุดพลุ 200 นัด ทีลานเอนกประสงค์คอสะพาน รพช.บ้านจ้องเหนือ 100 ลูก
ที่ อำเภอแม่ริม ในวันที่ 11 และ 12 พ.ย. จะมีการปล่อยโคมบริเวณศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงรวม 4,000 ลูก จุดพลุ 120 นัด ที่แหล่งท่องเที่ยวชมรมขี่ม้ากองการสัตว์และเกษตรกรรม 3 กองพันสัตว์ทหารบก รวม 8,000 ลูก จุดพลุ 100 นัด และกรมรบพิเศษที่ 5 อำเภอเเม่ริม 3,000 ลูก
ที่อำเภอสันกำแพงมี จะมีการปล่อยโคมในวันที่ 11และ 12 พ.ย.62 ที่ดัชฟาร์ม 56 ม.5 ต.ออนใต้ 1,000 ลูก ที่ลานทุ่งนา Chiangmai air sport 4,000 ลูก จุดพลุ 100 นัด และที่ลานหน้าวัดหนองโค้ง สันกำเเพง 2,500 ลูก จุดพลุ 160 นัด รวมทั้งสิ้น 9,500 ลูก
ที่อ.สันทราย ระบุว่าปล่อนในงานบุญประเพณียี่เป็งสันทรายถวายเป็นพุทธบูชา ปีที่ 30 ของธุดงคสถานล้านนา หมู่ 8 ต.หนองหาร ยืนขออนุญาตปล่อยวันที่ 11 พ.ย.เพียงวันเดียวจำนวน 4,000 ลูก จุดพลุ 121 นัด
ที่อ.สารภี โครงการมาลินพาร์ค ยื่นขออนุญาตวันที่ 11และ12 พ.ย. รวม 2,000 ลูก
และที่อ.สะเมิง ยื่นขอปล่อยโคมไฟ ที่ศาลาเอนกประสงค์วัดท่าศาลา คืนวันที่ 11 พ.ย. จำนวน 100 ลูก และโคมควัน จำนวน 5ลูก
ทั้งนี้สาเหตุที่คาดว่ามีผลทำให้การยื่นขออนุญาตปล่อยโคมในปีนี้ลดลง แม้ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปี 2559 จังหวัดเชียงใหม่จะมีประกาศห้ามปล่อยโคมไฟ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายอำเภอท้องที่ ซึ่งพบว่ายังคงมีผู้ยื่นขออนุญาตปล่อยต่อเนื่อง แต่เนื่องจากปีนี้ (2562) มีหนังสือสั่งการจากจังหวัดเชียงใหม่เพิ่มเติม ลว.9 ก.ย.2562 ถึงนายอำเภอทุกอำเภอ โดยอ้างถึง พ.ร.บ.การเดินอากาศ (ฉบับที่ 14) พ.ศ.2562 ที่มีสาระสำคัญห้ามปล่อยหรือจุดโคมไฟ บั้งไฟสู่อากาศในเขตปลอยภัยในการเดินอากาศในพื้นที่ 5 อำเภอ คือ อ.เมืองเชียงใหม่ ครอบคลุมทุกตำบลรวม 16 ตำบล อำเภอหางดง ครอบคลุมทุกตำบล 11 ตำบล อำเภอสารภี จำนวน 4 ตำบล คือ ต.ขัวมุง ดอนแก้ว ท่าวังตาล หนองผึ้ง อ.แม่ริม จำนวน 3 ตำบลคือ ต.ดอนแก้ว ริมใต้ แม่สา และอำเภอสันทราย 1 ตำบลคือ ต.หนองหาร
อย่างไรก็ตามเป็นที่สังเกตุว่า จำนวนผู้ขออนุญาติปล่อยโคมไฟที่ลดลงเหลือ 13 รายใน 15 พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการที่ดำเนินการลักษณะแพ็จเกจทัวร์จำหน่ายบัตรให้นักท่องเที่ยวและเข้าดำเนินการในพื้นที่ของหน่วยงาน ขณะที่ในปีที่ผ่านมา ซึ่งไม่มีหนังสือสั่งการเพิ่มเติม ฯ พบว่า มีการปล่อยโคมไฟโดยนักท่องเที่ยวเองนับ 10,000 ดวงในแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น บริเวณขัวเหล็กเชิงสะพานนวรัฐ เป็นต้น
ขณะที่ สถิติการเก็บโคมลอง โคมควัน ตั้งแต่ปี 2545 จนถึงปี 2561 พบตัวเลขที่น่าสนใจคือ ปี 2556 เป็นปีที่โคมไฟหล่นในเขตท่าอากาศยานเชียงใหม่มากที่สุด 1,425 ลูก แต่หลังจากปี 2557 (มีสถิติลดลง) แต่มาเพิ่มขึ้นในปี 2560จำนวน 108 ลูก และ 2561 จำนวน 104 ลูก ซึ่งภาคประชาชนได้ร้องเรียนจังหวัดให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้อยู่อาศัยพร้อมได้พยายามสร้างทางเลือกใหม่ด้านการท่องเที่ยวให้กับเมืองเชียงใหม่ในการท่องเที่ยวคือ การจุดผางประทีปส่องฟ้า การตกแต่งซุ้มประตูป่า ซึ่งเป็นวิถีความเชื่อของคนพื้นถิ่นล้านนาดั้งเดิม