ก.วิทย์-ต่างประเทศรวมพลังชู “การทูตวิทยาศาสตร์” เน้นทำงานบูรณาการ
2 กระทรวง มุ่งเป้าแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร และสภาพภูมิอากาศ
หวังเพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจไทย
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย นาย ดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกันจัด”การประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การทูตวิทยาศาสตร์เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ครั้งที่ 1” เปิดมิติใหม่ของการทำงานบูรณาการระหว่างกระทรวงโดยใช้ “การทูตวิทยาศาสตร์” เป็นแนวทางระดมความร่วมมือทางการทูตกับนานาประเทศ เพื่อประยุกต์ใช้ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ในการพัฒนาเศรษฐกิจไทย หายุทธศาสตร์ร่วมกันในการปฏิบัติงานให้เกิดประสิทธิภาพ ภายในงานได้เชิญนักธุรกิจและนักวิชาการชั้นนำร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อใช้การทูตกำหนดทิศทางเชื่อมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์กับต่างประเทศ ประยุกต์เทคโนโลยีเพื่อใช้ในการพัฒนา เช่น ความมั่นคงทางอาหาร หรือการรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง เป็นการสร้างความแข็งแกร่งให้เศรษฐกิจไทยในการแข่งขันกับเวทีโลก
“ การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนยุทธศาสตร์การทูตวิทยาศาสตร์เพื่อยกระดับขีดความสามารถของประเทศ ครั้งที่ 1 “จัดขึ้นเมื่อเร็วๆนี้ ณ โรงแรม เซนทารา แกรนด์ กรุงเทพฯ โดยในภาคเช้า มีการเชิญนักธุรกิจและนักวิชาการชั้นนำ อาทิ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ ผู้อำนวยการสถาบัน Sasin Institute for Global Affairs นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นายทรงศัก สายเชื้อ อธิบดีกรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ และ ดร.ญาดา มุกดาพิทักษ์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ร่วมเสวนาในประเด็น“ภาพรวมและทิศทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมของโลก ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการต่างประเทศ” ในภาคบ่ายเป็นการจัดประชุมกลุ่มระดมความคิดเห็นแยกตามสาขา ได้แก่ กลุ่มเกษตร อาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ กลุ่มการแพทย์ สุขภาพ และชีววิทยาศาสตร์ กลุ่มความมั่นคงทางพลังงาน การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อภาคการผลิต กลุ่มโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัล และกลุ่มการพัฒนากำลังคน การศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต ในการระดมความคิดเห็นดังกล่าว เพื่อหาแนวทางในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศทั้งด้านการวิจัยและพัฒนา การกำหนดประเทศเป้าหมายและรูปแบบของความร่วมมือ เช่นรัฐต่อรัฐ หรือ ภาครัฐกับเอกชน เป็นต้น ดร.พิเชฐ กล่าวว่า การประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นดังกล่าว ถือเป็นการทำงานบูรณาการระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ และกระทรวงการต่างประเทศ ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ
ดร.พิเชฐ กล่าวต่อว่า “การทูตวิทยาศาสตร์” (Science Diplomacy) มีความหมายครอบคลุมในหลายมิติของการมีปฏิสัมพันธ์กับต่างประเทศในเรื่อง วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเช่นการใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นเครื่องมือส่งเสริมความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เพื่อแก้ปัญหาทางการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ทั้งในระดับประเทศและระหว่างประเทศ และเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ผ่านกลไกความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ทั้งในระดับทวิภาคีและพหุภาคี ที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศได้ดำเนินการศึกษาศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศต่างๆ โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ไทยสามารถนำเอาวิทยาศาสตร์ของต่างประเทศ มาประยุกต์ใช้ในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขณะเดียวกัน กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯก็ได้ดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทย ทั้งในเชิงนโยบายและการนำไปปฏิบัติ การประชุมในวันนี้ จะเกิดเป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ทั้งสองหน่วยงานใช้ร่วมกัน โดยจะมีการระบุในรายละเอียดสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมและประเทศเป้าหมายที่ไทยประสงค์จะผลักดันความร่วมมือ
ประเด็นความมั่นคงทางอาหาร และ เทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เป็นเรื่องสำคัญที่อาศัยความร่วมมือในการให้การสนับสนุนด้วยการทูตวิทยาศาสตร์ ประเทศไทยกำลังดำเนินการโครงการจัดตั้งหุบเขาแห่งอาหาร (Thailand Food Valley) หรือการพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหารแบบครบวงจรโดยใช้องค์ความรู้ และผลงานวิจัยทางวิชาการต่างๆ เพื่อพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารให้มีความเข้มแข็ง ผ่านการสร้างเครือข่ายความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจ สถาบันวิจัย สถาบันการ ศึกษาต่างๆ และที่สำคัญการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศผ่านการทูตวิทยาศาสตร์ นำความรู้และเทคโนโลยีทันสมัยจากต่างชาติมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนากระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำเพื่อให้สินค้าเกษตรและอาหารไทยสามารถผลักดันให้ออกสู่ตลาดในเชิงพาณิชย์ได้ หรือ โครงการประเมินความต้องการเทคโนโลยีเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ กระทรวงวิทยาศาสตร์ โดย สวทน. กำลังดำเนินการอยู่ ก็ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมโลก ( Global Environmental Facility : GEF) และ สหประชาชาติ เช่น เทคโนโลยีระบบพยากรณ์และระบบเตือนภัย เทคโนโลยีการปรับปรุงพันธุ์พืชเพื่อภาคการเกษตรสามารถรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง หรือเทคโนโลยีการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ การคาดการณ์ภูมิอากาศ ระบบตรวจจับและติดตามภัยน้ำท่วมและดินถล่ม ซึ่งจะได้รับการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความจากองค์กรระดับโลก เป็นต้น
ดร.พิเชฐ กล่าวทิ้งท้ายถึงการจัดทำข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โดย กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้จัดทำขึ้น เพื่อเสนอต่อรัฐบาล ในการอภิวัฒน์ประเทศไทยออกจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) “ การทูตวิทยาศาสตร์” เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการสร้างความร่วมมือกับต่างประเทศเพื่อพัฒนาและถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์