ลมหายใจเดียวกัน : ก้าวอีกขั้นสู้ฝุ่นควันของคนเชียงใหม่

ลมหายใจเดียวกัน : ก้าวอีกขั้นสู้ฝุ่นควันของคนเชียงใหม่

สภาลมหายใจเชียงใหม่ เดินหน้าหาวิธีแก้ปัญหาฝุ่นควันภาคเมือง  ผุดไอเดียร่วมเคลื่อนเชียงใหม่สู้ฝุ่น กำหนด Car free day รณรงค์ใช้รถสาธารณะ ดันเตาไบโอชาร์ในภาคครัวเรือน  ผสานพลัง 8 มหาวิทยาลัย และ 7 สถาบันการศึกษาร่วมรณรงค์ พร้อมเตรียมตั้งกองทุนลมหายใจเชียงใหม่ เพื่อสนับสนุนกัน  ตั้งหลักไม่โทษกันไปมา เพราะทุกคนมีส่วนทำให้เกิดฝุ่นและรับผลกระทบ 

หลังภาคประชาชนในเชียงใหม่รวมตัวกันตั้ง “สภาลมหายใจเชียงใหม่” ให้เป็นกลไกประสานพลังทุกภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาฝุ่นควันอย่างยั่งยืน และเริ่มดำเนินงานในภาคชนบทกับเชื่อมกับสภาองค์กรชุมชน เพื่อจัดทำแผนปรับเปลี่ยนการผลิตหรือกิจกรรมที่เกี่ยวโยงกับการเกิดฝุ่นควันไปแล้ว ในวันนี้ ( 14 ตุลาคม 2562)  ได้มีเวทีสภาลมหายใจเชียงใหม่ ภาคเมือง ครั้งที่ 1  ที่ห้องประชุมเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่  โดยมีผู้ประกอบการ ตัวแทนโรงเรียน มหาวิทยาลัย เยาวชน องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมในภาคเมืองเข้าร่วม

ตั้งหลักช่วยกัน ภาคชนบทเข้าถึงเมือง ภาคเมืองเข้าใจชนบท

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ตัวแทนสภาลมหายใจเชียงใหม่  ชี้แจงเป้าหมายว่า หลังเผชิญกับปัญหาฝุ่นควันยาวนานและวิกฤติมาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ภาคประชาชนในเชียงใหม่ถอดบทเรียนพบว่า  ปัญหาฝุ่นควันเชื่อมโยงกับความเปลี่ยนแปลงหลานด้าน  ทั้งสภาพอากาศ  สภาพแอ่งเชียงใหม่ ลำพูนของเรา  รวมทั้งการดำเนินกิจกรรมของประชาชนทุกส่วนด้วย  ดังนั้นเราทุกคนมีส่วนของการทำให้เกิดฝุ่นควันและได้รับผลกระทบ  จึงพยายามตั้งหลักที่จะไม่โทษกันไปมา  ไม่สร้างความขัดแย้ง และใช้ปัญาสร้างสรรค์  โดยได้ตระเวณสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับกลไกราชการ ภาคเอกชน  สถาบันการศึกษาหลายแห่ง  และเริ่มต้นทำงานกับ ภาคชนบท เชื่อมกับสภาองค์กรชุมชน  207 ตำบล ซึ่งปีนี้กำหนดจะมี 32 ตำบลเป็นโมเดลนำร่องแก้ปัญหาแล้ว อยู่ระหว่างทำแผน  ผลักดันการปลูกต้นไม้เพิ่มพื้นที่สีเขียวกับโครงการเขียวสู้ฝุ่นในช่วงฝนที่ผ่านมา และในวันนี้จึงเป็นการชวน ภาคเมืองมาระดมความเห็น หาวิธีช่วยกัน

ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์แนวคิด ที่จะมีกิจกรรมและการทำงานร่วมกันหลากหลาย

ดร.เขมกร ไชยประสิทธ์ รองคณบดีคณะบริหารธุริจม.ช. และตัวแทนสภาเมืองสีเขียว เสนอว่า บทเรียนการขับเคลื่อนสวนเจริญประเทศคิดว่า พลังของภาคประชาชนมีความสำคัญมาก พร้อมกับการสื่อสารออนไลน์ที่จะดึงพลังร่วมและรณรงค์ให้เกิดการขับเคลื่อนพร้อมกันได้  นอกจากนั้นเห็นพลังของเยาวชน ที่มหาวิทยาลัยจะสามารถมองให้เป็นเรื่องสำคัญได้  โดยจะประสานหารือกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่นำประเด็นฝุ่นควันให้เป็นประเด็นที่กิจกรรมนักศึกษาในคณะต่างๆ มาบูรณาการทำในส่วนที่เกี่ยวข้องกับแต่ละคณะ เชื่อว่าจะเป็นพลังสำคัญในการรณรงค์ได้

ครูแบลล่า นักดนตรีอิสระที่เสนอให้คนในเมืองที่ใช้รถส่วนตัวมาก  กำหนดให้มี Car free day เพื่อหันมาเดินหรือใช้จักรยาน  ซึ่งแนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุน

คุณปลายอ้อ ทองสวัสดิ์ สภาเมืองสีเขียวกล่าวว่า กองเลขาฯ สภาลมหายใจ ภาคเมืองได้มีแนวคิดและหารือเบื้องต้นคือ  อยากให้เกิดกิจกรรม ที่ให้คนในเมืองร่วมมือร่วมใจ ตระหนักรู้ด้านฝุ่น และเป็นโอกาสให้ภาคเมืองและชนบทมาเจอกัน ลักษณะเทศกาลหรือ Expoตลาดวิชาการที่มหาวิทยาลัยเอานวัตกรรมมาให้ภาคประชาชน ภาคชนบท หรือภาคป่าเลือกว่าสอดคล้องกับวิถี หรือหน่วยงานภาครัฐมาสนับสนุน  และคนในเมืองมีกิจกรรมรรณรงค์ ใช้รถสาธารณะมากขึ้น ลดรถส่วนตัว หรือในองค์กรที่ทำงาน เป็นไปได้หรือไม่ที่ทำให้เกิดแนวทางที่เป็นทางออกของใช้ชีวิตเพื่อลดฝุ่น เป็นต้น

นางพิมพ์สุชา  สมมิตรวศุรฒ์  กล่าวว่าในภาคครัวเรือนในอำเภอรอบนอก ยังคงมีบางพื้นที่ใช้ฟืนอยู่ แต่ปัจจุบันมีนวัตกรรมที่สามารถร่วมลดควันได้ คือเตาพลังงานลดควัน หรือ เตาไบโอชาร์ โดยมีความร่วมมือกับ ม.แม่โจ้จะดำเนินงานใน ชุมชนพื้นที่ อ.แม่แตง อ.หางดง อ.เมือง อ.แม่ริม

นายไตรภพ แซ่ย่าง ตัวแทนชุมชนม้งดอยปุยกล่าวว่า หมู่บ้านม้งดอยปุยเป็นชนเผ่าที่อยู่ใกล้เมือง แต่อยู่ในพื้นที่ดูแลรักษาป่าด้วย ที่ผ่านมาได้จัดทำแนวกันไฟที่ชุมชนโดยรอบช่วยกัน  อย่างไรก็ตาม เห็นว่าหมู่บ้านม้งดอยปุยเป็นจุดขายด้านการท่องเที่ยวที่ภาคส่วนด้านท่องเที่ยวได้ร่วมกันใช้ประโยชน์มายาวนาน ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการทัวร์ หรือรถโดยสาร  ซึ่งหากมีความร่วมมือสนับสนุนชุมชนในการทำแนวกันไฟก็จะเป็นการสร้างความร่วมมือสนับสนุนกันอีกแนวทางหนึ่ง

คุณวิภาพร พัฒนาภรณ์ ผู้ประกอบการด้านอาหารออแกร์นิค  เสนอการร่วมรถโดยสารในเส้นทางเดียวกันหรือ Car poll โดยเฉพาะย่านที่มีโรงเรียน  เสนอให้มีกองทุนเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ โดยรณรงค์ให้ตระหนักว่าทุกคนมีส่วนสร้างฝุ่นควันและควรเก็บเงินเจ้าของรถยนต์และจักรยานส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนกองทุนในการรณรงค์ หรือให้มีการใช้จักรยาน เป็นต้น

นายธนิต ชุมแสง นายกสมาคมนักเรียนเก่าปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัยเชียงใหม่ ตัวแทนสมาพันธ์สมาคมนักเรียนเก่า 7 สถาบัน เชียงใหม่(ปรินส์รอยแยลส์,มงฟอร์ต,ยุพราช,ดารา,วัฒโน,เรยีนาและพระหฤทัย) ได้พูดคุยกันว่าจะร่วมรณรงค์ลดฝุ่นพิษ โดยจัดทำสติกเกอร์ Line และ สื่อดิจิตัล สำหรับโพสและแชร์ FB IG Line กลุ่ม เช่น ละอ่อนปรินส์บ่เอารถควันดำ ละอ่อนมงฟอร์ตบ่เอาฝุ่นควัน บ่าวยุพราชบ่เผาขี้เหยื้อ สาวเรยีนาบ่ก่อมลพิษ สาวดาราชอบใช้รถถีบ สาววัฒโนใช้รถประจำทางและสาวพระหฤทัยชอบเตียวตามตาง เป็นต้น

นอกจากนั้นในฐานะประธานกรรมาธิการ สถาปนิกผังเมืองล้านนา สมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย  ได้ร่วมกับสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย ร่วมกันสร้างเสริมการเดินเท้าเพื่อลดการใช้ยานพาหนะที่ก่อมลพิษ ในโครงการ “เมืองเดินได้ เมืองเดินดี “โดยได้หารือกับสำนักการช่างเทศบาลนครเชียงใหม่  เพื่อแก้ปัญหากายภาพของเมืองเพื่อให้สามารถเดินเท้าได้  โดยจะทำทางเท้าต้นแบบ  เส้นทาง เชิงสะพานนวรัฐ  ถนนท่าแพ ถนนราชดำเนิน วัดพระสิงห์

คุณพัชรินท์ อาวิพันธ์  ผู้อำนวยการวายเอ็มซีเอเพื่อการพัฒนาภาคเหนือ เสนอการทำงานกับเยาวชน ที่สามารถจัดทำลักษณะการประกวดผลิตคลิปวีดิโอ ให้ความรู้ PM 2.5 แนวทางการป้องกัน  และขอความร่วมมือผู้ปกครองนักเรียนในเชียงใหม่ในการรับส่งบุตรหลานให้จอดรถดับเครื่องยนต์ ไม่ติดเครื่องยนต์รอเพราะก่อก๊าซคอร์บอนฯ เพิ่มขึ้น   รวมถึงรถทัวร์หรือรถท่องเที่ยวที่จอดติดเครื่องรอนักท่องเที่ยว สามารถรรณรงค์ชวนหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องด้านการท่องเที่ยวให้มาทำความเข้าใจร่วมกันต่อไปได้

ภาคชนบทคืนหน้าเห็นแผนเฉพาะพื้นที่

นายอุดม อินทร์จันทร์  ตัวแทนขบวนองค์กรชุมชนภาคเหนือกล่าวว่า  ในส่วนภาคชนบท เมื่อลงพื้นที่พบลักษณะพื้นที่ว่าทั้งอยู่ในพื้นที่ป่า  พื้นที่ราบ  และพื้นที่ผสม แต่ละพื้นที่มีโจทย์แตกต่างกัน เช่นพื้นที่ในเขตป่ามีข้อติดขัดเรื่องกฏหมายและนโยบายของรัฐ  พื้นที่อำเภอรอบนอกในเขตชลประทานมีการทำนาปีละ 2 ครั้ง  พื้นที่ราบต้องการเครื่องจักรอัดฟางเมื่อลดการเผา  แต่เครื่องจักรราคาสูง  องค์การบริหารส่วนตำบลอยากซื้อไว้เพื่อลดการเผา แต่ติดขัดระเบียบเป็นต้น  ซึ่งชุมชนได้พยายามคิดหาแนวทางแก้เป็นต้น

คุณสุรีรัตน์ ตรีมรรคา จากสภาพลเมืองเชียงใหม่กล่าวว่า ในภาคชนบทตำบลต่างๆ เริ่มลงรายละเอียดในแผนงานแล้ว เช่น  บางตำบลต้องการเปลี่ยนอาชีพเป็นการเพาะผักหวาน  ต้องการจัดการเศษวัสดุฟางข้าว และเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรี  สิ่งเหล่านี้สามารถระดมทุนจากภาคเอกชนในพื้นที่เพื่อการช่วยเหลือกันและกันได้ หรือแม้แต่กับการซื้อหน้ากากอนามัยให้ประชาชน ซึ่งหากเชื่อมกับหน่วยงานรัฐเช่นสำนักงานสาธารณะสุขก็น่าจะได้หน้ากากมาตรฐานในราคาที่ประหยัดเพื่อประชาชนได้ เป็นต้น

ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณะธรรม หัวหน้าโครงการหมอกควันย่อย 1 สถาบันนโยบายสาธารณะ กล่าวว่าฝุ่นควันสัมพันธ์กับเรื่องปากท้อง  และการศึกษาได้เห็นทางออกหลายวิธี แนวทางสำคัญคือลำพังภาครัฐฝ่ายเดียวจะขับเคลื่อนไปไม่ได้ ต้องรวมพลัง ภาคประชาสังคม ภาคประชาชนต้องช่วยรัฐด้วย  โดยเรื่องปากท้องสัมพันธ์กับอาชีพซึ่งหลายพื้นที่พร้อมเปลี่ยน แต่สัมพันธ์กับเรื่องการตลาด และหนี้  ตอนนี้ได้ประสานกับเครื่องมือต่างๆของรัฐในการแก้หนี้  และเข้าไปเรียนรู้โจทย์ระดับพื้นที่ที่มีปัญหาเฉพาะเพื่อร่วมกันแก้ไขอย่างยั่งยืนด้วย

ภาคราชการหนุนและเชื่อม

นายสรัชชา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรีได้ยกระดับเรื่องนี้เป็นปัญหาระดับชาติ  ที่ผ่านมา ระดับจังหวัดได้พยายามทำงานร่วมกับภาคประชาชน โดยมี

1.การทบทวนแผนพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่ใหม่  โดยกำหนดให้มีเรื่องการแก้ปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 และการพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนด้วย

2.ถอดบทเรียนทุกหน่วยงาน และพัฒนามาเป็น 4 มาตรการ 37 กลยุทธ์ ที่เน้นป้องกันเพิ่มเติม ระดับบุคคล หน้ากาก เครื่องกรองอากาศ และด้านสาธารณสุข ก็ขับเคลื่อนตั้งห้องปลอดภัยจากฝุ่นควัน ในโรงเรียน และโรงพยาบาล ด้านศึกษาธิการจัดทำหลักสูตรด้านฝุ่นในระดับประถมศึกษาด้วย

3.การประชุมร่วมกับรองนายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดพื้นที่เผาไหม้เป็นหัวใจสำคัญ โดย เน้นกำหนด 10 มีนาคม – 30 เมษายน ไม่มีจุดความร้อม และในพื้นที่เกษตรจะต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการปลูกพืชไม่ให้ใช้วิธีเผาในพื้นที่ภายใน 3 ปี

นอกจากนั้น นายสรัชชาแจ้งต่อที่ประชุมด้วยว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ เห็นความสำคัญในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันร่วมกับประชาชน โดยยินดีที่จะสนับสนุนงานของสภาลมหายใจเชียงใหม่ โดยเฉพาะการจัดมหกรรมคนเชียงใหม่สู้ภัยฝุ่น ที่กำหนดเวลาที่เหมาะสมคือราวเดือนมกราคม 2563 ที่จะเป็นกิจกรรมลักษณะนิทรรศการ การเวิร์คช็อปชุมชนชาวบ้านที่ต้องการเปลี่ยนแปลงระบบการผลิตเพื่อให้ปลอดฝุ่นควัน และสนับสนุนการแบรนดิ้งสินค้าเพื่อภาคเมืองเชื่อมภาคชนบทที่ กลุ่มกกร.และหอการค้าเป็นแกนประสานดำเนินการร่วมกับสภาลมหายใจเชียงใหม่ด้วย

ดีเดย์ภาคเมืองเริ่มเคลื่อนสู้ฝุ่น

นายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ สรุปรายละเอียดการหารือว่า ที่ประชุมมีข้อตกลงร่วมกันภายใต้แนวคิด “เชียงใหม่ลมหายใจเดียวกัน” คือทุกคนมีส่วนสร้างและได้รับผลจากฝุ่นควัน ดังนั้นก่อนจะถึงวิกฤตฝุ่นควันปีนี้ ภาคเมืองจะเริ่มรณรงค์โดย

1.กำหนดให้เริ่มมี Car free day หยุดการใช้รถในเขตสี่เหลี่ยวคูเมือง หันมาใช้จักรยาน ระบบขนส่งสาธารณะ โดยมีกิจกรรมรณรงค์ ดนตรีในรถสาธารณะ ดนตรีในสวนลดฝุ่นควันเป็นต้น

2.เริ่มดำเนินการเตาพลังงานลดควัน หรือ เตาไบโอชาร์ โดยมีความร่วมมือกับ ม.แม่โจ้จะดำเนินงานใน ชุมชนพื้นที่ อ.แม่แตง อ.หางดง อ.เมือง อ.แม่ริม อ.แม่แตง

3.ประสานความร่วมมือนักศึกษา 8 มหาวิทยาลัย สมาพันธ์สมาคมนักเรียนเก่า 7 สถาบัน เชียงใหม่(ปรินส์รอยแยลส์,มงฟอร์ต,ยุพราช,ดารา,วัฒโน,เรยีนาและพระหฤทัย) ในการรณรงค์เข้าใจและลดสาเหตุฝุ่นควันภาคเมือง เริ่มเดือนพฤศจิกายน

4.จัดกิจกรรม Expo สู้ฝุ่นควัน 24-26 มกราคม 2563 ที่จะร่วมกันทั้งจังหวัด โดยจะมีนวัตกรรมจากหน่วยงานราชการ สถาบันวิชาการที่มีการวิจัยต่างๆ  จัดแสดงนวัตกรรมาต่างๆ และให้ภาคประชาชน  เกษตรกร จาก 210 ตำบลหรือคนในเมืองได้มาช็อปปิ้งไอเดียแก้ฝุ่นควัน และนำไปปรับกับแผนที่ตอบโจทย์พื้นที่

“ระหว่างนี้แต่ละส่วนมีกิจกรรมใดที่จะช่วยกันแก้ปัญหาฝุ่นควันก็จะเชื่อมโยงกันเพื่อเป็นจุดเริ่มต้น  เมื่อทุกฝ่ายร่วมกัน ไม่โทษกันไปมา เชื่อมจะรวมพลังแก้ปัญหาที่ต้องทางด้วยกัน และคาดว่าภายใน 3 ปีจะสามารถแก้โจทย์นี้และเห็นความหวังและผลที่จะทำให้เราสร้างอากาศสะอาดในพื้นที่ของเราร่วมกันได้”

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ