วันที่ 16 พฤษภาคม 2562 เครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์ แถลงการณ์แสดงความคิดเห็นต่อแผนดำเนินการสร้างโรงงานน้ำตาลและโรงไฟฟ้าชีวมวลในพื้นที่ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด หลังร่วมแสดงความคิดเห็นในเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด โดยทางกลุ่มเครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์ แสดงเจตนารมณ์ไม่เอาอุตสาหกรรมในพื้นที่
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์เดินทางไปที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่อด้วยกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อเข้ายื่นหนังสือต่อทั้ง 2 หน่วยงาน ขอให้พิจารณายกเลิกโครงการสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงไฟฟ้าชีวมวล(ชานอ้อย)ขนาด 80 เมกะวัตต์ ในพื้นที่ GI ข้าวหอมมะลิ ตำบลโนนสวรรค์ อำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด
แถลงการณ์จากเครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์
1.ในนามของตัวแทนกลุ่มเครือข่ายคนรักโนนสวรรค์ อ.ปทุมรัตต์ จ.ร้อยเอ็ด ขอแสดงความคิดเห็นดังนี้ คนตำบลโนนสวรรค์ อำเภอประทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ไม่ให้สร้างโรงงานน้ำตาล และโรงงานไฟฟ้าชีวมวล และขอต่อสู้ทุกวิถีทาง
2. คนตำบลโนนสวรรค์ อำเภอประทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด ไม่เห็นด้วยกับกระบวนการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ เพราะเป็นเทีที่สนับสนุน ที่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงของภาคประชาชนในพื้นที่ โดยที่ได้รับผลกระทบจากโครงการนี้ เป็นวิธีที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย และเป็นการกระทำที่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตย ดังนั้น เครือข่ายคนรักประทุมรัตต์ พร้อมด้วยชาวบ้านตำบลโนนสวรรค์ และชาวอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด จึงขอแสดงเจตนารมณ์ คัดค้านการก่อสร้างโรงงานน้ำตาล และโรงงานไฟฟ้าชีวมวล และขอยืนยันบัญชีรายชื่อที่เราส่งให้คัดค้าน ร่วมประมาณกว่า 2,000 คน
ตัวแทนชาวบ้านยังแสดงความกังวลใจว่าหากมีการดำเนินโครงการอุตสาหกรรมในพื้นที่ อาจจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำและวิถีชุมชน โดยเฉพาะต่อพื้นที่ปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้
“ตอนนี้ทางกลุ่มของพวกเราทำข้าวอินทรีย์ การทำข้าวอินทรีย์นี้ถ้าเกิดโรงงานขึ้นมา มันก็อาจจะส่งผลกระทบต่อข้าวอินทรีย์ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเกี่ยวกับข้าวหอมมะลิโลก เรามีการรวมกลุ่มทำนาข้าวแปลงใหญ่ การทำข้าว GI และคำว่าข้าว GI คืออะไร หมายความว่า เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ว่าเราทำนาข้าวในเขตพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ เราทราบว่ามันแห้งแล้งจริง แต่ความแห้งแล้งมันทำให้ข้าวเราหอม การสร้างโรงงาน เลือกได้ไหม ว่าจะไม่ไปสร้างในพื้นที่ทำนาไปสร้างในพื้นที่อื่นได้ไหม เว้นพื้นที่อำเภอประทุมรัตต์ หรือสร้างอย่างอื่นได้ไหม แล้วที่รัฐบาลส่งเสริมมา หนึ่งให้เกษตรกรรวมกลุ่มทำนาข้าวแปลงใหญ่ จะมาส่งเสริมทำไม ให้ทำเกษตรอินทรีย์ ส่งเสริมทำไม ตอนนี้เราเข้าใจว่าเริ่มสร้างแล้ว และถ้าสร้างเสร็จ คาดว่าอำเภอประทุมรัตต์ขายข้าวไม่ได้แน่ ๆ เพราะเขาไม่ปลูก พวกเรากลุ่มเครือข่ายรักโนนสวรรค์ รักข้าวหอมมะลิโลก ก็เลยร่วมกันมเพื่อให้เราได้มีข้าวหอมมะลิโลกไปถึงลูกหลานของเรา”
นอกจากความกังวลใจเรื่องผลกระทบจากโรงงานน้ำตาลที่อาจจะเกิดขึ้น ตัวแทนชาวบ้านยังมีความกังวลว่าอาจได้รับผลกระทบจากการปลูกอ้อยที่คาดว่าจะใช้พื้นที่ กว่า 350,000 ไร่ ซึ่งอาจมีการใช้สารเคมีในการเพาะปลูกอย่างเข้มข้น
“ใครไม่ได้อยู่ใกล้กับโรงงาน สิ่งที่น่ากังวลคือแปลงปลูกอ้อยจำนวน 350,000 ไร่ ของโรงงานแห่งนี้ แปลงปลูกอ้อยนี้มันมีการใช้สารเคมีอย่างเข้มข้นและต่อเนื่องแต่เวทีการรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ กลับไม่นำเอาเรื่องผลกระทบจากแปลงปลูกอ้อยมาพูดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น จริง ๆ โรงงานนี้อาจมีผลกระทบไม่ถึง 15 กิโลเมตร แต่ผลกระทบอย่างกว้างขวางและต่อเนื่อง คือ แปลงปลูกอ้อย ปลูกหนึ่งครั้ง ใช้ยาคุ้มหญ้าอย่างเข้มข้น ก่อนปลูก หรือ ปลูกเสร็จแล้ว และหลังจากที่อ้อยเริ่มเกิด ก็มีการใช้ยาฆ่าหญ้า และในจังหวัดร้อยเอ็ดมีโรงงานที่กำลังจะเกิดขึ้นอยู่อำเภอสุวรรณภูมิ อำเภอเสลภูมิ ลองคิดดูว่าในแต่ละที่ใช้พื้นที่หลายแสนไร่ในการปลูกอ้อย และในหลายแสนไร่จะเพิ่มจำนวนสารพิษ สารเคมี ซึ่งส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน อย่างมหาศาล นี่เป็นอีกหนึ่งข้อกังวล”
หลังจากมีการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น (ค.1) เรื่องโรงงานน้ำตาล ในวันที่ 16 พฤษภาคมที่ผ่านมา เครือข่ายคนรักษ์ปทุมรัตต์จะยังติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในพื้นที่จะมีเวทีรับฟังความคิดเห็นเรื่องโรงไฟฟ้าชีวมวล ในวันที่ 23 พฤษภาคม นี้ ณ หอประชุมที่ว่าการอำเภอปทุมรัตต์ จังหวัดร้อยเอ็ด