เวทีที่ 2 ชนนโยบายเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง ใน 10 วัน 1000 นาทีชี้อนาคตประเทศไทย ประหนึ่งจับมือวางคนสำคัญด้านเศรษฐกิจของประเทศมาระดมสมองแก้ปัญหาโจทย์ใหญ่ของประเทศไว้ในค่ำคืน 26 ก.พ. 62 ที่ไทยพีบีเอส นอกจากนโยบายของพรรคที่ตัวแทนแต่ละท่านต่างได้โชว์จุดขายสำคัญแล้ว ช่วง “ตอบคำถามประชาชน” ก็เป็นช่วงสำคัญที่ประชาชนรอคอย การถามตรงจากเจ้าของเรื่อง ซักให้ชัดจากพิธีกร และฟังคำตอบ ชัดไม่ชัด โดนใจหรือไม่โดนใจจากตัวแทนพรรคการเมือง แต่นอกจากจะถามแล้ว ประชาชนก็มีคำตอบอยู่ในใจ และนี่คือการเฉลยคำตอบที่รายละเอียดอาจเป็นเหตุผลสำคัญที่พรรคการเมืองอาจนำไปต่อยอดเพื่อหากบริหารประเทศแล้วจะมีคำตอบภาคปฏิบัติให้กับประชาชนได้สมจริง
แก้โจทย์กลไกพื้นที่ เพื่อระบบเศรษฐกิจฐานรากที่ยั่งยืน : ทำไมพรรคการเมืองต้องมีนโยบายนี้ ?
ทีมไทยพีบีเอสภาคเหนือ ยกทีมมาที่ ลานตากข้าว วิสาหกิจชุมชนโรงสีข้าวหนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ พ่อแม่พี่น้องชาวนา เกษตรกร อ.สันทราย อ.สันกำแพง มารวมกันเพื่อประชุมแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการผลิต การค้าขาย กันที่นี่อยู่เสมอ “สันทรายโมเดล” คือเป้าหมายที่กลุ่มเกษตรกรที่นี้พยายามยกระดับการผลิตพืชผลทางการเกษตรให้ไปไกลกว่าแค่การเป็นต้นทางการผลิตที่ต้องจำนนต่อกลไกการตลาด วงคุยเรื่องตั้งคำถามต่อพรรคการเมืองจึงถึงแก่นและหลายมิติ
ชมชวน บุญระหงห์ อดีตผู้อำนวยกรรมสถาบันชุมชนเกษตรกรรมยั่งยืน บอกว่า เกษตรกรคือกลุ่มประชากรส่วนใหญ่ของประเทศไทยที่ผลิตข้าว แหล่งอาหารพืชผลเกษตร เป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ และที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐจะส่งเสริมอะไรมา เกษตกรไทยปลูกได้หมดจนถึงขั้นล้นตลาด แต่ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ไม่มีความสามารถด้านการแปรรูปหรือการตลาดที่สอดคล้อง ขณะที่ในส่วนของท้องถิ่นของเราหรือหน่วยราชการในพื้นที่ ก็มีกลไกของภาครัฐเต็มไปหมด เช่น อปท หน่วยงานส่งเสริม แต่กลไกที่มีอยู่นั้นให้ความสนใจในเรื่องของกลไกการผลิตส่วนใหญ่ และทักษะหรือการให้ความสำคัญด้านการตลาดก็ไม่ได้แตกต่างจากเกษตรกรแต่อย่างใด
คำถามสำคัญถึงพรรคการเมืองที่อยู่ระหว่างการรอคัดเลือกจากประชาชน ท่านมีนโยบายหรือแนวทางอย่างใดหากท่านมาเป็นผู้บริหารประเทศในการใช้กลไกที่มีอยู่ในท้องถิ่นหันมาทำภารกิจด้านการตลาดด้านการแปรรูปรวมทั้งเสริมสร้างความเข้มแข็งให้วิสาหกิจชุมชนธุรกิจชุมชนเพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างไร”
เเนวนโยบายพรรคใด ที่มีส่วนจะมาสนับสนุนเกษตรกรให้เกิดกลไกในพื้นที่เพื่อเกิดการหมุนเวียนด้านการตลาดอย่างจริงจัง เช่น กลุ่มเกษตรที่ อ.สันทราย พยายามรวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชน และเชื่อมโยงการตลาดภายในร่วมกันอยู่ แต่ทำอย่างไรให้ขยายตัวและไปไกลขึ้น
ทำไมการเชื่อมวิสาหกิจชุมชนและเศรษฐกิจฐานรากสำคัญ ?
พ่อสุนทร ชัยศรีอ้าย ประธานกลุ่มวิสาหกิจโรงสีข้าวชุมชน ต.หนองแหย่ง บอกว่าในพื้นที่ตำบลหนองแหย่ง เป็นหนึ่งใน 12 ตำบล ของอ.สันทราย จ.เชียงใหม่ ที่เกษตรกรมีอาชีพทำนาเป็นส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80% ของประชาชนที่ทำนา ที่ผ่านมาราคาข้าวตกต่ำมาโดยตลอด ชาวบ้านตำบลหนองแหย่ง ได้รวมกลุ่มกันตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา เพื่อต่อยอด แปรรูป สร้างกลไกตลาดเชื่อมผู้ซื้อในพื้นที่ แต่ก็ยังมีปัจจัยหลายด้านที่ยังติดขัดอยู่ เช่นด้านเงินทุนที่เราเป็นกลุ่มเล็กๆไม่สามารถมีเงินหมุนเวียนมาช่วยเกษตรกรได้อย่างทั่วถึงและเต็มที่ การเข้าหาแหล่งเงินทุนเข้าถึงยากและมีปัญหาค่อนข้างมาก ซึ่งเรื่องแบบนี้ไม่ได้มีเฉพาะในพื้นที่นี้ยังมีเกิดขึ้นในหลายหลายหมู่บ้านหลายตำบลทั่วประเทศ
อีกประการหนึ่งวิสาหกิจชุมชนเป็นกลุ่มเล็กๆ พืชผลทางการเกษตรที่ออกมาแล้วนั้น จะทำอย่างไรที่จะมีแนวนโยบายช่วยเหลือกลุ่มเล็กๆที่เป็นธุรกิจเล็กๆที่เกิดขึ้นในระดับชุมชนฐานรากไม่มีกำลังหรือความคิดด้านการตลาดแข่งกับกลุ่มธุรกิจใหญ่
สุวรรณ ใจมั่น รองประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน อธิบายต่อว่า วิสาหกิจชุมชน ต.หนองแหย่ง อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรในตำบลหนองแหย่งทำโรงสีข้าวชุมชนขึ้นมาเพื่อแก้โจทย์ราคาข้าวตกต่ำ โรงสีที่นี่ใช้วิธีรับข้าวปลอดสารฯจากชาวบ้านมาสีเป็นข้าวสารขาย เพิ่มมูลค่าให้สมาชิกในกลุ่ม ณ ตอนนี้โรงสีที่นี่มีลูกค้าประจำคือ คนในอำเภอสันทราย และโรงพยาบาลสันทราย ที่รับซื้อข้าวสารประจำ ตั้งคำถามถึงอนาคตผู้บริหารประเทศ ถึงนโยบายการสนับสนุนกลุ่มวิสาหกิจ จะมีแนวทางอย่างไร เพราะที่นี่เป็นพื้นที่สีเขียว เหมาะเเกการเพาะปลูก คนในพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่ แนวทางหนุนเสริมทั้งเรื่องทุนตั้งต้น เทคโนโลยี รวมถึงการตลาดของประชาชนที่กำลังเริ่มรวมกลุ่ม
วงคุยยังแลกเปลี่ยนกันถึง สิ่งที่ชาวนาต้องเผชิญคือที่ดินที่เช่า แรงงานที่ไม่ใช่คนในพื้นที่ซึ่งส่งผลต่อต้นทุนที่สูงขึ้น และพยายามปรับตัวสู่การผลิตเกษตรปราณีต พืชอินทรีย์ และหาหนทางที่จะให้ชุมชนในพื้นที่สันทรายด้วนกันเองเกื้อหนุนชาวนา เพื่อให้เกิดระบบเศรษฐกิจฐานราก และคนรุ่นลูกหลานจะกลับมาร่วมพัฒนาชุมชนตัวเอง และสร้างกลไกในชุมชน ที่ประกอบด้วย เกษตรกร หน่วยจัดการกลางหรือSE และผู้บริโภคที่ต้องเข้าใจกัน และมีความยั่งยืน
นอกจากนั้น โจทย์สำคัญ มีทั้งจะลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร หรือจะทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่กลับมาพัฒนาบ้านเกิดตัวเอง หรือจะสร้างกลไกในการเชื่อมโยงผู้บริโภคและส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาหนุนเสริมการตลาดมากขึ้น หรือจะมีแนวทางช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชนชาวนาได้อย่างไร
“ ปัจจัยสำคัญการอยู่รอดของเกษตรกรในอนาคตคือสร้างระบบ เกษตรอินทรีย์ ที่เชื่อมกันในฐานรากของพื้นที่ เพื่อผลกดันให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่แค่ผู้ผลิต และผู้ประกอบการสำคัญคือรุ่นใหม่ นโยบายที่จะหนุนเสริมเขาเรื่อง ทุนในการเริ่มต้น ความรู้ด้านการแผรรูปและการตลาดตามมาให้ครบวงจร” อ.ชมชวนกล่าวในที่สุด
คลิกฟังคำตอบประเด็นนี้
https://www.facebook.com/ThaiPBSFan/videos/370286950474327/
ทำไม พรรคการเมืองต้องมีนโยบายเรื่องที่ดิน ?
ทีมงานไทยพีบีเอสศูนย์ภูมิภาคอีสาน จ.ขอนแก่น ยกทีมมาสด 4G ณ บ้านโนนหนองลาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น ซึ่งพี่น้องชาวบ้านบอกว่า ที่นี่เป็นชุมชนชายขอบ ไม่มีสิทธิ์ในที่ดินทำกินแม้จะต่อสู้มานานกว่า 30 ปี เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติเพราะเพิ่งโดนน้ำท่วมหนักไปเมื่อปลายปี 2560
สวาท อุปฮาด ผู้ประสานงานเครือข่ายไทบ้านผู้ไร้สิทธิ์ มีคำถามและคำตอบจาก บ้านโนนหนองลาด อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น
“เพราะชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร แต่คนส่วนใหญ่นี้ยังเข้าไม่ถึงปัจจัยการผลิตสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องที่ดิน การเรียกร้องต่อสู้เรื่องนี้มีมาอย่างยาวนาน เรื้อรัง ไม่มีใครที่แก้ปัญหาอย่างจริงจัง แม้เราจะอยู่ใกล้ทรัพยากรแต่เราก็ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ทำให้โอกาสตกอยู่ที่นายทุน ที่ดินเป็นปัจจัยหลักเป็นต้นทุนสำคัญของชีวิต อยากถามถึงพรรคการเมือง พรรคการเมืองมีนโยบายการแก้ปัญหาที่ดินทำกินอย่างไร โดยเฉพาะสำหรับคนไร้สิทธิ์”
“ขอบคุณที่ให้เราได้ถาม” พ่อสวาท เอ่ยกับทีมงานไทยพีบีเอสศูนย์ภูมิภาคอีสาน จ.ขอนแก่น ก่อนบอกเล่าความรู้สึกหลังฟังคำตอบจากพรรคการเมืองเกี่ยวกับนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ความเหลื่อมล้ำ สินค้าเกษตร รวมทั้งปัญหาที่ดิน
คลิกฟังคำตอบจากพรรคการเมือง https://www.facebook.com/ThaiPBSFan/videos/348403265764176/
“พ่อฟังคำตอบแล้ว ถืกใจบ่” พี่โอ๋ มยุรี อัครบาล โยนหินถามทางก่อนจะขอสัมภาษณ์พ่อสวาทเพื่อขยายประเด็นในข่าวเที่ยง
“สำหรับพ่อเอง ในฐานะคนทำงาน มองว่าเขายังตอบกลาง ๆ นะ เพราะจริง ๆ เขาน่าจะต้องตอบมาว่าจะรับไปทำ รับไปดำเนินการอย่างไร เรื่องต่าง ๆ ที่เขาตอบมามันกลาง ๆ แต่ก็เข้าใจเขา (นักการเมือง) และขอบคุณไทยพีบีเอสที่ให้เราได้ถาม ให้เสียงพี่น้องไทบ้านได้ออกสื่อ ออกทีวี
วันนี้มากันทุกหลังคาเรือนนะ แต่ชาวบ้านเรามีกันแค่นี้ มีแต่คนแก่ ๆ รุ่นนี้เลย ขอบคุณที่ไทยพีบีเอสติดตามสื่อสารเราตลอด การสื่อสารนี้ช่วยให้มีคนฟังเสียงเฮา เวลาไปอธิบายอะไร ทั้งจังหวัด ทั้งระดับประเทศเขาก็ฟัง เพราะเราสื่อสารตลอด”
หลังจบรายการ พ่อสวาทยังประชุมพี่น้องชาวบ้านต่อ แจ้งว่าพรุ่งนี้ (27 ก.พ.) จะเดินทางไปสกลนคร เพื่อติดตามปัญหาที่ดิน ในพื้นที่ซึ่งมีข้อพิพาท จนต้องตัดฟันต้นยางพาราของชาวบ้านทิ้ง แต่ล่าสุดกำลังหาแนวทางการแก้ไขร่วมกับ “คทช.” คณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ เพื่อให้ชาวบ้านเข้าไปทำกินได้ในที่ดินเดิม และมีความคืบหน้าเรื่องบ้านมั่นคงชนบทในพื้นที่ ซึ่งได้งบประมาณจาก พอช.มาแล้ว เพื่อดำเนินการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 60 ซึ่งโนนหนองลาด เป็น 1 ใน 5 ชุมชนที่ได้รับอนุมัติโครงการครั้งนี้
แม่ ๆ ยาย ๆ บอกว่า ขอบคุณมาก ๆ ที่มาช่วย เราไม่ได้ทุกข์แค่คนเดียว แต่มีทีวีอยู่ที่มาฟังเสียงเรา
ในโมงยามที่นักการเมืองขายฝัน ในห้วงวันที่ฝันของชาวบ้านรอสานต่อ การส่งเสียงนั้นไปยังส่วนต่าง ๆ ในสังคม ที่ถึงแม้จะน้อยนิด แต่นั่นก็เป็นภารกิจของไทยพีบีเอส เพื่อส่งเสียงประชาชนให้ไปไกลกว่าการเลือกตั้ง
ฟังคำตอบและนโยายพรรคการเมือง ต่อเรื่องปากท้อง คลิก