มากกว่าการพูดคุยเรื่องเพศสภาพ ที่ปัจจุบันดูเหมือนว่าถูกยอมรับและปรากฏความหลากหลายมากขึ้น หากเทียบกับในอดีตที่ผ่านมา แต่ด้านหนึ่งความเข้าใจที่ถูกต้อง การให้เกียรติ เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ในเรื่องเพศสภาพ (Gender) เป็นประเด็นตั้งต้นพูดคุยใน การอบรมการสื่อสารเพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 21-22 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเจริญธานี จ.ขอนแก่น เพราะมีหลายประเด็นที่ยังต้องการสร้างความเข้าใจต่อคนในสังคมอย่างต่อเนื่องและเป็นวงกว้าง
ผู้เขียนเองจึงเก็บเนื้อความและถ้อยคำในการพูดคุยครั้งนี้มาแบ่งปัน โดยได้รับเกียรติจาก ดร.ชเนตตี ทินนาม คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อพูดคุยถึงการทำงานของสื่อ การใช้ภาษาในข่าวเรื่อง “เพศ” ของสื่อมวลชน ในอดีตจนมาปัจจุบันและการรายงานข่าวที่ไหวรู้ต่อเพศภาวะ
ทำไมผู้สื่อข่าวหรือนักเล่าเรื่อง ต้องใส่ใจเรื่องไหวรู้ต่อเพศสภาวะหรือว่าการละเมิดทางเพศ
องค์ประกอบเรื่องเพศมันสามารถที่จะเป็นประเด็นข่าว ตามหลักการประเมินคุณค่าข่าว ในเชิงวารสารศาสตร์ ประเด็นเรื่องเพศเป็นประเด็นที่ใช้ในข่าว สารคดี และปรากฏในการเล่าเรื่อง ในรูปแบบต่าง ๆ ในละคร ในหนัง ในโฆษณา มันอาจไม่เพียงพอที่ ทำไมผู้สื่อข่าว หรือว่า คนทำสื่อต้องสนใจเรื่องนี้ เพราะว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อทุก ๆ คน ทุกคนมีมิติเพศอยู่ในตัวเอง
แต่นั่นไม่ได้สำคัญเท่ากับการที่เมื่อมีเรื่องราวเกี่ยวกับเพศในข่าว เพราะว่ามันเป็นประเด็นที่ผู้รับสารส่วนใหญ่สนใจ สื่อก็มักที่จะทำเรื่องราวที่อยากรับรู้ของสาธารณะอยู่แล้ว
ประเด็นที่สำคัญ คือ ทำไมเราต้องมาสนใจในเรื่องนี้เป็นพิเศษ เพราะว่าสนใจในเรื่องเพศ มันนำมาซึ่งความผิดพลาดในกระบวนการทำข่าว หรือ ผลิตเนื้อหาสารของสื่อมวลชนในมิติเพศ ความผิดพลาดที่บอกไป นั่นคือ เราเห็นเพศเป็นเพียงสินค้า ที่สามารถเอามาผลิต เล่าเรื่อง และทำให้เราได้เรตติ้ง ได้ยอดไลค์ (Like)ได้ยอดแชร์ (Shared) ได้ยอดจำหน่าย เรามองเรื่องเพศเป็นแค่วัตถุ ในฐานะที่เป็นสินค้าในระบบอุตสาหกรรมสื่อ ในตลาดทุนนิยมเท่านั้น เพราะว่ามันเรียกเรตติ้งได้ ซึ่งสื่อส่วนใหญ่มีวิธีคิดแบบนี้ ก็จะทำให้เราที่เป็นฐานะที่เป็นสื่อมวลชน ไม่ให้ความสำคัญ หรือ ไม่ให้ความระมัดระวังในฐานะบุคคลที่เป็นต้นเรื่อง
ในประเด็นเพศเหล่านี้ ทำให้ปัญหาที่ตามมาก็คือ ความสัมพันธ์ของแหล่งข่าว ที่ผู้สื่อข่าวเองต้องใช้ความระมัดระวัง ซึ่งโดยมากเราจะพบว่า มีดวงตาที่มืดมน มองไม่เห็นในมิติเพศสภาวะ เมื่อเขาจะต้องทำงานกับบุคคลที่มีมิติด้านเพศสภาพและก็มีความเปราะบาง อ่อนไหว ในฐานะที่คนเหล่านั้นเป็นผู้เสียหาย หรือว่าเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ อันเนื่องมากจากการถูกกดดันเรื่องเพศในมิติต่าง ๆ ซึ่งในประเด็นนี้มันมีเรื่องของการละเมิดสิทธิ การไม่เคารพคุณค่าของความเป็นมนุษย์ของผู้เสียหาย ที่มีมิติเพศ การแบ่งแยกกีดกัน (Discrimination)
ยกตัวอย่าง เช่น เมื่อจะต้องมีบุคคลที่ได้รับผลกระทบ หรือว่ามีความเปราะบางในเรื่องเพศ ต้องตกเป็นข่าว สื่อก็มักที่จะไม่เคารพความเป็นส่วนตัวของคน ๆ นั้น เราจะพบเห็นในลักษณะการเปิดเผยข้อมูล ของแหล่งข่าวที่มีความเปราะบางในเรื่องเพศ ไม่ว่าจะเปิดเผยในเรื่องสภาพร่างกาย เปิดเผยภูมิหลัง ชื่อ ตำแหน่ง ที่อยู่ สถานศึกษา อาชีพ เป็นต้น
การปกป้องและเคารพความเป็นส่วนตัวสำคัญอย่างไร
“มายาคติสังคมไทย มีความคาดหวังอย่างสูงว่ามนุษย์ต้องเป็นผู้ที่มีศีลธรรมอันดีงามในเรื่องเพศในส่วนตัวก็ไม่เห็นด้วยในมายาคติชุดนี้ของสังคม แต่มันเป็นความหวังที่ผิดพลาดของสังที่มนุษย์ต้องเป็นผู้ที่มีศีลธรรมอันดีงามในเรื่องเพศ ซึ่งความคาดหวังอันนี้ มันมาตกอยู่กับบางเพศ เท่านั้น เช่น ผู้หญิง”
และกลุ่มที่เป็น LGBT ซึ่งกลุ่มคนที่เป็น LGBT สร้างความโกรธเกรี้ยวและสร้างความไม่พอใจให้กับสังคมมาก เพราะถือว่าเขาเป็นคนที่กล้าแหกกฎ กติกา ของสังคม ซึ่งกฎ กติกา มันถูกวางของพื้นฐานของความเป็น heterosexuality ที่บอกว่าโลกนี้มีแค่ความเป็นหญิงและความเป็นชายเท่านั้น
ดังนั้น คนที่มีลักษณะของการข้ามเพศ กลุ่มคนที่รักเพศเดียวกัน หรือ homosexuality, bisexuality, Asexuality ,Queer คือเขาฝืนกติกาของสังคมในแง่ที่ว่า โลกนี้มันมีแค่สองเพศ และเป็นแค่คนรักต่างเพศเท่านั้น เท่ากับว่าพวกเขาฝืนกรอบ กติกาอันดีงาม ภายใต้ศีลธรรมอันดีงามที่มันควรจะเป็น คือ คุณจะต้องรักต่างเพศ ดังนั้น ตรงนี้มันเลยทำให้ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เขาก็จะถูกตัดสินจากสังคม ในวิถีต่าง ๆ ตามที่บอกไป
เพราะฉะนั้น ผู้สื่อข่าวก็มีแนวโน้มที่จะไปทำตัวให้สอดคล้องกับกระแสสังคม ซึ่งมันอาจจะไม่ถูกต้อง ในตรงนี้มันเลยนำมาถึงการละเมิดสิทธิ แบ่งแยก กีดกัน และอาจนำไปสู่การสังหารของกลุ่มบุคคลที่มีลักษณะต่อต้านเป็นกบฏ รวมถึงกลุ่มผู้หญิงด้วยเช่นกัน อันนี้คือความไม่เหมาะสมที่ปฏิบัติต่อแหล่งข่าว
อะไรคือการสร้างภาพเหมารวมที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับมายาคติในทางเพศ
สิ่งนี้มันได้กลายเป็นความจริงที่คลาดเคลื่อน เช่น ผู้หญิงที่ดีต้องมีครอบครัว แต่งงาน ไม่สามารถที่จะหย่าร้างได้ หรือว่า ถ้าหย่าร้างแล้ว คุณต้องรักษาบทบาทความเป็นแม่ มายาคติเหล่านี้ที่ถ่ายทอดออกมาผ่านทางละคร ชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์แบบในอุดมคติ มันทำให้เกิดการกดทับของตัวผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงไม่กล้าออกจากกรอบกติกา ต้องรักษาความเป็นแม่ และความเป็นเมีย มันได้สร้างความทุกข์ทรมานให้กลับกลุ่มผู้หญิง
เพราะฉะนั้นทำไมเราต้องมาคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ สื่อต้องมีหน้าที่ต้องรายงานความจริง ถูกต้อง เป็นความจริงที่มันจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิ การแบ่งแยก กีดกัน ทำให้ใครบางคนนั้นถูกเลือกปฏิบัติ”
ถาม : กรณีตัวของสื่อที่ทำการละเมิดผู้หญิงหรือว่าผู้ชาย หรือ เพศทางเลือก เช่น ประเด็นการใช้ภาษาหรือว่าคำในการรายงานข่าว มันมีแบบนี้ใช่ไหมครับ
“เยอะแยะไม่หมดเลย เป็นภาษาที่ไปลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ ภาษากลุ่มนี้เยอะมาก มันทำให้คนไม่เท่ากันผ่านภาษา ที่สื่อใช้ เช่น ไปเปรียบเทียบกลุ่มคนหลากหลายทางเพศให้เขาเป็นสัตว์ ที่ไปเรียกเขาว่าเหล่า เก้ง กวาง เลี้ยงผู้หญิงว่าชะนี อย่างนี้เราจะเห็นในการรายงานข่าวบันเทิงอยู่ ในสื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ ไปเรียกผู้ชายที่รักสองเพศ ว่าเขาเป็นเสือไบ หรือไปสนใจเฉพาะว่า กลุ่มคนหลากหลายทางเพศ
หมกมุ่นอยู่แค่กามารมณ์ โดยการผลิตชุดคำศัพท์ที่พยายามที่จะเสนอในข่าว เช่น ใช้คำว่าระเบิดถังขี้ ตีฉิ่ง ฟันดาบ อัดถั่วดำ สายเหลือง ซึ่งคำเหล่านี้เป็นคำที่ตํ่า และทำให้เขาไม่เหลือความเป็นมนุษย์ สื่อต้องเห็นความเป็นมนุษย์ในตัวของมนุษย์ ไม่ใช่เห็นมนุษย์มีสถานะที่ต่ำต้อย เป็นสัตว์ เป็นสิ่งของ เป็นอุจจาระ อันนี้ทำให้ผู้ที่ถูกเรียก ถูกนิยามความหมายแบบนั้น มันทำให้เขาไม่มีคุณค่า”
การนำเสนอข่าวเรื่อง “เพศ” ของสื่อมวลชน ตั้งแต่อดีตจนมาปัจจุบันเปลี่ยนไปไหม
“พัฒนาการในเรื่องของการเหยียดผู้หญิง มันมีมาอย่างยาวนาน การเหยียด LGBT ในประวัติศาสตร์มันไม่ปรากฏ ที่ไม่ปรากฎเพราะว่ามันไม่มีพื้นที่ให้กับ LGBT”
ในอดีตนั้นสังคมไม่มีความรู้เรื่อง LGBT คนที่เป็น LGBT ตอนนั้นเขายังไม่ออกมา หรือ coming out สังคมยังมีลักษณะของการเป็นชายและหญิง หรือ heterosexuality และเป็นสูงมาก
ดังนั้น พื้นที่สื่อในประวัติศาสตร์ ที่อาจารย์ศึกษามา ทั้งความรุนแรงทางเพศในสื่อ จะพบว่าในมิติของผู้หญิงนี้มีความรุ่นแรงมาก นับตั้งแต่สมัยราชกาลที่ 6 เป็นต้นมา สมัยนั้นเริ่มมีการที่จะทำให้ความรุนแรงทาง
เพศ ความรุนแรงในครอบครัว ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงมันดูเป็นเรื่องเล็กน้อย เป็นเรื่องส่วนตัว เช่น สามีตีภรรยา ถ้านำมารายงานข่าว คนจะสมนํ้าหน้าผู้หญิง เป็นเพราะไม่เชื่อฟังสามี ก็เลยโดนสามีทำร้าย เราก็จะเจอข่าวลักษณะแบบนี้ แต่ว่าทัศนคติหรือว่าความรู้สึกของสื่อในอดีต จะมองว่าผู้หญิงทำตัวเอง เพราะไม่เชื่อฟังผู้ชาย เพราะว่ากรอบสังคมจะสอนว่าผู้หญิงเป็นสมบัติของผู้ชาย เมียต้องเคารพสามีเหมือนเป็นบิดา ลักษณะแบบนี้ในอดีตจะมีความรุนแรง
ถ้าเป็นข่าวเกี่ยวกับความรุนแรงทางเพศ ผู้หญิงจะเหมือนถูกลากมาประจานและถูกข่มขืนซ้ำในหน้าหนังสือพิมพ์ ภาพความรุนแรงต่อผู้หญิงมันกลายเป็นเรื่องเล็กน้อย ไม่ถูกสนใจ และถ้าเป็นเรื่องผู้หญิงที่ถูกข่มขืน จะเหมือนถูกข่มขืนซํ้าเป็นครั้งที่ 3 และมีการใช้คำเปรียบเทียบผู้หญิงเหมือนในลักษณะเหมือนเป็นเหยื่อ เป็นสัตว์ มีการเปิดเผยข้อมูลส่วนตัว และมีการเบี่ยงเบนประเด็น ทำให้การข่มขืนเป็นเรื่องอาการเจ็บป่วยของผู้ชาย เช่น การใช้คำว่า วิตถาร ซาดิสม์ นี่คืออาการป่วย
ผู้ชายที่ข่มขืนในสมัยก่อน นักข่าวจะนิยมใช้คำว่า ซาดิสม์ วิปริต หรือว่าติดสุรา เป็นต้น ส่วนการกล่าวโทษที่มีลักษณะเป็นผู้หญิง เช่น แต่งตัวโป๊ กลับบ้านดึก ดึกแล้วทำไมไม่กลับบ้าน ลักษณะแบบนี้จะใช้มาในปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา
ในประเทศไทยเราจะส่งเสริมความเป็นธรรมของผู้หญิง ต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี อาจารย์จะพบว่า ในทศวรรษ 2550 เป็นต้นมา มันมีความพยายามที่จะปฏิเสธ ไม่เอาข่าวข่มขืนที่มีลักษณะตำหนิ หรือ โทษผู้หญิงเพราะว่าผู้หญิงเป็นคนที่ควรได้รับการโอบอุ้ม เพราะว่าเป็นผู้ถูกกระทำ แต่ว่าลักษณะการรายงานข่าวข่มขืนที่มีต่อผู้หญิง เหมือนว่าผู้หญิงเป็นอาชญากรเอง ละเมิดสิทธิ เปิดเผยหน้าตา ทำให้ผู้หญิงไม่มีพื้นที่ปลอดภัยเพราะสังคมคาดหวังว่าผู้หญิงต้องไม่แปดเปื้อนในเรื่องเพศ
ดังนั้น ใครที่สื่อถูกลากออกมาเปิดเผยข้อมูลในหนังสือพิมพ์ แทบต้องออกจากสังคมนี้ไปเลย ยกตัวอย่าง เมื่อหลาย 10 ปีก่อน มีนักศึกษาปริญญาโท ถูกข่มขืนบนรถไฟ เธอออกมาต่อสู้คดี แล้วสื่อมีการละเมิดสิทธิ ทำให้ผู้หญิงคนนี้ไม่สามารถกลับไปทำงานที่เดิม สุดท้ายต้องออกไปอยู่ต่างประเทศ สิ่งนี้เหมือนทำให้เห็น “การทำลายทั้งชีวิต” มันไม่ใช่เพียงการถูกข่มขืนครั้งเดียว แต่ว่าชีวิตผู้หญิงที่อยู่ภายใต้โครงสร้างของสังคม ที่มันมีความเป็นปิตาธิปไตยอย่างสูง
มองอย่างไรเรื่องสื่อใหม่กับการคุกคามทางเพศ
ข่าวการถูกข่มขืนในปัจจุบัน คิดว่ามีความพยายามที่จะปกป้องสิทธิของผู้หญิงมากขึ้น อันเนื่องมาจากมันมีแนวปฏิบัติของสื่อที่มีความชัดเจนมากขึ้น เช่น กสทช. มีแนวปฏิบัติสำหรับสื่อมวลชน ที่จะไม่ละเมิดศักดิ์ศรี ความเป็นมนุษย์ สื่อโทรทัศน์ สื่อหนังสือพิมพ์ ก็จะมีแนวปฏิบัติในลักษณะแบบนี้ และทำให้อาจารย์พบว่า ในเรื่องของประเด็นผู้หญิง ความรุนแรงทางเพศเริ่มคลี่คลายในแง่ของสื่อมืออาชีพ
แต่สำหรับสื่อท้องถิ่น หรือ คนที่ตั้งตัวเองเป็นเจ้าของเพจและมีลูกเพจติดตามเป็นล้านคน อาจารย์ยังไม่มั่นใจในจริยธรรมของคนเหล่านี้ และในปัจจุบันมีสื่อสังคมออนไลน์เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น facebook ที่มีทีมงานเมื่อไปเจอการฆาตกรรม การข่มขืน และมีศพ ในลักษณะแบบนี้มันมีการเก็บภาพและไม่มีการปกป้องเหยื่อ และมาเผยแพร่ในสื่อออนไลน์
ซึ่งเราจะเห็นการแชร์ที่มีการเปิดเผยใบหน้าศพ อันนี้มันคือปัญหาใหม่ ที่ปัจจุบันสื่อหลักเขาเริ่มระวังมากขึ้นแล้ว แต่พอสื่อใหม่ขึ้นมาและตรงนี้มันไม่มีการควบคุมจากองค์กร เพราะในนามบุคคล ทำให้ไม่มีองค์กรวิชาชีพไปกำกับ ดูแล อันนี้คือสิ่งที่น่ากลัว”
มากกว่าความเข้าใจและตระหนักรู้ต่อการสื่อสารสาธารณะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ ทั้งชาย-หญิง และกลุ่ม LGBT ผู้เขียนเองยังได้โอกาสทบทวนและแลกเปลี่ยนถึงสิ่งสำคัญในการสื่อสารผ่านสื่อทุกช่องทาง นั่นคือการคำนึงถึงศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนต้นเรื่องที่ถูกบอกเล่าผ่านสายตาของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ทุกเพศ ทุกวัย
ภาพ / ข่าว : พงษ์ศธร พรมโกวาด