ถักทอต่อผืนป่า : แนวทางการฟื้นฟู”ป่า”อย่างมีส่วนร่วม

ถักทอต่อผืนป่า : แนวทางการฟื้นฟู”ป่า”อย่างมีส่วนร่วม

นักวิชาการเปรียบกรุงเทพเมืองหัวโตขาลีบ วางผังเมืองไม่คำนึงถึงการสร้างพื้นที่สีเขียว ขณะที่ อ.เดชรัตน์แนะ ออกมาตรการลดหย่อนภาษีที่ดินให้ภาคเอกชน พร้อมเสนอการออกแบบต้นไม้เพื่อวัยเกษียณ ดันโมเดล “นิวยอร์ค-บอสตัน” ตอบโจทย์การเพิ่มพื้นที่ป่า 26 ล้านไร่ สามารถสร้างป่าได้ทุกพื้นที่

ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า จัดเทศกาลคนกับป่าครั้งที่ 2 ชูแคมเปญ “ถักทอต่อผืนป่า Forest Quilt” ชวนคนเมืองเปิดมุมมองและร่วมสนับสนุนการฟื้นฟูผืนป่าที่ทำให้ป่าเพิ่มและคนท้องถิ่นอยู่รอดไปพร้อมกัน เสนอการออกมาต้นไม้เพื่อวัยเกษียณ และดันโมเดล “นิวยอร์ค-บอสตัน” ต้นแบบป่าในเมือง

เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2561 ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) จัดงานเทศกาลคนกับป่าครั้งที่ 2 ขึ้นในหัวข้อ “ถักทอต่อผืนป่า Forest Quilt” โดยนายสมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “การฟื้นฟูภูมิทัศน์ ความหมายความสำคัญต่อการป่าไม้วันนี้” ว่า ศตวรรษที่ผ่านมาเป็นศตวรรษแห่งการทำลายป่าไม้ทั่วโลก อย่างในอินเดีย พื้นที่ป่า และสัตว์ป่าถูกทำลายมากจากผู้ปกครองใหม่ จนกระทั่งศตวรรษนี้เป็นศตวรรษแห่งการฟื้นฟู เว้นแต่คนที่หลงศตวรรษ ที่ยังคงล่าสัตว์ป่าอยู่ ทั้งนี้ในอดีตการฟื้นฟูป่าคือการปลูกป่า แต่ปัจจุบัน การดูแลป่าอย่างเดียวไม่พอ ต้องบริหารจัดการทรัพยากรด้วย โดยในเรื่องนี้ชาวบ้านมีความก้าวหน้าไปมาก เพราะไม่ว่าจะเป็นป่า แม่น้ำ ลำธาร ทุกอย่างมีความเชื่อมโยงกัน มีปฏิสัมพันธ์กันทั้งหมด ซึ่งตนอยากเสนอแนวทางของการพื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ที่ทุกฝ่ายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการร่วมฟื้นฟูป่าได้

นอกจากนี้ภายในงานยังมีเวทีเสวนา หัวข้อ “ฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ ความหวังใหม่ในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน” โดยน.ส.วรางคณา รัตนรัตน์ ผู้อํานวยการแผนงานประเทศไทย ศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า (RECOFTC) กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดของป่าไม้ในประเทศไทยเหลืออยู่เพียงแค่ 102.1 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 31.60 ของพื้นที่ในประเทศทั้งหมด ดังนั้นการฟื้นฟูป่าจึงกลายเป็นวาระแห่งชาติ โดยรัฐบาลได้กำหนดนโยบายป่าไม้แห่งชาติขึ้น เพื่อให้มีพื้นที่ป่าไม้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั่วประเทศ หรือประมาณ 26 ล้านไร่ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ท้าทายว่าจะบรรลุตามเป้าหมายหรือไม่ แต่เชื่อว่าคำตอบของโจทย์ของการฟื้นฟูป่าไม้ในครั้งนี้คือ การฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ หรือ Forest Landscape Restoration (FLR) ซึ่งเป็นกระบวนการของการฟื้นฟูระบบนิเวศควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คนในพื้นที่ภูมิทัศน์ที่มีป่าไม้ที่เสื่อมโทรม ที่ไม่ใช่แค่เพียงการปลูกต้นไม้ แต่เป็นการพลิกฟื้นผืนที่ในภูมิทัศน์ทั้งหมดให้สามารถตอบสนองความต้องการในปัจจุบันและอนาคตได้ โดยสามารถทำได้ทั้งในพื้นที่เกษตรขนาดเล็ก พื้นที่สาธารณะในเขตเมือง โดยหัวใจสำคัญคือการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการช่วยกันถักทอผืนป่าไปพร้อมๆ กัน

“เสมือนกับการผสานป่าหย่อมเล็กหย่อมน้อยให้กลายเป็นผืนใหญ่ คล้ายกับผ้านวมหรือผ้าห่ม ที่ถักทอจากเศษผ้าหลากหลายสี ให้กลมกลืนกันทั้งผืน โดยหัวใจสำคัญคือการให้ชุมชนและประชาชนมีส่วนร่วม เริ่มได้จากตัวเราเเละสามารถทําได้ใกล้บ้าน ทั้งในชุมชนที่เราอาศัยอยู่หรือพื้นที่สาธารณะ หรือสนับสนุนกิจกรรมของชุมชนที่ทำหน้าที่ดูแลฟื้นฟูป่าเช่นนี้ พร้อมไปกับสร้างพื้นที่ป่าในเมืองให้เพิ่มขึ้นไปพร้อม ๆ กัน ซึ่งจะทำให้เกิดฟื้นฟูป่าไม้ทั้งระบบอย่างยั่งยืน” น.ส.วรางคณากล่าว

ด้านน.ส.ปรานิศา บุญค้ำ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าผังเมือง ของกทม. ไมได้ถูกวางให้เอื้อต่อการที่จะทำให้เป็นป่าในเมืองมากนัก สวนสาธารณะขนาดใหญ่ของกทม.เกือบทั้งหมดเกิดจากความบังเอิญ อีกทั้งพื้นที่ที่เอื้อต่อการปลูกต้นไม้ เช่น ตามแนวถนน หรือ ตามริมคลองก็มีพื้นที่ที่ไม่เพียงพอต่อการเติบโตของต้นไม้ขนาดใหญ่ ในขณะที่ภาคเอกชนไปไกลกว่าภาครัฐมากในเรื่องนี้มาก เพราะบนอาคารสูง หรือ คอนโด แม้แต่ห้างสรรพสินค้า ของภาคเอกชนก็ได้พยายามจัดให้มีพื้นที่สีเขียว มีสวนสวยงาม ดังนั้นมองว่าหน่วยงานภาครัฐควรจะอุทิศพื้นที่ที่เป็นเขียวอยู่แล้วให้เป็นที่สาธารณะ เหมือนเมืองใหญ่ๆอย่าง เซ็นทรัลปาร์ค ในนิวยอร์ก หรือ สวนสาธารณะบอสตัน (Boston Public Garden) ที่ถือเป็นสวนพฤกษศาสตร์ที่ใหญ่ที่สุดและเก่าแก่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

“กรุงเทพฯก็เป็นเหมือนเมืองหัวโต ขาลีบ ทุกคนยังต้องเข้ามาที่แห่งนี้เพราะเป็นทั้งแหล่งงาน แหล่งเงิน ไลฟ์สไตล์ต่างๆ การเพิ่มพื้นที่สีเขียวรัฐควรจะต้องดำเนินการในเชิงรุกและต้องมีนโยบายที่ชัดเจน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันปรับภูมิทัศน์ของเมืองใหม่ โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้นเพื่อสุขภาพของคนเมืองทุกคนด้วย ”น.ส.ปรานิศา กล่าว

ขณะที่นายเดชรัตน์ สุขกำเนิด หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า การฟื้นฟูป่าไม้ในเมืองในไทยควรที่จะเชื่อมโยงกับ 3 เรื่องสำคัญ คือ การเกษตร สวัสดิการของประชาชน และ ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งโจทย์ของการพื้นฟูป่าไม้แบบภูมิทัศน์ใหม่ คือการฟื้นฟูให้ 3 เรื่องนี้ไปพร้อมกันได้ เช่น เราสามารถทำป่าไม้ในพื้นที่เกษตร หรือที่เรียกว่า วนเกษตร ซึ่งจะสามารถตอบโจทย์ในส่วนที่เป็นรายได้ ในส่วนของสวัสดิการนั้น การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย มีความจำเป็นที่จะต้องมีองค์ความรู้และระบบกฎหมายที่เอื้อให้ใช้ต้นไม้เป็นหลักประกันของชีวิตในช่วงปลายได้ เช่น ที่กำแพงเพชร มีโมเดล ว่าจะทำอย่างไรให้คนที่อายุ 40 ปีในวันนี้ ตอนเกษียณมีเงิน 4แสนบาท ซึ่งการออมที่ดีที่สุดคือ การปลูกต้นไม้ ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ เพราะอีก 20 ปี เนื้อไม้เหล่านี้จะมีมูลค่ามาก และสุดท้ายคือการเชื่อมโยงเข้าไปสูระบบนิเวศน์ที่คำนึงถึงความเหมาะสม หรือ ความแตกต่างหลากหลายในแต่ละพื้นที่

“ในพื้นที่เมือง แม้ว่าจะเป็นป่าเล็กป่าน้อยก็เป็นป่าได้เหมือนกัน เป็นพื้นที่ที่คนเข้าไปโอบกอดกับพื้นที่ป่า ป่าในเมืองมีหน้าที่มีฟังก์ชั่นเฉพาะของมัน เช่น เรื่องสุขภาพ ซึ่งโดยตรงกว่าป่าที่อยู่ห่างไกลเสียอีก ดังนั้นป่าในเมืองคือการเชื่อมโยงกับคน ให้คนมีโอกาสสัมผัสและสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดมากกว่า ทั้งนี้เห็นว่าในเรื่องของการเพิ่มพื้นที่ป่าในเมืองนั้น ในอนาคตรัฐควรเพิ่มแรงจูงใจให้กับเจ้าของที่ดิน เช่น มาตรการลดภาษีที่ดิน คือลดภาษีที่ดินให้กับที่ดินที่มีต้นไม้ใหญ่ หรือ มีให้ผลตอบแทนกับเจ้าของที่ดินที่มีต้นไม้ใหญ่และเปิดให้ประชาชนได้เข้าใช้ประโยชน์ ” หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าว มีการคำนวณกันว่าคนไทยหนึ่งคนใช้ทรัพยากรเท่ากับป่าไม้ 3 ไร่ แต่เมื่อเทียบระหว่างคนเมืองและคนต้นน้ำอย่างชนเผ่าปกาเกอะญอ ใช้ทรัพยากรต่างกันเท่าไหร่พบว่าคนเมืองใช้ทรัพยากรคนละ 5 ไร่ซึ่งเกินกว่าพื้นทีทรัพยากรที่เรามี ในขณะนี้พี่น้อง ปกาเกอะญอกลับใช้กันเพียงคนละ 1 ไร่

นายเดชรัตน์ยังระบุเพิ่มเติมว่า ในต่างประเทศมีผลการศึกษาระบุว่าพื้นที่สีเขียว หรือ ต้นไม้ในห้างสรรพสินค้าจะทำให้คนซื้อของมากขึ้น ทำให้เห็นว่าของเหล่านี้ไม่มีราคา แต่มีมูลค่า และคุ้มค่าที่จะลงทุนเพราะได้รับผลตอบแทนกลับมา”หัวหน้าภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ระบุ

นายวิจิตร พนาเกรียงไกร กรรมการเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละกล่าวว่า เดิมทีชาวบ้านในเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุปมีปัญหาเรื่องการจัดการป่าในพื้นที่เป็นอย่างมาก ซึ่งการแก้ปัญหานั้นได้แบ่งพื้นที่ป่าไม้ออกเป็นสามส่วนคือ ป่าต้นน้ำ ป่าใช้สอย และป่าธรรมดา ซึ่งพื้นที่ป่าต้นน้ำ และป่าธรรมดานั้นจะไม่มีใครไปบุกรุกหรือทำอะไรกับป่าในสองส่วนนี้ โดยป่าที่ชาวบ้านสามารถใช้สอยทำประโยชน์ก็คือพื้นที่ป่าที่ถูกกำหนดให้เป็นป่าใช้สอย และชาวบ้านในเครือข่ายลุ่มน้ำแม่ละอุปก็ยังมีหน้าที่ในการดูแลไม่ให้มีใครไปบุกรุกป่าในพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าธรรมดาด้วย ซึ่งหลังจากแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในพื้นที่ตามรูปแบบนี้พื้นที่ของป่าก็กลับมา แหล่งน้ำก็เพิ่มมากขึ้นทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านดีขึ้นอย่างมากด้วย ทั้งนี้มองว่าการแก้ปัญหาเรื่องการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืนนั้นไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่งแต่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันทำให้เกิดขึ้นอย่างเป็น

ขณะที่นายคมกฤช ตระกูลทิวากร นักธุรกิจเพื่อสังคมจากบริษัทหนึ่งสี่หนึ่งที่เป็นธุรกิจของเล่นเด็กที่สร้างจากไม้เหลือใช้ กล่าวว่า แนวคิดในการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาก็เพื่อรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม จึงเลือกไม้จากต้นยางที่ไม่มีน้ำยางแล้ว หรือ ไม้มือสองที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์มาผลิตของเล่น เพราะเรามีความเชื่อว่าเราจะทำธุรกิจด้วยการไม่เบียนเบียนคนอื่นไม่เบียนเบียนสิ่งแวดล้อม ถึงแม้จะมีขั้นตอนซับซ้อนและไม่สะดวกเท่ากับธุรกิจอื่นๆ แต่ถ้าเราเริ่มที่การลงมือทำด้วยตัวเอง อย่างน้อยเราก็ได้ใช้ของที่จะถูกนำไปทิ้ง นำมันกลับมาใช้ได้ และทำให้คนเห็นคุณค่า ลดการทำลายป่า และไม่ทำลายระบบนิเวศของป่า ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้เกิดความยั่งยืนของป่าขึ้นได้

ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการจัดงานศูนย์วนศาสตร์ชุมชนเพื่อคนกับป่า ร่วมกับภาคีเครือข่ายหลากหลายองค์กรยังได้ร่วมอ่านแถลงการณ์ข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลดังต่อไปนี้ 1. ขอเสนอให้รัฐเน้นการฟื้นฟูป่า ที่ทำให้ประเทศไทยได้มีป่าเพิ่มควบคู่ไปกับการส่งเสริมสิทธิแก่คนในท้องถิ่นได้ร่วมดูแลป่า รวมถึงได้รับประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการฟื้นฟูนี้ มากกว่าแนวทางการอนุรักษ์เพียงอย่างเดียว เพราะการสร้างการมีส่วนร่วมและการแบ่งปันให้ชุมชนได้ประโยชน์จากป่า คือวิธีการฟื้นฟูป่าที่ยั่งยืนที่สุด 2.ภาคธุรกิจควรเข้ามาร่วมสนับสนุนและลงทุนกับการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้ให้เพิ่มมากขึ้น โดยเน้นการสนับสนุนที่เป็นระยะยาวและสามารถสร้างต้นแบบการสร้างป่าที่ให้ประโยชน์ทั้งในทางสิ่งแวดล้อมและเศรษฐกิจสีเขียว โดยเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น และ 3.ขอเชิญชวนให้ประชาชนร่วมสนับสนุนโครงการถักทอต่อผืนป่า เพื่อให้แนวทางการฟื้นฟูภูมิทัศน์ป่าไม้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม

author

ปฏิทินกิจกรรม EVENT CALENDAR

เข้าสู่ระบบ