เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ออกแถลงการณ์ “คัดค้าน พ.ร.บ.น้ำ หยุดเหยียบย่ำเกษตรกรคนลุ่มน้ำ ยิ่งปรับปรุงยิ่งให้อำนาจรัฐ” ชี้ปัญหากระบวนการรับฟังความคิดเห็น ทั้งยังให้รัฐยังมีอำนาจรวมศูนย์การจัดการน้ำ หวั่นฟื้นโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่
เครือข่ายประชาชนอีสาน แถลงการณ์ "คัดค้าน พรบ.น้ำ หยุดเหยียบย่ำเกษตรกรลุ่มน้ำ ยิ่งปรับปรุงยิ่งให้อำนาจรัฐ" 12 ตุลาคม 2560
โพสต์โดย ขบวนการอีสานใหม่ New Isan Movement เมื่อ วันพุธที่ 11 ตุลาคม 2017
12 ต.ค. 2560 ภาคประชาชนและชาวบ้านลุ่มน้ำภาคอีสานนำโดย นายสิริศักดิ์ สะดวก ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน นายนวรัตน์ เสียงสนั่น เจ้าหน้าที่ภาคสนามโครงการทามมูล พร้อมตัวแทนชาวบ้านลำน้ำพอง ตัวแทนชาวบ้านลำน้ำมูล ตัวแทนชาวบ้านลุ่มน้ำชี และตัวแทนชาวบ้านแก่งละหว้า จัดแถลงข่าวคัดค้านร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ทรัพยากรนํ้า พ.ศ. … นอกจากนั้นยังจัดเวทีร่วม แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของชาวบ้านลุ่มน้ำต่อร่าง กฎหมายดังกล่าว ที่สำนักงานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.อีสาน) อ.เมือง จ.ขอนแก่น
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุข้อห่วงกังวล คือ
1) กระบวนการรับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายไม่ครอบคลุมพื้นที่ของชาวบ้านลุ่มน้ำผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ตามหลักการมีส่วนร่วมร่วมของประชาชน
2) การปรับปรุงร่างกฎหมายยิ่งปรับปรุงยิ่งให้อำนาจรัฐในการบริหารจัดการน้ำ
3) ให้คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ก.น.ช.) มีอำนาจในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบในการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ ซึ่งจากจะเพิ่มความขัดแย้งระหว่างลุ่มน้ำเพราะการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และอาจมีการฟื้นนโยบายโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ เช่น โครงการผันน้ำโขง ชี มูล
4) คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (ก.น.ช.) และ คณะกรรมการลุ่มน้ำ มีลักษณะโครงสร้างที่ยังยึดโยงให้อำนาจกับภาครัฐมาก ไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่าภาคประชาชนจะเข้าไปถ่วงดุลอำนาจได้
5) หากมีการเก็บภาษีน้ำ อาจทำให้เกษตรกรจะต้องแบกภาระกับต้นทุนการผลิต
“ภายใต้เหตุผลดังกล่าวทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน มองว่า พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้จะเป็นการลิดรอนสิทธิของชุมชนและเกษตรกร เพื่อที่จะให้รัฐสามารถจัดการน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เนื่องจากสถานะของน้ำในแม่น้ำ แหล่งน้ำทุกประเภทกลายเป็นของรัฐโดยสมบูรณ์”
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุข้อเสนอต่อร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ดังนี้
1) ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอดถอนร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ออกจากการพิจารณาตามเหตุผลข้างต้น เนื่องจากยังสร้างความวิตกกังวลต่อเกษตรกรลุ่มน้ำและเกษตรกรทั่วไปในประเด็นความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับการเก็บภาษีน้ำ
2) ให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกจังหวัด เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมครอบคลุมกลุ่มคนผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภาคประชาชน เอกชน อย่างแท้จริง เนื่องจากมีประชาชนหลายภาคส่วนโดยเฉพาะเกษตรกรไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ.น้ำ พ.ศ. …
แถลงการณ์
“คัดค้าน พ.ร.บ.น้ำ หยุดเหยียบย่ำเกษตรกรคนลุ่มน้ำ ยิ่งปรับปรุงยิ่งให้อำนาจรัฐ”
นับตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมา หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรน้ำมีความพยายามที่จะผลักดันให้มี การออกพระราชบัญญัติน้ำ อย่างต่อเนื่อง แต่กลับถูกประชาชนคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับร่างพระราชบัญญัติน้ำที่ถูกนำเสนอมาตลอดเนื่องจากกระบวนการร่างกฎหมายนั้นขาดการมีส่วนร่วมและการแสดงความคิดเห็นของภาคประชาชน ในขณะปัจจุบันกฎหมายบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ พ.ศ. …ได้นำเข้าพิจารณาในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่ 1 ไปแล้วนั้น มีทั้งหมด 9 หมวด 100 มาตรา โดยได้ตั้งกรรมาธิการขึ้นมาเพื่อพิจารณา ซึ่งยังเหลืออีก 2 วาระ สภานิบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถึงจะลงมติว่าจะเห็นควรประกาศหรือไม่เห็นควรประกาศ
จากการติดตามกระบวนการร่าง พ.ร.บ.น้ำ ของเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน มีความเห็นว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะต้องถอดถอนร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … เนื่องจากปัจจุบันกระแสการคัดค้าน พ.ร.บ.น้ำ ฉบับ พ.ศ. … จากเกษตรกรไม่เห็นด้วยเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในประเด็นที่จะมีการเก็บภาษีน้ำจากเกษตรกรเพราะจะทำให้เกษตรกรมีค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม ประกอบกับ
1) กระบวนการรับฟังความคิดเห็นกับร่างพระราบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ไม่ครอบคลุมพื้นที่ของชาวบ้านลุ่มน้ำผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย ตามหลักการมีส่วนร่วมร่วมของประชาชน นั้นย่อมหมายถึงความไม่โปร่งใสในการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในระดับพื้นที่อย่างแท้จริงตั้งแต่เริ่มกระบวนการ
2) การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.น้ำ ยิ่งปรับปรุงยิ่งให้อำนาจรัฐในการบริหารจัดการน้ำ โดยเฉพาะตามร่าง พ.ร.บ.น้ำ มาตรา 6 อำนาจของรัฐในการพัฒนาทรัพยากรน้ำสาธารณะ “ให้รัฐมีอำนาจบริหารทรัพยากรน้ำสาธารณะบนพื้นฐานความยั่งยืนและความสมดุลของระบบนิเวศ โดยเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำหรือขยายแหล่งน้ำได้” โดยรัฐยังมีอำนาจในการรวมศูนย์การจัดการน้ำ หรือสามารถเปลี่ยนแปลงรูปร่างของแหล่งน้ำ ทั้งยังเป็นการเพิ่มอำนาจให้รัฐผูกขาดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำโดยที่รัฐสามารถที่จะกำหนดการพัฒนาแหล่งน้ำไปในทิศทางที่คนลุ่มน้ำไม่มีส่วนร่วม ซึ่งอาจนำมาสู่ความขัดแย้งในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำระหว่างรัฐกับชุมชน
3) ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ในมาตรา 17 (10) ก.น.ช.มีอำนาจในการพิจารณาและให้ความเห็นชอบในการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำ ซึ่งจากอำนาจดังกล่าว ร่าง พ.ร.บ.น้ำ จะเพิ่มความขัดแย้งระหว่างลุ่มน้ำเพราะการผันน้ำระหว่างลุ่มน้ำเป็นเรื่องละเอียดอ่อนของแต่ละลุ่มน้ำที่มีความผูกพันกับการใช้ชีวิตกับลุ่มน้ำตนเอง อีกทั้งในแต่ละลุ่มน้ำมีระบบนิเวศที่แตกต่างกันอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศลุ่มนั้นๆ ได้ โดยชาวบ้านวิตกกับอำนาจหน้าที่ของการบริหารจัดการน้ำของรัฐที่จะฟื้นนโยบายโครงการบริหารจัดการน้ำขนาดใหญ่ เช่น โครงการผันน้ำโขง ชี มูล ซึ่งปัจจุบันในหลายพื้นที่ ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการน้ำขนาดใหญ่และยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี เป็นต้น ถึงแม้จะระบุไว้ว่าจะต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นก่อนตามมาตรา 18 วรรค2 ซึ่งทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน ก็มองว่าเป็นเพียงการจัดทำพิธีกรรมเพื่อให้ครบถ้วน เพราะหน่วยงานรัฐมีธงเอาไว้แล้ว
4) ร่าง พ.ร.บ.น้ำ มาตรา 9 กำหนดให้มี “คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ” หรือ ก.น.ช. และในร่างมาตรา 26 “คณะกรรมการลุ่มน้ำ” ในสองมาตรานี้มีลักษณะโครงสร้างที่ยังยึดโยงให้อำนาจกับภาครัฐมาก ถ้ามองถึงสัดส่วนแล้วภาคประชาชนไม่มีที่ยืนในการที่จะร่วมกำหนดนโยบายเลย เพราะเป็นการกำหนดตำแหน่งไว้เสร็จสรรพเรียบร้อยแล้วส่วนใหญ่มีแต่หน่วยงานราชการ ทำให้เห็นว่าไม่มีหลักประกันใดๆ ที่จะแสดงให้เห็นว่าภาคประชาชนจะเข้าไปถ่วงดุลอำนาจกรรมการได้ และ
5) ประเด็นสุดท้ายที่มีข้อวิตกกังวลจากเกษตรกรลุ่มน้ำและเกษตรกรทั่วไป คือ ในหมวดการจัดสรรน้ำ ที่กำหนดการใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะแบ่งเป็น 3 ประเภท ตามร่าง พ.ร.บ.น้ำ มาตรา 39 ในมาตรานี้มีการเชื่อมโยงไปอีกหลายมาตราเนื่องจากเกี่ยวข้องกับกับการเก็บภาษีน้ำของผู้ใช้น้ำ แม้ว่าในร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้จะกำหนดเก็บภาษีเฉพาะการใช้น้ำประเภทที่สอง และการใช้น้ำประเภทที่สาม แต่เกษตรกรลุ่มน้ำ และเกษตรกรทั่วไปยังไม่มีความมั่นใจกับร่าง พ.ร.บ.น้ำตั้งแต่เริ่มต้น ทั้งความไม่โปร่งใสของกระบวนการรับฟังความคิด และความไม่สอดคล้องของวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำและเกษตรกร
ซึ่งมีประเด็นอยู่ว่า 1.ถ้ามีการเก็บภาษี พ.ร.บ.น้ำจริง ตามวิธีคิดเบื้องต้นของอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำยังพูดชัดถึงการเก็บภาษีน้ำกับเกษตรกร ไม่เกิน 50 สตางค์ต่อลูกบาศก์เมตรในประเภทที่สองนั้นใครได้ประโยชน์ใครเสียประโยชน์ ถ้ามองดูเบื้องต้นเห็นชัดว่า กลุ่มผู้ใช้น้ำประเภทที่หนึ่ง และกลุ่มผู้ใช้น้ำประเภทที่สองยังคลุมเครือและยังแบ่งประเภทกันไม่ชัด เหมือนร่าง พ.ร.บ.น้ำ พ.ศ. … ที่ไม่มีความชัดเจน แต่ถึงอย่างไรผู้ที่จะได้ประโยชน์จาก ร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้ คือ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ตามระบุกลุ่มผู้ใช้น้ำประเภทที่สาม เพราะอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มีกำลังในการซื้อน้ำเข้าสู่กระบวนการผลิต เช่นโรงงานน้ำตาล โรงไฟฟ้าชีวมวล ที่กำลังขยายเพิ่มมากขึ้นในภาคอีสาน เป็นต้น ส่วนเกษตรกรในกลุ่มผู้ใช้น้ำประเภทที่หนึ่งและสองจะต้องแบกภาระกับต้นทุนการผลิต ราคาไม่แน่นอน ไหนจะมาเสียค่าน้ำเพิ่มอีกซึ่งขัดกับวิถีชีวิตคนลุ่มน้ำและเกษตรกรอย่างมาก
ภายใต้เหตุผลดังกล่าวทางเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน มองว่า พ.ร.บ.น้ำ ฉบับนี้จะเป็นการลิดรอนสิทธิของชุมชนและเกษตรกร เพื่อที่จะให้รัฐสามารถจัดการน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เนื่องจากสถานะของน้ำในแม่น้ำ แหล่งน้ำทุกประเภทกลายเป็นของรัฐโดยสมบูรณ์ ทั้งหมดเหล่านี้รัฐบาลจะเป็นผู้ดูแล ฉะนั้นจึงมีข้อเสนอต่อร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ข้างต้นดังนี้
1) ให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอดถอนร่างพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. … ออกจากการพิจารณาตามเหตุผลข้างต้น เนื่องจากร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับปัจจุบันยังสร้างความวิตกกังวลต่อเกษตรกรลุ่มน้ำและเกษตรกรทั่วไปในประเด็นความไม่ชัดเจนของร่าง พ.ร.บ.น้ำ ฉบับปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีน้ำด้วย
2) ให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกจังหวัด เพื่อสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมครอบคลุมกลุ่มคนผู้มีส่วนได้เสีย ทั้งภาคประชาชน เอกชน อย่างแท้จริง เนื่องจากมีประชาชนหลายภาคส่วนโดยเฉพาะเกษตรกรไม่เคยได้รับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับการร่าง พ.ร.บ.น้ำ พ.ศ. …
ขอแสดงความนับถือ
12 ตุลาคม 2560
คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.อีสาน)
เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำอีสาน
เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคอีสาน
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน
เครือข่ายปฎิรูปที่ดิน ภาคอีสาน
สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น
สมาคมเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาเทือกเขาเพชรบูรณ์
สมาคมเครือข่ายชาวนาชาวไร่อีสาน
สมาคมป่าชุมชนอีสาน
สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ต่อสังคมและสาธารณะ
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพอีสาน (ศสส.)
ศูนย์พัฒนาเด็กเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแม่น้ำโขง
ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม
ศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรชุมชนลุ่มน้ำชีตอนล่าง
ศูนย์ศึกษาชุมชนท้องถิ่นอีศาน
โครงการทามมูล
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี
คณะกรรมการชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบจากแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 kv. จ.อุดรธานี
เครือข่ายคนรุ่นใหม่กลุ่มลุ่มน้ำโขงศึกษา
กลุ่มอนุรักษ์และฟื้นฟูลำพะเนียง
กลุ่มอนุรักษ์แม่น้ำโขง อ.ปากชม จ.เลย
เครือข่ายชุมชนฮักน้ำโขง
ขบวนการอีสานใหม่ (New Esaan Movements)
กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์แก่งละหว้า จ.ขอนแก่น
โครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศห้วยเสนง จ.สุรินทร์
กลุ่มชาวบ้านอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศลุ่มน้ำชีตอนล่าง จ.ร้อยเอ็ด จ.ยโสธร
สมัชชาคนจนกรณีเขื่อนราษีไศล เขื่อนหัวนา จ.ศรีสะเกษ
กลุ่มอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จ.ยโสธร
เครือข่ายอนุรักษ์ลำน้ำเซบาย จ.อำนาจเจริญ
สมัชชาคนจน
กลุ่มรักษ์อำเภอวานรนิวาสภาคีเครือข่ายฯ จังหวัดสกลนคร
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมห้วยเสือเต้นและโคกหินขาว จ.ขอนแก่น
กลุ่มเผยแพร่กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม (ดาวดิน)
ชมรมชาวบ้านอนุรักษ์ลำน้ำพอง จ.ขอนแก่น
กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนามูนดูนสาด จ.กาฬสินธุ์
ขบวนองค์กรชุมชน จ.สุรินทร์
กลุ่มสมุนไพรเพื่อสันติภาพ