นักศึกษากลุ่มศูนย์จิตอาสา มหาวิทยาลัยรังสิต (ม.รังสิต) กว่า 30 ชีวิต ลงพื้นที่ ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ ออกค่าย ‘โครงการ บ้านดิน ทุ่งนา ป่าใหญ่’ เรียนรู้กระบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิในที่ดินทำกินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว เมื่อวันที่ 26 – 28 พ.ค. 2560
รายงานโดย: ศรายุทธ ฤทธิพิณ
สำนักข่าวปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน
วันที่ 26 พ.ค. 2560 ขบวนนักศึกษาเดินทางเข้าพื้นที่ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ เพื่อร่วมกันศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์ชุมชน วิถีการดำเนินชีวิต และสภาพปัญหาผลกระทบ รวมทั้งกระบวนการต่อสู้เพื่อสิทธิที่ดินทำกินของชาวบ้านชุมชนบ่อแก้ว
ตามที่นักศึกษาร่วมแลกเปลี่ยน ได้รับรู้ว่าชาวบ้านสูญเสียที่ดินทำกินมานับแต่ปี 2521 หลังจากองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ (อ.อ.ป.) อพยพชาวบ้านออกจากที่ดินทำกิน แล้วนำต้นยูคาฯ เข้ามาปลูกแทนที่ ทำให้ชาวบ้านผู้เดือดร้อนได้ต่อสู้เรียกร้องมานับแต่นั่น กระทั่งวันที่ 17 ก.ค. 2552 ได้เข้าไปยึดที่ดินเดิมกลับคืนมา ต่อมาช่วงเดือน ส.ค. อ.อ.ป. ยื่นฟ้องดำเนินคดี ชาวบ้าน 31 ราย ข้อหาบุกรุก
สถานภาพของคดี โดยในวันที่ 2 มิ.ย. 2560 ศาลจังหวัดภูเขียวนัดยื่นคำร้องขอรับมรดกความ กรณีที่มีจำเลยเสียชีวิตจำนวน 3 ราย จากนั้นศาลภูเขียวจะมีคำสั่งนัดฟังคำพิพากษาศาลฎักา เป็นลำดับต่อไป
นอกจากนี้ นักศึกษายังได้ทราบถึงปัญหาจากมลพิษที่จะตามมาในภายหน้า หากมีการประกอบกิจการโรงงานยางพาราได้เป็นผลสำเร็จ ทั้งนี้ ตัวแทนกลุ่มรักษ์คอนสารได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยน ชี้แจงให้ฟังว่า ช่วงปี 2554 เป็นต้นมา มีนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดินหลายร้อยไร่ ด้วยความผิดปกติ จึงได้สืบทราบว่าจะมีการก่อสร้างโรงงานยางพารา บริเวณที่จะสร้างอยู่ใกล้แหล่งชุมชน (ตลาด 4 แยกคอนสาร) ประมาณ 1.6 กิโลเมตร แน่นอนว่าจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งมีชีวิตทั้งหมด จึงได้ร่วมกันคัดค้านในนามกลุ่มรักษ์คอนสาร นับแต่นั้นเป็นต้นมา
เสร็จจากวงศึกษาปัญหาผลกระทบสิ้นสุดลง เข้าสู่พิธีบายศรีสู่ขวัญ โดยพ่อ ๆ แม่ ๆ และผู้เฒ่าในชุมชนบ่อแก้ว ผูกข้อต่อแขนรับขวัญให้กับลูก ๆ หลาน ๆ นักศึกษา เป็นการต่อไป
ระหว่างวันที่ 27 – 28 พ.ค. 2560 ณ บ้านไร่สานฝัน บนพื้นที่จำนวนกว่า 5 ไร่ เป็นแปลงของสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) ซึ่งได้มีการจัดสรรที่ดิน ทำนาข้าว แปลงผลผลิตการเกษตร แปลงพืชผัก และสระน้ำ
โครงการบ้านดิน ทุ่งนา ป่าใหญ่ เป็นกิจกรรมที่นักศึกษาและชาวบ้านร่วมกันย่ำดินที่ถูกผสมไปด้วยน้ำกับแกลบ ย่ำจนเหลวเข้าที่เป็นเนื้อเดียวกันแล้ว นำดินไปใส่บรรจุในแบบแท่นบล็อก รอให้แห้ง จากนั้นเมื่อถอดแบบออกมาจะกลายเป็นอิฐดิน เพื่อนำไปก่อสร้างบ้านดินทำเป็นศูนย์เรียนรู้การเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษ รวมทั้งเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติของชุมชน
แสงแดดที่สาดความร้อนเข้ามาปกคลุมนับแต่ช่วงเช้า กระทั่งเริ่มแผดแรงขึ้นในช่วงบ่าย แต่ทว่าเสียงเท้าจากหลายคู่ ยังคงเกาะกลุ่มเหยียบย่ำดิน เสียงพูดคุยสลับกับเสียงหัวเราะ ยังคงดังเป็นระยะ ๆ ใครเหนื่อยก็นั่งพัก หายเหนื่อยก็กลับมาควงกันต่อ เป็นความรู้สึกที่อิ่มเอิบใจ ในการร่วมแรงกันอย่างไม่ย่อท้อ กระทั่งเวลาเดินทางมาถึงกำหนด ที่จำต้องกล่าวคำลาจากตามนัดหมาย
เป็นการควรยิ่ง ในการที่นักศึกษาออกมาศึกษาเรียนรู้นอกห้องเรียน นอกจากเป็นการสร้างประโยชน์ที่มีคุณค่าต่อสังคม และเป็นการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษากับชาวบ้านในชุมชนแล้วนั้น ยังเป็นผู้ที่ได้มีโอกาสเข้ามาสัมผัสกับปัญหาที่แท้จริงของชาวบ้าน
ฉะนั้นสิ่งที่นักศึกษาพอจะเก็บเกี่ยวกันได้บ้างในการมาออกค่ายครั้งนี้ จะเป็นไปตามลำดับขั้นของการสะสมคุณค่าที่ดีในการทำประโยชน์ให้กับสังคม
และสิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงพื้นที่ศึกษาจะค่อย ๆ กลายเป็นการปลูกฝังให้ฉุกคิดขึ้นมาได้บ้างว่า สิ่งที่ได้มารับรู้ปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน จะนำมาปรับใช้กับปัญหาจริงของสังคมบนโลกใบนี้ให้เกิดความเท่าเทียมอย่างถูกต้องได้อย่างไร